สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แก๊สชีวภาพกระแสสินธุ์ กลิ่นเหม็นฟาร์มคืนกำไรสังคม

by kai @4 พ.ย. 51 14:09 ( IP : 222...90 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
  • photo  , 221x166 pixel , 10,297 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 11,370 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 12,100 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 9,160 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 12,382 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 12,382 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 13,245 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 12,316 bytes.

ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน  ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนจากฟาร์มในเขตเทศบาลตำบลกระแสสินธุ์ กำลังจะเปลี่ยนเป็นของดีแก๊สชีวภาพ

ไพรัตน์ พิทักษ์ธรรม เลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลกระแสสินธุ์ ผู้ประสานงานโครงการแก๊สชีวภาพกระแสสินธุ์ เล่าว่าอาชีพหลักของคนที่นี่มีการทำนาปีละครั้งอาชีพเสริมที่ทำควบคู่กันคือเลี้ยงสัตว์

“วัว หมู  ไก่ มีเป็นจำนวนมาก มูลสัตว์เหล่านี้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาตลอด เราจึงมีแนวคิดที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นพลังงานทางเลือก”

เป้าหมายมองไปที่ปศุสัตว์ทั้งหมดในกระแสสินธุ์ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ล้วนมีปัญหาเรื้อรังต่อชุมชน  ฟาร์มหลายแห่งนอกจากส่งกลิ่นเหม็น ยังเป็นแหล่งพาหะนำโรคอย่างแมลงวัน  ทั้งปล่อยน้ำเสียไหลลงทะเลสาบสงขลา

คำอธิบายภาพ

“ชาวบ้านร้องเรียนมายัง อบต.กระแสสินธุ์ ให้ดำเนินการมาจนกระทั่ง อบต. ยกฐานะมาเป็นเทศบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะทางจังหวัดเองส่งเจ้าหน้าที่ลงมาดูพื้นที่ ก็ยอมรับถึงปัญหา ในที่สุดเราเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมหาทางออก” ไพรัตน์เล่า

ทุกอย่างคลี่คลายมาเป็นขั้นตอนปี 2549 ได้ข้อสรุปว่าต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาคือเจ้าของฟาร์ม จึงเรียกคนเหล่านี้มาพูดคุย บอกพวกเขาว่าน่าจะถึงเวลาร่วมกับชุมชน ท้องถิ่นจัดการปัญหา ลดความขัดแย้ง

“เราได้คุยกันแต่เราไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อหาทางออก  กระทั่งพบคุณชาคริต โภชะเรืองจาก  สวรส.ภาคใต้  ว่ามีที่ไหนที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรื่องนี้เพื่อลดปัญหาชุมชน ความขัดแย้งต่างๆ  ที่สุดเราได้ข้อมูลว่าควรลงไปดูฟาร์มหมูที่นาหม่อม” ไพรัตน์เล่า ช่วงนั้นเขาเองมีบทบาททั้งผู้ใหญ่บ้านและเครือข่ายสุขภาพจังหวัดสงขลา

ตัวแทนเครือข่ายสุขภาพจากโซนคาบสมุทรลุ่มน้ำสทิงพระกับกลุ่มเป้าหมาย 17 ครัวเรือน ลงไปดูงานที่อำเภอนาหม่อม  จังหวัดสงขลา พบว่าฟาร์มแห่งนั้นสามารถนำขี้หมูมาผลิตแก๊สชีวภาพ เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้ได้ นับเป็นเรื่องน่าทึ่ง สำหรับคนไม่เคยรับรู้มาก่อน

“เราก็กลับมาทำ เมื่ออบจ.สงขลาอุดหนุนงบจัดการความรู้ อบรม ศึกษาดูงาน มาแล้ว เราประสานงานกับท้องถิ่นว่าจะตั้งงบช่วยเหลือ  เจ้าของฟาร์มและชาวบ้านต้องสมทบกันอย่างไร”

ทางโครงการได้ประสานงานกับกรมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขอแบบการก่อสร้างบ่อแก๊สชีวภาพสำหรับฟาร์ม แต่เมื่อได้แบบมาแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถหาช่างที่ทำตามแบบแปลนนั้นได้ ช่างของกรมพลังงานเองก็ไม่สามารถเดินทางมาทำให้ได้

ทางออกปรับแบบและหาช่างที่มีฝีมือในท้องถิ่น พาช่างไปดูงาน หลายที่ ทั้งของกรมพลังงาน  ที่ตำบลคลองรี  อำเภอสทิงพระ และอำเภอนาหม่อม นำทั้งหมดมาประยุกต์เหมาะตามความเป็นจริง สอดคล้องพื้นที่ โดยไม่ต้องเดินตามแบบกรมพลังงานทั้งหมด

“เราเริ่มดำเนินการ เริ่มในฟาร์ม 2 แห่ง เจ้าของฟาร์มยินดีให้ความร่วมมือ เราก็อยากแก้ปัญหาให้เขา ถ้าเขาไม่ทำ ไม่เฉพาะเจอชาวบ้านร้องเรียน ยังผิดกฏหมายปล่อยน้ำเสีย ลงคูลงคลอง อีกอย่าง ต่อไปเมื่อมีการออกเทศบัญญัติ กฎหมายของท้องถิ่น เขาต้องทำตามกฎหมาย  ฟาร์มต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย”

อบต.กระแสสินธุ์ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลเมื่อ 28 พฤศจิกายน2550 ที่ผ่านมา หลังหมดวาระ อบต.ชุดเก่า มีการเลือกตั้ง เทศบาลชุดใหม่มาแทนที่เมื่อ กุมภาพันธ์ 2551  ไพรัตน์ รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการของนายโสพล ไชยวงศ์ นายกเทศมนตรี  เขาได้รับมอบหมายจากนายกเทศมนตรี ดูแลโครงการบ่อแก๊สชีวภาพ  เป็นโอกาสเสนอแผนงานโครงการเสนออการอุดหนุนงบประมาณเทศบาลต่อเนื่องเบื้องต้น 3 ปี และจะทำต่อไปเพื่อให้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

คำอธิบายภาพ

ผู้เข้าร่วมโครงการ ทำแก๊สชีวภาพระดับครัวเรือนมีจำนวน  10 ครัวเรือน เริ่มแรกเชิญคนเลี้ยงหมูจำนวน 10-20 ตัวขึ้นไปมาประชุม หาคนที่สมัครใจ  รับกติกาได้ว่าต้องสมทบเงินส่วนหนึ่ง

หลังมีการทำจุดสาธิตขึ้นแห่งแรก  ประกอบกับกระแสแก๊สหุงต้มแพงขึ้นมากชาวกระแสสินธุ์ต่างให้ความสนใจ

ศักยภาพวัตถุดิบขี้วัวในพื้นที่ มีเพียงพอใช้งาน จากค่าเฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งมีวัว 5 ตัว ถือว่ามากกว่าชุมชนทั่วไป

บางคนไม่เลี้ยงวัว แต่บ้านอยู่ข้างเคียงฟาร์มสามารถไปขอมาใช้ได้เลย “ลักษณะการผลิตแก๊สชีวภาพครัวเรือที่เราส่งเสริมให้ทำรูปแบบไม่ต่างจากที่อื่น อย่างเช่นที่ตำบลคลองรี  แต่ปัญหาตอนนี้ถังหมัก(ถังเคมีเหลือใช้สี่เหลี่ยมสีขาว)  ราคาแพงมาก อุปกรณ์ และค่าจ้างช่างประกอบ เบ็ดเสร็จตกราว 8,000 บาท ให้ชาวบ้านสมทบเพียง 1,000 บาท ที่เหลือเทศบาลออกให้หมด”

ไพรัตน์อธิบายว่าการให้ชาวบ้านสมทบ จำนวนหนึ่งแม้เพียงเล็กน้อย ยังดีกว่าให้ฟรี เพราะย่อมทำให้เห็นคุณค่าความสำคัญ

ยิ่งกว่าการได้ถังแก๊สชีวภาพมาใช้คือการใช้งานอย่างจริงจังต่อเนื่อง หากเพียงเห่อไปตามกระแสช่วงแรก  แล้วหยุดใช้เพราะ ขี้เกียจเติมวัตถุดิบ หรือมองเป็นเรื่องยุ่งยาก  ถือว่าเป็นการสูญเปล่า ทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ลงทุนไป  โอกาสที่จะได้พลังงานทดแทนมาใช้และไม่สามารถแก้ปัญหามูลสัตว์

ไพรัตน์พาเราลงไปดูครัวเรือนที่ผลิตแก๊ส การลองใช้งานจริงให้ดูพบว่าได้ผลดี เป็นแก๊ส ไม่มีสี  ไม่มีกลิ่น ได้ใช้นานหลายวัน

คำอธิบายภาพ

แม้ชาวบ้านยังไม่เลิกใช้แก๊สหุงต้มแบบถัง แต่ทุกวันนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้ใช้แก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์เป็นหลักได้  สามารถใช้หมุนเวียนได้ตลอด  ถ้าแก๊สเหลือน้อยถ่ายกากออกและเติมวัตถุดิบเข้ามาใหม่ปริมาณเท่าที่ถ่ายทิ้ง

พวกเลี้ยงวัว หรือเลี้ยงหมู  ขี้หมูให้แก๊สดีกว่า แต่อาจนำสองอย่างมาผสมกันได้  แต่ไม่ว่าอย่างไหนต้องนำมาละลายน้ำแล้วคนให้เข้ากันก่อนเติมลังถังหมัก

ในระบบฟาร์ม เทศบาลสนับสนุนงบประมาณ ซื้อวัสดุ เจ้าของฟาร์มออกค่าแรงค่าก่อสร้าง  เฉพาะค่าซื้อวัสดุพบว่างบประมาณอย่างน้อย  70,000-80,000 บาท ต่อบ่อแก๊สหนึ่งลูก  แผนดำเนินการ  2 ฟาร์ม แห่งหนึ่งแล้วเสร็จ อีกฟาร์มยังไม่ลงมือทำด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ และต้องใช้เวลาก่อสร้าง

รูปแบบของการผลิตแก๊สชีวภาพจากฟาร์ม จะต่อท่อจากรางมูลสัตว์รวมมาหมักในบ่อซีเมนต์    ต่อท่อดึงแก๊สออกไปใช้  มูลสัตว์ที่ใช้แก๊สหมดแล้วกากจะปล่อยไปสู่ลาน กากใส่กระสอบ ขายกลุ่มปุ๋ยในโรงผลิตปุ๋ยของตำบลที่พร้อมรับซื้อ

“แก๊สที่ได้จากในฟาร์มอาจจะใช้ในการกกลูกไก่ ลูกหมู  กิจกรรมพวกนี้เขาต้องใช้มาก ถ้าได้ตัวนี้จะช่วยประหยัด ส่วนหนึ่งจะต่อให้บ้านข้างเคียงได้ใช้” ไพรัตน์กล่าวและว่าโครงการแก๊สชีวภาพของกระแสสินธุ์ ถือว่าเป็นต้นแบบความสำเร็จในการจัดการระดับฟาร์มได้

“ปัญหานี้องค์กรท้องถิ่นจะดูแลเต็มที่  ต่อไปเมื่อออกเทศบัญญัติ  เกี่ยวกับการฟาร์มขึ้นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่ให้เกิดผลกระทบพี่น้องประชาชน  เราจะขยับไปทั้ง 4 หมู่บ้านในเขตเทศบาล จะให้งบต่อเนื่อง ผลักดันให้ ได้ 100 % ทุกฟาร์มต้องมีการจัดการฟาร์มที่ถูกต้อง  ถ้าไม่ทำถือว่าผิดเทศบัญญัติ  ท้องถิ่นพร้อมช่วยเหลืองบประมาณ ความรู้  อุดหนุนงบให้ซึ่งมากอยู่แล้ว มากกว่าที่เขาต้องออก แต่ฟาร์มต้องให้ความร่วมมือ ถ้าเทศบาลเปิดกองสาธารณสุขจะให้ หน่วยงานนี้รับผิดชอบโดยตรงต่อไป”

คำอธิบายภาพ

โสพล ไชยวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลกระแสสินธุ์ กล่าวว่าชุมชนให้ความสนใจมาก เกี่ยวกับโครงการแก๊สชีวภาพ ที่ผ่านมาเทศบาลได้สนับสนุนงบประมาณ และปี 2552  ก็จะสนับสนุนมากกว่าเดิมต่อเนื่องไป

“ผมเข้าไปดูที่เขาทำ ถือว่าไปได้ บางส่วนอาจยังไม่เสร็จ เพราะขั้นตอนการก่อสร้าง ชาวบ้านให้ความสนใจหลายคน เพราะเขาเลี้ยงหมูมาก เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว  โรงปุ๋ยที่รับซื้อกากมูลสัตว์ที่เหลือ ก็สนับสนนุนโดย อบต. ที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยผมดำรงตำแหน่งนายกอบต.  ผมกลับมาได้รับเลือกตั้งเที่ยวนี้ถือว่าได้ทำสิ่งเกี่ยวเนื่องต่อไป”

นายกเทศบาลกระแสสินธุ์มองว่าคนสนใจ และร่วมมือดี มักอยู่ในหมู่ที่ 3 โดยเฉพาะกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ หนาแน่นกว่าพื้นที่อื่น

เทศบาลกระแสสินธุ์ มีเขตปกครอง 4 หมู่บ้าน เนื่องจากยังเป็นเทศบาลใหม่ ยังมิได้จัดตั้งชุมชน ในอนาคตอันใกล้ จะมีการเรียก ชุมชนทุ่งบัว ชุมชน โตนดด้วน ชุมชนคลองโอน และชุมชนม่วงงาม ตามกรอบชุมชนของเทศบาล

“ประชากรจริง เกือบ 5,000 คนแต่เท่าที่สังเกตุผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมี ราว 3,000 คน ในเนื้อที่ 25 ตารางกิโลเมตร”

โสพลเล่าต่อว่า โครงการนี้ได้ประโยชน์ในแง่ได้ใช้ พลังงานทางเลือก
และถือเป็นการกำจัดขยะ

“มูลสัตว์นอกจากเป็นปุ๋ย มาเป็นแก๊ส เป็นพลังงาน ได้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม อย่างเราคิดว่าจะทำอย่างไรว่าใน 2-3 ปีนี้ ต้นไม้เขียวให้ได้ เราจะได้ปุ๋ย ใส่ต้นไม้ เพื่อทำเกษตรอินทรีย์  เรื่องนี้ก็อยู่ภายใต้แผนสุขภาพของตำบลเราด้วยในส่วนที่ว่า เป็นการนำร่องและจะขยายไปทุกปี ผมเต็มที่เรื่องพัฒนาอยู่แล้ว”

คำอธิบายภาพ

เสนอ พุ่มพวง  พื้นเพเป็นคนพัทลุง มาแต่งงานกับภรรยาชาวกระแสสินธุ์  อาชีพทำฟาร์มหมู และ ไก่ อยู่ เลขที่ 66/3 ม.3 ต.กระแสสินธุ์  พื้นที่ฟาร์ม 11 ไร่ เลี้ยงแม่หมู  30-40 ตัว หมูขุน 300 ตัว ไก่ 10,000 ตัว

การก่อสร้างบ่อแก๊สชีวภาพในฟาร์มของเขากำลังแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้ เป็นแห่งแรก

“ที่ผ่านมามีคนร้องเรียน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาตรวจสอบ  ก็คิดว่าจะทำอย่างไร  พอเข้าประชุมเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา ได้แนวคิดว่าจะทำบ่อแก๊ส  จาก อบต. กระแสสินธุ์ สมัยนั้น”

เสนอยืนเล่าให้เราฟังระหว่างติดตามการก่อสร้างบ่อแก๊สหลังคอกหมู ที่กำลังแล้วเสร็จ  กลางกลิ่นเหม็นอบอวล  เห็นรางส่งขี้หมูลงบ่อซีเมนต์ผลิตแก๊สชีวภาพ

“ขี้หมูส่งลงในบ่อ หลังใช้เสร็จกาก ก็จะออกมาอีกทางหนึ่ง”

เสนอบอกว่าแก๊สที่ได้จะ ต่อท่อไปให้คนที่อยู่รอบข้าง 10 ครัวเรือนได้ใช้  พวกเขาเหล่านี้คือผู้ได้รับผลกระทบจากกลิ่นนั่นเอง  โดยให้ทุกคนมีโอกาสใช้เท่ากัน

“ขี้หมูเรามีมากพอ และถือว่ายังมากเกินที่จะลงในถังแก๊ส เพียงแต่ว่า  ถ้าทำถังใหญ่กว่านี้ ไม่มีงบพอ มันจ่ายมากเกินไป แก๊สที่ได้ผมจะไม่ใช้ส่วนตัว จะให้เขาทั้งหมด  แต่เราก็ไม่มีงบจะต่อท่อให้ ใครอยากได้อาจต้องลงทุนส่วนนั้นบ้าง”

คำอธิบายภาพ

เขาเล่าว่าพอทำเรื่องนี้ก็ไม่เห็นว่ามีคนร้องเรียน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาคงพอใจแล้ว  การมีบ่อแก๊สจะช่วยลดต้นทุนระดับครัวเรือนให้พวกเขาได้.

Relate topics

Comment #1การแก้ปัญหาเรื่องกลิ่น
max_xx (Not Member)
Posted @25 เม.ย. 52 14:18 ip : 58...110

เนื่องจากบริษัทที่ข้าพเจ้าได้มีการปรับปรุงปัญหาของบ่อแก๊สชีวภาพเนื่องจากพนักงานบางส่วนขาดความรู้ความชำนาญทางด้านการดูแลและรักษาบ่อแก๊สให้สมบูรณ์จึงทำให้เกิดปัญหาคือ เชื้อในบ่อตาย ทำให้ตะกอนในบ่อที่สมบูรณ์อยู่แล้วเกิดการลอยตัวขึ้นทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก จึงรบกวนอาจารย์ให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลและการลดปัญหาเรื่องกลิ่นและการจักการกำตะกอนที่ลอยขึ้นมาบนบ่อได้อย่างไร เพราะตอนนี้บริษัทของเราขาดพนักกงานที่มีความชำนาญทางด้สนนี้มากจึกขอรบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำแนวทางในการทำงานให้กับเราด้วยครับ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว