สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สภาฯอาหารปลอดภัยสงขลา ก้าวสำคัญแห่งความร่วมมือ

by punyha @18 พ.ย. 51 15:00 ( IP : 222...69 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

คำอธิบายภาพ

การเกิดขึ้นของสภาความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารจังหวัดสงขลาหรือ “สภาฯอาหารปลอดภัยสงขลา” นับเป็นก้าวสำคัญอันนำพาสู่มิติใหม่ด้านสุขภาพ

ชาวสงขลาสามารถจัดตั้งสภาฯอาหารปลอดภัยพร้อมก้าวเดินสำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

อาจารย์ภาณุ พิทักษ์เผ่า นายกสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไทและแกนนำสภาฯอาหารปลอดภัยสงขลาเล่าว่าแนวคิดสภาฯอาหารปลอดภัยเกิดขึ้นสมัยที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นความสำคัญและมีแนวนโยบายเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร จึงเชิญตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล

“ ท่านเห็นว่าเรื่องนี้นักการเมืองมาจากการเลือกตั้งมักไม่สนใจ เพราะไม่ใช่เรื่องจะได้คะแนนเสียง ท่านจึงเห็นว่าน่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยรูปแบบสภาที่มีความยั่งยืนไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป จึงติดต่อองค์กรภาคประชาชนที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้วทั่วประเทศ ผมเป็นตัวแทนของภาคใต้” อาจารย์ภาณุเล่า

การประชุมต่อเนื่อง 2-3 ครั้งในตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล ในที่สุดมีการตั้งสภาความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารเป็นองค์กรระดับชาติ หลายฝ่ายร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) มี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนั้น เป็นประธาน บุคคลสำคัญระดับผู้บริหาร มี ผู้บริหารจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ตัวแทน กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และตัว แทนภาคประชาชนจากทั่วประเทศ

สภาฯนี้มีแนวทางขับเคลื่อนจากภาคประชาชนจับมือกับฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐจะสนับสนุน ระดับชาติมีการร่างธรรมนูญความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยและมั่นคงด้านอาหาร มีร่างแผนแม่บทการขับเคลื่อนเครือข่ายความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร ภายใต้ความร่วมมือของสภาความความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหาร มีวิสัยทัศน์ว่าชุมชนผลิตอาหารปลอดภัยสู่สุขภาพชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงที่ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร

พันธกิจ 2 ประการ 1. สนับสนุนให้เกิดพื้นที่รูปธรรมการผลิตอาหารปลอดภัย และมีความมั่นคงด้านอาหารตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง และ2. สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยง และการประสานงานระหว่างผู้ปฏิบัติตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ผลิตถึงผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยและความมั่นคงของอาหาร

ยุทธศาสตร์หลัก 1. ส่งเสริม การเรียนรู้ และจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตอาหารปลอดภัย 2.ส่งเสริมการตลาดอาหารปลอดภัยในและนอกชุมชน 3.ส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะและการประชาสัมพันธ์ 4.พัฒนาเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 5.ระบบติดตาม/ประเมินผล และการจัดระดับความเข้มแข็งของกลุ่ม และ 6.การหาทุนสนับสนุน

กรอบแนวคิดเรื่องนี้สภาฯ ระดับจังหวัดจะเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยจัดทำเป็นต้นแบบระดับจังหวัด 23 แห่ง สภาฯระดับภูมิภาค เป็นผู้สนับสนุนและหนุนเสริม รวมทั้งการจัดการความรู้ระหว่างสมาชิกเครือข่ายระดับจังหวัดในภูมิภาค และรวบรวมองค์ความรู้เป็นคลังความรู้ ส่วนสภาฯ ระดับชาติ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนระดับประเทศ อาจารย์ภาณุเล่าว่าตอนนี้สภาฯระดับภาคยังเกิดไม่ได้ เพราะระดับจังหวัดยังไม่เติบโต จึงยังไม่มีที่ไหนมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ชัดเจน แต่จังหวัดสงขลาพร้อมมากที่สุด

“เกิดจากว่าเรามีทุนที่ทำอยู่ก่อนแล้ว เริ่มจากแผนอาหารและสุขภาพที่เป็นประเด็นหนึ่งในเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดสงขลา”

รูปธรรมที่ชัดเจนของสงขลาเกิดเนื่องจากมีแนวปฏิบัติการเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว ถึงไม่มีสภาฯ อาหารปลอดภัยเกษตรกร ส่วนหนึ่งเดินหน้าทำมาตลอด

สมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไทเองทำการส่งเสริมการทำเกษตรไร้สารพิษ บนแนวคิด “ปลูกเพื่อกิน กินสิ่งที่ปลูก ถ้าเหลือขาย” เชื่อมต่อกับศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำโดยอาจารย์ภาณุอีกเช่นเดียวกัน จัดอบรมเกษตรกรทุกภาคส่วนไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน ก่อนจะลงมือทำจริง นั่นเป็นหนทางสร้างมาตรฐานของสินค้าไร้สารพิษอย่างแท้จริง มีใบรับรองคุณภาพ ตรวจสอบได้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ส่งสินค้าประเภทนี้ออกขายสู่ตลาด

กระแสสังคมอาจหันมาสนใจเรื่องนี้ แต่อาจยังรู้เพียงผิวเผิน คนจำนวนมากยังต้องเสี่ยงกับการบริโภคไม่ปลอดภัยต่อไป

ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียงสามารถผลิตเกษตรกรไร้สารพิษ ตัวจริงของจริง เชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ เช่นแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา นับเป็นการเคลื่อนตัวแบบองค์รวม

การ เชื่อมกับโครงการผักปลอดพิษคนปลอดภัยของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยนำร่องของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลหาดใหญ่รับเป็นตลาดแน่นอนสำหรับรองรับฝ่ายผู้ผลิตแต่ไม่พอ

คำอธิบายภาพ

กระแสการผลักดันตลาดอาหารปลอดภัย เป็นตลาดกลางชัดเจนดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ร้านอาหาร ครัวเพื่อนสุขภาพ เลขที่ 217/12 ถนนศุภสารรังสรรค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ของอาจารย์ภาณุทำหน้าที่เป็นตลาดกลางของสมาชิกเครือข่ายสภาฯอาหารปลอดภัย ได้อีกระดับหนึ่ง

สภาฯอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงกับสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท ที่ผลิต และส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชแบบไร้สารเคมี มีกลไกการทำงานทางด้านผลิต การตลาด ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้วเชื่อมกับศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง แหล่งเรียนรู้ และสร้าง เกษตรอินทรีย์วิถีไท ตามหลักพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

“การเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ มา 2-3 ครั้ง มีการขยับจากหาดใหญ่พื้นที่ซึ่งมีความพร้อมมากที่สุดโดยเฉพาะโรงพยาบาลหาดใหญ่ที่รับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ขยับขยายออกไปสู่พื้นที่อื่น”

สภาความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร จะเกิดจาก 4 ส่วนคือ -ผู้ผลิตหรือเกษตรกร -ผู้บริโภค -ผู้ทำตลาด เช่น ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารปลอดภัย ภัตตาคาร โรงแรม -ผู้สนับสนุน เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่มีนโยบายเรื่องอาหารปลอดภัยอยู่ ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนให้มีการผลิตโดยปราศจากสารเคมี และศูนย์ เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง ของสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท ที่สนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกร เรียนรู้ และกลับไปผลิตอาหารปลอดภัย เป็นต้น

คำอธิบายภาพ

การขยับทั้ง 4 ฝ่ายออกไปยังอำเภอต่างๆ ทั่วจังหวัดสงขลานับจากโรงพยาบาลสงขลารับซื้อผลผลิตจากสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท โดยระบบประมูล ผู้ประมูลได้ ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถิไท ทำหน้าที่รวบรวม ผลผลิตจากเครือข่ายฯ ส่งให้โรงพยาบาล

โรงพยาบาลหาดใหญ่ มีนโยบายรับซื้อผลผลิต ซึ่งสมาชิกไปส่งได้ อิสระ แต่มีข้อจำกัดรับผลผลิตได้ไม่มาก จึงมีแนวคิดเรื่องทำตลาดกลางในรูปแบบสหกรณ์เอาไว้รองรับ

“อำเภอสทิงพระผมไปร่วมด้วยเห็นว่าเป็นไปได้ เพราะมีองค์กรหลักอยู่ โรงพยาบาลระโนด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับโล่คนดีศรีสงขลาพร้อมผมก็ได้คุยกัน มีนโยบายว่าอยากให้ร้านอาหารในโรงพยาบาลรับซื้อ พืชผัก ผลผลิตจากเครือข่ายของเรา กำหนดวันจำหน่ายผัก จุดจำหน่ายผัก ผลไม้ ข้าวสาร สินค้าเกษตรแปรรูป เป็นเดือนละครั้ง เป็นการเริ่มขยับ ”

อีกด้านหนึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กำลังจะร่วมกับสภาฯอาหารปลอดภัย ร่วมกำหนดให้มีวันผักสด ทุกวันศุกร์ช่วงเย็นหลังเลิกงาน จะมีการจำหน่ายผักไร้สารพิษ ที่ด้านหน้าสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจัดกิจกรรมทัวร์เกษตรอินทรีย์สำหรับผู้บริโภคที่สนใจว่าของที่นำมาขายปลอดภัยอย่างไร จุดดังกล่าว ยังจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารปลอดภัย เช่น ปัญหาสารกันมอดในข้าวสาร ประเด็น พืช ผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป เป็นต้น โครงการนี้ จะเริ่มมกราคม 2552 เป็นการเปิดตลาดให้กว้างขึ้นอีกสำหรับผู้ผลิตอาหารปลอดภัย การที่ผู้บริโภคมาซื้อที่นี่อาจารย์ภาณุสามารถการันตีความมั่นใจ ได้อย่างไม่ต้องลังเลสงสัย

“ที่เกิดตรงนี้ส่วนหนึ่งเพราะมองว่าที่เป็นอยู่ตลาดเกษตร มอ.มันเพี้ยนไปเสียแล้ว ผมเองเป็นผู้ริเริ่มทำตรงนี้โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักอินทรีย์ที่เราควบคุม และผลิตจริง แต่ระยะหนึ่งทางคณะทรัพยากรธรรมชาติ เจ้าของโครงการ เห็นว่าอย่างนั้นมีผู้เช่าน้อย รายได้น้อย สุดท้ายจึงไม่ได้สนใจเรื่องความปลอดภัย ผมลาออกจากกรรมการตลาดเกษตรมอ. สืบเนื่องจากนโยบายเปลี่ยนไปดังกล่าว ขณะที่ทุกวันนี้ผู้บริโภคส่วนหนึ่ง ยังเข้าใจว่าตลาดเกษตรมอ. เป็นตลาดปลอดสารพิษ จริงๆ ไม่เหลือเค้าแล้ว”

คำอธิบายภาพ

อาจารย์ภาณุเล่าว่านายแพทย์รุ่งโรจน์ กั่วพานิช รองนายกเทศมนตรี นครหาดใหญ่ชวนไปคุยว่าฐานะที่เทศบาลนครหาดใหญ่มีตลาดสด น่าจะมีมุมพืชผักปลอดสารพิษ

“อันนี้คงต้องดูกันต่อไปว่าจะขยับอย่างไร รองนายกบอกว่าน่าจะเริ่มที่ตลาดโก้งโค้งก็ลองดูก่อนว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะในตลาดของเรากลัวว่าจะไปกระทบ ผู้ค้าผักทั่วไปเดิม”

ไม่นานมานี้ จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข เดินทางพบอาจารย์ภาณุ พร้อมกับที่ปรึกษาอธิบดี กรมส่งเสริมการเกษตร และ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตร ที่ดำเนินการเรื่อง สภาความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร แห่งชาติ

“เขาได้มาเห็นว่าสงขลาไปได้มากกว่าจังหวัดอื่น ที่อื่นคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ก็ทำไป ขายเอาเอง ผมเข้าใจว่าเป็นแบบนั้น คนที่กินก็ไม่รู้ไปซื้อที่ไหน เอาที่ไหน เหมือนว่า ต่างคนต่างทำ ผู้บริโภคไปซื้อผักในศูนย์การค้า ไม่แน่ใจว่า ปลอดภัยจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเกิดสภาความร่วมมือขึ้นมา อย่างสงขลาที่เราทำอยู่นี่ มีคนกิน คนปลูก ผู้สนับสนุน ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร ได้พบกันรู้ว่ามีตลาดตรงไหน และสามารถตรวจสอบได้”

คณะจากทางส่วนกลางชุดดังกล่าวได้ปรึกษาจารย์ภาณุว่า สภาฯอาหารปลอดภัยสงขลาจะขยับอะไรต่อในปี 2552 โดยจะช่วยเหลืองบประมาณ ซึ่งก่อนหน้านั้น การขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัย พูดกันชัดว่าจะไม่มีการสนับสนุนงบประมาณให้ แต่ละจังหวัดไปดำเนินการเอาเอง

ทุกวันนี้ สภาฯอาหารปลอดภัยสงขลา มีการประชุมต่อเนื่องทุกเดือน ผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้สนับสนุน ผู้ทำตลาด มี ข้อเสนอ ข้อคิดเห็น สามารถใช้เวทีดังกล่าว มาแลกเปลี่ยน ถึงเรื่องราวต่างๆ

จากการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง มีการสนับสนุนจากสังคมโดยมีนักธุรกิจรายหนึ่งมอบรถยนต์ 1 คันมาใช้ในการขนส่งผลผลิตของสมาชิกเครือข่ายฯ

นอกจากในจังหวัดสงขลา สภาฯอาหารปลอดภัยสงขลา ค่อยขยับไปจังหวัดใกล้เคียง

“จากการที่สมาคมภัตตาคารไทยจัดสัมมนาสมาชิกร้านอาหารทั่วประเทศ เขาเชิญผมไปพูดที่โรงแรมลีการ์เดน หาดใหญ่ เราไปนำเสนอว่าสงขลากำลังขับเคลื่อนสภาฯอาหารปลอดภัย ซึ่งจะได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ถ้า ใช้ผลผลิตของเครือข่าย น่าจะทำให้ลูกค้ามีความชื่อถือ”

ถัดจากนั้นจังหวัดพัทลุงชวนอาจารย์ภาณุไปบรรยาย ที่พัทลุงซึ่งที่นั่นมีชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารปลอดภัยเช่นเดียวกัน อาจารย์เสนอแนวคิดไปว่าร้านอาหารสามารถคุยกับสมาชิกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์พัทลุงได้คล้ายกับที่สงขลาทำอยู่ หรืออาจส่งสมาชิกมาเรียนรู้ ที่ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียงโดยตรง มองว่าการเคลื่อนไหวในลักษณะการเรียนรู้คิดว่าน่าจะไปได้ดี และคึกคัก

“ร้านอาหารบางร้านอาจมีพื้นที่ในการปลูกผักเองก็ได้”

จากการเคลื่อนสภาฯอาหารปลอดภัย ตามสภาพที่เป็นจริง ทำให้มีองค์กรอื่นเข้ามาร่วม ผ่านศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง

“ ธกส. มีลูกค้าที่เป็นหนี้อยู่ 3,000 กว่าคน เขาส่งลูกค้าเหล่านี้มาให้ทางผมอบรม ที่ศูนย์คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง”

เกษตรกรเหล่านี้ พึ่งตัวเองไม่ได้ เป็นหนี้ ไม่รู้ว่าจะใช้หนี้ย่างไร แต่พอผ่าน กระบวนการเรียนรู้ เขามีความหวังกลับไปเปลี่ยนแปลงการผลิต ตามที่เขามีความรู้ที่ได้เรียน เดิมเคยซื้อปุ๋ยเคมีกระสอบละ 1,300-1,400 บาท สำหรับ ทำนาปลูกผัก พอผ่านกระบวนการเรียนรู้ว่าปุ๋ยหมักทำอย่างไร การไม่ใช้สารเคมี น้ำหมักสมุนไพรอย่างไร

ด้านสาธารณสุข สภาฯอาหารปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพ คนที่ผ่านหลักสูตรที่ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง เพราะสามารถพัฒนาชีวิตองค์รวม

“คนกินเหล้า 20-30 ปี มาเลิกเหล้าได้เด็ดขาด ลด ละเลิก เหล้า บุหรี่ ซึ่งเป็นเรื่องยาก มาก แต่พอมีกระบวนการเรียนรู้ องค์รวม เรื่องสุขภาพ ทำให้คนเข้าใจอย่างชัดเจน แม้แต่ เรื่องของแผนสุขภาพตำบล ที่ผมไปร่วมสังเกตการณ์ พบว่าการไปทำให้ชาวบ้าน เข้าใจว่าแผนสุขภาพ คืออะไร เป็นเรื่องยาก เขายังงงอยู่ว่า สุขภาพ คืออะไร เข้าใจว่าการไปโรงพยาบาลคือสุขภาพ คำว่าแผนสุขภาพ มันคืออะไร มองไม่เห็น ผมเลยเคยเสนอว่า แผนสุขภาพ 14 ประเด็นน่าจะส่งมาเข้าศูนย์เรียนรู้ เป็นหลักสูตร ใช้ประโยชน์ตรงนี้”

คำอธิบายภาพ

ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง ยังขยายฐานการเรียนรู้จากคนที่เรียนรู้ไปแล้วจัดทำศูนย์เรียนรู้ที่บ้านขึ้นมาเอง

“อย่างบ้านโต๊ะอิหม่ามรอหีม (สะอุ) อำเภอจะนะ เอาความรู้ที่ได้ไปทำต่อจัดทำศูนย์เรียนรู้ขึ้นที่บ้าน เราส่งคนไปสนับสนุนให้ มีชุดความรู้ อย่าง การผลิตไบโอแก๊สในการหุงต้มอาหาร ไปทำเป็นตัวอย่างเอาไว้เลย หรือเตาที่ผลิตน้ำสัมควันไม้ ซึ่งใช้รักษาอาการปวดฟัน โรคผิวหนังเรื้อรัง หรือใช้ กำจัดแมลงศัตรูพืช”

ที่อำเภอสทิงพระ ก็จะมีศูนย์ที่กระจายเกิดขึ้นในชุมชน หลายแห่ง ทางอาจารย์ภาณุ จัดสื่อเรียนรู้รูปแบบวีซีดี ชุด ปลูกผัก ปุ๋ยสูตรต่างๆ สบู่ น้ำยาล้างจาน ให้เรียนรู้เองได้

“มันเป็นเรื่องของการเสริมสร้างสุขภาวะ และการพึ่งตนเอง ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่ององค์รวม”

ล่าสุดทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมอบหมายอาจารย์ภาณุทำหลักสูตรต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะมีการพาเยาวชนรุ่นละ 100 คน มาเรียนรู้ที่ศูนย์คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง “หลักสูตรนี้ จะบูรณาการเช่นเดียวกับสภาฯ อาหารปลอดภัยนี่ คือทำให้ให้เขารู้ การผลิต การตลาด ที่พึ่งตัวเองได้ เรื่องสุขภาวะ อะไรต่างๆ”

โดยภาพรวมของสภาฯอาหารปลอดภัยจึงพบว่าเริ่มขยายผลวงกว้างโดยสงขลาเป็นศูนย์กลาง.

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เสียงขานรับ

นพ.ไพโรจน์ วราชิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวเปิดเวทีในการสัมมนา สภาฯอาหารปลอดภัย เมื่อ 16มิถุนายน 2551 ว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ นับเป็นเหตุผลที่ประชาชนมีโอกาสบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยมายิ่งขึ้น วิถีที่เน้นความง่าย เร็ว และถูก คนขายมีแนวโน้มทำอาหารไม่ปลอดภัย เช่นการใส่สีผสมอาหาร แทนการใช้สีจากธรรมชาติ เป็นต้น

“ผู้บริโภคก็ต้องรับกรรมกันไป” นพ.ไพโรจน์กล่าว และว่าทางโรงพยาบาลตระหนักถึงเรื่องนี้ และได้ดำเนินกิจกรรมอาหารปลอดภัยมาระยะหนึ่ง ยาวนานพอสมควร เพียงแต่สังคมอาจยังไม่ได้รับรู้มากนัก เป็นโครงการที่ทำร่วมกับภาคประชาชนผลักทำอาหารที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเลี้ยงคนไข้ในโรงพยาบาลหาดใหญ่ โดยใช้ผักปลอดสารพิษ นอกจากนั้นยังเปิดตลาดผักปลอดสารพิษขึ้นมาในโรงพยาบาลอีกด้วย

จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โอกาสที่ฝ่ายผลิตและฝ่ายผู้บริโภค จะมาเจอกันนั้น เป็นได้ยาก แม้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายอาหารปลอดภัย ทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน หน่วยงานราชการ ร้านอาหาร ฯลฯ

“เราพบว่าในอาหารทั่วไปมักมีสารเคมี เชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติอาหารปลอดภัยกล่าวและว่า กำลังขับเคลื่อนโดยมองโรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นต้นแบบ

เพ็ญพิศ วัฒนพฤกษ์ นักโภชนาการ จากฝ่ายโภชนาการ และ ศิริวรรณ เดี่ยวสกุล พยาบาลวิชาชีพ หน่วยเวชกรรมสังคม สรุปภาพรวมโครงการผักปลอดพิษคนปลอดภัยของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ว่าเริ่มมา 2 ปีแล้ว มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อมาเชื่อมกับ ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดสงขลาและ เครือข่ายเกษตรวิถีธรรม วิถีไท สู่อาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพชุมชน

โรงพยาบาลหาดใหญ่นำร่องผักไร้สารพิษ ด้วยตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานผักกำหนด3 แบบ 1.ผักที่กระทรวงเกษตร ฯ รับรองให้ใช้สารเคมีระยะเริ่มต้น เว้นระยะก่อนเก็บ ซึ่งความจริงที่รู้กันอยู่ว่าเกษตรกรมักปิดบังข้อเท็จจริงการใช้สารเคมี 2. ผักที่โรงพยาบาลเห็นว่าปลอดภัยจากสารพิษคือ ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ แค่ 10 % และห้ามใช้สารเคมีอื่น อย่างยาฆ่าแมลง และ3. ผักไร้สารพิษ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้น้ำหมักชีวภาพ

จากข้อมูลผู้ป่วยโรงพยาบาลหาดใหญ่ มี 800 กว่าคน รับประทานคนละ 3 มื้อต่อวัน ต้องผลิตอาหารวันละ 2,400 จาน ยังไม่รวมผู้ป่วยพิเศษ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประมาณ 1,800 คน ญาติผู้ป่วยอีก ราว 5,000 คนในแต่ละวัน กลุ่มผู้ผลิตผักปลอดสารพิษตามบัญชีของโรงพยาบาลหาดใหญ่พบว่าในจังหวัดสงขลา ที่บ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ 38 แปลง ควนลัง อำเภอหาดใหญ่ 1แปลง นาทวี 10 แปลง กระแสสินธุ์ 20 แปลง สะเดา 1 แปลง สทิงพระ 9 แปลง ควนเนียง 6 แปลง รวม 86 แปลง นอกจากนั้น มีที่จังหวัดพัทลุง ที่ อำเภอควนขนุน 19 แปลง ซึ่งจะต้องผ่านการอบรมศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง ของสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท

การปรับเปลี่ยนเกษตรกรมาทำแบบไร้สารพิษ ค่อนข้างทำยากแม้จะจูงใจด้วยผลตอบแทนสูง อย่างเช่นราคา ตลาด กิโลกรัม 10 บาท ถ้าปลอดสารพิษทางโรงพยาบาลหาดใหญ่พร้อมจ่ายให้ 20 บาท ถ้าระดับ ไร้สารพิษให้ราคา 25 บาท รับซื้อและประกันราคาทั้งปี แบบไม่อั้น ไม่ว่า ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว บวบ ฟักทอง ฟักเขียว ผักบุ้ง ถั่งฝักยาว แตงกวา มะเขือยาว มะเขือเปราะ ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ใบกะเพรา ใบโหระพา บร็อคเคอรี่ ผักตำลึง ฯลฯ

แม้ต้นทุนการผลิตเท่าเดิม แต่การปลูกแบบใช้สารเคมีสะดวกกว่า เกษตรกรไร้สารพิษจึงมีอัตราเพิ่มขึ้นช้า คนที่มาส่งผักไร้สารพิษ ยังจำกัดเฉพาะคนอยู่ในบัญชีรายชื่อที่โรงพยาบาลได้ขึ้นบัญชีไว้เท่านั้น ปัญหาเกษตรกรบางรายทำผิดสัญญา ทั้งแอบใช้สารเคมี หรือสอดไส้ผลผลิตที่ใช้สารเคมีอันตรายออกมาขาย ซึ่งต้องขึ้นแบล็คลิสต์แต่ให้โอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทางโรงพยาบาลหาดใหญ่พร้อมติดตาม เยี่ยม ให้ความรู้ และพัฒนา

สำหรับผักปลอดสารพิษที่วางขาย ในโรงพยาบาลหาดใหญ่ เท่าที่ผ่านมาเมื่อเปิดขาย คนแย่งกันซื้อแม้แพงกว่าปกติ เพราะโรงพยาบาลการันตีคุณภาพให้การบริหารเกี่ยวกับตลาดผักทั้งระบบ ทำโดย สหกรณ์บริการสุขภาพหาดใหญ่ จำกัดเงื่อนไขการรับสินค้ามาจำหน่ายของสหกรณ์ ฯ1.ปลอดภัย ไร้สารพิษ ดีต่อสุขภาพ 2.ได้โดยตรงจากธรรมชาติ ไม่ผ่านกรรมวิธีมาก 3.เน้นอนุรักษ์ธรรมชาติ Reused ลดภาวะโลกร้อน 4.สนับสนุนกิจกรรมจากชุมชน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส 5.ผู้ปลูกผักผ่านหลักสูตรการเรียนรู้คุณธรรมวิถีไท 6.ลดการใช้ทรัพยากรกับกิจกรรมที่ไม่จำเป็น สถานที่ขายผักในโรงพยาบาลหาดใหญ่ มีร้านค้า 2 แห่ง คือชั้น 1 ข้าวลิฟท์ ตึกอุบัติเหตุใหม่ และที่สหกรณ์ฯ นอกจากนั้น ส่งขายต่อไปยังโรงเรียนเทศบาล 1 นครหาดใหญ่ อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ผักปลอดสารพิษ ยังไม่เพียงพอ เน้นส่งให้หน่วยโภชนาการปรุงอาหารให้ผู้ป่วยกินก่อน ในอนาคตคาดหวังจะส่งบริการที่หอผู้ป่วย โรงเรียนเทศบาล 2 ,3,4 และ 5 ของนครหาดใหญ่ ขณะที่แผนงานอนาคตต้องการเปิดตลาดสุขภาพ ข้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงเรียนเทศบาล 1 ขยายเครือข่าย ออกไปยังโรงเรียนในเขตเทศบาล 30 แห่ง โรงเรียนนอกเขตเทศบาล 3 แห่ง สถานีอนามัย 16 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล 15 แห่ง บ้านผู้ป่วยของศูนย์บริการสุขภาพที่บ้านของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ชุมชนในเขตเทศบาลหาดใหญ่ 47 แห่ง

คำอธิบายภาพ

ร.ต.ต.ประสิทธิ์ ขวัญสง่า สมาชิกสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท เกษตรกร ผู้อยู่ในบัญชีผู้ผลิตผักส่งโรงพยาบาลหาดใหญ่คนหนึ่ง ทำการปลูกผักไร้สารพิษ โดยใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพหลายอย่างที่ผลิตเอง กำจัดศัตรูพืชโดยสมุนไพรและเลี้ยงไก่เพื่อกินหนอนพืช เป็นวิถีที่ต้องต่อสู้อย่างมากกว่าจะพลิกผืนดินนาร้าง มาปลูกผักได้ ขณะที่ถูกล้อมรอบโดยเกษตรกรที่ใช้สารเคมีอันตราย

“ตอนนี้หากข้าร่วมประชุมที่ไหนจะย้ำเรื่องไร้สารพิษ ไม่ใช่ปลอดสารพิษ แต่ต้องไร้สารพิษ เขาถามว่าเพราะอะไร บอกว่าปลอดสารพิษ เพราะเราใช้สารพิษมาก่อน มาปลอดระยะ เช่นฉีดยา จะบอกว่าถัดจากนั้นกี่วันจะเก็บเกี่ยวได้ ที่ไร้สารพิษคือไม่ใช้เลย บางทีเพื่อนหมั่นไส้เอาเหมือนกัน เพราะทำไม่ได้อย่างนี้ ของผมไม่ใช้สารเคมีเลย แต่เขาไม่เชื่ออีก”

Relate topics

Comment #1
Posted @21 พ.ย. 51 12:45 ip : 222...21

เป็นกำลังใจให้ลุงประสิทธิ์ครับ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว