สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สสส. เปิดรับโครงการสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน

by punyha @19 พ.ค. 52 10:34 ( IP : 222...13 ) | Tags : ข่าวสุขภาพประจำวัน

โครงการสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชน เปิดรับโครงการ 15 เม.ย. 52- 31 พ.ค. 52

แนวทางสนับสนุนทุน

  • โครงการสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชน
  • แผนงานสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชน
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

แนวคิด และความเป็นมา

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ด้วยเจตนารมย์ในการสร้างเสริมสุขภาวะคนไทยให้ยั่งยืน

แผน งานสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน สำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร มุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนมีโอกาส และมีความสามารถในการเรียนรู้ ทั้ง ในระดับบุคคลและกลุ่มเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสติปัญญา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์รูปแบบต่างๆ ทั้งในและนอกสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้เด็ก และเยาวชนเห็นคุณค่า รู้ เท่าทันตนเอง และสังคม มีทักษะชีวิตและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้การสนับสนุนการเกิดพื้นที่สร้าง สรรค์ เป็นประเด็นสำคัญของวาระเพื่อเด็ก และเยาวชน ปี 2552 ที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเด็กและเยาวชนในสภาพสังคมปัจจุบัน ต้องเผชิญกับปัญหา ปัจจัยเสี่ยง และสิ่งยั่วยุต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชนทั้งสิ้น

จาก ข้อมูลเด็กไทยบนทางสามแพร่ง : บทสังเคราะห์กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดในโครงการติดตามสภาวการณ์ เด็กและเยาวชนรายจังหวัด โดย ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์ สรุปให้เห็นภาพปรากฏการณ์เด็ก 3 กลุ่ม ที่มีวิถีชีวิตแตกต่างบนเส้นทางชีวิต 3 ทาง ได้แก่ เด็ก เสี่ยง ที่ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสีเทา เป็นกลุ่มเด็กที่ใช้ชีวิตเสี่ยงๆ มีปัญหาครอบครัว ใช้ชีวิตบนพื้นที่เสี่ยง หลงสื่อ ตามเพื่อน ลืมบ้าน เด็กเสีย เป็นกลุ่มเด็กที่มีชิวิตผิดพลาด หลงไปอยู่บนเส้นทางสีดำ ซึ่งเป็นพื้นที่ร้าย ล้อมรอบด้วยแหล่งอบายมุขและสิ่งเสื่อมโทรมต่างๆ เป็นเด็กกลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น ติดเหล้า ติดเซ็กส์ ติดยา ค้าบริการทางเพศ เด็กใส เป็นเด็กที่เติบโตมาบนเส้นทางสีขาว ที่มีพื้นที่สร้างสรรค์และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาชีวิต เป็นกลุ่มเด็กที่ใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ มีกิจกรรมดี รักอาสา ใฝ่เรียนรู้ ชอบสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ปัจจัยเงื่อนไขที่เป็นแรงขับให้เด็กก้าวสู่เส้นทางที่แตกต่างกันนั้น พบว่า เกือบทั้งหมดเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว พื้นที่ สื่อ และการศึกษา

ข้อค้นพบจากการสังเคราะห์ ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยเติบโตในท่ามกลางพื้นที่เสี่ยง หลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่พื้นที่ครอบครัวที่มีแต่ความแตกแยก ความรุนแรง พื้นที่โรงเรียนที่แวดล้อมด้วยสภาพภายนอก เช่น หอพักที่ไร้ระเบียบ ร้านเหล้า ร้านเกม และยังเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การแอบเสพยา การหนีเรียน นอกจากนี้ในพื้นที่สื่อหรือบนไซเบอร์สเปซ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเอง กลับเป็นพื้นที่เสี่ยงที่เต็มไปด้วยภาพเสมือนที่มอมเมาเด็กและเยาวชน และมากกว่านั้นพื้นที่ในชุมชน รวมถึงพื้นที่ทางสังคมที่ล้อมรอบตัวเด็กเต็มไปด้วยอบายมุขมากมาย อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่ดังกล่าวสามารถเป็นพื้นที่ดี สำหรับเด็กและเยาวชนได้ หากพื้นที่ครอบครัวเต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และส่งเสริมให้โอกาส พื้นที่โรงเรียนมีกิจกรรมที่ หลากหลายเข้าถึงใจเด็ก พื้นที่รอบนอกโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้เสริมทักษะ พื้นที่ชุมชนส่งเสริมความรักท้องถิ่น พื้นที่ทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ก้าวไปสู่การเป็นสมาชิกที่ดี มีจิตอาสา มีสำนึกสาธารณะต่อบ้านเมือง รวมถึงพื้นที่สื่อที่เปิดโลกการเรียนรู้ไร้พรมแดน

ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่าพื้นที่ดี มีคุณค่า มีความหมายต่อเด็กและเยาวชนอย่างยิ่ง ผลกระทบจากพื้นที่ที่ดีมีคุณภาพ ส่งผลต่อการเติบโตของเด็ก ทั้งในแง่ความปลอดภัย เอื้ออาทร ใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ดี เห็นคุณค่าของตนเอง และเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือไม่ว่าจะเป็นเด็กช่วงวัยใด หรือเด็กกลุ่มไหน ล้วนแล้วแต่ต้องการพื้นที่ที่ให้โอกาสตัวเขา เสมือนว่า ขอมีที่ได้ทำ จะขาวหรือดำไม่สำคัญ จะทำเต็มที่ ดังนั้นโจทย์ใหญ่สำหรับสังคมไทยในวันนี้ คือ ทำอย่างไรที่ทำให้เกิดการ ขยายพื้นที่ดี เพื่อเด็กและเยาวชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ หรือทำให้พื้นที่ที่มีอยู่กลายเป็นพื้นที่คุณภาพเพื่อเป็นปัจจัยสร้างคุณภาพ เด็กและเยาวชน และสังคมไทย

จาก เหตุผลดังกล่าวข้างต้น สสส. จึงให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่ดีทั้งพื้นที่ทางกายภาพ และพื้นที่ทางความคิดสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดกิจกรรมสร้าง สรรค์ต่างๆ ด้วยความตระหนักว่าเด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ หากปัญหาเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ย่อมส่งผลต่ออนาคตของชาติมากขึ้นเท่านั้น

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อกระตุ้น ส่งเสริม และสนับสนุนให้กลุ่มเด็กและเยาวชนสนใจเรียนรู้ และริเริ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เน้นการพัฒนาทักษะชีวิต คุณธรรม และจริยธรรม ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย
  2. เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้มีความสามารถในการบริหารจัดการโครงงาน เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพด้วยตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยีนของพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน
  3. เพื่อเปิดพื้นที่ทางเลือก และสนับสนุนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานระหว่างกลุ่มเด็กและเยาวชน
  4. เพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าและความสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน

นิยาม

  1. การสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชน มุ่งเน้นให้กลุ่มเป้าหมาย คือเด็ก และเยาวชน มีสุขภาพที่ดี ซึ่งนิยามของ “สุขภาพ” หมายถึง สุขภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงเป็นองค์รวมอย่างสมดุล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    สุขภาวะทางกาย (Physical health) หมาย ถึงการมีร่างกายแข็งแรง มีกำลังคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ไม่มีผลกระทบอันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่นการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่ทำลายสุขภาพ

    สุขภาวะทางจิต (Mental Health) หมายถึงการมีสุขภาพจิตที่ดี มี ความสบายใจ มีอารมณ์สดชื่น ร่าเริง แจ่มใส นอนหลับดี ไม่มีความเครียดวิตกกังวล ความคิดฟุ้งซ่าน อารมณ์ซึมเศร้า หรือความคิดอยากฆ่าตัวตาย ไม่เสพสารเสพติด

    สุขภาวะทางสังคม (Social Health) หมายถึงสุขภาวะที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่น ทั้งในครอบครัว สถานศึกษา ที่ทำงาน ชุมชน และ วงสังคมต่างๆ โดยมีความรักใคร่ กลมเกลียว เอื้ออาทร และช่วยเหลือกัน รวมทั้งการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่ทะเลาะวิวาท ทำร้ายกัน รู้จักการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี นำมาซึ่งความอบอุ่นของครอบครัว และชุมชนเข้มแข็ง

    สุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) หมาย ถึงการมีความสงบสุขหรือสันติสุขภายในด้วยการมีสติและปัญญาสมบูรณ์ มีความฉลาดรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง เข้าถึงความดีงามถูกต้อง มีคุณธรรม และไม่เห็นแก่ตัว ดังนั้น สุขภาวะทางปัญญาจึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามแก่นธรรมของศาสนา จนสามารถลดละอัตตาและความเห็นแก่ตัว ไม่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น มีจิตใจที่เป็นอิสระ ไม่เครียด จึงส่งผลที่ดีต่อสุขภาวะโดยรวม ในทางตรงข้าม หากมนุษย์มีความเห็นแก่ตัว มีกิเลส มีความยึดมั่นถือมั่น ขาดคุณธรรมและมีจิตใจที่เคร่งเครียด ร้อนรุ่ม เป็นทุกข์ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาวะโดยรวม

    ศ. นพ.ประเวศ วะสี ให้แนวคิดว่า ปัญญาเป็นศูนย์กลาง ถ้าปราศจากปัญญา สุขภาวะทางกาย ทางจิต และทางสังคมก็เป็นไปไม่ได้ การพัฒนาปัญญาต้องนำไปสู่การพัฒนากาย จิต และสังคม ในขณะเดียวกัน การพัฒนากาย จิต และสังคม ต้องนำไปสู่การพัฒนาปัญญา โดยเป็นการพัฒนาร่วมกัน จึงจะเป็นสุขภาวะที่สมบูรณ์

  2. กิจกรรมสร้างสรรค์ หมายถึงสื่อหรือเครื่องมือที่กระตุ้นพัฒนาการของเด็กและเยาวชน โดย มุ่งเน้นการทำให้เป้าหมายสัมฤทธิ์ผล เหมาะสมกับเพศวัย โอกาส ประเพณี วัฒนธรรมและศีลธรรม ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งโดยทั่วไป สามารถแบ่งประเภทได้ ได้แก่

    กีฬา เน้นการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือกิจกรรมกีฬาเพื่อบำบัดรักษาความผิดปกติของร่างกาย

    เกม เป็นกิจกรรมการละเล่นที่สามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศวัย เวลาและโอกาส เป็นกิจกรรมที่ท้าทาย สนุกสนาน มีชีวิตชีวา เกมมีหลากหลายประเภทและรูปแบบ

    ศิลปะและหัตถกรรม เป็นกิจกรรมที่เน้นสุนทรียภาพทางด้านการใช้จินตนาการและความละเอียดอ่อน เช่นจิตรกรรม การวาดภาพ การปั้นแกะสลักและออกแบบ

    หัตถกรรม เน้นความละเอียดและทักษะในการใช้มือ เช่น แกะสลัก ช่างปูน ช่างไม้ ช่างจักสาน ช่างแกะสลัก งานประดิษฐ์

    ดนตรี ได้แก่กิจกรรมการใช้เครื่องดนตรีทุกชนิด เช่นกลอง ระนาด จะเข้ กีตาร์ เปียโน

    ร้องเพลง สามารถจัดได้หลายรูปแบบ เช่น การสอนร้องเพลง การแต่งเพลง การจัดรายการเพลงผ่านเครื่องกระจายเสียงหรือวิทยุชุมชน

    กิจกรรมฟ้อนรำ นาฏศิลป์ เต้นรำ ซึ่งเป็นกิจกรรมทั้งที่เป็นรูปแบบตามประเพณีและวัฒนธรรม และการเต้นรำตามยุค เช่นรำไทย รำวง Social Dance Modern Dance

    กิจกรรมการแสดง ละคร เป็นกิจกรรมที่ท้าทายและช่วยให้เด็กและเยาวชนกล้าแสดงออก เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ฝึกความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับคนอื่นและสร้างความรับผิดชอบ

    กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมทีท้าทายและใกล้ชิดกับธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่อยู่นอกอาคารสถานที่ เช่น ปีนเขา ขี่ม้า ค่ายพักแรมประเภทต่างๆ

    กิจกรรมด้านวรรณกรรม ได้แก่กิจกรรมการอ่าน การเขียน และการพูด

    กิจกรรมท่องเที่ยวทัศนศึกษา เป็นกิจกรรมที่เยาวชนชอบเข้าร่วม เนื่องจากเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้จากสภาพที่เป็นจริง

    กิจกรรมด้านบริการสังคมและอาสาสมัคร เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น เช่นอาสาสมัครในองค์กรต่างๆ ในชุมชน การบำเพ็ญประโยชน์ดูแลสาธารณสมบัติ เช่นทำความสะอาดวัด การปลูกป่า

    กิจกรรมด้านวิชาการ ควรเป็นกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการพิจารณา และแก้ปัญหาด้วยตนเองมากขึ้น กิจกรรมวิชาการสามาถนำมาใช้ได้ทุกเรื่อง แต่ปรับกระบวนการให้เด็กและเยาวชน ได้คิดเอง ทำเอง โดยมีผู้นำเยาวชน หรือผู้ใหญ่คอยกระตุ้นและสนับสนุนตามความต้องการ

    กิจกรรมฝึกอาชีพ เป็นกิจกรรมที่เน้นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน ไม่ว่าจะทำงานอะไรที่ทำโดยสุจริต ถือว่ามีคุณค่าต่อตนเองมาก และอาจรวมถึงการประกวดเรียงความเรื่องงานอาชีพ การจัดค่ายฝึกอาชีพ

    ทั้งนี้ กิจกรรมสร้างสรรค์ต้องเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับเด็ก และเยาวชน กล่าวคือ ต้องทำให้เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์บรรลุผล ต้องเหมาะสมกับเพศ วัย ท้าทายความสามารถ ต้องสนุกสนาน ต้องปลอดภัย ไม่รุนแรง ไม่ลามกอนาจาร และกระตุ้นเรื่องเพศ และที่สำคัญคือต้องจัดให้ทุกคนมีส่วนร่วม และกิจกรรมที่ดีจะต้องง่าย และสะดวกต่อการจัด รวมทั้งประหยัดทรัพยากร

กลุ่มเป้าหมาย

เด็ก และเยาวชน ทุกกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 10 – 25 ปี

แนวทางการดำเนินงานโครงการ

แผนงานสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชน มีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้

  1. จัดทำแนวทางสนับสนุนทุนโครงการสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชน เสนอต่อคณะอนุกรรมการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการดำเนินงานตามแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว และคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินงาน

  2. ประชาสัมพันธ์โครงการให้ภาคีได้รับทราบ เพื่อสรรหาหน่วยงาน/องค์กร/กลุ่มบุคคล/บุคคล ที่สามารถรับจัดการชุดโครงการตามเงื่อนไขการสนับสนุนทุนโครงการ โดยผ่านช่องทางการสื่อสารหลายทาง เช่น เว็บไซด์ ของ สสส. ส่งจดหมายเชิญไปยังภาคีเดิม ของ สสส. และป้ายประกาศ เป็นต้น

  3. หน่วยงาน/องค์กร/กลุ่มบุคคล/บุคคล เสนอชุดโครงการ ที่ประกอบด้วยหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย วิธีการดำเนินงาน แผนการกำกับติดตาม และงบประมาณ เพื่อขอรับการสนับสนุนทุน ทั้งนี้ การพิจารณาสนับสนุนให้ความสำคัญกับชุดโครงการที่มีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดความ ยั่งยืนต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน

  4. สำนัก 4 จัดกระบวนการพิจารณาข้อเสนอโครงการ ตามระเบียบของ สสส.โดยมีกระบวนการคัดกรองโครงการ ส่งโครงการให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาหรือประชุมพิจารณา สรุปผลการพิจารณา ส่งทบทวนกรณีคณะกรรมการเห็นควรให้ปรับปรุง แก้ไข สรุปผลและทำสัญญา

  5. สำนัก 4 จัดให้มีกระบวนการติดตาม และการประเมินผลภายนอก ที่เหมาะสมตามระเบียบ ของ สสส.

  6. สำนัก 4 จัดให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างชุดโครงการภายใต้แผนงานสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงาน

หลักเกณฑ์การพิจารณาสนับสนุน

  1. สสส. สนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงาน/องค์กร/กลุ่มบุคคล/บุคคล รับผิดชอบบริหารจัดการ พิจารณาสนับสนุนโครงงานเด็กและเยาวชนตามหลักเกณฑ์การพิจารณาสนับสนุนทุน ดังนี้

    1.1 สนับสนุนโครงงานของเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 10 – 25 ปี รวมกลุ่มกัน ไม่น้อยกว่า 10 คน และมีที่ปรึกษาอย่างน้อย 1 คนวางแผนและจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ จากโจทย์ที่สอดคล้องกับปัญหาของกลุ่ม ชุมชน หรือประเทศ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับเพื่อน ครอบครัว ครู หรือชุมชน ในการค้นหาโจทย์ วางแผนการทำงาน และต้องจัดเป็นโครงงานที่ดำเนินการต่อเนื่องในสถานศึกษา หรือชุมชน ไม่น้อยกว่า 6 เดือน

    1.2 สนับสนุนโครงงานที่เน้นการปฏิบัติจริง มีรูปธรรม โดยเนื้อหาการดำเนินงานต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหารที่ไม่ปลอดภัย ติดเกม ปัญหาความรุนแรง หรือเน้นการหนุนเสริมด้านสุขภาพ เช่น กิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมการอ่าน กิจกรรมการแสดง และไม่สนับสนุนโครงงานที่มีเพียงการฝึกอบรม หรือประชุม สัมมนาเท่านั้น

    1.3 งบประมาณสนับสนุนโครงงานเด็กและเยาวชนระหว่าง 10,000 - 100,000 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการ 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

    (1) ขั้นคิดโจทย์ และวางแผนการดำเนินงาน ได้แก่ค่าอาหาร เครื่องดื่ม เอกสารประกอบการประชุม และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น ร้อยละ 5 ของงบประมาณ

    (2) ขั้นจัดเสวนาร่วมกับครู ผู้ปกครอง เพื่อน ชุมชน เพื่อนำเสนอโครงงานตามที่กำหนดในข้อ (1) และรับฟังความคิดเห็น ร้อยละ 5 ของงบประมาณ

    (3) ขั้นดำเนินงานตามแผน และบันทึกผลการดำเนินงาน ร้อยละ 75 ของงบประมาณ ทั้งนี้ สสส.ไม่สนับสนุนค่าตอบแทน หรือเบี้ยเลี้ยง

    (4) ขั้นประชุมสรุปและรายงานผล ร้อยละ 15 ของงบประมาณ

  2. หน่วยงาน/องค์กร/กลุ่มบุคคล/บุคคล ต้องเสนอชุดโครงการที่ชัดเจน มีแผนปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วยแผนการประชาสัมพันธ์ การปฐมนิเทศกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจวิธีการดำเนินงาน การออกแบบระบบติดตามและประเมินผลที่เหมาะสมในการสนับสนุนโครงงาน และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วม โครงการ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ

  3. ในกรณีที่ผู้รับทุนเป็นองค์กร ต้องมีคณะทำงานหรือคณะผู้รับผิดชอบโครงการที่ชัดเจน และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงาน และการดำเนินงานจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับงานประจำของหน่วยงาน

  4. มีกิจกรรมการสรุปบทเรียนเมื่อสิ้นสุดโครงการ เพื่อวิเคราะห์ความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ หรือขยายผล

ตัวชี้วัด

  1. ร้อยละ 80 ของเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ รับรู้และเข้าใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์
  2. ร้อยละ 80 ของเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรมสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการดำเนินกิจกรรม

ทุนสนับสนุน

สนับสนุนชุดโครงการไม่เกิน 10 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 15 เดือน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ทุนสนับสนุนโครงงานเด็กและเยาวชนระหว่าง 10,000 -100,000 บาท ต่อ หนึ่งโครงงาน และหนึ่งชุดโครงการไม่เกิน 200 โครงงาน
  2. ทุนเพื่อบริหารจัดการโครงงาน พิจารณาตามความเหมาะสมตามภารกิจและเกณฑ์ที่กำหนด

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ จากการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะก่อให้เกิดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน
  2. เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการโครงงาน ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการบริหารจัดการงบประมาณด้วยตนเอง
  3. ชุมชน และสังคมเปิดพื้นที่ทางเลือก ที่เป็นพื้นที่ดีให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสแสดงออก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน

การเขียนโครงการ

หน่วยงาน/องค์กร/กลุ่มบุคคล/บุคคล ที่สนใจ สามารถเขียนโครงการโดยต้องมีหัวข้อ/ ประเด็นครบถ้วนตาม “แบบเสนอโครงการเชิงรุก” ซึ่งสามารถแนบเอกสารเพิ่มเติมได้ (ดาวน์โหลดแบบเสนอโครงการ)

กำหนดเปิดรับโครงการ

15 เมษายน 2552- 31 พฤษภาคม 2552

วิธีการส่งโครงการ

ส่งเอกสารโครงการ พร้อมเอกสารประกอบอื่นๆ ที่ระบุในแบบเสนอโครงการจำนวน 2 ชุด พร้อมดิจิตอลไฟล์ diskette/CD

สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่

สำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร (สำนัก 4)

โทรศัพท์ 0-2298-0500 ต่อ 1619 (นางสาวประพาฬรัตน์ คชเสนา)

โทรสาร 0-2298-0501 หรือ Email: prapanrat@thaihealth.or.th

(กรุณาส่งโครงการตามที่อยู่ข้างล่างนี้)

สำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร (สำนัก 4)

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

979/116-120 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 34

ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว