สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 60 : สิทธิในการตายอย่างสงบ

photo  , 640x480 pixel , 23,661 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

เบลเยียมเข้าสู้สังคมชราภาพอย่างเต็มตัว ในปีคศ. 2009 ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีมีถึง 17% และจะเป็น 25%ในปีคศ. 2040 สิทธิในการตายอย่างสงบจึงสำคัญ และมีกฎหมายรับรองสิทธิการตายอย่างสงบตั้งแต่ปี คศ.2002

สิทธิในการตายอย่างสงบนั้นมี 2 ลักษณะที่แตกต่างกัน สิทธิอย่างแรกคือสิทธิในการไม่ขอรับการรักษาทางการแพทย์ต่อไปเมื่อสิ้นสติสัมปชัญญะ เช่นไม่ขอใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ขอให้แพทย์ยื้อชีวิตในวาระสุดท้ายของชีวิต แต่เนื่องจากในช่วงเวลานั้นผู้ป่วยมักจะไม่มีสติพอที่จะแสดงเจตจำนงนี้ได้ การแสดงเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น สิทธิการตายอย่างแรกนี้เข้าใจได้และเป็นที่ยอมรับกันในสังคม สิทธิอย่างที่สองคือสิทธิของผู้ป่วยระยะท้ายๆของชีวิตที่ไม่มีทางรักษาหายหรือมีความทุกข์ทรมานจากโรคนั้นๆสามารถเลือกว่าตนเองจะขออยู่ต่อไปหรือขอตายอย่างสงบได้ หรือภาษาการแพทย์เรียกว่า ยูธานาเซีย (euthanasia) หากผู้ป่วยไดลงบันทึกแสดงเจตจำนงไว้ เมื่อผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวและทนทุกข์ทรมานอีกทั้งรักษาไม่หาย แพทย์ก็สามารถให้ยาให้ผู้ป่วยหลับไปนิจนิรันดร์ได้ ซึ่งกฎหมายของเบลเยียมนั้นรับรองสิทธิในการตายอย่างสงบในทั้งสองลักษณะ เพราะถือเป็นสิทธิของเสรีชนในการกำหนดช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตตน

กฎหมายมีความละเอียดในเรื่องนี้อย่างมาก เช่นต้องแสดงเจตจำนงตามแบบฟอร์มที่รัฐกำหนดในกฎหมายเท่านั้น ต้องมีพยานสองคนและหนึ่งในนั้นต้องไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากผู้แสดงเจตจำนง เอกสารนั้นมีอายุเพียง 5 ปี เมื่อครบ 5 ปีก็ต้องมีการแสดงเจตจำนงใหม่ เป็นต้น แพทย์และผู้สูงอายุที่นี่มีทัศนคติที่ดีต่อสิทธิในการตายอย่างสงบมากกว่าที่ผมคิด มาตรา 12ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ของไทยได้รับรองสิทธิในการแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตไว้ และได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ พ.ศ. 2553 มีผลใช้บังคับเมื่อ 12 พฤษภาคม 2554 แต่ก็ยังต้องทำความเข้าใจในวงการแพทย์อีกมาก สิทธิในไทยเป็นเพียงสิทธิที่จะไม่ขอรับการรักษาที่ยืดการตาย แต่ไม่ได้ก้าวไปถึงสิทธิในการเลือกที่จะอยู่หรือตายเฉกเช่นในเบลเยียม

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว