สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เรื่องเล่าจากเบลเยียม 59 : ว่าด้วยการทำแท้ง

photo  , 640x480 pixel , 107,983 bytes.

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

เบลเยียมเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ที่เคร่งครัดและต่อต้านการทำแท้ง มีการถกเถียงในสังคมยาวนาน มีกลุ่มสิทธิสตรีที่รณรงค์อย่างต่อเนื่องจนในที่สุดในปี คศ.1990 เบลเยียมได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายสำหรับครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์หรือสามเดือน แต่หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์จะอนุญาตเฉพาะกรณีการตั้งครรภ์นั้นมีผลต่อสุขภาพของแม่หรือผลการตรวจพบว่าทารกในครรภ์มีความพิการหรือมีโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ นั่นหมายความว่า หากมีการตั้งครรภ์และไปตรวจที่โรงพยาบาลหากยังไม่ครบสามเดือน ก็เป็นสิทธิของหญิงคนนั้นที่จะสามารถขอทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือหากประสงค์ตั้งครรภ์ต่อไปแล้วปรากฏว่าต่อมาพบว่าการตั้งครรภ์นั้นมีอันตรายต่อแม่เช่นเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรง หรือไปตรวจอัลตราซาวด์พบว่าเด็กในครรภ์พิการหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมเช่นดาวน์ซินโดรม หรือโรคที่รักษาไม่หายเช่นท่อน้ำดีในตับอุดตัน ก็สามารถบอกหมอขอทำแท้งได้แม้อายุครรภ์มากกว่าสามเดือน

การอนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างเกือบจะเสรีในเบลเยียม โลกตะวันตกและโลกสังคมนิยมเช่นจีน เวียดนาม คิวบาก็ด้วยสองกรอบคิดสำคัญคือ การเคารพสิทธิของสตรีที่ตั้งครรภ์ในการกำหนดอนาคตของตนเอง แต่ต้องก่อนอายุครรภ์สามเดือน และหากปิดกั้นการทำแท้งที่ถูกกฎหมายก็จะมีการทำแท้งเถื่อนมากมายยากที่จะควบคุมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของแม่มากกว่ามาก แต่ก็มีเพียง 25% ของประเทศในโลกนั้นที่ยอมรับการทำแท้งเสรี ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา ก็ยังคงห้ามหรืออนุญาตเฉพาะกรณีที่มีผลต่อสุขภาพของแม่เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้

เหรียญมีสองด้านเสมอ ความเป็นจริงอันซับซ้อนบนโลกใบนี้ก็เช่นเดียวกัน ทุกสิ่งมีข้อดีย่อมต้องมีข้อเสีย แค่ไหนคือความพอดี การพูดคุยสานสนทนา (dialogue) เท่านั้นที่จะนำมาซึ่งคำตอบที่ดีที่สุดต่อสังคมไทย

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว