สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เวทีเสวนา นโยบายพลังงานเชื่อมโยงอะไรกับความเป็นไปของ “จะนะบ้านเรา”

เวทีเสวนา นโยบายพลังงานเชื่อมโยงอะไรกับความเป็นไปของ “จะนะบ้านเรา”

วันอาทิตย์ ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒

ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงพยาบาลจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

กำหนดการ

๑๓.๐๐ น ลงทะเบียน

๑๓.๓๐ - ๑๔.๓๐ น. เรียนรู้ทิศทางการพัฒนาพลังงานจากภาคใต้สู่สงขลา “จำเป็นจริงหรือ ? ต้องมีโรงไฟฟ้าจะนะ ๒” โดย คุณศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ , ผศ.ประสาท มีแต้ม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , คุณปิยะโชติ อินทรานิวาส ศูนย์ข่าว ASTV ผู้จัดการ

๑๔.๓๐ - ๑๕.๓๐ น. ซักถามเรียนรู้

๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. การใช้กลไกการประเมินผลกระทบทางสุขภาพกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับสุขภาวะชุมชน (HIA) โดย คุณสมพร เพ็งค่ำ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) , คุณภาวิณี ไชยภาค ผู้ศึกษา HIA พื้นที่จะนะ

๑๖.๐๐ - ๑๖.๓๐ น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

หลักการและเหตุผล

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สคช) ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้(กพต.) เพื่อศึกษาและปรึกษาหารือกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ คือรถยนต์ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 4 พื้นที่ทางเลือก คือ อำเภอกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์/ อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานี/ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี คือแก๊สอ่าวไทยและท่าเรือน้ำลึกนครศรีธรรมราช สงขลา - ปัตตานี

ตลอดจนถึงคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๑ ประเด็นภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลเน้นย้ำต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยรัฐอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งเครือข่ายรวมกลุ่ม และปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ ขยายขอบเขตการดำเนินการให้สินเชื่อ และประกันสินเชื่อ โดยใช้เครือข่ายธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้ และจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีมีมติ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยมีหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบายแผนงาน โครงการและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และประสานการบริหาร กำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในภาพรวมทั้งระบบกำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ฯให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล

และตามแผนพัฒนาคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่๑๐กำหนดให้พื้นที่ภาคใต้เป็นแหล่งการพัฒนาเศรษฐกิจแหล่งใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแบบภาคตะวันออก และที่สำคัญคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าภาคใต้จะเป็นทางเลือกในการรองรับการขยายตัวของปิโตรเคมี โดยการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทยด้วยระบบคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและมีมาตรฐานสตูล-สงขลา : พัฒนาสะพานเศรษฐกิจเพื่อเปิดประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ของประเทศ กระบี่-ขนอม : พัฒนาให้เป็นแนวเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ ระนอง-ชุมพร : พัฒนาเชื่อมโยงภาคใต้ตอนบนกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก พัฒนาแนวพื้นที่ฝั่งอันดามันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนที่มีมาตรฐานระดับโลก โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมพัฒนาแบบผสมผสานในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย เกษตร-ท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม เตรียมความพร้อม อ.สิชล รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคต เสริมสร้างความเข้มแข็งฐานเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ชายแดน เชื่อมโยงกับ NCER และ ECER ของมาเลเซีย พัฒนาสะพานเศรษฐกิจ สตูล-สงขลา

โดยระบุว่าศักยภาพของการพัฒนากลุ่มชายแดน(สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับประกอบด้วยมีสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ระบบรถ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา อ่างฯ บางลาง (๑,๔๐๐ล้าน ลบ.ม.) โรงแยกก๊าซจะนะ (๔๗๕ ล้าน ลบ.ฟุต/วัน) โรงไฟฟ้าจะนะ (๗๐๐ MW)ศูนย์ธุรกิจ/การค้าที่หาดใหญ่ Gateway ทางบก มีมหาวิทยาลัย ๘ แห่ง แต่มีจุดด้อยมีความเปราะบางด้านสังคม / วัฒนธรรม เหตุความไม่สงบ ในพื้นที่อำเภอจะนะจังหวัดสงขลามีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ เป็นการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องจากก๊าซธรรมชาติ และกำลังจะมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยการเชื่อมโยงพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย และพัฒนาฐานเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมประมงและการเกษตร รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นตามมา

ปัจจุบันทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)มีโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจะนะ ซึ่งโครงการหนึ่งที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๖๔ (PDP๒๐๐๗: ฉบับปรุงครั้งที่๒) เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตตามการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และเพื่อเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ (อ้างอิง : แผ่นพับประชาสัมพันธ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิต พิมพ์กรกฎาคม ๒๕๕๒) โครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจะนะ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไรกับแผนการพัฒนาภาคใต้ของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตะวันออก เป็นสิ่งที่ควรติดตามและเรียนรู้ กระทั่งจำเป็นมากน้อยเพียงไรในการต้องขยายกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะ

ดังนั้นเนื่องทางศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งทำงานมุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ในการจัดการเพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นสุข จึงเล็งเห็นความสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนในพื้นที่อำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียงได้เรียนรู้เรื่องดังกล่าว จึงกำหนดจัดเวทีเสวนา นโยบายพลังงานเชื่อมโยงอะไรกับความเป็นไปของ “จะนะบ้านเรา” เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงนโยบายการพัฒนาพลังงานในพื้นที่อำเภอจะนะกับภาพรวมทิศทางการพัฒนาที่ถูกกำหนดไว้

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนและนโยบายพลังงานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทิศทางการพัฒนาในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
  2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ภาพรวมการพัฒนาในพื้นที่อำเภอจะนะและจังหวัดสงขลา

ช่วงเวลาการจัด วันอาทิตย์ ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒

สถานที่ ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงพยาบาลจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

กลุ่มเป้าหมาย ผู้สนใจทั่วไป

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เกิดการเรียนรู้เชื่อมโยงนโยบายและแผนการพัฒนาในพื้นที่อำเภอจะนะและจังหวัดสงขลา
  2. เกิดความรู้ความเข้าใจนโยบายพลังงานและแผนพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่

องค์กรร่วมจัด

  1. ศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
  2. โครงการโรงเรียนริมเล อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว