ถวายเทียนทางน้ำ ปี 4
ถวายเทียนทางน้ำปี 4
เปิดท่าโอ –หันหน้ากลับหาคลอง
โดย ถนอม ขุนเพ็ชร
มูลนิธิชุมชนไทยโดยการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลา สหกรณ์ออมทรัพย์ มอ.จำกัด เครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา สโมสรโรตารี่โคกเสม็ดชุน หอการค้าจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และรายการแลบ้านแลเมือง ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดถวายเทียนพรรษาทางน้ำ 9 วัด ประจำปี 2551
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับว่าต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ก่อน หน้านั้นประเพณีถวายเทียนพรรษาทางน้ำแห่งลุ่มคลองอู่ตะเภาสูญหายไป 50 ปี
ผู้สนใจหลากหลายราว 200 คนพร้อมกันที่วัดหาดใหญ่ตามนัดหมาย 07.30 น. หลายคนเดินทางไกลมาจากต่างอำเภอในฐานะสมาชิกเครือข่ายลุ่มน้ำสงขลา ที่นำเอากิจกรรมแห่งสายน้ำมาจับมือกัน
เนื่องจากเป็นเช้าอากาศโปร่ง ไม่มีเค้าฝนตกเหมือนวันผ่านมา ทุกคนจึงเบียดกันเข้าโรงครัว สถานที่ไหว้พระ รับศีล ถวายเทียนพรรษาที่วัดหาดใหญ่ในซึ่งเป็นวัดแรก ด้วยสีหน้าสดชื่น คุณประโชติ อินทร์ถาวร จากสหกรณ์ออมทรัพย์ มอ.จำกัด ยังรับหน้าที่พิธีกรหลักประจำรายการเหมือนทุกปี
นอกจากเทียนพรรษา และเครื่องบริวารทั้งหลาย ปีนี้มีการรวบรวมเงินทำบุญจากผู้เข้าร่วม และคนที่ไม่ได้มาแต่ฝากปัจจัยมาเป็นกองกลาง สามารถนำแบ่งถวายวัดต่างๆ เป็นจำนวนเงินกว่า 35,000 บาท
หลังเสร็จพิธีสงฆ์วัดแห่งแรกเป็นทางการ พระท่านถือโอกาสเล่าถึงเส้นทางน้ำที่ทุกคนกำลังจะได้สัมผัสพอเป็นกระษัยว่า คลองอู่ตะเภาเมื่อ 50 ปีล่วงแล้ว น้ำใส ใช้กิน ใช้อาบ นอกจากนั้นยุคที่ไม่มีถนนหนทางสะดวก ผู้คนสัญจรทางน้ำโดยมีบริการเรือยนต์รับจ้าง หากวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปสิ้นเชิง
คนที่เพิ่งล่องคลองอู่ตะเภาครั้งแรกกำลังพบความจริงบางอย่างด้วยตนเองนับจากนาทีนั้น
เรือหางยาว 25 ลำ เร่งเครื่องลั่นคุ้งน้ำตรงเข้ามาจอดเทียบหน้าท่าวัดหาดใหญ่ใน ชาวคณะต่างสวมชูชีพทยอยลงเรือ คณะผู้จัดเล่าว่าปีนี้ เรือใหญ่ไม่สามารถเดินทางได้จากสภาพลำคลองบางแห่ง ดูจากการลงเรือ นั่งเรือ ทำให้เห็นว่าผู้คนทุกวันนี้ห่างไกลวิถีนี้มากทีเดียว สิ่งที่นายท้ายเรือคอยเตือนอยู่ตลอดคือการเอามือจับขอบแคมเรืออาจถูกเรืออีกลำครูด การเดินขึ้นลง-เรือต้อง มีจังหวะ ค่อยทำทีละคน
เรือล่องตามกันมาเป็นขบวนอย่างไม่รีบร้อน คณะแตรวง กลองยาว ของนักเรียนโรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ ที่รวมตัวกันอยู่ในเรือลำหนึ่ง ทำให้บรรยากาศครึกครื้น เรียกความสนใจจากผู้คนสองฝั่งคลองได้พอสมควร คงเป็นภาพที่หาดูไม่ง่ายนัก อีกอย่างคนริมคลองไม่ค่อยหันมาดูคลองจากปรากฏการณ์ “หันหลังให้คลอง” เพราะถนนตัดมาถึงหน้าบ้าน
สมาชิกคนหนึ่งในเรือที่เรานั่งมาด้วย เปรยว่ามาอยู่หาดใหญ่ หลายสิบปี เพิ่งได้ลงคลองอู่ตะเภาครั้งแรกก็วันนี้เอง ตรงหน้าจึงเป็นอีกมุมหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพิ่งเห็นเครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า “บาม”(ยอขนาดใหญ่) เห็นการปลูกผักบุ้งในคลอง แต่พอเห็นกองขยะทำให้คุยเลยไปถึงคลองแสนแสบอันเน่าเหม็นในกรุงเทพฯโน่น
เราเองไม่เคยล่องคลองอู่ตะเภา ในจุดนี้มาก่อนเหมือนกัน แม้จะชำนาญเส้นทางบนบกอยู่พอควร แต่เมื่อมานั่งในคลอง เงยมองตลิ่งสูง กลับไม่อาจบอกได้ว่ากำลังอยู่จุดไหน อาการหลงทิศหลงทาง เกิดขึ้นกับหลายคน จนกว่าจะเห็นอาคาร สะพาน หรือสะพานเหล็กสีดำตรงรางรถไฟพาดผ่าน พอคาดเดาว่ามาถึงไหนแล้ว
นายท้ายเรือมุสลิม เบนหัวเรือเข้าส่งพี่น้องชาวพุทธ ขึ้นถวายเทียนที่วัดท่าแซเป็นจุดที่สอง เป็นท่าที่ขึ้นยากเพราะแคบและรก ตรงหน้าท่ามีรูปปั้นจระเข้ ขนาดเท่าของจริง คงจะเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงในอดีตแห่งลำคลอง แต่ยังไม่เห็นใครถามจริงจัง หมู่คณะใหญ่กำลังวุ่นวายกับการขึ้นเรือ ไปถวายเทียน ยามสายที่อากาศเริ่มร้อน
จากวัดท่าแซ ผมเปลี่ยนมานั่งเรืออีกลำตามความสะดวก เรือล่องลงมาตามลำคลองอีกครั้ง ขบวนเรือตามกันมาเป็นทิวแถวมองเห็นได้ชัดเจน อาจเป็นเพราะบางช่วงลำคลอง ไม่คดเคี้ยวมากนัก ริมฝั่งเห็น สวนยาง ขนำ ชีวิตริมคลอง เด็กโบกมือทักอย่างตื่นเต้น คนบนฝั่งบางคนแค่มองผ่าน บางคนซักผ้าเทน้ำทิ้งลงคลอง บางคนกำลังตกปลา
กองขยะขนาดใหญ่อยู่ริมคลองหลังสถานศึกษาแห่งหนึ่ง เห็นชัดว่าเป็นกล่องโฟมสีขาว ถ้าน้ำขึ้นถึงวันใดคงได้กวาดล่องลอยออกไปถึงมหาสมุทร
ถึงสามแยกคลอง เรือเลี้ยวขวาขึ้นไปตามคลองแห คลองสายรอง เพื่อเดินทางไปถวายเทียนพรรษาที่วัดคลองแหเป็นวัดที่ 3 เริ่มเห็นความแตกต่าง ว่าน้ำเน่าเสียมาก เมื่อเทียบกับคลองอู่ตะเภา ที่มองว่าคลองอู่ตะเภาสกปรก ก็เลยสะอาดขึ้นทันที แม้จะเรียกได้เพียงว่าสะอาดกว่า น้ำในคลองแหที่เขียวข้น ดงผักตบชวาขวางทางน้ำ กลิ่นเน่าเหม็น ถุงพลาสติกติดใบพัดเรือเข้าจนได้แต่นายท้ายได้แต่ยิ้มๆ ยกหางเรือขึ้นมาดู คงเจอบ่อย
ระหว่างรอการถวายเทียนพรรษาที่วัดคลองแห คณะกรรมการเครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา เล่าว่าสภาพคลองแห ที่เป็นอยู่ ดีกว่าเมื่อ 3-4 ปีก่อนเยอะ เพราะพระครูปลัดสมพร ฐานธัมโม เจ้าอาวาสนับว่าเป็นบุคคลสำคัญทางการอนุรักษ์ท่านหนึ่งของสงขลา มีกิจกรรมฟื้นฟูคลองแหขึ้นมากมาย อย่างเช่น การโยนบอลอีเอ็ม และเทน้ำหมักชีวภาพลงไปในคลองจำนวนมาก เพื่อช่วยย่อยสลายของเสียปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น
พระครูปลัดสมพรให้พรชาวคณะแล้ว ทุกคนลงเรือย้อนกลับมาเข้าคลองอู่ตะเภา อีกครั้ง แดดจัดขึ้นจนหมวกและร่ม มีความสำคัญสำหรับผู้ไม่คุ้นเคย การนั่งเรือหางยางที่ไม่มีหลังคา แต่มุ่งมั่นทำบุญครบ 9 วัดย่อมไม่มีท้อถอยอยู่แล้ว
ท่าเรือหน้าวัดนารังนกจุดถวายเทียนที่ 4 อยู่ระหว่างการปรับปรุงครั้งใหญ่ โดยการอัดหินก้อนใหญ่ ลาดไปตามตลิ่งสูง ขึ้นศาลาริมน้ำแบบมาตรฐานใกล้เสร็จ ขณะที่สะพานแขวนแบบเก่า ที่ใช้ข้ามคลองผ่านหน้าวัดผุพังจนเหลือซากพอดี ของใหม่มา ของเก่าก็จากไปเท่านั้นเอง
หลังถวายเทียนวัดนารังนก ชาวคณะลงเรืออีกครั้งเป้าหมาย วัดอู่ตะเภา เพื่อถวายเทียน พร้อมกับวัดดอน และวัดชลทานประสิทธิ พร้อมกัน เนื่องจากมีกำหนดที่จะรับประทานอาหารกลางวันที่นี่ด้วย ทุกคนจึงดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเลยกำหนดเวลาเดิมมาพอควร และแม้ว่าจะได้รับประทานของว่างเป็นวุ้นดำใส่น้ำแข็งเย็นเจี๊ยบเพื่อสู้แดด มาจากวัดนารังนกบ้างแล้ว
คณะกลองยาว จากพะตง ฯ ร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์ ที่มีเนื้อหาเชิญชวนชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์คลองอู่ตะเภา เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นคุ้งคลอง คนริมสองฝั่งมายืนดูด้วยความสนใจ เรือไม่จอดตรงท่าวัดอู่ตะเภา เพราะเลยไปไม่กี่ร้อยเมตร ชาวบ้านจัดกิจกรรมเปิดท่าเรือแห่งใหม่ในวันนี้ด้วยชื่อว่า “ท่าโอ” หลังท่าเรือคือ “สวนสืบสาน” ที่เคยรกร้าง ชุมชนใช้เป็นสถานที่ทำบุญหัวสา และทำบุญวันว่าง ช่วงเดือน 5 ภายใต้ร่มรื่นของต้นไม้ กำลังถูกปรับใช้เพื่อรื้อฟื้นวัฒนธรรม ตำบลคูเต่า
พอขึ้นจากเรือเห็นชาวบ้านมารวมตัวกันอย่างคึกคัก พิธีสงฆ์ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โนรา เพลงเรือ พร้อมสำหรับพิธีเปิดป้าย เ ชาวคณะถวายเทียนพรรษากลายเป็นแขกพิเศษ สักขีพยานสำคัญในงานนี้ โดยมีการเหยียบ(ทำ)ขนมจีน แบบโบราณเอาไว้เลี้ยงรับรอง
ชาวคณะหลายคนเข้าร่วมเหยียบขนมจีนกันแบบสดๆ รอเส้นขนมจีนสดจากโรงครัว ได้แป้งจี่ติดมือกลับมาด้วย แต่หลายคนคว้าจาน ช้อน จัดการกับที่ชาวบ้านเตรียมเอาไว้แล้วทั้งเส้น น้ำแกง ผักสด พริกขี้หนูสด แล้วแต่ชอบแบบไหน หลังตักเข้าปาก มีความเห็นตามมาว่าเส้นขนมจีน เส้นใหญ่ ใหญ่กว่าที่กินทุกวัน แต่เหนียวนุ่ม อร่อย ด้วยอาหารสูตรโบราณนี้หลายวงจึงนำสนทนา ถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นตัวเองที่จากมา ไม่ว่าอาหารการกิน สภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป
บางคนไม่ชอบขนมจีนก็กินข้าว ขนมหวานมีข้าวฟ่าง
ด.ต.นิคม ทองมุนี สจ.สงขลา เล่าว่าการเปิดสวนสืบสานและท่าโอ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในที่ฐานะที่มาของชื่อคลองอู่ตะเภา ด้วยเคยมีสำเภาจากเมืองจีนแวะผ่านมาแล้วพลัดหลงทาง เรือชำรุด มาขึ้นท่าแห่งนี้ ชาวบ้านช่วยกันซ่อมแซมจนใช้การได้ ยังมีการขุดพบซากเรือโบราณที่นี่ ก่อนหน้านี้เคยรกเรื้อด้วยพงหญ้า กอไผ่ และไทรใหญ่ แทบไม่เห็นผิวน้ำ การเปิดท่าเพื่อ รื้อฟื้นจิตวิญญาณเดิม ให้ชาวบ้านหันหน้ากลับมาหาคลองอีกครั้งหนึ่ง
ครูเปลื้อง สุขสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอน ตั้งกลุ่มฟื้นฟูเครือญาติสัมพันธ์ โรงเรียนวัดดอน ให้เด็กโรงเรียนวัดดอนจัดทำผังเครือญาติ นำมาเสนอในงานด้วย จากการทำกิจกรรมดังกล่าว พบว่าคนชุมชนล้วนแต่มีความผูกพันมาตั้งแต่อดีต แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้เหินห่างกันไป แต่จุดเริ่มต้นของสวนสืบสาน น่าจะนำสิ่งที่ดีกลับมา รวมถึงคลองอู่ตะเภา ในอนาคต
จากท่าโอ ซึ่งได้ถวายเทียนไป 7 วัด ตามความเหมาะสมของเวลา ที่หมายสุดท้ายในวันนั้นคือวัดคูเต่า ซึ่งกำหนด ถวายเทียนพรรษาให้วัดท่าเมรุ และวัดคูเต่า รวมกัน เป็นอันว่าครบ 9 วัด หลังพิธีสงฆ์มีการ ตั้งวงเสวนา “ปัญหาคลองอู่ตะเภา ที่เราได้พบเห็นเป็นเช่นไร แนวทางแก้ไข ใครจะมาช่วยเรา”นำโดย สิทธิศักดิ์ ตันมงคล ผู้ซึ่งริเริ่มกิจกรรม ถวายเทียนทางน้ำ เป็นคนแรก ปีหน้าเขาเสนอให้กลุ่มเยาวชนซึ่งมีศักยภาพมากพอสมควร เข้ามาเป็นเจ้าภาพหลักในหารจัดกิจกรรมนี้
วงสนทนา ผศ.บรรเจิด พฤฒิกิตติ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ มอ.จำกัด กล่าวว่า จากสิ่งที่เห็นเกิดขึ้นกับคลอง อยากฝากไปถึงกลุ่มเยาวชน รุ่นใหม่ ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญกับคลองอู่ตะเภาว่า ให้พวกเขาบอกผู้ใหญ่ว่า ถ้าจะเลือกนักการเมืองต้องเลือกคน ที่สนใจคลองอู่ตะเภา คนไม่รักคลองอย่าเลือก เพราะแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าเขาไม่สนใจปัญหาบ้านเมืองแท้จริง
ผศ.บรรจิดบอกว่า พบกองขยะอยู่หลายจุดริมคลอง น่าจะมีการสำรวจให้ชัดเจนและดึงหน่วยงานเกี่ยวข้องลงมาจัดการ
ครูเปลื้อง สุขสวัสดิ์ กล่าวว่า น้ำในคลองอู่ตะเภาสะอาดขึ้น เพราะมีกลุ่มต่างๆ ตั้งขึ้นตลอดลำคลอง การมีกลุ่มที่หนึ่งย่อมส่งผลให้อีกที่หนึ่งหันมาตระหนักว่า ต้องดำเนินการ เช่นเดียวกันบ้างอยู่เฉยไม่ได้ ทุกวันนี้ ครูไม่บอกกับชาวบ้านว่าคลองอู่ตะเภา เป็นคลองสาธารณะ แต่บอกว่าเป็นคลองของเรา เพื่อให้ดูแลรักษาจริงจัง ส่วนปัญหาขยะนั้นมีมานาน คนสมัยก่อนเอาไปกองทำ “มายา” (ปุ๋ย) ต้นไม้ แต่วิถีนี้หายไป ต้องคิด ทุกคนร่วมกันช่วยคลองแม้ไม่เต็ม 100% แต่ 70% คลองน่าจะดีขึ้น เขาพูดอย่างอารมณ์ขันว่าแม้ไม่มีจระเข้กลับมาเหมือนแต่ก่อน ขอให้เห็นแลน (ตะกวด) สักตัวก็ยังดี
นักวิชาการจาก มอ. ท่านหนึ่งบอกว่า เมื่อบ้านหันหลังให้คลองก็ไม่แปลกใจที่คนจะทิ้งขยะลง เพราะขยะทิ้งหลังบ้าน เห็นสภาพคลองแห รู้สึกว่าเน่าเหม็นทั้งที่มีคนบอกว่าดีขึ้นเยอะแล้ว ขยะก็ลดลงเยอะหลังน้ำท่วมใหญ่ผ่านมาหลายปี ส่วนถ้าจะส่งเสริมการทำตลาดน้ำในคลองแห่งนี้ต้องปรับปรุงมาก เช่นเรื่องขยะริมคลอง การใช้สารเคมี การปลูกพืช อย่างผักบุ้ง ผักกะเฉด ถ้าคนมาเห็นของจริงอาจไม่กล้าซื้อไปกิน ผักสะสมเชื้อโรค และสารเคมี
ตัวแทนจากชมรมสะเดาขรรค์ชัยรักษ์สิ่งแวดล้อม นำเสนอว่า น่าจะมีการรณรงค์จิตสำนึก เรื่องขยะ สิ่งที่เห็นชัดคลองแหขยะมาก มีโรงเชือดไก่ ริมคลอง อีกด้วย
แม้คุยกันหลายทาง หากทิ้งประเด็นเอาไว้ ให้คิคต่อ ทำต่ออีกมากมายสำหรับคลองอู่ตะเภา ระหว่างนั่งรถยนต์เดินทางกลับ หลายคนนั่งคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาตลอดทั้งวัน นับว่าเป็นบุญที่ได้มาร่วม.
Relate topics
- เปิดฝายคลองแห บทบาทร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก”
- สัจจธรรมก้าวสู่สงขลาพอเพียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ยั่งยืน ด้วยสัญญาใจ
- สมัชชาออนแอร์ พื้นที่ความคิดทะลุความจริง
- การจัดการข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์อันตกแก่ผู้มีส่วนร่วม
- ละครเวที4+1 จากตำนานชุมชน โยงยุคปัญหาใหม่
- ขอเชิญร่วมงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา และสานรักครอบครัวครั้งที่ 3
- มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
- ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น
- กระแสขานรับอาหารปลอดภัย รัศมีกระเพื่อมสวนวิกฤติสุขภาพ
- ผู้สูงอายุแข็งแรง พาชุมชนเข้มแข็ง