สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ดอกไม้บานในชุมชนความหวังหลังเวทีสมัชชาสุขภาพ

by kai @8 ม.ค. 52 20:14 ( IP : 222...99 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

คำอธิบายภาพ

เวทีสมัชชาแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาว่าด้วยการขับเคลื่อนแผนพัฒนาสุขภาพ จัดขึ้นเมื่อ 19 ธันวาคม  2551 ที่ผ่านมา ณ  โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ สงขลามีประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมราว 400 คนประกอบด้วยตัวแทน 140 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา หน่วยงาน องค์กรด้านสุขภาพ

เปิดงานด้วยการแสดงดิเกร์ฮูลูจากโรงเรียนสอนคนตาบอด  ตามด้วยการนำเสนอ VCD  สงขลาสร้างสุขแนะนำความหมายของสมัชชาสุขภาพ ระบบสุขภาพ และการดำเนินงานสร้างสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดสงขลา

อาจารย์พิชัย ศรีใส คณะกรรมการบริหารสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ประธานสมัชชาสุขภาพสงขลา  ขึ้นกล่าวเปิดเวทีและปักธงสุขภาวะร่วมกับสมาชิกสมัชชา  ต่อจากนั้นห้องประชุมซึ่งจัดผังการนั่งประชุมแบบมาตรฐานสมัชชาจึงเริ่มเสวนาประกอบการนำเสนอกรณีศึกษา “เส้นทางสู่ความสำเร็จในการสร้างสุขภาวะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสงขลา”นำโดยนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

กรณีกองทุนสุขภาพตำบล

นายสายันต์ อาจณรงค์ ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เขตพื้นที่สงขลากล่าวถึงการมองสุขภาพยุคใหม่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องมองลึกกว่าภาวะเจ็บป่วยอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่อง จิตวิญญาณ จิตใจ สิ่งแวดล้อม  สำหรับ สปสช.พร้อมสนับสนุนให้ท้องถิ่นขับเคลื่อนสุขภาพ โดยการจัดสรรงบประมาณจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นายสินธพ อินทรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้ามมองว่าการขับเคลื่อนทางสุขภาพแนวใหม่ ผู้นำท้องถิ่นต้องปรับวิธีคิดใหม่ ก้าวไปสู่การทำแผนสุขภาพตำบล

“สำหรับที่ตำบลท่าข้ามถือว่าได้ปรับวิธีคิดแล้วและปรับโครงสร้างการทำงานไปด้วย” นายสินธพกล่าวว่าการทำแผนสุขภาพระดับตำบล ทำให้เกิดวิธีคิดในการบริหารประเทศขึ้นในตำบล อย่างการแบ่งงานรับผิดชอบด้านต่างๆ คล้ายกับคณะรัฐมนตรี  โดยมีความรับผิดชอบเต็มต่อเรื่องนั้นๆ ในท้องถิ่น

“เกี่ยวกับสุขภาพผมบอกชาวบ้านเสมอว่าถ้าไม่ออกกำลังกาย  ไม่บังคับตัวเองให้ออกกำลังกายอาจจะตายได้ หรือกินอาหารต้องไม่มีสารพิษเข้าไป  เรากำลังทำทุกอย่างเพื่อนำเอาความดี ความงาม ความสุข กลับมา”

กรณีตำบลสร้างสุข

นายนิมิตร แสงเกตุ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา มองว่าทุนของอาสาสมัครสามธารณสุข (อสม.) นับเป็นทุนคนที่สำคัญ ปัจจุบันจังหวัดสงขลามี อสม. อยู่กว่า 16,000 คน  คนเหล่านี้ได้รับการติดอาวุธด้านสุขภาพ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน “แต่เรายังคิดว่ายังไม่พอ” นิมิตรกล่าว จึงต้องเดินหน้าทำงานอย่างจริงจังต่อไป

นายถั่น จุลนวล นายกอบต.ควนรู อำเภอรัตภูมิ เจ้าของรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน ปี 2551 กล่าวว่าการพัฒนาตำบลสร้างสุขต้องเริ่มจากการพัฒนาผู้นำ

ตำบลควนรูได้พลิกจากตำบลที่ติดอันดับยากจนที่สุด มีความขัดแย้งมากที่สุด กลายมาเป็นตำบลต้นแบบพัฒนาหลายเรื่องนั้นนายถั่นกล่าวว่าเกิดมาจากโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเป็นพื้นฐานสำคัญก่อน

“ชาวบ้านเสนอเรื่องการทำถนนหนทาง เหมืองน้ำ โครงสร้างพื้นฐานอันนี้ก็ว่ากันไปแต่เรามองเรื่องสุขภาพว่ามีความสำคัญเรื่องหนึ่ง” นายถั่นอธิบายเพื่อจะบอกว่า ทำไมทุกวันนี้ที่ตำบลควนรู จึงเกิดโครงการเกี่ยวกับสุขภาพขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าโครงการน้ำดื่มปลอดภัย , โครงการส่งเสริมการบริโภคปลอดภัย ภายใต้แนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่น เศรษฐกิจพอเพียง ชักชวนชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษเอาไว้กินเองทุกครัวเรือน หากเหลือกินเหลือใช้ อบต.เตรียมพร้อมตลาดเอาไว้ให้ขายเป็นรายได้เสริม  , โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม.โดยจัดโรงเรียน อสม. และ  โครงการเข้าวัดวันพระ เป็นต้น

“หัวใจคือ อบต.เราพร้อมจะเข้าไปร่วมกับทุกภาคส่วนในตำบล ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน อนามัย กลุ่มออมทรัพย์  ทำงานแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง คิดร่วมกันว่าจะสร้างตำบลควนรูให้อยู่กันอย่างสันติสุขแบบไหน อย่างไร ”

กรณีการใช้บัญชีครัวเรือนในการสร้างสุข

นางยุรี แก้วชูช่วง ผู้ประสานงาน สกว.  กล่าวว่าการทำแผนชุมชนหัวใจสำคัญคือการบูรณาการในส่วนของ สกว. ที่ผ่านมามองเห็นงานวิจัยที่ฉาบฉวยมามาก  แต่เมื่อมาขับเคลื่อนการวิจัยในการจัดทำแผนชุมชน  ได้ใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์  ได้เห็นความร่วมมือของคนในท้องถิ่น  นอกจากนั้นการใช้บัญชีครัวเรือน เป็นเหมือนเครื่องเอกซเรย์ ให้เห็นความเป็นไปต่างๆ ชัดเจนเพื่อนำเอาข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาได้จริง

นายณรงค์ สุขขวัญ ตัวแทนพื้นที่ จากตำบลคูหาใต้  เล่าว่าหลักคิดที่ขับเคลื่อนอยู่ในคูหาใต้ ไม่ใช่เป็นการขายฝัน แต่เป็นการล่าฝันคือไปยังสิ่งที่ต้องการให้ได้จริง

ด้วยเครื่องมือวิจัย บัญชีครัวเรือน  ที่ทำให้รู้ว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านคูหาใต้ ไม่ทำนาต้องซื้อข้าวกิน  ซื้ออาหารทะเล และเสียเงินไม่น้อยกับการซื้อเหล้า

“เราได้ข้อมูลเหล่านี้แล้วไปร่วมกับ อบต. ในการวางแผนพัฒนา ผมให้ตัวเลขไป เขานำไปพัฒนาคน จนกลายเป็นกลุ่มเกษตรนาข้าวอินทรีย์ ” นายณรงค์เล่า เป็นการนำกลับไปแก้ปัญหาที่โจทย์  และมองว่าถ้าให้ อบต.ทำข้อมูลเองอาจมีปัญหาในการเก็บข้อมูลก็ได้ เพราะชาวบ้านอาจระแวงไม่กล้าตอบความจริง  เช่นกลัว จะนำไปเก็บภาษี

กรณีแผนสุขภาพตำบล

นายชาคริต โภชะเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพสงขลา ได้นำเสนอการขับเคลื่อนแผนสุขภาพตำบล ของจังหวัดสงขลา ซึ่งพบว่าการทำงานมีการบูรณาการ ต่อเชื่อมกันได้หลายภาคส่วน

นายขุนทอง บุณยประวิตร นายก อบต.ชะแล้ กล่าวว่าพื้นที่ ต.ชะแล้ ประชากร 2,000 กว่าคน ลักษณะชุมชนใกล้ชานเมือง  ประชาชนรับจ้างทำงานในเมือง บริโภคแบบคนเมือง แต่รายได้ยังตามหลัง ทุกวันนี้พวกชาวบ้านยังต้องใช้รถพยาบาล รับส่งผู้ป่วย เฉลี่ยวันละ 1 เที่ยว แสดงว่าอัตราการเจ็บป่วยยังมีมาก

“ผมพยายามให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา การจัดทำแผนสุขภาพตำบลเราให้ชุมชนเสนอมาว่าเจ็บป่วยด้วยเรื่องอะไร ต่อมาพบภูมิปัญญาชุมชนขึ้นมาเยอะ อย่างการนวด ประคบสมุนไพร  การเจ็บป่วยบางกรณีจึงไม่ต้องไปหาหมออีก”

นายขุนทองเล่าว่า อบต.ชะแล้นำแผนสุขภาพตำบล เข้าแผนพัฒนาสุขภาพ 3 ปีของอบต.  บริหารโดยคณะกรรมการวิสามัญ คนทั่วไปที่อยู่นอกสมาชิกสภา อบต.  ให้เขามีอำนาจหน้าที่เต็มที่  มีเครือข่ายในการทำงานเกิดขึ้นมากมาย  อย่างการเชื่อมกับ วิทยาลัยพยาบาลราชชนนีสงขลา และ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.) เป็นต้น

“เท่ากับว่าองค์กรชุมชนในตำบลชะแล้เพิ่มขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเกิดขึ้นตามมา” นายขุนทองกล่าวและว่า ตำบลชะแล้ ยังมีธรรมนูญสุขภาพเป็นแห่งแรกของประเทศไทย  ภายใต้ 4 กระบวนการคือ รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจากประชาชนหลายกลุ่ม  คณะทำงานยกร่าง  การประชาสัมพันธ์ และการประเมินผล ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2552

คำอธิบายภาพ

กิจกรรมที่กำลังดำเนินการอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสุขภาพที่เป็นรูปธรรมคือ การทำ Family MOU หรือ ข้อตกลงครัวเรือน เกี่ยวกับสุขภาพ อย่างเช่นข้อตกลง ลดการสูบบุหรี่ ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม โดยทุกอย่างจะต้องเกิดอย่างสมัครใจและเป็นธรรมชาติ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับไม่ได้

“งบประมาณดำเนินการสุขภาพมาจากอบต.เป็นหลัก  ส่วนงบอุดหนุนรายหัว จาก สปสช. เมื่อมาทำในรูปแบบกองทุนสุขภาพ เราอุดหนุนเพิ่ม 3 เท่า เราทำเพื่อแก้วิกฤติ คิดว่า 4-5 ปี สถานการณ์คงจะดีขึ้น  รถพยาบาลอาจจะคืนให้ อบจ.สงขลาได้เพราะไม่ต้องใช้อีก”นายขุนทองกล่าว

ประเด็น “บทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพ” มีการให้ข้อเสนอน่าสนใจ ทั้งวิทยากรและสมาชิกสมัชชาฯ

นายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา กล่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นที่คาดหวังของประชาชน และประเทศชาติ  ทุกวันนี้จะเห็นถึงกระแสการมีส่วนร่วม

“การบริหารในยุคใหม่ ต้องสร้างเรื่อง อบต.ของพวกเรา เทศบาลของพวกเรา  เพราะยังเกิดขึ้นน้อย  เพราะความขัดแย้งทางการเมือง ยังต้องเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้อยู่ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ผมอยากให้นักบริหาร องค์กรปกครองท้องถิ่น ใช้ใจในการทำงานมากกว่าหลักในหารบริหารใด ต้องเข้าไปนั่งในใจชาวบ้านให้ได้” นายวิญญ์กล่าวเพื่อเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนสุขภาพประเด็นหลักในที่สุด

นายพีระ ตันติเศรณี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มองว่ารูปแบบการบริหารสุขภาพจะเปลี่ยนไปแทนที่จะตั้งรับอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

“อย่างรัฐบาลใหม่ มีการพูดถึงโรงพยาบาลตำบลแล้ว” เขากล่าวโดยมองว่าภาพที่ต้องการให้เป็นจริงๆ คือการลงไปทำงานในพื้นที่ มีผลเกิดขึ้น

“ อย่างหลักประกันสุขภาพ ต้องการลงไปพัฒนาด้วยเครือข่าย อบต. เทศบาล ต้องทำทุกพื้นที่ ต้องไปสร้างงานตรงนั้นให้เกิดขึ้น”

อาจารย์สมยศ ทุ่งหว้า ตัวแทนนักวิชาการที่มาเข้าร่วม เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่าทุกวันนี้ เห็นการทำแผนเยอะไปหมด สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งแผนเหล่านั้นมีข้อมูล แต่ไม่ได้แปลความหมายข้อมูลอย่างรอบคอบ สมัชชาน่าจะทำข้อมูลมีชีวิตให้เกิดขึ้นได้

“ผมคิดว่าระดับตำบลน่าจะมีสมัชชาเกิดขึ้นมาแล้วมาร่วมบูรณาการ เพื่อสร้างทิศทางตำบลร่วมกันไม่อย่างนั้นก็จะไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนแน่”

คำอธิบายภาพ

นายสุทธิพงศ์ ขุนฤทธิ์ ปลัดเทศบาลตำบลควนเนียง  มองว่า การขับเคลื่อนในเรื่องใดๆ ต้องมอง 2 ระนาบเสมอ สำหรับงานสุขภาพต้องทำด้วยความร่วมมือที่มีจิตอาสา

“อย่ามัวแต่ทำงานเพื่อออกสื่อ ต้องทำงานให้คนหันมาสนใจ และให้ความสำคัญกับความสำเร็จเล็กๆ”

อย่างไรก็ตามนายสุทธิพงศ์กล่าวว่าปัญหาในการบริหาร อปท.ทุกวันนี้ ยังมีหลายเรื่องต้องมอง อย่างแค่ภารกิจถ่ายโอน เกือบ 200 ภารกิจ แต่งบประมาณจำกัด  การคาดหวังเรื่องบูรณาการ ขณะที่ยังมีปัญหา โครงสร้าง  หลายอย่างมีความคาดหวังสูง แต่เป็นไปจริงได้ยาก

นายอดิศักดิ์ รัตนะ รองปลัดเทศบาลเมืองบ้านพรุ กล่าวว่า ที่ผ่านมามักพบว่าการทำแผนมักเร่งรีบ  ไม่ครอบคลุม  การทำงานสมัชชาต้องเปิดกว้าง  ขณเดียวกันผู้นำเองต้องขับเคลื่อนไปให้ได้

นายสิริพล สัจจาพันธุ์  ตัวแทนสื่อกล่าวว่า กระบวนการทางสุขภาพต้องพยายามใช้สื่อให้เป็นประโยชน์  โดยทำเอง ไม่ต้องรอ ให้ใครมาจัดการให้  ซึ่งจะสอดคล้องกับความเป็นไปในอนาคต ที่จะมีองค์กรสื่อชุมชนแห่งชาติ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้ดำเนินการปะชุม กล่าวสรุปสมัชชาฯช่วงเช้าว่าการขับเคลื่อนทุกอย่างต้องใช้เวลา  อาจทำได้ด้วยคนไม่กี่คน แต่ต้องใช้เวลา เชื่อมร้อยกับคนอื่น ส่วนอื่น  ไม่มีใครเก่งไปทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการสร้างการมีส่วนร่วมที่ดีคือส่วนสำคัญ

“ดอกไม้จะบานในชุมชน” นายแพทย์สุภัทรกล่าว โดยมองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงชัดเจนเป็นรูปธรรม จะไปอยู่ที่แต่ละท้องถิ่นชุมชน

ภาคบ่าย เวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา ได้พิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย “ท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพด้วยแผนพัฒนาสุขภาพ” โดยเปิดให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาเปิดข้อเสนออย่างกว้างขวาง

นายขุนทอง บุณยประวิตร นายก อบต.ชะแล้ สะท้อนปัญหาหลายด้านเกี่ยวกับการขับเคลื่อนของ อปท. ด้านสุขภาพ  เขายกตัวอย่าง การที่ อบต. ส่ง เด็กในพื้นที่เข้าเรียนพยาบาล  เพื่อกลับมาทำงานสุขภาพให้กับ อบต. มีคำถามต่อว่า เขาจะได้กลับมาทำงาน ให้ อบต. หรือไม่  เพราะการรับเข้าทำงานจะต้องมีระเบียบการสอบ  ถ้าสอบไม่ได้จะทำอย่างไร  ซึ่งมีความเห็นตามมาจากเทศบาลตำบลบ่อตรุว่า เมื่อท้องถิ่นพัฒนาระบบสุขภาพ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จึงควรให้อำนาจท้องถิ่นเต็มที่

ทางด้านนายอภิชัย เกื้อก่อบุญ ปลัดอบต.สะกอม  กล่าวถึงกรณี อปท. ส่งเด็กไปเรียน  ต้องมีการวางแผน เตรียมความพร้อม เพราะถ้าไม่สอดคล้องกับนโยบาย เมื่อเด็กจบกลับมาจะรับเข้าทำงาน ไม่ได้  ถ้าไม่วางแผนล่วงหน้าอาจหมิ่นเหม่ต่อการผิดระเบียบ ไม่สามารถบรรจุเข้าทำงานได้  ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ เป้าหมาย

นายวรัญ สุวรรโณ แกนนำเครือข่ายลุ่มน้ำรัตภูมี กล่าวว่า อปท.น่าจะขับเคลื่อน ระบบสุขภาพได้ดีที่สุด เพราะมีความพร้อม  นักการเมืองเองควรทำงานเพื่อชุมชนโดยไม่ควรห่วงฐานเสียงตัวเองเพียงอย่างเดียว

นายณรงค์ สุขขวัญ ตัวแทนพื้นที่ จากตำบลคูหาใต้  เห็นว่าการขับเคลื่อนสุขภาพ ต้องทำอย่างจริงจัง ถ้าเชื่อว่าชุมชนชาวบ้านมีฐานคิดต้องสนับสนุนเขา

“ไม่ใช่ว่าพอเริ่มจะทำ ก็ถูกตั้งคำถามว่า ทำไปทำไม นั่นเป็นเรื่อง อบต.ต่างหาก”

ปิดท้ายรายการวันนั้นด้วย “ข้อเสนอแนะต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย ท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพด้วยแผนพัฒนาสุขภาพ”

คำอธิบายภาพ

นายแพทย์อมร รอดคล้าย ตัวแทน สปสช. เห็นว่า การเคลื่อนเรื่องสุขภาพ ต้องใช้มาตรการจูงใจมากกว่า จะบังคับ

“การประชุมสมัชชานี้  น่าจะเดินไปสู่การเขียนเป็นกฎบัตรหรือปฏิญญาทางสุขภาพของคนสงขลาหรือถ้าเห็นด้วยอย่างแรงกล้าจะนำไปสู่คำประกาศ” นายแพทย์อมรยกตัวอย่างว่าอาจจะเรียกว่าคำประกาศสมิหลาก็ยังได้  ซึ่งว่าด้วยสุขภาพของคนสงขลา และเพื่อความเปลี่ยนแปลง สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา น่าจะตัดสินใจบางอย่างได้เลยและ ขอเสนอ ให้ตั้งสภาสุขภาพประชาชนจังหวัดสงขลา

อาจารย์พิชัย ศรีใส ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา กล่าวส่งท้ายว่า สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาประจำปี 2551 ได้บทสรุปว่าได้คำประกาศว่าสมัชชาฯ เห็นว่าจะก้าวเดินอย่างกล้าหาญ ให้พ้นกรงข่ายเดิม

“สุขภาพ เป็นเรื่องง่าย เรื่องทุกสิ่งทุกอย่าง ในชีวิตจริง เพียงแต่คนสงขลากล้าไหม ที่จะกอดคอก้าวไปด้วยกัน เดินไปข้างหน้า ไม่ใช่แค่มาประชุมวันนี้ แต่น่าจะเอาคำประกาศนี้ ไปทำให้เป็นจริงได้อย่างไร คำประกาศทางสุขภาพที่ว่า คนสงขลาจะไม่เรียกร้องจากใคร  เราจะดูแลตัวเอง เราตั้งเป้าว่าไม่เกิน ปี 2553 สงขลาจะจัดพื้นที่ความสุขได้อย่างกว้างขวาง เกือบเต็มพื้นที่”.

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว