สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 70 : การรถไฟแห่งประเทศเบลเยียม

photo  , 960x720 pixel , 189,358 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ประเทศทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยแบบเบลเยียมนั้น ระบบต่างๆเดินด้วยระบบเอกชนเกือบทั้งสิ้น โรงเรียนกับโรงพยาบาลนั้นเกือบทั้งหมดดำเนินการโดยระบบเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ส่วนไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ก๊าซ น้ำมัน ล้วนเป็นของบริษัทเอกชนที่แสวงหากำไรแบบทุนนิยม แต่ได้รับการควบคุมกำกับอย่างเข้มจากรัฐบาล สิ่งที่น่าสนใจคือ แล้วระบบขนส่งมวลชนหลัก 3 ระบบคือ การรถไฟ รถรางหรือรถไฟใต้ดิน และรถบัสโดยสารนั้น ใครเป็นเจ้าของ รัฐหรือเอกชน?

เขาคุยว่าเบลเยียมมีระบบรางที่หนาแน่นที่สุดแห่งของโลก และเป็นไม่กี่ประเทศที่มีอุโมงค์รถไฟขุดทะลวงผ่าเมืองหลวง เชื่อมสถานีทางทิศเหนือกับทิศใต้เข้าด้วยกันตั้งแต่ก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ต้องแลกกับการเวนคืนและทำลายอาคารเก่าที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมจำนวนมาก เพราะในสมัยนั้นไม่มีเทคโนโลยีการขุดอุโมงค์ขนาดใหญ่ จึงต้องเปิดหน้าดินเพื่อทำอุโมงค์ใต้ดินขนาด 6 ช่องรางรถไฟผ่ากลางกรุงบรัสเซลส์ รถไฟที่นี่ไปถึงทุกเมืองใหญ่ ผู้คนใช้รถไฟเดินทางระหว่างเมือง ลงรถไฟก็ต่อรถรางรถไฟใต้ดินหรือรถบัสต่อไปในเมืองหรือชานเมืองหรือหมู่บ้านต่างๆต่อไป

การรถไฟแห่งประเทศเบลเยียมยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ และเขาไม่มีแนวคิดแม้แต่น้อยที่จะขายหุ้นหรือแปลงให้เป็นเอกชน เพราะระบบขนส่งมวลชนคือเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ราคาขนส่งมวลชนที่นี่หากเทียบกับเงินเดือนแล้วก็ถือว่าไม่แพงนัก เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุขึ้นฟรี คนจน นักเรียนมีส่วนลด 50% มีขบวนรถบริการสังคมที่น่าไม่ทำกำไรวิ่งจอดตามสถานีเล็กๆ สิ่งเหล่านี้คือคุณค่าแบบสังคมนิยมที่ซุกซ่อนเป็นปรัชญาค่านิยมควบคู่ระบบทุนนิยมของประเทศนี้

ทรัพย์สินในระบบราง ที่ดิน และสถานีรถไฟที่เป็นทั้งพื้นที่เชื่อมต่อเส้นทางและการค้าขายนั้น คิดเป็นสินทรัพย์มหาศาลที่บรรพบุรุษลงแรงลงทุนด้วยภาษีประชาชนจำนวนมหาศาลมาอย่างต่อเนื่อง การขายหรือแปลงทุกอย่างให้เป็นเอกชนจึงไม่ใช่คำตอบ แต่การเป็นรัฐวิสาหกิจก็สามารถมีธรรมรัฐและมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพได้ ด้วยการกำกับของรัฐและการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ รัฐอย่างรัฐไทยที่จ้องจะแปลงทุกอย่างให้เป็นระบบเอกชนด้วยข้ออ้างเรื่องประสิทธิภาพนั้น จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป บริการสาธารณะไม่ควรมีไว้เพื่อการทำกำไร แต่เพื่อการบริการสังคม

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว