สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ปริวาสกรรม รวมญาติเข้าวัดที่ตำบลพิจิตร

by กล้วยหวาน @11 มี.ค. 52 17:29 ( IP : 222...209 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

คำอธิบายภาพ“ ....ข้าแต่พระคุณท่านผู้เจริญ ขอพระคุณท่าน โปรดสวดพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ กำจัดทุกข์ กำจัดภัย กำจัดโรค ของข้าพเจ้าให้หมดไปสิ้นไป …

“การกระทำอันใดด้วยอธรรม มนต์ดำทั้งหลาย ฝังรูปก็ดี ฝังรอยก็ดี ฝังทางสามแพร่งก็ดี ฝังใต้บ้านก็ดี ฝังบริเวณบ้านบ้านก็ดี ฝังในบ่อก็ดี ฝังในสระก็ดี ฝังในห้วยก็ดี ฝังในหนองก็ดี ฝังในคลองก็ดี ฝังในบึงก็ดี ฝังในบางก็ดี ฝังในทะเลก็ดี นะถอน โมถอน พุทธถอน ตาถอน ยะถอน นะคลอน โมคลอน พุทธคลอน ธาคลอน ยะคลอน ถอนด้วยนะโมพุทธายะ ผูกไว้ก็ดี มัดไว้ก็ดี ตรึงไว้ก็ดี ผูกด้ายสายสิญจน์ก็ดี ผูกด้ายสามสีก็ดี ผูกด้ายผูกมือผีก็ดี ผูกหัวใจก็ดี ผู้ลำไส้ก็ดี ผู้มือผูกเท้าก็ดี นะโมตัสสะ ตัสสะ ตัด ใครผูกใครมัดตัดด้วยนะโมตัสสะ ตัสสะ ข้าแต่พระคุณท่านผู้เจริญขอ พระคุณท่านโปรดสะเดาะห์พระเคราะห์ในกายในใจ ของข้าพเจ้า พระเคราะห์วัน พระเคราะห์เดือน พระเคราะห์ปี พระเคราะห์โยค พระเคราะห์ตัวนอก  พระเคราะห์ตัวกลาง พระเคราะห์ตัวใน  พระเคราะห์เสวยอายุ พระเคราะห์แทรกเป็นเหตุให้ข้าพเจ้า ปวดท้อง ปวดเอว ปวดหลัง ปวดแขน ปวดต้นคอ ปวดหัวเข่า ปวดแข้งปวดขา ปวดหัวมัวตา ขี้ด่า ขี้หึง ใจร้อนใจร้าย ความดันสูงความดันต่ำ โรคหอบโรคหืด โรคเบาหวาน โรค ไซนัส โรคริดสีดวง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคปอด โรคกระเพาะอาหาร โรคอำมพฤกษ์ โรคอำมพาต โรคมะเร็งทั้งหลาย หมดไปสิ้นไป ด้วยอำนาจ พระรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ในสากลโลก ผู้สร้างบารมีช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์  ขอดลบันดาลให้ข้าพเจ้าพ้นจากโรค พ้นจากภัย พ้นจากทุกข์ ในกายในใจ ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป โชคดีทั้งหลาย เคราะห์ดีทั้งหลาย ฝันดีทั้งหลาย นิมิตรดีทั้งหลาย มงคลดีทั้งหลาย จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ทำกิจการอันใด ขอให้สำเร็จ ตามความปรารถนา ทุกประการเทอญ ...”

หลวงพ่อจำเนียร สีลเสฎโฐ พระเกจิชื่อดังแห่งวัดถ้ำเสือวิปัสสนา จังหวัดกระบี่  ประธานกล่าวนำพิธีสะเดาะห์พระเคราะห์  กิจกรรมหนึ่งของค่ายปริวาสกรรม สำนักสงฆ์โคกพยอม ตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ระหว่าง  7- 16 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา  งานนี้ประธานฝ่ายฆราวาสมีนายสมพิศ หาญณรงค์ นายอำเภอนาหม่อม และนายประมวลแก้วชนะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พิจิตร

พิธีกรรมการสะเดาะห์พระเคราะห์ ยึดโยงด้ายสายสิญจน์มงคลไปถึงผู้เข้าร่วมพิธี รถราพาหนะทุกคันที่มาร่วมพิธี ไปจนกระทั่งบ้านเรือนอีกหลายหมู่บ้านในตำบลพิจิตร  ด้วยบรรยากาศขรึมขลังเป็นพิเศษ กับไม่ค่อยปรากฏพิธีกรรมลักษณะนี้ในท้องถิ่นจึงสามารถสร้างกระแสดึงดูดผู้เข้าร่วมอย่างล้นหลามกว่า  2,000 คน

กระแสดังกล่าวทำให้ อบต.พิจิตรเจ้าภาพหลักมาเป็นปีที่ 2  ประกาศจะจัดงานนี้เป็นงานประเพณีประจำตำบลและอำเภอต่อไปในอนาคตโดยมองว่านอกจากมิติทางศาสนา นี่จะเป็นโอกาสขับเคลื่อนไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้ง่าย ไม่ว่าในเชิงสุขภาพทางด้านอารมณ์จิตใจ  การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นต้น

ทุกวันนี้งาน “ปริวาสกรรม” ถูกจัดขึ้นมากมายตามวัดและสำนักสงฆ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ  จากการค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นพบว่าปริวาสหมายถึงการ เพื่อให้ผู้อยู่ใช้กรรมหรือความผิดที่ได้ล่วงละเมิดพระวินัย ต้องอาบัติ(ต้องโทษ)สังฆาทิเสส ซึ่งอาจจะล่วงโดยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจหรืออาจล่วงโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดีนั้นได้พ้นมลทินหมดจดบริสุทธิ์ไม่มีเหลือความผิดเครื่องเศร้าหมองอันจะเป็นอุปสรรคในการประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญในทางจิตของพระภิกษุสงฆ์ แต่เดิมการอยู่ปริวาสกรรมสำหรับบุคคล 2 จำพวกคือพระภิกษุสงฆ์ที่บวชอยู่แล้วแต่ต้อง “ครุกาบัติ”(ต้องโทษ)สังฆาทิเสส จึงต้องประพฤติปริวาสเพื่อนำตนให้หลุดพ้นจากความมัวหมอง ตามเงื่อนไขทางพระวินัย อีกพวกหนึ่งคือคฤหัสถ์ที่ไม่ได้นับถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเป็นนับถือศาสนาอื่นหรือลัทธิอื่น ๆ มาก่อน พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะให้คนเหล่านี้ได้อบรมตนเสียก่อนเป็นเวลา 4 เดือนอนุญาตให้อยู่ประพฤติตนเรียกว่าติตถิยปริวาส

อย่างไรก็ตามสมัยนี้มักจัดงานปริวาส 9 วัน 9 คืนพระภิกษุผู้อยู่ปริวาสกรรมเพื่อชำระขัดเกลา กิเลสให้เบาบาง ภิกษุบางกลุ่มเชื่อว่าข้ออาบัติเล็กน้อย ที่ต้องอาบัติในขณะบวชเป็นพระสะสมไว้มาก ๆ เข้าก็ไม่ดีกับตัวเอง จึงมาเข้าปริวาสด้วยตั้งใจหมายว่าจะลบล้างอาบัติ ดังนั้นวัดไหนมีการจัดปริวาส ฆราวาสญาติโยมมักมาวัดเพื่อใส่บาตร พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทั้งยังได้ทำบุญให้ทานรักษาศีลและปฏิบัติธรรม

ปริวาสกรรมมักมีพิธีกรรมประกอบ เช่นสะเดาะห์พระเคราะห์ กรณีนี้พระผู้ใหญ่บางท่านมีความเห็นว่าควรหันมาสนใจการปฏิบัติธรรมมากกว่าพิธีกรรม เพราะการที่จะบริสุทธิ์ได้นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับปฏิบัติ พิธีกรรมเป็นแค่เปลือกนอก นั่นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะเข้าถึงเพียงใด ระหว่างพิธีกรรมสะเดาะห์พระเคราะห์ ในคืน 12 กุมภาพันธ์ที่สำนักสงฆ์โคกพยอมนั้น  ผู้มีดวงตาเห็นธรรมคงมองเห็นว่าพระอาจารย์จำเนียรเทศนาหลักใหญ่ใจความทางพุทธศาสนา ตอนหนึ่งท่านว่า

“อุเบกขาเป็นข้อปลดปล่อยที่เราทำผิดพลาด เราหยิบของผิดมาต้องปล่อยวางไม่เอาเพราะมันผิดแล้ว ถ้าผิดแล้วเรากำเอาไว้มันเสียท่า กูเกลียดขี้หน้าเพราะกูรักมันหมดหัวใจแต่มันไม่รักกูเลย กูผิดหวังแล้ว  เรายังไม่วาง  เราต้องปล่อยวางเมื่อมันผิดพลาดแล้ว มันเปลี่ยนเป็นอื่นแล้วสภาพไม่เหมือนคงเดิมแล้ว เราลงทุน ไปตั้งเยอะรักเขาทุ่มเท เพื่อเขา แต่เขาไม่รักเรา  เราก็ลงทุนไปแค่นั้นให้เป็นทานบารมีไป  ช่วยเขาแล้วรักเขาแล้ว ก็เลิกไปซะ  เอาอุเบกขามาช่วยเรา.....

“หลวงพ่อเองเพิ่งได้ปัญญาเมื่อ พ.ศ. 2518 ที่วัดถ้ำเสือ จ.กระบี่  รู้ทันทีว่าผิดพลาดแล้ว พรหมวิหาร 4 เราใช้ไม่ครบ อุเบกขา เอาไปใส่ตู้เย็นเอาไว้เลย เอาแต่ เมตตา กรุณา มุทิตามาใช้ 3 ข้อ เราผิดพลาด  ถ้าไม่ใช้ อุเบกขาจะทุกข์ไปจนตาย

พอเอามาใช้คู่กันเลย เมตตา –อุเบกขา / กรุณา –อุเบกขา /มุทิตา –อุเบกขา พอเอามาใช้ฉันมีความสุขที่สุด ยิ้มได้ทั้งวันเลย  สิ่งที่ไม่ดีเราเข้าใจผิดเอามาเป็นสรณะ  คนที่ไม่ชอบเรา นินทาเราเบียดเบียนเราอย่าเอาเป็นสรณะเด็ดขาด  อย่าไปเอา เลิกเลยเพราะมันเปื้อนในใจเราอาตมาสงสาร คนที่เข้าใจผิด คนที่เราไม่ชอบไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากให้มาอยู่ใกล้เรา ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากได้ยินเสียงเขา แต่เอามาคิดในห้อง ในมุ้งว่ากูเกลียดขี้หน้ามันจัง ปวดหัวจัง เกลียดขี้หน้ามันจัง เอามาไว้ในใจเรา จิตเราต้องเอาสิ่งบริสุทธิ์ไปไว้ เอา สรณะ ธรรมะ สังฆะ ไปไว้ ไม่ใช่เอาคนชั่วไปเป็นสรณะในใจเรา  เราเข้าใจผิด นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ....

“ทีนี่เราต้องเข้าใจใหม่ ว่าสรณะใดเศร้าหมอง ทำไมเอาไปไว้ในจิตเรา จิตเรา ไม่สมควรเอาคนชั่วไปอยู่เลย  จิตมันชอบเสพคนพาลเอามาคิดนึกเป็นสรณะ นึกคิดทั้งวันทั้งคืน สิบปีล่วงแล้วยังไม่ไปไหนเลย  สิบปีแล้วมันเบียดเบียนกู  มันแย่งแฟนกู ทำให้ลูกกูเสียหาย สิบปียังไม่ไปไหนเลย เราต้องไม่เอา เราเลิกไปเลย ตรงกันข้ามเรานึกถึง พระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตเราพลอยเบิกบานไปด้วย นึกถึงพระอรหันต์ ถึงสิ่งที่บริสุทธิ์  ....

“สิ่งที่บริสุทธิ์มีมาก เราต้องทำจิตให้เหมือนใบบัวไม่ติดน้ำ ของไม่ดี มาไม่เอาหลุดไปเลย อย่าเอาวิมุติ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ-หลุดพ้นไปเลยเหมือนใบบัวไม่ติดน้ำ สิ่งที่ชั่วให้หลุดไปเลยเหมือนใบบัวไม่ติดน้ำ ของดีมีเยอะแยะทำไมไม่เอามาเป็นสรณะ ทำไมไม่เอา  ......เอามาเป็นสรณะ นึกถึงสิ่งที่ดีทุกวันทุกคืน สนุกมากเลยโยม ฉันนึกเอาสิ่งที่ดีของคน ไม่ดีไม่เอา ที่พูดดีไม่เอา ไม่ดีฉันเฉย  เราไม่เอา  ทำดีฉันรับทันที ที่ไม่ดี ฉันเฉย ทันที อุเบกขาเราก็ปลอดภัย  ไม่มีอะไร เราทำจิตเหมือนใบบัวไม่ติดน้ำ ใบบัวเมื่อน้ำติด เรายก ทุ้งมันหลุดไหลไปหมด ทำจิตแบบนี้ เราพบของไม่ดีในโลกเยอะแยะ แต่มันไม่ติดจิตเรามา แต่ของดีมันติดมาเยอะเลย .....

“อย่าเอาสิ่งไม่ดีเป็นอารมณ์ แล้วโยมจะพบความสุขแน่นอนในโลกนี้ สรณะที่ดี คนดีมีเยอะในโลกนี้  ลองกองเราเอกเปลือกนอกปอกทิ้งเม็ดในก็เอาแต่เนื้อ ใครจะกินทั้งเปลือกทั้งเม็ดในมันไม่อร่อย  เราต้องฉลาดเอา ของกินได้เรากินของเสียเราทิ้ง แต่คนเราแปลกชอบเอาของไม่ดีมาคิดมากกว่าของดี ”

เป็นเพียงบางเสี้ยวตอนที่พระอาจารย์จำเนียรกล่าวต่อผู้ร่วมพิธีสะเดาะห์พระเคราะห์คืนนั้น ใครนำหลักดังกล่าวมาขบคิด ปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงน่าจะถือว่าได้เอาเคราะห์ออกจากตัวได้จริง

อนันต์ แก้วชนะ กำนันตำบลพิจิตรเล่าว่ากิจกรรมนี้จัดครั้งแรกเมื่อปี 2551 ความเข้าใจของเขาเองเกี่ยวกับปริวาสกรรมคือพระภิกษุที่มาปลงอาบัติ ด้วยว่าในช่วงจำพรรษามีความผิดในเรื่องทางสงฆ์  ข้อวินัย ที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจหลัง ตามหลักพระธรรมวินัยการทำปริวาสกรรมอาจทำรูปหรือสองรูปแต่นี่นับเป็นคณะใหญ่ที่สมบูรณ์

“ ปีก่อนก็จัดในวันเวลาเดียวกันนี้และต่อไปคงกำหนดให้วันที่ 7-16 กุมภาพันธ์ทุกปี” กำนันอนันต์ว่าผู้ริเริ่มงานนี้คือพระสุเมธ  เจ้าสำนักสงฆ์โคกพยอม ได้มีความคิด จากการที่ไปนั่งปริวาสกรรมที่อื่นและรู้จักเพื่อนพระภิกษุในที่ต่างๆมากพอสมควร ได้มีความคิดว่าถ้าบอกบุญมาจัดที่สำนักสงฆ์โคกพะยอมบ้างน่าเป็นไปได้

“จากการประชุม กับชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต.และชุมชนก็ยินดีปีที่แล้วทางฝ่ายสงฆ์มีพระภิกษุมาจากทั่วประเทศเดินทางมา 45 จังหวัด 80 รูป ชาวบ้านมาร่วมราว 1,500 คน สถานที่ไม่ค่อยพร้อมนักเพราะไม่คิดว่าคนจะมามาก ปีนี้พระจำนวนเท่าเดิม คนมาร่วมราว 2,000 คนจากหลายตำบลในอำเภอนาหม่อมและอำเภอข้างเคียง”

เห็นผู้คนสนใจไหลหลั่งกันมาทำให้มีการปรับความพร้อม และเพิ่มกิจกรรมอย่างพิธีมงคลให้รถที่มาร่วม ลากสายสิญจน์มงคลไปยังบ้านเรือน หวังประยุกต์เป็นพิธีทำบุญสวดบ้านของ 3 หมู่บ้าน ตลอด 9 วัน 9 คืน และจะขยายต่อไปยังหมู่บ้านห่างไกลจากสถานที่ประกอบพิธี ให้ครบทั้งตำบล

พิธีทำบุญสวดบ้านเป็นประเพณีเก่าแก่อย่างหนึ่งตามหมู่บ้านในชนบททางภาคใต้  โดยนิมนต์พระมาสวดในศาลากลางบ้าน ลากสายสิญจน์มงคลไปตามบ้านเรือนที่ต้องการเข้าร่วมพิธี  เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อความเป็นศิริมงคล ประเพณีนี้มีนัยแฝงถึงความเป็นน้ำหนึ่งสามัคคีของชุมชนด้วย แต่ระยะหลังขาดหายไป

อนันต์เล่าว่าการจัดปริวาสกรรมตามแบบนี้ต้องมีความพร้อมหลายด้านทั้งความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านและงบประมาณนับแสนบาท  ค่าธูปเทียน  อาหารถวายพระและถวายปัจจัยพระที่เดินทางมาจากที่ไกลๆ แม้พระไม่เรียกร้อง แต่ถือว่าชาวบ้านพร้อมตั้งใจทำบุญ สำหรับกิจกรรมปี2552  ได้รับการอุดหนุนเงินส่วนหนึ่งจากแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา

“เราเชื่อมโยงกับสุขภาพเรื่องอารมณ์พยายามดึงครอบครัวมาเข้าวัด”

กิจกรรมนี้จะเลือกครอบครัวตัวอย่าง 10 ครอบครัวในตำบลพิจิตรมานั่งปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น สำหรับชาวบ้านทั่วไป เลือกเข้าร่วมในพิธีกรรมทั่วไปโดยพบว่ามีวันละ 100 -200 คน ที่ตื่นมาใส่บาตร  รับศีล ฟังธรรม ทุกวัน สำหรับกิจกรรมช่วงค่ำ ชาวบ้านจะกลับมาร่วมรับศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม โดยการนั่งสมาธิ จนถึงสองทุ่มครึ่ง

“พิธีสะเดาะห์พระเคราะห์ในวันนี้เป็นกิจกรรมพิเศษที่คนสนใจกันมากได้นิมนต์อาจารย์จำเนียรมาโดยพระสุเมธเป็นผู้ประสานงานต้องนิมนต์จองล่วงหน้า 1 ปี เนื่องจากท่านมีกิจนิมนต์มาก ท่านเป็นพระมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักทั่วโลก ปีหน้าจะนิมนต์พระ เกจิดังๆ มาอีกให้ชาวบ้านได้สัมผัส”

อนันต์มองว่าสิ่งที่ได้ชัดจากกิจกรรมนี้คือสามารถนำคนกลับเข้าวัด

“เห็นว่ามาเป็นครอบครัวพาเด็กมาด้วย ภาพอย่างนี้หายากเด็กอาจจะสนใจตอนพระท่านแจกวัตถุมงคลหรือรดน้ำมนต์ แต่ย่อมเป็นกุศโลบายให้เข้าถึงหลักคำสอน เราต้องให้เวลาซึมซับไปทีละนิด ดีกว่าหลงไปทิศทางไม่ถูกไม่ควร”

ผลต่อมาคือความสามัคคีในหมู่ชาวบ้าน  ระดับสูงขึ้นไปคือการปฏิบัติธรรม คนที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมได้ 9 วัน 9คืน ย่อมสามารถลดอบายมุขไปส่วนหนึ่งแน่นอน คนได้ความสุขพอควรจากตรงนี้

“ผมเองได้มาวัดทุกวัน ตักบาตร เข้าพิธี เบื้องต้นเกิดความสุขทางใจ คนมีความสุขถ้าปฏิบัติได้ตามที่พระสอน  สำหรับที่นี่คิดว่านอกจากที่เราไปวัดตามปกติและวันสำคัญทางศาสนาแล้ว การรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่แบบนี้ ทำให้เห็นความสำคัญของการสานต่อศาสนา ไม่เช่นนั้นจะทำให้ศาสนาเสื่อมลงเพราะคนไม่เข้าวัดเหมือนเมื่อก่อน”

เขามองว่าคนที่เข้ามาร่วมโครงการนี้และทำกิจกรรมต่อเนื่อง น่าจะเอาหลักที่พระนักเทศสอนไปใช้น่าจะทำให้ครอบครัวมีความสุข มิติทางอารมณ์น่าจะดีขึ้น สุขภาพดีตามมา มีพละกำลังในการประกอบอาชีพต่อไป

“ใน 100 คน มี 20 คนที่เข้าถึงหลักธรรมถือว่ายังดี”

อนันต์ยังมองต่อไปว่าจากงานปริวาสเป็นโอกาสนำไปสู่กิจกรรมพัฒนาอื่นๆตามมา

“อย่าง14-15 กุมภาพันธ์ เราดึงนักเรียนและครูระดับประถมในตำบลพิจิตร ราว 70 คน มาปฏิบัติธรรม รับศีล รับพร ฝึกสมาธิ ศึกษาเรื่องศาสนาหลังจากนั้นจะให้เด็กเรียนรู้ เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องจักสาน”

ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญการทำจักสานตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน  ประเภท จักสาน เสื่อ กระสอบ  ทำไม้กวาด เครื่องมือจับปลาอย่างส้อนกระทั่งการแกะรูปหนังตะลุง มาเป็นวิทยากรสอนให้เด็กได้เรียนรู้และลงมือทำของจริง พร้อมจัดแมวมองหาแววจากเด็กบางคนเพื่อเลือกเขามาส่งเสริมสืบทอดภูมิปัญญาต่อไป

“คืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์เราจัดเวทีมโนราห์คืนถัดไปมีหนังตะลุง ”

อนันต์เล่าว่าหลังจากที่ อบต. พิจิตรได้ส่งเสริมการฝึกโนราและลูกคู่โนรา ไปในกลุ่มเยาวชนตำบลพิจิตรมาเป็นเวลานาน นี่เป็นโอกาสจัดเวทีแสดง  ศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นอีกแขนงหนึ่งคือหนังตะลุง ตำบลพิจิตรมีหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคณะ เช่น นายหนังลุงพุ่ม ,นายหนังยงยุทธ  คลองบ่วง ที่ได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นเยาวชน แห่งชาติ และหนังพล บ้านพรุ

“เราจัดโรงหนังตะลุงหนึ่งโรงใช้ลูกคู่ชุดเดียวกัน เล่นสลับกันสามคณะ คนละไม่เกิน 2 ชั่วโมงเพื่อส่งเสริมบทบาทนายหนังตะลุง และลูกคู่ ที่เป็นคนท้องถิ่น เราจะสนับสนุนว่าต่อไปนี้หากชาวบ้านมีการงาน หรือแก้บน ต้องรับ หนัง โนรา บ้านเรามาแสดง ความเชื่อคนที่ว่าหนังบ้านเพื่อนเล่นดีกว่าหนังบ้านเราก็จะหายไป เมื่อศิลปินท้องถิ่นมีเวทีที่จะแสดง เขาจะได้มีโอกาสอยู่ได้”

อนันต์ว่าวัฒนธรรมท้องถิ่น ถ้าไม่ถ่ายทอดจะค่อยหดหายไปทุกปี

งานปริวาสกรรมถือเป็นจุดจะใส่กิจกรรมอื่นเข้ามาได้อีกมาก และมีโอกาสยกระดับเป็นมหกรรม ระดับอำเภอ พ่วง งานวัฒนธรรม สินค้าพื้นเมือง ฯลฯ

“ปีหน้าเราจะเตรียมความพร้อม ทำการประชาสัมพันธ์ให้ให้เป็นประเพณีประจำ ท้องถิ่นของอำเภอนาหม่อมได้คุยเบื้องต้นกับตำบลอื่นบ้างแล้วใช้สถานที่นี่เหมือนเดิม”

ประมวล แก้วชนะ นายกอบต.พิจิตร เล่าว่างานนี้เกิดขึ้นด้วยแผนสุขภาพตำบล เกิดการรวมตัวของแนวร่วม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  กลุ่มองค์กรต่างๆในชุมชน ทั้งโรงเรียน วัด โรงพยาบาล  อสม.  กองทุนแม่ทุกหมู่บ้าน กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ ผู้นำธรรมชาติ กลุ่มฟื้นนาร้าง กลุ่มถั่วลิสง กลุ่มวัฒนธรรม

“ตอนนั้นคิดว่าเราจะชูเรื่องอะไรเห็นว่าน่าจะทำเรื่องปริวาสกรรม นำครอบครัวเข้าวัด”

ในงานปริวาสกรรมได้สอดแทรกกิจกรรมทางด้านสุขภาพด้วย อย่างวันสะเดาะห์พระเคราะห์ ซึ่งถือเป็นไฮล์ไลท์ มีผู้มาร่วมจำนวนมาก จะเริ่มงานตั้งแต่บ่ายโมง มีกิจกรรมผู้สูงอายุมาออกกำลังกายพร้อมกัน 140 คน  ระหว่างนั้นมีการแสดงการแกะรูปหนังตะลุง  พิธีสงฆ์เพื่อนำไปสู่พิธีสะเดาะห์พระเคราะห์จะเริ่มบ่าย 2 โมง

“ปีหน้าเราจะขยับทำตั้งแต่เช้า ช่วงเช้าแกะรูปหนัง ช่วงบ่ายผู้สูงอายุออกกำลังกายแล้วไปฟังธรรม” ประมวลเล่าและว่า เท่าที่สังเกตุกิจกรรมทั้งหมดชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การตอบรับ ทางด้านสุขภาพมองว่าผู้มาร่วมจิตแจ่มใสขึ้น อย่างการได้มาฟังธรรมจากพระอาจารย์จำเนียร ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดพระเกจิคนหนึ่งของเมืองไทยเวลานี้ เป็นนักเทศน์ที่ให้ความรู้ ให้คำแนะนำสั่งสอนทางธรรมะ ที่ดีมากๆ

“ปีนี้ถือว่าสำเร็จแล้วคนมาจากทั่วทุกสารทิศ ต่างจังหวัด อำเภอ ตำบล มีหลายกลุ่ม เราทำด้วยความตั้งใจ จิตบริสุทธิ์ ทำให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านเป็นหลัก ชาวบ้านก็เกิดศรัทธา เชื่อใจ สำหรับชาวบ้านถ้ามีพิธี เกี่ยวกับ สะเดาเคราะห์ สวดนพเคราะห์ เสริมดวงชะตา เขามาแล้วก็จะรู้สึกสบายใจ ยังได้มาพบปะ พูดคุยกัน ในหมู่พี่น้องนี่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่”


*******ล้อมกรอบ***********

กระแสกะลา

นายอนันต์ แก้วชนะ  กำนันตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม เล่าว่า ได้ส่งเสริมประชาชนในท้องที่ใช้กะลานวดเท้าเพื่อสุขภาพ  ตามแบบของโรงพยาบาลนาหม่อม ซึ่งเคยได้รับรางวัลนวัตกรรมทางด้านนี้

“ที่ผ่านมา อสม.ในตำบลพิจิตรดำเนินการ มีวิทยากรจากโรงพยาบาลนาหม่อมมาช่วย เพราะเขาเป็นต้นแบบแนวคิด ที่โรงพยาบาลมีทำไว้ชุดหนึ่ง คนที่ไปโรงพยาบาลจะเหยียบพรก(กะลา)ทุกที”

นายอนันต์เล่าว่า คนไปลองใช้ที่โรงพยาบาลแล้วได้ผลบางอย่างเกิดขึ้นกับตัวเอง  บางคนจึงลองไปทำใช้เองที่บ้านก็มี

“เรามาส่งเสริมกระตุ้นว่านี่เป็นวิธีที่ดี ไม่ต้องใช้ยา แต่เราจะทำอย่างไรให้ได้ผล นอกจากการเลือกพรกมาใช้เหยียบ ซึ่งต้องเป็นพรกผู้ ที่มีส่วนแหลม ยัง ต้องรู้เกี่ยวกับเส้นประสาทในฝ่าเท้าตรงไหน รักษาโรคอะไรจึงต้องพึ่งวิทยากรจาก โรงพยาบาลนาหม่อมมาฝึกความรู้กับ อสม.ก่อน”

ทางตำบลพิจิตรจึงจัด อสม. หมู่บ้านละ 6 คนมาจัดอบรม อบต. พิจิตร  1วันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วจึงใช้งบประมาณ 30,000 บาท ในการซื้อชุดกะลานวดเท้า พร้อมราวที่ทำแบบมาตรฐานราคาชุดละ 1800 จำนวน 6 ชุด  เพื่อนำไปวางเป็นจุดสาธิตตามหมู่บ้าน พร้อมแผ่นชาร์ตฝ่าเท้าเพื่อให้คนได้มีความรู้

“ทุกหมู่บ้าน มี อสม. ที่เข้าฝึกอบรมคอยขยายผล คอยดูแลแนะนำชาวบ้านให้ได้ใช้ต่อ ใครสนใจก็เอาไปทำเองก็ได้ จะถ่ายเอกสารแผ่นชาร์ตไปขยายผลทุกหมู่บ้านก็ได้ สำหรับคนก็ใช้ ก็ได้ผลดี แต่ต้องทำประจำ  บางคนทำเองคือฝังในดิน แล้วทำราวพยุงตัว บางคนหล่อปูนในพรกให้ทนทาน”

Relate topics

Comment #1สถานที่ จัดปริวาสกรรม
ไพศาล (Not Member)
Posted @24 ส.ค. 52 20:34 ip : 114...74

จัดหลังออกพรรษา 3 วัน จัดทุกปี

ปีนี้จัดวันที่ 7 - 15 ตุลาคม 2552

วัดเขาบ่อกวางทอง ต.บ่อกวางทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี

เจ้าอาวาส พระครูไพศาลสารคุณ 081-6630218

+++สามารถกลับไปรับกฐินได้++++

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว