สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ถนนวัฒนธรรมควนเนียง คิดถึงโนรา "หน้าหลาด"

by kai @3 ก.ย. 51 16:18 ( IP : 117...156 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

คำอธิบายภาพถนนวัฒนธรรมควนเนียง คิดถึงโนรา "หน้าหลาด"

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติ ไม่นานนัก ประวัติศาสตร์สำคัญอีกหน้าหนึ่งของประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟควนเนียง เมื่อคนพวกหนึ่งถูกคุมตัวเดินลงมาจากขบวนรถไฟ ผลักไสขึ้นรถ 6 ล้อเชฟโรเล็ทแบบมีคอกกั้นกระบะหลัง รถวิ่งไปตามถนนยนตรการกำธรอันเปล่าเปลี่ยวมุ่งหน้าสู่จังหวัดสตูล  ก่อนจะโยนทั้งหมดลงทะเลสู่เกาะนรกตะรุเตา

นี่คือเส้นทางขนนักโทษ ,สมัยนั้นสถานีรถไฟควนเนียงมีบทบาทมาก เพราะยังไม่มีถนนสายเอเชียและถนนสายเก่า  เช่นเดียวกันชาวสตูลที่จะเดินทางไปยังท้องที่จังหวัดต่างๆ ต้องมาขึ้นรถไฟที่นี่

การจัดงานถนนวัฒนธรรมควนเนียงบนต้นสายถนนยนตรการกำธร หลังสถานีรถไฟ ตรงข้ามแนวห้องแถวอาคารไม้หลังเก่าแก่ที่สุดในตัวตลาด  ระหว่าง 11-12 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมานอกจากได้ระลึกบทเรียนความเป็นมาจากหนหลัง ยังมาถึงพร้อมขบวนวัฒนธรรมท้องถิ่นอันมีค่ายิ่งสำหรับทุกคน และไม่จำกัดยุคสมัย

คำอธิบายภาพงานนี้มีชื่อเป็นทางการว่าจัดงานเฉลิมพระเกียรติ 76 พรรษา มหกรรมสุขภาพ การกีฬา เบิกฟ้าวัฒนธรรม อำเภอควนเนียง ประจำปี 2551  จัดโดย อำเภอควนเนียง สถานีอนามัยควนเนียง เทศบาลตำบลควนเนียง และกลุ่มองค์กรเครือข่ายสุขภาพอำเภอควนเนียง

การจุดเทียนชัยถวายพระพรโดยนายทวิชา ไชยทองนายอำเภอควนเนียงเป็นประธาน นับเป็นกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถอันเป็นวันแม่แห่งชาติ  หากแต่กิจกรรมเกี่ยวเนื่องตลอดทั้งงานยังหลากหลายด้วยแนวคิดส่งเสริมสุขภาวะ

ทุกวันนี้ประชากรอำเภอควนเนียงมีอยู่ประมาณ  33,480 คน จาก 4 ตำบล คือควนโส  รัตภูมิ  บางเหรียง และห้วยลึก

กิจกรรมต่างๆ  เริ่มจากการรวมพลคนจักรยานเพื่อสิ่งแวดล้อม ปั่นรอบอำเภอ มอบจักรยานแก่เด็กด้อยโอกาสโดย ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 56 จังหวัดสงขลา  การทอดผ้าป่าสมทบกองทุนโรคเอดส์ อำเภอควนเนียง

เวทีใหญ่ที่ลานฤาษี หน้าเทศบาลตำบลควนเนียง จัดให้มีการจัดประกวด แอโรบิค ประเภทผู้ใหญ่  ผู้สูงอายุ และนักเรียน

การมอบรางวัล อสม.ดีเด่น คู่สมรสดีเด่น สถานบริการรณรงค์โรคไม่ติดต่อดีเด่น  การมอบรางวัลผู้ชนะเรียงความ เรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง การมอบรางวัลโครงการส่งเสริมทำความดี การมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดหนูน้อยสุขภาพดี

การโชว์ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน หนังตะลุง โนรา  การร้องเพลงกล่อมเด็ก เพลงยาว (เพลงเรือแหลมโพธิ์)บอกเล่าเรื่องสุขภาพ การแสดงของนักเรียนโรงเรียนบ้านควนเนียง และการแสดงของกลุ่มองค์กรต่างๆ

คำอธิบายภาพ

บนถนนวัฒนธรรมควนเนียงนั้นเล่า คึกคักด้วยการออกร้านของช่างทำเทริดโนรา เครื่องครอบศรีษะโนราซึ่งหาช่างทำยากแล้วในปัจจุบันจะมีก็เฉพาะที่นี่แห่งเดียว  การสาธิตแกะหนังตะลุง ทำเครื่องดนตรีหนังตะลุง  กลุ่มหัตถกรรมไม้ศิลป์    การจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน ขนมจาก ทองม้วน  การสาธิตทำกระปุกออมสินจากปูนปาสเตอร์

นิทรรศการสุขภาพ อาหารปลอดภัย  เอดส์  การออกกำลังกาย โรค ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย  บริการตรวจสุขภาพร่างกายโดยโรงพยาบาลควนเนียง ยังมีนิทรรศการให้ความรู้จาก สหกรณ์การเกษตร อำเภอควนเนียง กศน.ควนเนียง ,มูลนิธิศุภนิมิต และ สภาวัฒนธรรมควนเนียง

สภาวัฒนธรรมควนเนียงใช้ความพยายามค้นหาหนังสืออันเกี่ยวกับวัฒนธรรมควนเนียงโดยเฉพาะมานำเสนอ  พบว่ามีจำนวนมากทีเดียวสะท้อนนัยะความสำคัญของท้องถิ่นแห่งนี้

สรรเสริญ ศรีทวีกูล ประธานกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอควนเนียงซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดงานนี้คนหนึ่งเล่าว่าถนนสายวัฒนธรรมควนเนียง เกี่ยวโยงกับสุขภาวะโดยตรงมีความหมายถึง

  • วัฒนธรรมทางการบริโภค
  • วัฒนธรรมทางอาชีพ
  • วัฒนธรรมทางการละเล่นพื้นบ้าน
  • วัฒนธรรมทางความเชื่อ ศาสนา
  • วัฒนธรรมทางการแพทย์
  • วัฒนธรรมทางด้านประเพณี

“แนวคิดการจัดงานคือนำของดี  4 ตำบลที่ดีอยู่แล้วมาแสดง คนควนเนียงเองบางอย่างเขายังไม่รู้เลยว่ามีของดีอยู่ในอำเภอเราเอง บนถนนวัฒนธรรมแยกออก 4 ตำบล อย่างห้วยลึกเขาเด่นเรื่องการทำตอไม้เป็นเครื่องประดับก็เอามา  บางเหรียงมี เทริดโนรา ขนมซัง  ลูกประคบสมุนไพร ควนโสมีข้าวซ้อมมือ น้ำยาล้างจาน ส่วนรัตภูมิ มีการแกะรูปหนัง ทำเครื่องดนตรี หนังตะลุง โนรา”

คำอธิบายภาพ

สรรเสริญอธิบายความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสุขภาวะว่าเป็นอย่างไร ลูกประคบสมุนไพร ขนมซัง ข้าวซ้อมมือนับเป็นเรื่องทางกาย  หนังตะลุงเป็นเรื่องเชิง สังคม  จิตวิญญาณ เขายังมองว่าวัฒนธรรมเกี่ยวกับสุขภาวะ 4 ด้าน มองเห็นอยู่บนถนนสายวัฒนธรรมควนเนียงแห่งนี้

กาย – การใช้กำลัง เช่นการสีข้าวซ้อมมือ รำโนรา ที่ออกท่าทาง

จิต – ศิลปหัตถกรรม คนทำต้องใช้สมาธิต้องนิ่งเหมือนนั่งนับลูกประคำ

จิตวิญญาณ – ความเชื่ออย่างการเคารพ ผู้มีพระคุณ แง่นี้จะมีครูหมอของศิลปะการแสดงพื้นบ้านแต่ละแขนง

สังคม – การมาทำงาน ฝึกหัดเรียนรู้ ทำให้เกิดสังคม เด็กๆมาเรียนก็ได้รู้จักได้เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ถ่ายทอดความรู้ แก่กัน  หลานเรียนกับปู่ ลูกเรียนกับพ่อ

“ภาพรวมงาน 2 วัน ที่นำเสนอไป ต้องการให้คนควนเนียง เห็นว่าของดีควนเนียง มี 4 ตำบล  หลายกลุ่มหลายองค์กรอาชีพ ที่หลากหลาย เกี่ยวกับวัฒนธรรม

ถ้าเราไม่นำเสนอ จะไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพสุขภาพจิต กาย สังคม จิตวิญญาณ อย่างไร  เราต้องเผยแพร่ จะได้ทั้งสองทางคือได้เชิดชู ของดี แต่ละตำบล ทั้ง ประชาสัมพันธ์ให้เขาเห็น ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หลายๆ ด้านนั่นคือสิ่งที่คาดหวัง”

คำอธิบายภาพ

เขาคิดว่าแนวเคลื่อนวัฒนธรรมกับสุขภาพถ้าไม่ทำจริงจังจะหยุดอยู่กับที่  และว่าต้องใช้หลายแนวคิดในการเคลื่อนจึงจะบรรลุผลสำเร็จ ระยะสั้นคงไม่เกิดอะไรมาก แต่ระยะยาวเห็นผล

“คนทั่วไปมักมองวัฒนธรรมอย่างผิวเผิน ไม่รู้ว่าทุกลมหายใจเกี่ยวข้องอยู่กับวัฒนธรรมทั้งหมด เราต้องมีการถ่ายทอดไปทางสภาวัฒนธรรม ที่พร้อมผลักดันตรงนี้  อยู่อาจทำสื่อหลายรูปแบบถ้าหยุดนิ่งจะไม่เกิด”

เขาบอกว่าชุมชนเคยจัดงานลักษณะนี้ บนถนนสายนี้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่หลากหลาย

“สำหรับถนนวัฒนธรรมนี้นอกจากศิลปะภูมิปัญญาหัตถกรรม  ยารักษาโรค อาหาร เรายังมีศิลปะการแสดงในภาคกลางคืนมีเพลงเรือ เพลงกล่อมลูก

อย่างเพลงกล่อมลูก ไม่ใช่ศิลปะอย่างเดียวผมว่าเป็นทั้งเรื่องวัฒนธรรม การดูแลบุตร สุขภาพ และเชื่อมโยงกับวันแม่”

ในงานวันนั้นมีการโชว์กล่อมลูกของนางฉ้าย จันทภาโส ชาวควนเนียงที่เคยได้รับรางวัลดีเด่น เพลงกล่อมลูกจากสภาวัฒนธรรมควนเนียงจัด และเคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณในฐานะตัวแทนภาคใต้ ถวายเพลงกล่อมลูก ในกิจกรรมว่าเพลงกล่อมลูก เฉลิมฉลอง ถวายพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติที่สนามหลวงมาแล้ว

คำอธิบายภาพวัฒนธรรมซึ่งได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปจากควนเนียง คือศิลปการแสดงหนังตะลุง มีคณะนายหนังที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่นหนังอิ่มเท่ง (อิ่ม จิตต์ภักดี)  เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดงหนังตะลุง  หนังพร้อม อัศวิน (พร้อม อินทปาน) ปราชญ์หนังตะลุงแห่งอำเภอควนเนียง ยังมีหนังสร้างชื่อให้ควนเนียงดังกระฉ่อนอย่างหนังเอื้อม อ้ายหนูนัด หนังศรี ระบายสายกลิ่น มีนายหนังตัวแทนเยาวชนจังหวัดสงขลาชื่อหนังป้อ  จากการรวบรวมรายชื่อคณะหนังตะลุงพบว่ามีมากถึง 29 โรง ไม่นับคณะลูกคู่ ฝีมือดีที่คณะหนังตะลุงจังหวัดใกล้เคียงมาดึงตัวไปช่วยเล่นร่วมคณะอีกไม่น้อย

ในคืนแรกของงาน สรรเสริญจึงเชิญชวนหนัง 9 โรงมาแสดงบนถนนวัฒนธรรมมี หนังชายป้อ ประทุมศิลป์  เยาวชนหนังรุ่นใหม่ หนังวิจิตร ศ.อัศวิน จาก บางเหรียง หนังจ่าโรจน์ ไอ้ลูกหมี  ต.ควนโส หนัง อ้อนจันทร์ ตลุงล้ำยุค ควนโส หนังจรินทร์ ตลุงร่วมสมัย ต.รัตภูมิ หนังวัน ควนเนียง  ต.ควนเนียง หนังจูคิ่ม ศ.พร้อมอัศวิน ภาค 2 ต.ควนเนียง หนังแสงฟ้า ควนเนียง ต.ควนเนียง และหนังสวนพร้อมดอ ศ.พร้อมน้อย จากโคกค่าย

ที่ผ่านมา ความคึกคักของกระแสหนังตะลุง ทำให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมหนังตะลุงให้กับเยาวชนด้วย และมีการดึงลุ่มทีทำเรื่องหนังตะลุงทั้งหลายมารวมเป็นเครือข่ายหนังตะลุงอำเภอควนเนียง

“การแสดงตัวหนึ่งที่หายไปจากควนเนียงคือโนราหน้าหลาด”สรรเสริญเล่า คำว่าหลาดในภาษาถิ่นใต้คือตลาด

คำอธิบายภาพ

วิทยา บุษบงศ์ กรรมการสภาวัฒนธรรม อำเภอควนเนียงได้จังหวะเล่าเสริมว่าโนราหน้าหลาดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นควนเนียง  ไม่เคยเห็นที่ไหน

“เป็นโนราที่เล่นสดในวันลอยกระทง คนเล่นชื่อป้าฉ้าย ละอองดิลก

เป็นการแสดงแบบง่ายๆ  ยืนบนโต๊ะขายของ  ทุกวันนี้ป้าฉ้ายก็ยังอยู่นะ  เป็นแม่ค้าขายไข่อยู่แต่ไม่ได้เล่นแล้วเพราะสภาพร่างกายและทีมงานบางส่วนเสียชีวิตไป”

วิทยาเล่าว่าในควนเนียงมีวัฒนธรรมเยอะมาก ถิ่นนี้มีความสำคัญ สร้างชุมชน ก่อนศตวรรษที่ 18 มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างถิ่น และต่างชาติ  มานับ 100 ปี  เนื่องจากอยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา  พบหลักฐานอันบ่งชี้ว่าเคยเจริญรุ่งเรืองด้านการค้าขาย  การสร้างทางรถไฟ หนแรก มีการมาทำห้างอยู่ที่ป่าช้าคนมาอยู่มีทั้งฝรั่งคนไทย
หลังจากนั้น กลายเป็นชุมชนหลังวัดควนเนียงเป็นชุมชนแรกที่เกิดขึ้น  ชาวจีนที่มาสร้างทางรถไฟ มาอยู่ควนเนียงด้วย

เมื่อเป็นตลาดพี่น้องไทยจีนอยู่กันฉันท์พี่น้อง กระทั่งช่วงหลังๆ คนภายนอกเข้ามา ความสัมพันธ์อาจน้อยลงถ้าเทียบกับอดีต สถานที่ต่างๆ เปลี่ยนไปจนจำเค้ารูปเดิมไม่ได้  บ้านไม้ห้องแถวเก่าในตลาด รวมถึงตัวตลาด  มีการปรับปรุงใหม่ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมอย่างชัดเจน

“ต้องยอมรับว่าเรื่องวัฒนธรรม คนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไร การจัดกิจกรรมตรงนี้ ดึงดูดมาก่อนเพื่อสะท้อนข้อมูลให้ตามมา”

เขานึกย้อนสมัยก่อนไม่นานนักมีการจัดประเพณีลอยกระทงในตลาดควนเนียง

คำอธิบายภาพ

“ตัวตลาดสมัยก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้หรอกครับ  บรรยากาศจะดูเก่าๆ หน่อย ไม่มีตึกทันสมัย พอมีลอยกระทงยายฉ้ายกับพรรคพวก 3-4 คนจะขึ้นบนโต๊ะ  ร่ายรำโนรา และว่ากลอนไม่มีดนตรีอาจปรบมือกัน  แต่งตัว ตามที่เป็นอยู่ ยืนบน แผงร้านค้า คือไม่ได้ยกเวทีทางการ  กลอนที่ว่า เกี่ยวกับ คนนั้น คนโน้นทำอะไร  เท่ากับการกล่าวในเชิงสังคมของคน ว่าใครทำอะไร  บอกกล่าวถึงสังคมควนเนียงในขณะนั้น  คนที่ได้ยินก็จะมายืนมุงดูกัน ดูเบื่อก็เดินออกมา มีคนอื่นเข้ามาดูต่ออย่างนี้ ”

สวัสดิ์ ยางทอง รองประธานกรรมการ สภาวัฒนธรรม อำเภอควนเนียง ขยายความต่อว่า กรณีโนราหน้าหลาดว่าตามภาษาหนังตะลุงเรียกว่า “มุตโต” จุดเด่นเขาสามารถเอาความเคลื่อนไหวของชีวิตตรงหน้า  ด้นขึ้นมาเป็นภาษากลอนทันทีทันใด

“พอเขาขึ้นเล่น รำอยู่ คนจะมุงมาดู  เรื่อยๆ  กลอนไปตามเชิงกลอน แต่กล่าวถึงคน เหตุการณ์สดๆ  อย่างผมเองเล่นโนรา ที่เรียกกับภาษาชาวบ้านว่าโนราขี้เมา ก็เล่นโต้รุ่งเหมือนกัน”

สวัสดิ์บอกว่ายายฉ้ายไม่ใช่โนราพื้นฐานแต่ว่ากลอนได้ เหมือนเขาก็ไม่ได้เป็นโนราแต่ว่ากลอนโนราได้  มักได้ขับกลอนในงานศพ ถือว่าเป็นกิจกรรมเฝ้าศพอย่างหนึ่ง จากดึกจนรุ่งสว่างอีกวันหนึ่งโดยไม่ติดขัด  ขับกลอน กินหวาก กินเหล้า เฝ้าศพ จนสว่าง เป็นวิถีอย่างหนึ่งจากอดีตที่กำลังสูญหายไป

“ตอนนี้ผมไม่ได้ทำเพราะขาดลูกคู่ ทีมงาน เลยหันมาเขียนกลอนออกอากาศทาง สวท.สงขลา แทน”สวัสดิ์เล่า ดูเหมือนว่านักกลอนไม่มีวันตาย  ระหว่างคุยลุงกำลังแต่งเพลงเรือแหลมโพธิ์ ว่าด้วยสุขภาพเพื่อขึ้นโชว์บนเวทีคืนนั้น ลองขยับลูกคอบางท่อนให้ฟัง

ความไม่มีโรคมีโชคเหลือหลาย (ลูกคู่รับว่า- ใช้ได้ ๆ.....ความไม่มีโรคโชคดีเหลือหลาย)
สุขภาพเราดี ไม่มีโรคร้าย (รับว่า- ใช้ได้ ๆ ..ไม่มีโรคร้ายสุขภาพเราดี)
กินอาหารสุขใหม่ ปลอดภัยเหลือหลาย (รับว่า- ใช้ได้ ๆ อาหารสุขใหม่ปลอดภัยเหลือหลาย)
ของไร้สารพิษ ชีวิตสบาย..สำส่อนทางเพศเป็นเอดส์ต้องตาย ( รับ-ตายได้)
ฯลฯ

คำอธิบายภาพ

หลังจากเข้ามามีส่วนฟื้นฟูวัฒนธรรมควนเนียง สวัสดิ์พบว่ามีหลากหลายอย่างที่น่าสนใจ อย่างกรณีขนมซังเป็นเอกลักษณ์ของ ตำบลบางเหรียงอย่างแน่นอน ไม่มีที่ไหนในประเทศไทยสู้ได้

“ที่อื่นทำเหมือนกันแต่ไม่ชัดเท่าที่นี่  เขาทำมาจนส่งลูกเรียนดอกเตอร์กันหลายคน อะไรที่ทำคนที่นี่ทำขนมชนิดนี้อร่อยที่สุดผมคิดว่าส่วนผสม เป็นการสืบทอดมา คือบอกไม่ถูกว่าเพราะอะไร มันทำมานาน จากยาย –แม่ –ลูก-หลาน เขาเห็นว่าทำอย่างไร เขาสอนถ่ายทอดกันมาทุกขั้นตอน  เหมือนหมอพื้นบ้านที่ จะสืบทอดต่อกันมายาวนาน กว่าจะได้รับความนิยม”

สวัสดิ์มองว่าวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะศิลปะการแสดงหนังตะลุง มีคนสนใจระดับหนึ่ง  เด็กสนใจ  พอฝึกแล้ว ออกโรงไปเล่น ได้ แต่วิถีทางหนังตะลุงรุ่งโรจน์หรือไม่ อีกเรื่องแต่ความนิยม มี

ระหว่างสนทนาออกรส เหลือบเห็นเด็กควนเนียงรุ่นใหม่ เดินมาดู รูปหนังตะลุง ใช้มือลูบคลำอย่างสนใน อีกรายลองขยับทับ เครื่องดนตรีโนรา

นี่คือจุดเริ่มถนนวัฒนธรรมควนเนียง ที่พวกเขาเห็นว่าจะดำเนินอย่างต่อเนื่องต่อไป.

Relate topics

Comment #1เก้เ
444 (Not Member)
Posted @22 ม.ค. 52 12:08 ip : 203...42

+)

Comment #2
เด็กในหลาด (Not Member)
Posted @13 มี.ค. 52 12:28 ip : 202...24

ควนเนียงควรปรับปรุงบริเวรคลองหน้าตลาดได้แล้วบ้านเมืองอื่นเขาเจริญถึงไหนกันแล้วทางเข้าก็แคบไหนจะจอดรถ ไหนจะเดินซื้อของจะชนกันตายอยู่แล้ว ท่ว่าจะทำฝาครอบคลองก็เห็นด้วย ไอ้พวกค้านที่มันไม่เห็นด้วยสงสัยมันกลัวจะพัฒนาแล้วจะเจริญมันก็ไม่ได้หน้าได้ตาแล้วเมื่อไหร่จะทันบ้านเมืองอื่นละจ๊ะ

Comment #3เห็นด้วย กับโครงการสร้าง ลานวัฒนธรรม อ.ควนเนียง.
คนควนเนียง (ภูเก็ต (Not Member)
Posted @11 ธ.ค. 52 14:36 ip : 118...128

ผมเป็นหนึ๋งที่ถือกำเหนิด  จากควนเนียง  (แต่ปัจบันอยู่จังหวัดภูเก็ต)  40กว่าปี  ควนเนียง  ก็มีการเปรี่ยนแปรง  ไปบ้างพอสมควร  แต่สิ่งไม่เปลี่ยน  สถานีรถไฟ  ตลาด  แม่ค้า  ขายกั๊วยเตี๋ยว  นำแข็งขูด  ก้ยังคงอยู๋ที่เดิม  แค่เปลี่ยน คนขาย  มาสู๋ รุ่นลูกๆ  ผมกลับบ้านทุกครั้ง  ก็ต้องแวะอุดหนุนทุกครั้ง  เพราะ สูตรดั้งเดิมจริงๆ    ผมได้อ่านจากแว๊ปไซร้  ควนเนียงพบว่าเทศบาล  กำลังจะมีโครงการ  สร้างลานวัฒนธรรม  ก็ขอแสดงความยินดีกับพี่  น้องชาวควนเนียงด้วย  (รายละเอียดโครงการอ่านดูแล้วผมยอมรับว่าดีมากครับ)  แต่กว่าโครงการจะแล้วเสร็จ  ก็ขอฝากเรื่อง  ให้คณะเทศบาล  เร่งแก้ไขด่วนด้วย  คือ.  1. จัดระเบียบ  พ่อค้า แม่ค้าหน้าหลาดให้เป็นระเบียบ เรียบร้อยก่อน ถ้าจะอ้างว่าไม่มีที่รองรับ  บรรดาพ่อค้า แม่ค้า    แล้วคลองหน้าหลาดเอาไว้ทำไม  สมัยผมเด็กๆ  เป็นอย่างไร  เดี๋ยวนี้ก็อย่างนั้น  ไม่มีความสวยงามเลย  ถ้าจะอ้างไว้เพื่อลอยกระทง  หนึ่งปีมีครั้งเดียว  ใช้ประโยชน์ 1วัน  ทำความสะอาด 5วัน(ไม่รู้จะหมดหรือเปล่า)    ที่เหลือ  359 วัน คงไว้ประจานแขกบ้าน แขกเมือง  ผมขอเรียนผ่าน  ไปถึงท่านคณะ ผู้บริหารเทศบาล  ฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นทั้งหลาย โปรดคำนึงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย  และผลประโยชน์ของ  พี่น้องที่ทำมาหากิน อยู๋หน้าหลาด ทำพื้น ค.ส.ล. ปิดคลอง  และย้าย  พ่อค้าแม่ขายเข้าไปตรงนั้น  เหลือถนนเอาไว้ให้รถวิ่งบ้าง  ส่วนประเภณ๊ลอยกระทง  ก็มีความสำคัญ เพราะเป็นประเภณีของเราชาวไทย ก็น่าจะไปหาที่ใหม่ๆ เพื่อกระจายความเจริญ ออกไปบ้าง  ไม่ใช่กระจุกตัวอยู๋ แต่หน้าหลาด...

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว