สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เคลือบ ไชยธาดา หมอภูมิปัญญา "เรียกกระดูก"

by kai @10 มี.ค. 51 23:18 ( IP : 222...224 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 221x166 pixel , 11,572 bytes.

ซอยแคบลดเลี้ยวซับซ้อนก่อนถึงบ้านเลขที่ 145 หมู่ 2 บ้านน้ำกระจาย ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา

ถึงจะหายากสักหน่อยแต่บ้านหลังนี้ไม่เคยว่างเว้นเดินทางเข้าออกของผู้คน ที่มาพร้อมไม้ค้ำยันรักแร้ ญาติมิตรหิ้วปีกพยุง กระทั่งหาม กันมาเพื่อรักษาอาการกระดูกหักกับหมอภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่รู้จักด้วยการแนะนำกันปากต่อปาก มากว่าสามทศวรรษ

"รักษากระดูกหักทุกอย่างแต่อกหักรักษาไม่ได้"
หมอเคลือบ ไชยธาดา วัย 74 ปี กล่าวทีเล่นทีจริงทักทายเรา  แกนั่งอยู่บนศาลาไม้หลังคามุงกระเบื้องลอน ปลูกอยู่ข้างเรือนทรงทันสมัย

ใต้ป้ายเล็กๆข้อความ "หยุดวันอาทิตย์" ปากว่าแต่มือยังคงทำงานบีบนวดข้อเท้าหญิงชราผู้หนึ่ง  คนป่วยคิวต่อไปมานั่งรออยู่ใกล้ๆ ลมพัดโกรกเย็นสบายผ่านศาลาโล่ง  คนนำส่งผู้ป่วยกระดูกทั้งหลายนั่งรอ ยืนรอ เดินรอ ตามอัธยาศัย

หมอเคลือบทำการรักษาพร้อมเล่าไปว่าเริ่มรับต่อกระดูกมาตั้งแต่อายุ 40ปี  วิชาร่ำเรียนมาจากบรรพบุรุษที่สืบทอดมากว่า 900 ปี  รุ่น ปู่ ย่า ตา ทวด เท่าที่ทราบเป็นหมอประจำชุมชนมาตลอด

"ผมแลเขาทำ พ่อเป็นคนสอนผม เป็นคนเดียวในพี่น้องที่รับวิชามาจากพ่อ ตอนแรกผมไม่ชอบเรียนหรอก กลัวพ่อว่า แต่ว่ารุ่นลูกผมก็ไม่มี .. อาจจะมีลูกอยู่สักคนที่พอทำได้"

แกเริ่มรักษาคนกระดูกหักนับแต่นั้นมา การเป็นหมอกระดูกพื้นบ้านไม่มีรายได้อะไร ค่ายกครู 112 บาท กับค่าบีบนวดที่ผู้ป่วยอาจช่วยบ้างตามกำลังศรัทธาอีกเล็กน้อย  แต่ต้องดูแลกันยาวจนหายเป็นปกติ  ทำเพราะเมตตาต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ครั้งโบราณเป็นที่ตั้ง

หมอเคลือบเล่าว่าจะรับรักษาเฉพาะการต่อกระดูกเท่านั้น อย่างอื่นไม่มีความชำนาญก็จะปฏิเสธ อย่างที่เราเห็นในวันนั้นมีหญิงวัยชรา ที่ญาตินำมาส่งพร้อมผ้าคล้องแขน  หลังจากพูดคุยกันหมอเคลือบเห็นว่าน่าจะเกี่ยวกับอาการอัมพฤกษ์ ได้แนะนำด้วยดีให้ไปหาหมอนวดเส้นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งแถวเกาะยอ

ถ้ากระดูกหักแสดงว่ามาถูกที่แล้ว  คนจำนวนมากเดินทางมาที่นี่ตามเสียงร่ำลือ ส่วนมากอยู่ในจังหวัดสงขลา มาไกลจากที่อื่นอย่างระนองก็มีมาเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ เพื่อสะดวก

"บางคนไปโรงพยาบาลมาแล้ว กลับมาหาผม  บางคนรีบมาเลยอย่างรถชนก็พามาแต่ผมรักษาเฉพาะกระดูกเรื่องบาดแผลอะไรนี่ ผมทำไม่เป็น  และอย่างอุบัติเหตุรถชนต้องให้คู่กรณีอะไรตกลงกันให้ได้เสียก่อน" หมอเคลือบเล่าในกลิ่นอวลน้ำมันมะพร้าว  สมุนไพรชนิดเดียวที่มีส่วนในการรักษาแบบนี้

อุปกรณ์อย่างอื่นเป็นเฝือกไม้ไผ่  แต่เราไม่เห็นในผู้ป่วยที่กำลังจะหายในวันนั้น

ยังมีหมอนเอาไว้รองอวัยวะบาดเจ็บตอนลงน้ำมันบีบนวด  เป็นหมอนยัดผ้าขี้ริ้ว ปลอกถุงกรอบแกรบ ป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันดูเหมือนไม่สลักสำคัญอะไรนัก

"มันเป็นไสย ไม่ใช่วิทย์" หมอเคลือบเล่า ครั้งหนึ่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยเชิญไปคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรากฏว่าไม่สามารถเชื่อมต่อแนวคิดกันได้

กระบวนการรักษา การมาพบหมอครั้งแรกผู้ป่วยกระดูกหัก นำขันดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู  และค่ายกครูมาพร้อม

เริ่มต้นด้วยพิธีเรียกกระดูก หมอเคลือบบอกว่าอาจทำให้ผู้ป่วยเจ็บและสั่นเหมือนเข้าทรง  หรือมีเหตุการณ์แปลกประหลาดที่จู่ๆ เกิดทั้งลมและฝน ในระหว่างนั้นก็มี ตามวิธีแบบนี้เชื่อว่าหลังกระดูกหัก แตก มันได้เพ่นพ่านกระจัดกระจายออกไป การเรียกกระดูกเหล่านั้นกลับมาเข้าที่ เศษกระดูกอาจต้องวิ่งผ่านเนื้อหนัง เกิดการเสียดสี กินเนื้อ ทำให้เจ็บ

หลังจากเรียกกระดูกแล้วจึงจะพิจารณาเข้าเฝือก ที่ทำจากไม้ไผ่เหลาซี่เล็ก  ร้อยเชือกด้ายดิบ  ใช้ได้ดีไม่คันไม่อับเหมือนเฝือกยุคใหม่

การทำเฝือกจะต้องมีการว่าคาถาปลุกเสก  หมอเคลือบต้องทำกลางคืนที่สงัด เพราะจะต้องทำพิธีให้เสร็จในรวดเดียวห้ามมีใครเรียก จะทำให้เสียพิธี  ครั้งหนึ่งอาจปลุกเสกได้หลายชุด  การนำไปใช้ดูจากอาการ และขนาดของอวัยวะที่ปรับเปลี่ยนได้ สำหรับด้ายดิบที่นำมาร้อยไม้ไผ่  ต้องผ่านพิธีมาเหมือนกัน  เพราะถือว่าจะเป็นตัวผูกกระดูกให้ติดกัน

น้ำมันมะพร้าว ที่ใช้ในการบีบนวด ใส่ขวดวางอยู่ใกล้ตัว ถูกแตะขึ้นมาบีบนวดให้คนแล้วคนเล่านั้นแกเล่าว่า เป็นน้ำมันมะพร้าว ที่ไม่ได้ผสมอะไรเลย เพียงแต่ผ่านการปลุกเสก

"ผมไม่ต้องหาเอง คนที่มารักษาจะเอามาให้เป็นขวดๆ  ผมปลุกเสกเสร็จนำมาใช้ได้"

น้ำมันมะพร้าวที่ผ่านการปลุกเสกแล้วนำมาใช้รวมกันทุกคน  ที่นัดมาติดตามอาการ  บีบนวดน้ำมัน  เพื่อกระดูกสมานเข้าที่เดิม อย่างไม่บิดเบี้ยว  หมอเคลือบบอกว่าผลการรักษา กระดูกจะติดกันแน่นและตรง

เท่าที่เราสังเกตช่วงต้นของการบีบนวดจะมีการบริกรรมคาถากำกับ หลังจากนั้นจะใช้เวลาบีบนวดตรงตำแหน่งบาดเจ็บอีกราว 20 นาที  เป็นอันเสร็จ คนป่วยยกมือไหว้หมอเดินทางกลับบ้าน รอมาอีกครั้งตามนัด

หมอเคลือบเล่าว่ากระดูกจะกลับมาติดกันภายใน 19 วัน  จะถอดเฝือกออกได้  และประมาณ 45 วันคนจะกลับมาเป็นปกติดังเดิม รายแข้งขาหัก ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้เท้าหรือไม้ค้ำยันรักแร้อีก

"คนที่มาหา เกิดจากรถชนมากที่สุด  รายหนึ่งเป็นหญิงอายุราว 25-30 ปี ถูกรถมอเตอร์ไซด์เหินข้ามเกาะกลางอีกฟากมาชนหักทั้งแข้งขาแขนก็ 12 ท่อน  อาการหนัก แต่พอครบ 45 วันก็หายเหมือนเดิม จนไปแต่งงานแล้ว  มันจะเจ็บเฉพาะตอนแรก ตอนเรียกกระดูก นั้นแหละ พอเข้าเฝือกก็ไม่เจ็บแล้ว  แต่ผมรักษากระดูกนะ บาดแผลต้องไปทำที่โรงพยาบาล ผมทำไม่ได้ ถ้าเกินความสามารถรับไม่ได้"

มีรายหนึ่งเป็นฝรั่ง บอกว่าทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เขาแขนหักมารักษาตามนัดจนหาย เขาสนใจมากจนต้องการจะถ่ายวิดีโอกลับส่งกลับไปให้เพื่อนที่ต่างประเทศดู

ระหว่างการรักษาบางอย่างอยู่เหนือคำอธิบาย อย่างเช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งนอนกลางคืนได้ยินเสียงการจัดกระดูกเองโดยไม่มีอาการเจ็บปวด เมื่อมาเล่าหมอเคลือบ แกคิดว่าอาจจะเป็นครูมาช่วยรักษา

หลังจากหายเป็นปกติ สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยต้องกระทำร่วมกันในแต่ละปี คือจะต้องเข้าร่วมพิธีไหว้ครู ในพฤหัสบดีที่สองของเดือน 6 หรือเดือนพฤษภาคม ในวันนั้นจะมีคนเดินทางพาข้าวปลาอาหาร ของไหว้มาร่วมจำนวนมาก

ทุกวันนี้มีผู้ป่วยมาติดตามอาการอย่างน้อย 9-10 คน ต้องดูแลหมอเคลือบจึงแทบไปไหนไกลไม่ได้ ต้องนั่งคอยอยู่ที่บ้าน ถ้ามีเหตุจำเป็นจริงๆต้องบอกเขาก่อนล่วงหน้า แต่ละปีหมอเคลือบบอกว่ารักษาราว 300 คน  แต่ถ้านับคนไข้ที่ผ่านการช่วยเหลือหมอภูมิปัญญาพื้นบ้านรายนี้บอกว่าอาจถึงหลักแสน

กองเถ้าถ่านหลังศาลา ใกล้กับห้องน้ำ เป็นที่ เคยเผาเฝือก ของคนที่หายมาแล้วนับไม่ถ้วน

"ถ้าผมไปทำบีบนวดอย่างอื่นผมจะมีรายได้มาก บางทีครอบครัวผมก็ว่าเหมือนกัน แต่ผมรักษาเพราะเมตตา ทำให้ครู ช่วยเหลือมีเมตตากับเขา ก็ได้บุญ  ผมเองไม่รู้จะอยู่ได้นานอีกสัก 10 ปีหรือเปล่า" หมอเคลือบเล่า  ตัวแกเองรักษาคนอื่น แต่มีโรคหัวใจ และเบาหวาน ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเหมือนกัน  และเคยเจ็บหนักถึงใกล้ตายมาแล้ว หนึ่งหรือสองครั้งในชีวิต
ระหว่างการสนทนา มีผู้ขับรถผ่านซอยแคบเข้ามาหาอยู่เรื่อยๆ ผู้มารักษาอาการแบบต่อเนื่องรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไร  อย่างชายหนุ่มทำงานเรือน้ำมัน ประสบเหตุรถชนขาหัก  นั่งมอเตอร์ไซด์มากับพร้อมไม้ค้ำยัน ถึงคิวว่างพอดี  เขาขึ้นนั่งศาลายกขาที่เคยหักวางบนหมอน หมอเอาน้ำมันลูบ บริกรรม ทุกอย่างเป็นไปแบบอัตโนมัติ

คณะหนึ่ง อดีตผู้ป่วยที่หายแล้วพาผู้ป่วยรายใหม่มา เขาถูกใส่เฝือกมาจากโรงพยาบาลแล้ว มาขอให้ตัดเฝือกเพื่อเริ่มรักษาแบบหมอเคลือบ  แต่แกขอให้มาเริ่มวันหลัง เพราะกำลังจะถึงวันทำบุญตรุษจีนที่อาจต้องหยุดทำบุญ  สำหรับเฝือกปูนปาสเตอร์ให้ไปตัดเองมาก็ได้ เพื่อความรวดเร็ว

เตือนใจ  ดาราพัฒน์ วัย 70 ปี อยู่แถวแหลมโพธิ์  มารักษากับหมอเคลือบ เพราะเดินตกหลุมจนเท้าแพลง  ข้อเท้าเคลื่อน ไปโรงพยาบาลเอกเรย์แล้วพบว่าไม่มีอาการกระดูกแตกหรือหัก  แต่รักษาไม่หาย กระทั่งคนข้างบ้านที่รถชนมารักษากับหมอเคลือบ จึงตามมารักษาบ้างพบว่าหลังจากนวดน้ำมันต่อเนื่อง 5 วันอาการดีขึ้นมาก
"ฉันข้อเท้านี่พลิกบ่อย  พอไปรักษาที่โรงพยาบาลกลับมา อาการเหมือนเดิม ยอมรับว่าพอมาที่นี่ดีขึ้นมาก" เตือนใจเล่า  เชื่อว่าที่หายเพราะการนวดน้ำมัน และการใช้คาถา เวทมนต์ของหมอระหว่างการนวด  ที่มีการบริกรรมคาถาไปด้วย ส่วนตัวเชื่อเรื่องแบบนี้เพราะเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลจริงตามแบบคนโบราณ

อาทิตย์ จิตต์โสภา  อายุ 48 ปี เป็นคนทุ่งหวัง เล่าว่าคนทุ่งหวังโดยเฉพาะวัยรุ่นล้มรถกว่าครึ่งมาใช้บริการหมอเคลือบ    สำหรับตัวเขาเอง ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ อาการหนักเฉียดตาย  สลบไปหลายวันกว่ารู้สึกตัว มีเลือดคั่งในสมอง และบาดแผลตามตัว นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลา 15 วัน รักษาอาการต่างๆ โดยที่แพทย์เจ้าของไข้ไม่รู้ว่ากระดูกไหปลาร้าหัก  จนกระทั่งไปเอกซเรย์ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์จึงรู้สาเหตุที่ยกแขนไม่ขึ้น แต่กว่าจะถึงคิวนัดให้ไปรักษาก็อีกหลายสัปดาห์จึงมาหาหมอเคลือบ ใช้เวลา 8 วัน ก็ยกมือขึ้นได้ ใกล้เป็นปกติ
"ที่จริงแล้วแค่มานวดน้ำมัน 1-2 มื้อ มือทำงานได้เลย ถ้าไปโรงพยาบาลคิดว่าอีกนาน แล้วเขาให้เลือกสองอย่างคือผ่ากับดาม " อาทิตย์เล่า และว่ากรณีกระดูกไหปลาร้าหัก สำหรับที่นี่ไม่ต้องใส่เฝือก และตอนหมอเคลือบบีบนวดก็ไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด
ประเสริฐ  รักษ์วงศ์แกนนำแผนสุขภาพสงขลา ประเด็นวัฒนธรรม  กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่ว่าโลกจะเจริญขึ้นไปอย่างไร แต่วิถีชีวิต เชิงวัฒนธรรมจะยังคงอยู่  อาจเปรียบเหมือนจุดพลุ ขึ้นสูงสุดแล้วกก็กลับลงมาข้างล่าง

"เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่  แต่คนยังเห็นว่าของดีแบบเดิมยังใช้ได้อยู่อีก เขาก็จะกลับมาใช้ กรณีนี้ถ้าไม่ดีจริง เขาคงไม่ตัดเฝือกโรงพยาบาลออกแล้วกลับมารักษากับหมอพื้นบ้านไทย"

ประเสริฐมองว่าความนิยมกรณีนี้ เกิดจากความเรียบง่าย  ไปโรงพยาบาลเต็มไปด้วยวิธีขบวนการยุ่งยาก ไม่ว่า ทำทะเบียนประวัติ  การรอคิวนานเพราะคนไข้มาก  การนอนโรงพยาบาล  คนป่วยเองก็มีความเครียดเป็นทุนอยู่แล้ว บางอย่างคนไข้รับไม่ได้เช่น การที่แพทย์เสนอเงื่อนไขให้ต้องตัดสินใจว่าต้องผ่าตัด ต้องตัดขา  แต่สำหรับที่นี่มีคำตอบอยู่แล้วว่าได้หรือไม่ได้  โดยการเรียกกระดูก ทาน้ำมัน  ขั้นตอนการรักษาก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร  สอดคล้องมากกว่า เห็นได้จากเฝือกโรงพยาบาลที่ร้อนอบอ้าว แต่เฝือกไม้ไผ่โปร่งสบายกว่าเยอะ ถ้าเป็นไม่มาก ไม่จำเป็นต้องเข้าเฝือกก็หาย

"ความเชื่อก็มีส่วนในเรื่องนี้ ยิ่งมีความยึดมั่น ศรัทธา เป็นแรงบันดาลใจ มั่นใจ  ยิ่งคิดในเชิงบวกก็ทำให้หายเร็ว ขึ้นอีก"

Relate topics

Comment #1
โอ (Not Member)
Posted @6 มี.ค. 53 15:03 ip : 64...172

หมอยังดูหนุ่มอยู่เลยครับ

Comment #2หมอเทวดาบ้านน้ำกระจาย
ชัย (Not Member)
Posted @20 มี.ค. 55 15:33 ip : 118...95

ภรรยาผมหักบริเวณข้อมือ เข้าเฝือกโรงบาล เดือนหนึ่งมาหาหมอเคลือบแก้เฝือกออก ผลแขนคด มีความรู้สึกชา แถมบิดงอไปผิดรูป หมอเคลือบนวดประมาณเดือนหายเป็นปกติ แล้วมีหลานสาวผมสิบเก้าปี กระโดดข้ามเรือตกเรือ กระดูกเชิงกรานแตกทั้งสองข้าง ร.พ.ให้นอนพัก เคลื่อนไหวไม่ได้ร้องครางตลอดเวลา ช่วยกันหามให้นอนบนท้ายรถกระบะ พาหาหมอเคลือบนอนให้นวดบนท้ายรถกระบะ เหลือเชื่อสี่วันนั่งได้แล้ว เทวดาจริงๆ หมอเทวดานั่งรอคนป่วยแต่เช้าจนเย็นหยุดอาทิตย์ ถ้าไม่ใช่เทวดาก็ไม่รู้ว่ายังไงแล้ว แถมไม่เรียกร้องใดทั้งสิ้น

Comment #3
Posted @21 มี.ค. 55 23:17 ip : 122...123

เรื่องกระดูก ต้องยอมรับเลยว่าหมอภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้กันต่อ ๆ มานั้นรักษาได้ดีจริง ๆ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว