สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สมัชชาสุขภาพกับกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

by jaruek @21 ก.ค. 52 20:44 ( IP : 203...2 ) | Tags : สมัชชาสุขภาพ

หากพิจารณาถึงบทบาทของสมัชชาสุขภาพกับกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพภายใต้กรอบคิดและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่า ปัจจุบันกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับสมัชชาสุขภาพในระดับต่างๆ มีมุมมองและความเข้าใจที่แตกต่างกันต่อบทบาทและแนวทางของสมัชชาสุขภาพ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความแตกต่างกันของฐานคิดและการให้ความหมายต่อ “สมัชชาสุขภาพ” ซึ่งเป็นผลมาจากความต่างกันของพื้นหลังทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา รวมถึงพื้นฐานและประสบการณ์การทำงานของแต่ละคนในช่วงที่ผ่านมา หากพิจารณาถึงแนวคิดในการจัดสมัชชาสุขภาพและบทบาทที่มีต่อกระบวนนโยบายสาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่าอาจแบ่งออกได้เป็น 3 มุมมองหลัก คือ

มุมมองที่ 1 สมัชชาสุขภาพมีฐานะเป็น “พื้นที่สาธารณะเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของภาคส่วนต่างๆในสังคม”

มุมมองนี้ได้รับอิทธิพลมาจากคำนิยามของสมัชชาสุขภาพในร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่ว่า “สมัชชาสุขภาพคือกระบวนการจัดประชุมที่ให้ทุกฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างใช้ปัญญาและสมานฉันท์ ฯ” ทำให้เข้าใจว่า “สมัชชาสุขภาพ” ว่าเป็น “เวที” หรือ “พื้นที่สาธารณะ” สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ในสังคม ได้มาพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และค้นหาทางออกร่วมกันอย่างใช้ปัญญาและสมานฉันท์ ในประเด็นปัญหาร่วมที่แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญและนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบายและข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับข้อเสนอที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เองในระดับท้องถิ่น มากกว่าการมุ่งหวังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการเชิงนโยบาย เพื่อผลักดันให้ข้อเสนอดังกล่าวเป็นจริง ภายหลังจากการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพฯ กล่าวโดยย่อก็คือ สมัชชาสุขภาพภายใต้มุมมองนี้ อาจหมายถึงการเริ่มต้นของกระบวนการนโยบายสาธารณะ

มุมมองที่ 2 สมัชชาสุขภาพมีฐานะเป็น “กลไกในการผลักดันนโยบายสาธารณะ”

มุมมองนี้เห็นว่าเวทีสมัชชาสุขภาพมีลักษณะแตกต่างจากเวทีหรือพื้นที่สาธารณะที่ใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยทั่วไป และคุณค่าของกระบวนการสมัชชาสุขภาพที่สำคัญและแตกต่างจากการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วๆ ไป คือ การมีบทบาทในการผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้เพราะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นย่อมสามารถทำที่ไหนก็ได้ และปัจจุบันก็มีกลุ่มองค์กรและเครือข่ายที่มีบทบาทในการสนับสนุนและเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนผ่านการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆในระดับพื้นที่อยู่แล้ว แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ส่วนมาก ไม่ได้มุ่งหวังและไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ สมัชชาสุขภาพจึงไม่ควรมีบทบาทซ้ำซ้อนกับเวทีหรือกลไกที่มีอยู่ทั่วไป ดังนั้น “การผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” จึงควรเป็นสิ่งที่สมัชชาสุขภาพให้ความสำคัญมากกว่าการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพียงเท่านั้น

มุมมองที่ 3 สมัชชาสุขภาพในฐานะ “กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”

แนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)” ในประเทศไทยเริ่มต้นชัดเจนตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) มีการขยายสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับประชาชน และกำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการตัดสินใจทางการเมืองทุกระดับ ทั้งในโครงสร้างการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางรากฐานการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการนโยบายสาธารณะ (Public Policy Process) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลดีก็ต่อเมื่อมีการใช้เทคนิควิธีการที่เหมาะสม ทุกฝ่ายในสังคมมีทัศนคติที่ดีต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ถ้าหากประชาชนในสังคมไม่มีความเข้มแข็ง ขาดจิตสำนึกในฐานะพลเมือง มีความเป็นปัจเจกสูงจนไม่สามารถรวมตัวกันแล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะตัวบุคคลย่อมไม่มีพลังมากพอ การรวมตัวร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสดงพลังของประชาชนอย่างเป็นกลุ่มก้อน หรือที่เรียกว่า ขบวนการภาคประชาสังคม (Civil Society) จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ขบวนการประชาสังคมถูกนำมาขับเคลื่อนในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและความยั่งยืนของการปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อประสานงานทุกภาคส่วนบนฐานของความเป็นอิสระต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร หรือเครือข่ายที่เข้ามาทำงานร่วมกันจะเป็นการร่วมมือและประสานงานอย่างยืดหยุ่นเป็นแบบเครือข่ายด้วยท่าทีและบรรยากาศแบบพันธมิตร ใช้ความสมัครใจและมีทั้งลักษณะที่เป็นทั้งผสมผสานกับลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายมุ่งให้มีลักษณะเป็นแบบพหุภาคี โดยมี “สมัชชาสุขภาพ” เป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ภาคีสุขภาพจากทุกภาคส่วนได้แสดงออก และร่วมเรียนรู้อย่างใช้ปัญญาและสมานฉันท์

ทั้ง 3 มุมมองข้างต้นนี้ ควรขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน โดยมีการพัฒนาและผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมเป็นคุณค่าที่สำคัญ (Value-added) ของสมัชชาสุขภาพ และถือว่าเป็นพันธกิจหลักของสมัชชาสุขภาพในฐานะเป็นกลไกเชิงนโยบายของทุกภาคส่วนในสังคมตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ดังนั้นกระบวนการสมัชชาสุขภาพจึงจำเป็นต้องสนับสนุนหรือประสานการทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กรหรือเครือข่ายต่างๆที่มีอยู่เป็นทุนเดิมผนวกเข้ากับกลุ่มหรือองค์กรอื่นๆ เพื่อให้การผลักดันกระบวนการนโยบายสาธารณะในเรื่องนั้นๆ มีความหมายมากขึ้น และเกิดทางเลือกเชิงนโยบายที่เอื้อหรือเสริมหนุนการสร้างสุขภาวะของประชาชนและสังคมอย่างได้ผลมากขึ้น

ในทางปฏิบัติ สมัชชาสุขภาพ อาจเป็นผู้ริเริ่มผลักดันกระบวนการนโยบายสาธารณะในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในชุมชนหรือในสังคมเป็นอย่างมาก แต่ยังไม่มีกลุ่มองค์กรหรือเครือข่ายใดให้ความสนใจ ขณะเดียวกันก็ประสานสนับสนุนให้กลุ่ม องค์กร หรือเครือข่ายที่มีขีดความสามารถในการผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอยู่แล้วให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นโดยผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ

ปัจจุบัน สมัชชาสุขภาพที่ปรากฏในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มีบทบาทชัดเจน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการสร้าง”นโยบายที่มาจากสาธารณะ” (Bottom up approach) ที่สอดรับตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 สมัชชาสุขภาพจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม (Participatory Healthy Public Policy Process : PHPPP) ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมใช้และเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว