สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

จาก “คำประกาศสมิหลา” สู่สมัชชาสุขภาพตำบลปริก

by jaruek @24 ก.ค. 52 09:28 ( IP : 203...2 ) | Tags : สมัชชาสุขภาพ , สงขลา

“นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้”

หลายคนที่ได้อ่านข้อความข้างต้นแล้ว นึกออกทันทีว่า นั่นคือ คำขวัญประจำจังหวัดๆ หนึ่งในแถบภาคใต้ตอนล่าง  หรือ ถ้าใครยังคิดไม่ออก ก็ขอเฉลยเลยแล้วกันนะครับ ว่า เป็นคำขวัญประจำจังหวัดสงขลา พื้นที่ท่องเที่ยวและแหล่งเศรษฐกิจแดนใต้

ย้อนกลับมาดูคำจั่วหัวที่ผมเขียนไว้ว่า “จาก “คำประกาศสมิหลา” สู่สมัชชาสุขภาพตำบลปริก” ทำไมถึงต้องจั่วหัวอย่างนั้น คำตอบคือ ผมต้องการสื่อความสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ “คำประกาศสมิหลา” ส่วนหนึ่ง คือ “สมัชชาสุขภาพตำบลปริก”  แล้วทั้งสองส่วนจะมีความข้องเกี่ยวกันอย่างไร?

คำประกาศสมิหลา เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง “ท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพด้วยแผนพัฒนาสุขภาพตำบล” หรือที่คนสงขลาเรียกว่า “คำประกาศสมิหลา” นั่นเอง เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา ปี ๒๕๕๑

ถึงวันนี้ สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาไม่ได้จบลงแค่ข้อเสนอเชิงนโยบาย หรือ “คำประกาศสมิหลา” แต่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ โดยข้อเสนอที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือ ข้อเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

๑) การดำเนินการบริหารจัดการพัฒนา “ระบบสุขภาพ” ชุมชนให้เป็นวาระของชุมชน ข้อ ข) จัดให้มีกระบวนการสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจร่วมกันอย่างถูกต้องในการกําหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ อย่างน้อย ๔ ภาคส่วน ประกอบด้วยภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคราชการและภาคการเมืองท้องถิ่น บนพื้นฐานของข้อมูล ความจริงในพื้นที่ ทั้งนี้การจัดสมัชชาสุขภาพจะต้องมีการดําเนินการอย่างเป็นระบบ อย่างน้อย ปีละ ๑ ครั้ง

๒) มีบทบาทในการใช้ข้อมูลและทำแผนพัฒนาสุขภาพอย่างเป็นระบบ  ข้อ ก) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนํานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพมาจัดทําแผนพัฒนาสุขภาพ เพื่อการจัดการระบบสุขภาพตามศักยภาพขององค์กรท้องถิ่น มีการติดตามประเมินผลและนำเสนอผลการดำเนินงานแก่ชุมชนอย่างน้อย ปีละ ๑ ครั้ง และ ข้อ ข. ร่วมกับภาคีภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคสังคม ร่วมจัดการข้อมูลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)จัดทําข้อมูลสุขภาพชุมชนและประเมินผลกระทบทางสุขภาพในชุมชน อย่างน้อย ปีละ ๑ ครั้ง ในส่วนของอสม.ให้มีสมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขสงขลาเป็นแกน และนําผลการดําเนินงานมาตัดสินใจเพื่อกําหนดเป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพ

สมัชชาสุขภาพตำบลปริก  ตำบลปริกเป็นหนึ่งใน ๑๐ พื้นที่เป้าหมาย จากพื้นที่ อปท. ๑๔๐ แห่ง ในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายจากสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาสู่การปฏิบัติจริง กระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพตำบลปริก แม้วันนี้จะเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นทำความเข้าใจกระบวนการสมัชชาสุขภาพกับผู้เกี่ยวข้อง และการจัดทัพคณะทำงานสมัชชาสุขภาพตำบล เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนงานต่อไป การจัดสมัชชาสุขภาพตำบลปริกจึงเป็นเพียงก้าวแรก ส่วนผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นอย่างไร จะต้องใช้เวลาอีกสักระยะถึงจะเห็นผล

อย่างไรก็ตาม ก้าวย่างของการจัดสมัชชาสุขภาพตำบลปริก เป็นก้าวย่างของ “การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพของชุมชน โดยชุมชน” ครั้งสำคัญ เป็นก้าวย่างของ “การรับข้อเสนอเชิงนโยบายจากสมัชชาสุขภาพจังหวัดสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่” และเป็น “ก้าวย่างของการเคลื่อนตัวสร้างสุขภาวะในระดับท้องถิ่น” ที่น่าจับตามอง

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว