สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา

by kai @26 มิ.ย. 48 21:40 ( IP : 61...150 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา สนับสนุนโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ความเป็นมา : ภาคประชาชนของจังหวัดสงขลาได้รวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ 2526 และขยายผลชัดเจนประมาณปี 2530 เริ่มจากความที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา ต่อมาได้ร่วมกันการผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2540 ร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งของประมงพื้นบ้านกรณีปลากะตัก เกิดกลุ่มองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรภาคประชาชน องค์กรชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มแพทย์แผนไทย กลุ่มเด็กไทยหัวใจไทย ได้มีการระดมความคิดในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ จากนั้นมีการลงพื้นที่ติดตามและเผยแพร่ในสื่อเพื่อประชาสังคม ที่สถานีวิทยุ สทร. และ อสมท. เมื่อครบหนึ่งปีจึงสรุปบทเรียนร่วมกัน

ในการเกิดประชาคมสุขภาพสงขลา มีการเตรียมการ จำนวนกรรมการ องค์ประกอบแต่ละส่วน ในส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะจัดการโดยโครงสร้างที่มีอยู่เดิมของแต่ละองค์กร ในส่วนภาคประชาชนจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณสุขจังหวัด เกิดการจัดการให้รับรู้โดยจัดเวทีให้ครอบคลุมพื้นที่ 16 อำเภอของสงขลา

ปี 2543 ถึง ปี 2544 เกิดสงขลาฟอรั่ม ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งดำเนินการโดยอาจารย์พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ต่อมาทีมงานบริโภคเพื่อชีวิต มูลนิธิรักบ้านเกิดภาคใต้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้จัดกระบวนการคัดสรรกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ของภาคประชาสังคม ปลายปี 2544 ถึง ปี2545 ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) จัดเวทีเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ ในการพัฒนาชุดโครงการสร้างเสริมสุขภาพของสงขลา

ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพสงขลา โดยมียุทธศาสตร์พัฒนาองค์ความรู้สร้างทางเลือก และยุทธศาสตร์การประสานภาคีเป็นกรอบหลัก ในระหว่างการดำเนินงาน จะค้นหายุทธศาสตร์เชิงประเด็น จากการทำงานระดมความคิด กิจกรรมเวทีเรียนรู้ในพื้นที่ ประเด็นร่วมคือ เกษตรเพื่อสุขภาพ อาหารปลอดภัย ออกกำลังกาย สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา สื่อพื้นบ้าน สื่อสารสาธารณะ การมีส่วนร่วมในระบบบริการ และประเด็นอื่นๆ เช่น การสร้างภาคีเครือข่ายพื้นที่ เครือข่ายครอบครัว โรงเรียนสร้างเสริมสุขภาพ

ขณะเดียวกัน สปรส. (สำนักงานปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ) ก็ได้จัดเวทีต่างๆในระดับพื้นที่ต่างๆ เพื่อรวมรวบความคิดเห็นในการผลักดัน พรบ. สุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เช่น สวรส ( สำนักงานวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้) สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) พอช. (องค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้) รวมทั้งหน่วยงานสุขภาพในพื้นที่ของรัฐ ร่วมผลักดัน

โครงการการพัฒนาเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพ ได้เริ่มดำเนินงานระยะเวลา 3 ปี คือ ปี 2546 ถึง ปี 2549

ผู้รับผิดชอบจากส่วนกลาง : ดร.วณี ปิ่นประทีป ผู้จัดการโครงการ

ผู้รับผิดชอบระดับจังหวัด : นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ที่อยู่ : 2 ถ.ไทยสมุทร ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110 โทร& Fax : 074-423711

บทบาท เป็นองค์กรที่ช่วยเร่งพัฒนาการ องค์กรอื่นๆ โดยใช้เงินทุนเป็นเครื่องมือ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมาย เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด ตั้งเป้าว่าอยากให้มีกลไกการจัดการระดับจังหวัดที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และควรเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน มีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ คือมีความยั่งยืน และเป็นนวัตกรรม

งบประมาณ ให้จังหวัดละ 3 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1 ล้านบาทเป็นงบจัดกิจกรรมของเครือข่าย 30% เป็นงบบริหารจัดการกิจกรรมเครือข่าย 25% เป็นค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ อีก 70% จัดกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่าย จัดประชุม อีก 2 ล้านบาท เป็นงบสำหรับสนับสนุนโครงการย่อยๆในพื้นที่

พื้นที่เป้าหมาย จังหวัดสงขลา

คณะกรรมการบริหาร องค์ประกอบ ประกอบด้วยผู้แทนจาก 4 ภาคีสร้างเสริมสุขภาพ อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคการเมืองท้องถิ่น ภาคประชาชน และนักวิชาการโดยคัดสรรบุคคลที่มีศักยภาพในการหนุนเสริมการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ และสามารถกำกับติดตามความก้าวหน้าในการทำงานของคณะทำงาน ดังนี้ 1. ภาคราชการ ได้แก่ - นพ.ธีรวัฒน์ กรศิลป์ นายแพทย์ 9 ด้านเวชกรรม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ - นายนวพล บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
- นายอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา
- นายสินธพ อินทรัตน์ ประธานสมาพันธ์นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดสงขลา
3. ตัวแทนภาคประชาชน ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ - นายลัภย์ หนูประดิษฐ์
- นางพิกุล บุรีภักดี
- นายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล
- นายพิชัย ศรีใส
4. นักวิชาการด้านสุขภาพ และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่
- รศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
5. เลขานุการของคณะกรรมการ คือ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร 1. มีหน้าที่ให้การสนับสนุน ดูแลการทำงานของคณะทำงานให้เป็นไปตามแผนงาน
2. ร่วมผลักดันความร่วมมือในการสร้างสุขภาพคนสงขลาในประเด็นร่วมที่มีความสำคัญ โดยการประสานพลังของทุกภาคส่วนในการสร้างสุขภาพคนสงขลา ร่วมกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด ภารกิจ แผนงาน การหนุนเสริมทั้งด้านนโยบายสาธารณะ กำลังคน วิชาการหรืองบประมาณ เพื่อให้ประเด็นร่วมนั้นได้รับการบรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหาเพื่อเป็นต้นแบบความร่วมมือทุกภาคส่วนในการสร้างสุขภาพคนสงขลา 3. ให้คำชี้แนะหรือข้อคิดเห็นต่อการพิจารณาสนับสนุนโครงการแก่กลุ่มต่างๆที่ขอรับทุนสนับสนุนจากภารกิจ node สสส. 4. หนุนเสริมภาคีหรือองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพให้สามารถปฏิบัติการในการร่วมสร้างสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5. มีวาระการประชุมสม่ำเสมอทุก 3 เดือน

คณะทำงานของโครงการ มีหน้าที่ ร่วมคิด ร่วมผลักดันภารกิจของการเป็น node สสส.และองค์กรสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของคนสงขลาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

คณะทำงานประกอบไปด้วย 1. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ 2. นางพิชยา แก้วขาว รองผู้จัดการใหญ่โครงการปฎิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่, อนุกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 3. ผู้ใหญ่บรรเจต นะแส ประชาคมจังหวัดสงขลา 4. อาจารย์ชโลม เกตุจินดา ประชาคมจังหวัดสงขลา 5. นายบัญชร วิเชียรศรี สื่อมวลชน 6. นายชาคริต โภชะเรือง นักวิจัยอิสระ มีวาระการประชุมสม่ำเสมอทุก 1 เดือน

ผู้ประสานงานกลาง ทำหน้าที่เป็นเสมือนหัวหน้ากองเลขาของคณะทำงาน มีภารกิจในการปฎิบัติงานตามแผนงานของโครงการ เป็นกลไกกลางในการทำงาน หนุนเสริม ประสานงานทุกฝ่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่การเงิน และเจ้าหน้าที่ข้อมูล โดยผู้ประสานงานกลางและกองเลขาประกอบด้วย 1. นายชาคริต โภชะเรือง ผู้ประสานงานกลาง 2. นส.กมลทิพย์ อินทะโณ เจ้าหน้าที่ธุรการ การเงินและบัญชี 3. นส.วรรณา สุวรรณชาตรี เจ้าหน้าที่ข้อมูลและประสานงาน

สื่อของเครือข่าย :
1. www.songkhlahealth.org 2. จดหมายข่าว "สุขภาพคนสงขลา" ราย 2 เดือน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1.มีกลไกการจัดการงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด 2.มีนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ 3.มีการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ

โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายฯ ในปี 2547 มีทั้งหมด 9 โครงการดังนี้ 1.โครงการนำร่องการพัฒนาเครือข่ายเกษตรวิถีธรรมเพื่อสุขภาวะคนสงขลา ผู้รับผิดชอบโครงการ : นายประเดิม อนันต์ เกษตรเพื่อสุขภาพ เน้นทิศทางการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สุขภาพผู้ผลิตและผู้บริโภค การพัฒนาเครือข่ายเกษตรเพื่อสุขภาพ เป็นการสร้างเสริมสุขภาพกายและใจของผู้คน อย่างยั่งยืน โดยใช้ธรรมมะเป็นสื่อกลางมีพื้นที่ปฏิบัติการจำนวน 3 พื้นที่นำร่อง เกษตรเพื่อสุขภาพ บ้านยางงาม
ต.ทุ่งหวัง เกษตรเพื่อสุขภาพ ต.ท่าข้าม เกษตรเพื่อสุขภาพ ต.เกาะแต้ว

2.โครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพของคนสงขลา ผู้รับผิดชอบโครงการ นายไพฑูรย์ ศิริรักษ์
ข้อมูลเป็นสำคัญ ชุมชนเป็นฐาน บูรณาการกับชีวิตจริง อิงเทคโนโลยี เป็นยุทธศาสตร์ในการทำงานกับชุมชนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในยุคปัจจุบัน คือแนวคิดของเครือข่ายสื่อสารสาธารณะ โดยมีเป้าหมายปฎิบัติการคือ เครือข่าย "ชมรมนักจัดรายการวิทยุและผู้สื่อข่าวเพื่อชุมชนคนสงขลา" จำนวน ๒๐๐ คน สามารถพัฒนาเป็นแกนนำที่มีศักยภาพในการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าใจประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดี จำนวน ๒๐ คนเป็นอย่างน้อย และบุคคล กลุ่มอื่นใดที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เขตพื้นที่ทั้ง 4 โซนของสงขลา

3.โครงการโนราโรงครูสร้างเสริมสุขภาพ ผู้รับผิดชอบโครงการ นายสุรชัย เหล่าสิงห์ โนราโรงครู เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบทอดกันมานานและนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ และประกอบพิธีกรรรม ด้วยเหตุที่ต้องทำการเชื้อเชิญครูมาเข้าทรงหรือมา "ลง" ยังโรงพิธี จึงเรียกพิธีกรรมนี้ว่า "โนราโรงครู"
พิธีกรรมของโนราโรงครู ส่งผลให้ชุมชนมีความสุข มีความเข้มแข็ง เป็นมหกรรมความบันเทิงในหมู่บ้านที่สมาชิกทั้งหมดจะได้รับผลทั่วกัน ซึ่งเกิดผลทั้งทางด้านสังคม ความพร้อมเพรียงรักใคร่สามัคคี การจัดระเบียบกำหนดกฎเกณฑ์ ซึ่งส่งผลต่อ "สภาพแห่งความสุข" ของชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือโนราโรงครูนำร่องจาก 5 อำเภอ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอบางกล่ำ อำเภอควนเนียงอำเภอรัตภูมิ อำเภอคลองหอยโข่ง กลุ่มภูมิปัญญา นักวิชาการ และเยาวชน

  1. โครงการเครือข่ายช่วยเหลือบุคคลออทิสติก สงขลา ผู้รับผิดชอบ ชมรมสมิหลาเพื่อบุคคลออทิสติก บุคคลออทิสติก มีปัญหาอันเป็นสาเหตุมาจากความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองหรือระบบประสาทส่วนกลางและประสาทการรับรู้ ตั้งแต่แรกเกิด ส่งผลให้พัฒนาการหลายด้านไม่เป็นไปตามวัย ไม่ปกติ
    ชมรมสมิหลาเพื่อบุคคลออทิสติก ได้เริ่มจัดตั้งจากกลุ่มผู้ปกครองและผู้สนใจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ปกครองบุคคลออทิสติกได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สื่อสารกับสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมได้รู้และเข้าใจ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การให้คำปรึกษา วินิจฉัย แนะนำเบื้องต้น และการเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ การศึกษา และพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินงาน คือพ่อแม่ ผู้ปกครอง บุคคลออทิสติกในพื้นที่จังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียงและบุคลากรทางการแพทย์ บุคคลากรทางการศึกษา และประชาชนผู้สนใจในจังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง

5.โครงการสานสายใย เพื่อสุขภาพ ผู้รับผิดชอบ นางสาวปณิธาน ปรมานุรักษ์
โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรในโรงเรียนโดยอาศัยพฤติกรรมด้านการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อที่นำมาสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีของโรงเรียนอันจะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพ การรณรงค์ในเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้เทคโนโลยี EM ในโรงเรียนเพื่อปลูกฝังการนำทักษะเกษตรธรรมชาติไปใช้กับบ้านตนเองหรือในชุมชน เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารธรรมชาติในการปลูกพืชผัก และไม่หันกลับไปใช้สารเคมี ปรับพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้อง โดยการรณรงค์ในเรื่องการดื่มน้ำสมุนไพร หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และการเรียนรู้ที่จะนำคนและสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้งในการปฏิรูปการเรียนรู้ของแต่ละรายวิชาเพื่อปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนที่แท้จริง โดยนักเรียน และเพื่อนักเรียน กลุ่มเป้าหมายก็คือนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน-ชุมชน

  1. โครงการสนับสนุนการเรียนรู้ภาคประชาชนสงขลา ผู้รับผิดชอบโครงการ นางณัฑฐวรรณ อิสระทะ "สุขภาวะ" นั้นต้องมีกรอบมุมมองที่กว้างในบริบททางสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเชื่อมโยงกับบริบทอื่นๆของสังคมในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดมิติการมองอย่างเป็นองค์รวม และการคิดเชิงระบบ (Systemic Thinking) เพื่อเชื่อมโยงปัจจัยที่ซับซ้อนในสังคมโลกาภิวัฒน์สู่การสร้างสรรค์สังคมแห่งสุขภาพ วิทยาลัยวันศุกร์สามารถเป็นเวทีของการเรียนรู้ร่วมกันของผู้คนที่สนใจปัญหาสังคม (Active Citizen) และปัญญาชนทั้งในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ด้วยปรัชญาการศึกษาของวิทยาลัยวันศุกร์เป็น Situation College คือเป็นวิทยาลัยที่เรียนรู้ไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ซึ่งต่างจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยในปัจจุบันที่เป็นการจัดการศึกษาที่มีแบบแผน แตะต้องยืดหยุ่นได้น้อย ห่างไกลกับสถานการณ์จริง กลุ่มเป้าหมาย คือสมาชิกที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ของวิทยาลัยวันศุกร์ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้คนที่สนใจปัญหาสังคมได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ตามอัธยาศัยแล้วกว่า 4,000 คน และบุคคลทั่วไปในจังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้

7.โครงการเยาวชนฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำผาดำเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ผู้รับผิดชอบโครงการ นางสาวศศิวิมล ทองแก้ว
ป่าต้นน้ำผาดำ อ. คลองหอยโข่ง จ. สงขลาถูกทำลายโดยการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกแผ้วถางจากผู้บุกรุก มีการแปรรูปไม้แล้วยังทำโรงจักร(ทำยางแผ่น) ปล่อยน้ำเสียลงไปสู่แม่น้ำลำคลอง รวมถึงบริเวณทางเดินไปน้ำตก มีปัญหาขยะ ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ กลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ จึงได้มีกิจกรรมการเฝ้าระวังป่าต้นน้ำ การจัดค่ายอนุรักษ์ และหาเครือข่ายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่ออันเป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดสุขภาพที่ดีของทุกคน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ 20 กลุ่มผู้สนในกิจกรรมการอนุรักษ์ป่า 20 คน และกลุ่มเยาวชนบริเวณรอบป่าต้นน้ำผาดำในอำเภอคลองหอยโข่ง 50 คน

  1. โครงการ พัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร การเรียนรู้เพศศึกษาอย่างเป็นกระบวนการระดับประถมศึกษา ระยะที่ 1
    ผู้รับผิดชอบโครงการ นายโตมร อภิวันทนากร เยาวชนขาดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้เยาวชนมีทัศนคติและพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม นำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาทางเพศ กลายเป็นทุกขภาวะแห่งวัย และปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมทางเพศนี้ ไม่จำกัดเฉพาะในช่วงวัยเยาวชน แต่มีผลสืบเนื่องระยะยาวเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพในวันหน้าได้เสมอกัน กลุ่มละครการศึกษา มานีมานะ ได้ตระหนักอย่างจริงจังถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาวะของเยาวชนดังกล่าว สร้างการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมทางการละคร โครงการการเรียนรู้เพศศึกษาอย่างเป็นกระบวนการระดับประถมศึกษา กลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 2 โรงเรียนๆละ 30 คน รวมถึงครู ผู้ปกครองและนักการศึกษาที่สนใจ 85 คน

  2. โครงการ โครงการสานฝันปันน้ำใจ เพื่อเด็กกลุ่มพิเศษ (เด็กออทิสติก ดาว์นซินโดรม และสมองพิการ) ผู้รับผิดชอบโครงการ นพ.ทพ.สุรพงษ์ วงศ์วัชรานนท์
    รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรวมถึงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กทุกคน รวมถึงกลุ่มเด็กพิการทั้งพิการทางร่างกายและทางสติปัญญาทำให้เกิดความตื่นตัวของสังคมเพิ่มมากขึ้นในการให้ความสนใจดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาซึ่งได้แก่ เด็กดาว์นซินโดรม เด็กพิการทางสมองหรือพิการซ้ำซ้อนรวมถึง เด็กออทิสติกด้วย แต่ในทางปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาแก่กลุ่มเด็กดังกล่าวมีน้อยมาก ทำให้เด็กกลุ่มดังกล่าวขาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาทางการศึกษาและคุณภาพชีวิต ส่งผลให้ต้องตกเป็นภาระในการดูแลของครอบครัวและสังคมไปตลอดชีวิต
    ทางชมรมสานฝันปันรัก แสวงหาแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ดีของเด็กกลุ่มพิเศษ รวมถึงการจัดอบรมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ

Relate topics

Comment #1
สมาชิก (Not Member)
Posted @28 ต.ค. 48 18:36 ip : 203...23

ทำอย่างไรถึงจะได้รับ

จดหมายข่าว “สุขภาพคนสงขลา” ราย 2 เดือน

(ส่งมาที่บ้าน)

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว