สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

Healthy Radio วิทยุเพื่อสุขภาพ

by punyha @26 ก.พ. 52 09:24 ( IP : 222...145 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 640x480 pixel , 26,300 bytes.

ผู้ใช้อินเตอร์เนทคลิ๊ก  http://healthyradio.org จะเข้าสู่เวบไซต์วิทยุออนไลน์เพื่อสุขภาพ ส่วนคนไม่ได้นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงแต่เงี่ยหูฟังรายการที่อาจกำลังลอยลมผ่านมาทางวิทยุชุมชนและเสียงตามสายประจำหมู่บ้าน

กำราบ พานทองผู้ดำเนินการ Healthy Radio กำลังถ่ายทอดการประชุมสัมมนาสำคัญรายการหนึ่งจากกรุงเทพ ฯ โดยเขาเองนั่งประสานงานในห้องพักเล็กๆ แถวหาดใหญ่

“วิทยุเพื่อสุขภาพเกิดจากเราอยากจะเห็นการเข้าถึงข้อมูลที่มันง่ายและกว้างไกล โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลของชาวบ้านทาง IT หรืออินเตอร์เนต”

เมื่อแปดปีก่อนภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิอาโชก้า(Ashoka) กำราบได้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่องการใช้ประโยชน์จากดิจิตอล สำหรับการการแก้ปัญหาการไม่รู้หนังสือและแก้ปัญหาความยากจนในเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย  เป็นเวทียุทธศาสตร์การใช้พลังดิจิตอลแก้ปัญหาความยากจน ร่วมกับNGOs ทั่วประเทศอินเดีย

“ครั้งนั้นทำให้เราเห็นภาพว่าอินเดียมีประชากรพันล้านทางเดียวที่จะแก้ปัญหาคนได้คือดิจิตอล”

หลายคนอาจมองว่าอินเดียแย่กว่าเมืองไทยหลายเรื่องแต่ทางกลับกันกำราบเห็นโอกาสจากการเคลื่อนของภาคประชาชนที่ต้องการใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหา

“หลังกลับจากอินเดีย ผมเริ่มมาพัฒนา ศูนย์ ICT ชาวบ้าน ศูนย์เทคโนโลยี สารสนเทศและสื่อสารชุมชนของชาวบ้าน บนแนวคิดว่าทำอย่างไรจะเกิดกระบวนการการเรียนรู้ของชุมชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ”

เมื่อภาค NGOs ในประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวจัดตั้งชมรมICTนักพัฒนากำราบมีส่วนช่วยอยู่ราว 2ปี พบปัญหาว่าแนวคิดนี้ไม่สามารถเข้าถึงชาวบ้าน มักจำกัดการรับรู้อยู่แต่พวกนักวิชาการ คนชั้นกลาง และผู้สนใจบางส่วน เขาเลยกลับมาทำโครงการของตัวเอง

“เราทำให้ชุมชนสนใจICT  เราจัดอบรมวิทยุออนไลน์ เชิญวิทยากรจาก กรุงเทพฯ มาช่วยแล้วทดลองถ่ายทอดสดโดยยืมพื้นที่ของมูลนิธิเด็กพบว่าสนุกดี”

งานสร้างสุขภาคใต้ ปี2549 กำหนดจัดที่ห้องทองจันทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นครั้งแรกที่กำราบเสนอความคิดให้มีการถ่ายทอดสดผ่านวิทยุออนไลน์แต่ไม่มีใครสนใจนัก ประกอบกับตัวเขาเองก็ไม่พร้อมจึงพับความคิดไป  กระทั่งปีถัดมามีการจัดงานตลาดนัดสุขภาพ ของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ที่โรงแรมราชมังคลา พาวีเลี่ยนบีช อำเภอเมืองสงขลา เขาเสนอความคิดนี้อีกมีการตอบรับจากคณะกรรมการจัดงาน

ภาณุมาศ นนทพันธ์ ทีมฐานข้อมูลจากแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ จัดพื้นที่สถานีพร้อมจดทะเบียนเวบไซต์  http://healthyradio.orgให้ ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550  วิทยุเพื่อสุขภาพถือว่าเปิดตัวเป็นทางการมาแต่วันนั้น

วัตถุประสงค์วิทยุเพื่อสุขภาพ 1. เพื่อสนับสนุนให้เกิดเวทีการสื่อสารที่เชื่อมโยงได้กว้างไกล และเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง  2.เพื่อหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่ใช้การสื่อสารและสารสนเทศ เพื่อสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด  3. เพื่อสร้างความภูมิใจและศักดิ์ศรีการเรียนรู้ร่วมกันของคนทุกระดับโดยเฉพาะกลุ่มคนรากหญ้า ได้มีโอกาสสูงมากขึ้น

กำราบให้เครดิตว่างานนี้เป็นความพยายามและความร่วมมือระหว่างชมรมสื่อแห่งปัญญา(GAWCOM.NET)  สถาบันศานติธรรมและแผนสุขภาพ จังหวัดสงขลา และเครือข่ายสื่อชุมชนต่างๆ  โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้(สวรส.ภาคใต้)  ผ่านทางแผนสุขภาพสงขลาที่มี ชาคริต โภชะเรือง เป็นผู้ประสานงาน

การดำเนินการต่อเนื่องสืบมา มีคณะผู้สนใจร่วมดำเนินการประกอบด้วยกำราบเป็นผู้จัดการสถานี  ปิยะพร  พานทอง นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต  ออกแบบเวบไซต์ ภาณุมาศ  นนทพันธ์ สนับสนุนการออกแบบ  ปรับปรุงและร่วมดูแลเวบไซต์  รวมทั้งระบบการถ่ายทอดเสียง

ทีมนักจัดรายการ เช่น อาจารย์ เบญจมาศ  นาคหลง  จากโรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์และทีมเยาวชนต้นกล้า  ชัยวุฒิ เกิดชื่น และทีมงานวิทยุคลื่นความคิด  เสรี  กลิ่นจันทร์  สมศิริ  ยิ้มเมือง จากสถาบันศานติธรรม อิหม่ามสุภาพ  ภู่ทับทิม  ชลินทร์  ธรรมวาโร และสุจิน  แก้วบุญส่ง  จากชมรมสื่อแห่งปัญญา

มีการเชื่อมโยงกับวิทยุชุมชนต่างๆ ได้แก่วิทยุชุมชนท่าข้าม( พิกุล  ทองดีเลิศ)  วิทยุชุมชนบางเหรียง(เมี่ยน ไชยณรงค์)  วิทยุชุมชนเพื่อพระพุทธศาสนา อำเภอรัตภูมิ เอฟเอ็ม 101.0 เมกกะเฮริ์ต(ปาฎิหารย์ บุศริตย์)  และเครือข่ายสำนักข่าวองค์กรชุมชน 4 ภาค โดยศิริพล  สัจจาพันธ์  ผู้ประสานงานสื่อชุมชนภาคใต้  เป็นต้น

กำราบเล่าว่าหลักการของวิทยุบนเวบไซต์เป็นการใช้  IT เพื่อการสื่อสาร มี ต้นแบบมาจาก ONE WORLD RADIO ของแคนาดาที่ถ่ายทอดเสียงไปทั่วโลกมา 20-30 ปีมาแล้ว ให้คนที่อยู่ไกลๆเข้าถึงผ่านอินเตอร์ไม่ต้องใช้คลื่นวิทยุ

“ถ้าเราจัดตั้งศูนย์ ICT ชุมชนสำเร็จคิดว่าจะใช้ศูนย์ดังกล่าวเป็นตัวเชื่อมวิทยุออนไลน์ไปถึงชุมชนได้สะดวก  ยกตัวอย่างมีศูนย์เรียนคอมพิวเตอร์ในชุมชน คนก็มานั่งฟังในศูนย์ได้  จากศูนย์ICTชุมชนอาจส่งผ่านเสียงตามสายในชุมชนหรือเชื่อมกับวิทยุชุมชนในพื้นที่อีก” ผู้ใช้อินเตอร์เนตกำราบมองว่าไม่ต้องห่วง แต่คนไม่มีอินเตอร์เนตต้องหาช่องทางที่เหมาะสม สร้างโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กระจายให้เข้าถึงชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

“ที่ทำอยู่ทุกวันนี้จะมีวิทยุชุมชน 2-3 สถานีมาคอยเฝ้าดูว่าเราจะถ่ายทอดอะไรแล้วรับเสียงไปถ่ายทอดต่อ อย่างวันนี้มี FM 101.0 คลื่นความคิด(หาดใหญ่) เอาเสียงถ่ายทอดสดไปออกอากาศต่อ  เวบฯเราทำหน้าที่เหมือนเวบฯท่า เอาข้อมูลมาป้อน เอาเสียงมาออก ให้คลื่นวิทยุมาดึงออกไปใช้”

วิทยุชุมชนที่เผยแพร่เสียงจาก http://healthyradio.org อย่างต่อเนื่อง เช่น วิทยุชุมชนคลื่นความคิด,วิทยุชุมชนบางเหรียง ,วิทยุชุมชนท่าข้าม,วิทยุชุมชนเกาะบก  เป็นต้น ทางสถานีคัดเลือกเองว่าสนใจรายการช่วงใด ยิ่งเรื่องไหนสำคัญกำราบจะโทรย้ำเสมอว่าไม่ควรพลาด

“เราถ่ายทอดเสียงทุกวัน ๆละ 5-6 ชั่วโมง วันนี้ประเด็นอาเซียนซัมมิทส่งผลกระทบชาวบ้านโดยตรงอย่างชาวสวนปาล์มซึ่งน่าสนใจ แต่คนสนใจน้อยอยู่”

กว่าจะทำให้คนหันมาฟังวิทยุแนวใหม่นี้ กำราบยอมรับว่าต้องใช้ความพยายามหลายทาง เริ่มจากต้องทำให้คนรู้จักเวบไซต์  เขาใช้วิธีแนะนำตัวตามงานสาธารณะต่างๆ ที่เข้าร่วมเกือบทุกงานช่วงปีที่ผ่านมา

“เราบอกว่ากำลังจะถ่ายทอดงานนี้ไปสู่เวบฯ ก็ได้ผู้ฟังเพิ่มมางานละคนสองคนนอกจากนั้น ผมเองนั่งทำเมลลิ่งลิสชุดละ 500 คน ได้จำนวน2 ชุด ก็ยิงกำหนดการเดือนละครั้งให้เขาดู” เป็นเทคนิคการส่งจดหมายอีเลคทรอนิคหรืออีเมลล์เพื่อแจ้งข่าว สำหรับกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เนต

ผ่านมาระยะหนึ่งคนรู้จักวิทยุออนไลน์มากขึ้น  กำราบเห็นได้จากพอออกไปถ่ายทอดงานประชุมสัมมนาต่างๆ  โฆษกเริ่มแนะนำว่าวิทยุเพื่อสุขภาพว่าหาฟังได้ที่ไหน กระทั่งมีคนโทรกลับมาบอกว่าคุณภาพเสียงอย่างไร ช่องทางใหม่อีกอย่างหนึ่งในการเผยแพร่เวบไซต์ เมื่อกำราบลงไปทำเวทีประชาคมกับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ตามภารกิจงาน จะถือโอกาสประชาสัมพันธ์  พร้อมสาธิตการจัดรายการสดๆ ซึ่งได้รับความสนใจ

ในแง่ผู้ฟังเห็นการตอบรับขยายตัว แต่ต้นทางข้อมูลยังมีปัญหา บางรายการแม้จะถ่ายทอดให้ฟรีบางหน่วยงานยังไม่สนใจ เขาไม่สนุก ไม่เห็นด้วย บางงานบอกว่าต้องไปขออนุญาตอธิบดีก่อน

“ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ไม่อยากทำ ถ้าคนเห็นความสำคัญ จะรู้ว่ามีประโยชน์ เช่นกันสังคมจะยอมรับ ความหมาย คุณค่าต้องใช้เวลา ”

รายการสดของวิทยุสุขภาพปัจจุบัน (มกราคม2552) มี 3 ช่องและกำลังเพิ่มเป็น 6 ช่อง กำราบเล่าว่าระบบการถ่ายทอดสดที่ทำอยู่ง่ายสุดคือเปิดโทรศัพท์รับสัญญาณเสียงสดเพื่อ “โฟนอิน”เข้ามายังช่องถ่ายทอดอย่างไรก็ตามวิธีแบบนี้อาจต้องระมัดระวัง เพราะที่ประชุมอาจมีความลับนอกจากนั้นยังมีปัญหาทางเทคนิคอื่นอีกเช่นเวทีไฮปาร์คอาจต้องเข้าไปยืนถือโทรศัพท์ข้างเวที เขาเคยทำกับเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตลอด 6 เดือน

ในเวบไซต์จะมีปฏิทินผังรายการ ที่น่าสนใจล่วงหน้าแจ้งเอาไว้

สำหรับตัวอย่างผังรายการช่วงที่ผ่านมาขณะยังเปิดดำเนินการ 1 ช่อง
เปิดสถานีเวลา  05.00 น. ด้วยรายการทำวัตรเช้า
06.00 น. เป็นเทปธรรมบรรยายอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
08.00 น.ต่อเชื่อมสัญญาณเสียงข่าวยามเช้าจากเอเอสทีวี
10.00 น. รายการสดโดยกำราบ หรือ เครือข่ายจัด
12.00 น. ต่อเชื่อมสัญญาณข่าวเที่ยวจากเอเอสทีวี
13.00 น. เทปรายการเก่าออกอากาศซ้ำ
15.00 น. - รายการของเครือข่าย
16.00น. - รายการงานวิจัยชาวบ้าน
18.00 น. - รายการทำวัตรเย็นแบบแปลของสวนโมกข์
19.00น. –เทปธรรมบรรยายของอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
20.30 – ต่อเชื่อมสัญญาณจากเอเอสทีวี

การเชื่อมสัญญาณจาก เอเอสทีวีโดยเฉพาะช่วงเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2551 กำราบมองว่าถึงแม้จะมีความเห็นแตกต่าง แต่เขามองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เห็นข้อมูลข่าวสารอีกด้านหนึ่ง

สถานีวิทยุออนไลน์เพื่อสุขภาพจะปิดราวเที่ยงคืนหรือหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย  มีหลักว่าในแต่ละวันถ้ามีการถ่ายทอดสดเข้ามาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะตัดรายการปกติออกไปก่อน

หลังจากเปิดบริการ 3 ช่อง ได้ปรับผังรายการเป็นสัดส่วนชัดเจนมากขึ้นช่อง 1 เป็นเรื่องธรรมะและข่าวสุขภาพ  ช่อง 2 เว้นไว้สำหรับการถ่ายทอดสดโดยเฉพาะ ส่วนช่อง 3 ต่อเชื่อมเอเอสทีวี  แต่วันไหนถ่ายทอดสดพร้อมกันหลายรายการและมีความสำคัญ แต่ละช่องยกเลิกรายการปกติก่อนเพื่อถ่ายทอดสด

กำราบเล่าว่าเคยนั่งจัดรายการเอง  4-5 ชั่วโมง แต่ลดเวลาลงไปเหลือ 2-3 ชั่วโมง เพราะตัวเขาเองติดภารกิจงานส่วนอื่น  เนื้อหารายการของ  http://healthyradio.org เน้น 3 เรื่องหลักกล่าวคือเกษตร สุขภาพ และการศึกษา  เนื่องจากเขาเป็นนักพัฒนาที่เคลื่อนไหวเกษตรทางเลือกมาเป็นเวลานาน จึงนำมาเป็นหลักเชื่อมกับแผนสุขภาพ จังหวัดสงขลา

ด้านการศึกษา เขามองว่าต้องการนำวิทยุมาเป็นห้องเรียนมหาวิทยาลัยชีวิต เพื่อตอบคำถามต่อไปว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านสร้างระบบการเรียนการสอนขึ้นในหมู่บ้าน เป็นการเรียนจนถึงอุดมศึกษา โดยเขาไม่ต้องไปเสียค่าเดินทาง ค่าลงทะเบียนให้ลูกในราคาแพงๆ  มหาวิทยาลัยในระบบ

“ทำไมเราไม่ทำวิทยุออนไลน์ให้เขาฟัง เรื่องอะไรให้เขามาลงทะเบียนเทอมละ 20,000-30,000 บาท ค่าหอพัก ค่าอาหาร ค่าเดินทางอีก  หากทำวิทยุออนไลน์เพื่อการศึกษา ใครอยากฟังวิชาไหนก็ฟังได้  นี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็น นั่งฟังอยู่ที่หมู่บ้าน ทำงานไป”

เขาว่าแนวคิดมหาวิทยาลัยชีวิตนั้นดำเนินการมานานพอควร แต่ยังไม่แพร่หลาย จึงอยากทำวิทยุเป็นห้องเรียน ที่มีชีวิต คนทั่วโลกเรียนได้ เป็นข่าวสาร องค์ความรู้ กระทั่งว่าผู้สอนกับผู้เรียนโต้ตอบกันได้ เกี่ยวกับวิทยุออนไลน์เพื่อสุขภาพ กำราบให้ความสำคัญเรื่องกระบวนการ

“ทำอย่างไรให้ชุมชนเข้าถึงตัวนี้ให้ได้ชุมชนต้องสร้างองค์ความรู้ของตัวเองแล้วมาเชื่อมกับตัวนี้ให้ได้  ผู้ใช้ต้องมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ อยากเน้นถึงการไปผลักทรัพยากรที่เรียกว่าแผนแม่บท ICT ”

นับตั้งแต่ปี 2552 ไป 5ปี กระทรวงICT  ได้ออกแผนแม่บท ICT กำหนดว่าชุมชน ทั่วประเทศ 10% จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT อย่างสมบูรณ์เป็นประเด็นทางนโยบายที่กำราบเห็นว่าจะเข้าไปเชื่อมเพื่อผลักดันทรัพยากรมาสู่ชุมชน ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะเสียเปรียบและถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ แม้ว่าหลังจากเขาลงไปเคลื่อนเรื่อง ICT หลายปี พบว่าแนวโน้มดี คนเริ่มไม่กลัวเทคโนโลยี เหมือนเมื่อก่อน

“เมื่อก่อนรู้สึกแปลกใจมากชาวบ้านมาอบรมคอมพิวเตอร์เขากลัวมากแค่เฉียดยังไม่กล้ากลัวเครื่องมันจะเสีย ไม่กล้าจับเขาบอกว่าอย่าไปแตะมันจะพัง แต่พอเราสอนเขาพิมพ์ได้ ความมั่นใจเกิดขึ้นบางคน 50-60 ปี บางคนเป็นโต๊ะอิหม่าม เขาบอกว่า ฝึกแล้วมันไม่มีอะไรมากเลย เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง”

หลังจากทะลุทะลวงผ่านลงไปยังชุมชนได้  กำราบมองว่าชาวบ้านต้องใช้สิ่งนี้ให้มีความรู้มากที่สุด  ยกระดับชีวิตใช้ในการศึกษา เอาแค่เรื่องวิทยุออนไลน์หากมีใครสักคนหรือจำนวนหนึ่ง ในชุมชนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้คล่อง แค่ทำหน้าที่เปิดเสียงผ่านวิทยุชุมชนก็ช่วยคนอื่นฟังต่อได้

“ทำอย่างไรให้เป็นห้องเรียนพร้อมทั่วประเทศอย่างเชียงใหม่ทำเวทีหมู่บ้านผมมีสิทธิที่จะฟัง ไม่ต้องจ่ายค่ารถเสียเวลา 5 วัน เพื่อจะไปนั่งฟัง ประเด็นยางพาราจากภาคใต้คนอีสานก็ควรจะได้ฟัง”

แม้ว่าทุกวันนี้วิทยุออนไลน์มีเยอะขึ้นพบว่าส่วนมากยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขธุรกิจ เน้นรายการบันเทิง หาโฆษณาพ่วงกับวิทยุชุมชน

http://healthyradio.org มีจุดยืนมุ่งเน้นสาระเป็นหลัก นอกจากจุดเด่นรายการสดที่เป็นสาระ กำลังพัฒนาเพิ่มพื้นที่ซาวด์แบงค์ (sound bank)สำหรับฟังย้อนหลัง

“มีคนสนใจเข้ามาฟังทั่วประเทศ เราได้มีส่วนร่วมจากการรับฟังทั้งคนที่เมล์มาแจ้ง โทรมาบอกหรือขอให้เราไปถ่ายทอดในรายการต่างๆ”

เนื่องจากระบบเวบมาสเตอร์ยังไม่ละเอียด กำราบยังบอกไม่ได้ว่าคนเข้ามาฟังทั้งหมดเป็นเท่าไร  “อย่างขึ้นมา 4 ราย แต่เราไม่รู้ว่าหากรายหนึ่งคือวิทยุชุมชนนำไปถ่ายทอดจะมีคนฟังเท่าไร อย่างคลื่นความคิด เอาไปเชื่อมคลื่นสวีทจูเนียร์ ก็ต้องไปดูที่สวีทจูเนียร์อีกเหมือนกันว่ามีเท่าไร หรือเวบฯ เราไปต่อเชื่อมกับเวบฯอื่น  ต้องไปเช็คตรงนั้นด้วยเหมือนกัน จึงถือว่าเข้ามา 2-3 คน ถ้าทะลุต่อได้ก็น่าพอใจ  ”

เขาคิดว่า วิทยุชุมชนมีส่วนหนุนเสริมวิทยุออนไลน์ให้เข้าถึงชาวบ้านได้ แทนที่ปล่อยให้วิทยุชุมชนใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์แท้จริง  เน้นเปิดเพลง กลายเป็นธุรกิจ

“วิทยุชุมชนแทบไม่ต้องสร้างอะไรเพียงแต่มาดึงเสียงวิทยุออนไลน์ไปใช้ จะตรงตามวัตถุประสงค์วิทยุชุมชนด้วยที่ให้ 70% เป็นเนื้อหาสาระตามกฎหมายบังคับ เราทำสาระเอาไว้แล้ว คุณแค่ดึงไฟล์ไปออกอากาศ”

กำราบยังมีแนวคิดเรื่องสถานีวิทยุวิทยุชุมชนขนาดเล็กใช้ทุนต่ำกว่าวิทยุชุมชนที่ดำเนินการอยู่ แต่ถึงกลุ่มเป้าหมายในขอบเขตได้อย่างชัดเจน เช่นวิทยุเพื่อสุขภาพ วิทยุเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง วิทยุเพื่อการเกษตรยั่งยืน

“ไม่ต้องมีเพลงหรืออะไรมากแต่เราทำสาระ ห้องเรียน เชื่อมต่อกับระบบไอที ขนาดพื้นที่ 1 ตำบล กำลังส่ง อาจจะแค่ 5 กิโลเมตร ไม่เกิน 30 วัตต์ อยู่ในเกณฑ์กฎหมาย”กำราบเล่า และว่าก้าวสำคัญของวิทยุออนไลน์เพื่อสุขภาพในปี 2552 นี้ มี 3 เรื่องหลัก

  1. สร้างเครือข่ายผู้ฟัง โดยการไปสร้างเวที  เน้นหนักชุมชนเป็นหลัก โดยตั้งศูนย์ ไอซีที นำร่อง 7 จุดในสงขลา  และ 10 จุดทั่วภาคใต้
  2. จัดเวทีขับเคลื่อนนโยบาย  ด้านการใช้ทรัพยากร ไอซีที เพื่อสุขภาพ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บท ICT
  3. ขยายให้วิทยุสุขภาพ เป็นห้องเรียนที่สมบูรณ์แบบ คือมีซาวด์แบงค์ที่ฟังย้อนหลังได้ มีระบบการค้น มีโปรแกรมล่วงหน้า เชื่อมต่อกับวิทยุ ชุมชนให้มากขึ้น ซึ่งการเชื่อมวิทยุชุมชนตรงนี้เน้นหนักการทำเวทีร่วม ทำรายการร่วม เพื่อสร้างสรรค์ ทั้ง เนื้อหา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม นโยบาย การสร้างความร่วมมือ

“ที่เราจะแถมคือทีวีออนไลน์จะทำทีวี เพื่อสุขภาพ เราจดเอาไว้แล้วจดชื่อในนาม http://healthytv.org  เป็นทีวีชุมชนในอนาคตแต่คงทำได้บางส่วนในปีนี้ ” กำราบกล่าว

Relate topics

Comment #1ด้วยควมคิดถึท่านอาจารย์กำราม พานทอง คิดถึงคนสตูลบ้างไม่ครับ (อง
อภิเดชพฤทธิ์ เพชรชาบาล (Not Member)
Posted @27 ส.ค. 52 12:19 ip : 118...128
ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว