สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

โมเดลผีเสื้อ: กระบวนการสมัชชาสุขภาพสงขลา

by jaruek @21 ก.ค. 52 20:28 ( IP : 203...2 ) | Tags : สงขลา , โมเดลผีเสื้อ

โมเดลผีเสื้อ: กระบวนการสมัชชาสุขภาพสงขลา

ผีเสื้อ

“เพียงผีเสื้อขยับปีก” สื่อถึงการเคลื่อนตัวของสิ่งที่แม้จะดูเล็กๆ บอบบาง หากส่งผลสะเทือนต่อสังคมกว้างออกไปไร้ขอบเขต คำนี้ถูกนำมาใช้เป็นชื่อปกหนังสือว่าด้วยเรื่องดีๆของภาคีแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา

ภาพร่างผีเสื้อถูกนำมาเป็นกรอบแนวคิดขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาระหว่างปี 2552-2554 , ลองคิดถึงองคาพยพอันประกอบด้วยลำตัว ขาและปีก จะเคลื่อนตัวอย่างไร ?

โมเดลผีเสื้อกำหนดส่วนลำตัวเป็นองค์กรหลักในการดำเนินงาน ตัวผีเสื้อที่อาจดูมีลักษณะเป็นปล้อง ข้อต่อหลายชุด ต้องเชื่อมประสานสอดคล้องกันจึงสมบูรณ์เป็นหนึ่งชีวิต จากภาพสมมติสู่ความจริงหมายถึงการมารวมกันของกลุ่มองค์กรต่างๆไม่ว่า กลุ่มสงขลาพอเพียง มูลนิธิชุมชนสงขลา เครือข่ายสร้างสุขภาพสงขลา อบจ.สงขลา จังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สปสช. สสส. สช. สกว. และ สวรส.ภาคใต้

ลำตัวเดินได้ด้วยขาทั้งหก คือ กระบวนการนโยบายสาธารณะ กระบวนการจัดการความรู้ กระบวนการสื่อสารสาธารณะ กระบวนการสมัชชาสุขภาพ กระบวนการงานวิจัย และกระบวนการสุนทรียสนทนา

จากโครงสร้างพื้นฐานข้างต้น ผีเสื้อตัวนี้จึงพร้อมจะอวดโฉมขยับปีกที่ประกอบด้วย

  • ปีกเครือข่ายเชิงประเด็น 14 เครือข่าย ประกอบด้วยประเด็นหลักประกัน ,เศรษฐกิจพอเพียง , เด็ก, ผู้สูงอายุ,ผู้พิการ ,แรงงาน, ผู้บริโภค, เกษตรและอาหาร, สิ่งแวดล้อม, อุบัติเหตุ, วัฒนธรรม ,สื่อ และฐานข้อมูล
  • ปีกนี้มี MOU ระหว่าง จังหวัดสงขลา อบจ.สงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคประชาชนที่เกี่ยวกับแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาร่วมกันขยับ
  • ปีกด้านขวาเป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่ อันหมายถึงการรวมตัวขององค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่ตำบล ได้แก่ สปสช. กับกองทุนสุขภาพตำบล ที่มีพื้นที่ อปท. 56 แห่ง , สมาคม อสม./สสจ. มีตำบลต้นแบบ อปท. 32 แห่ง , สวรส.ใต้ /สสส. จัดทำแผนสุขภาพตำบลร่วมกับอปท. 20 แห่ง , โครงการ ความร่วมมือฯ สกว. / พม. /อปท./สสส./ธกส./ จัดทำแผนชุมชนร่วมกับ อปท. 19 แห่ง , โครงการศูนย์เรียนรู้การจัดการสุขภาวะชุมชน (สสส./อบต.ท่าข้าม) ร่วมกับ 23 อปท.
  • ปีกด้านนี้มีคำประกาศสมิหลา ว่าด้วย การให้สุขภาวะเป็นวาระของชุมชน มีการจัดทำแผนสุขภาวะ กองทุนสุขภาพท้องถิ่น และการบูรณาการกลไกการทำงาน

ดักแด้แห่งการเปลี่ยนผ่าน

หากมองย้อนกว่าทศวรรษที่ผ่านมาได้เกิดแนวนโยบาย สำคัญของภาครัฐของบ้านเรา ที่เอื้อต่อทำงานเชิงสุขภาพมิติใหม่ หลายประการ อาจเริ่มตั้งแต่ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ได้ให้อำนาจ และหน้าที่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการจัดการบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในเขตพื้นที่ท้องถิ่นของตนเอง

ปี 2540 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขวุฒิสภาจัดทำ “รายงานระบบสุขภาพประชาชาติ ข้อเสนอการปฎิรูประบบสุขภาพสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540” เสนอให้มีการจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติเป็นกฏหมายแม่บทของระบบสุขภาพแห่งชาติ

ปี 2542 เราได้ พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดอำนาจหน้าที่ ในการจัดบริการสาธารณะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมถึงเรื่องการส่งเสริมดูแลสุขภาพของประชาชนในเขตท้องถิ่นตน

ปี 2543 รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ(คปรส.) และสำนักงานปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) เป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำหน้าที่เลขานุการ จัดทำพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ชูทิศทางสุขภาพ “สร้างนำซ่อม” ยกร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ชวนภาคประชาชน ภาควิชาการ/วิชาชีพ และภาคการเมือง/ราชการ ร่วมทำและร่วมเรียนรู้ ตามยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” มีการดำเนินโครงการต่างๆ ในวงกว้าง ต่อเนื่องหลายปี เช่น

  • การจัด “ตลาดนัดสุขภาพ” (กันยายน 2544)
  • การจัด “การรณรงค์รวมพลังสร้างสุขภาพ ตามรอยพระยุคลบาท” (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2545) สร้างกระแสการสร้างเสริมสุขภาพ ค้นหาสิ่งดีๆ วิ่งและปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ 5 สายทั่วประเทศ (1-7 พฤศจิกายน 2545) ได้รายชื่อคนไทยร่วมลงชื่อแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนการจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ กว่า 4.7 ล้านรายชื่อ
  • การจัด “สมัชชาเด็กและเยาวชนว่าด้วยเรื่องสุขภาพ” (ตุลาคม 2545 - มกราคม 2546) ค้นหากิจกรรมสร้างสุขภาพที่เด็กและเยาวชนดำเนินการ (เรียกว่า “สิ่งมหัศจรรย์ที่เราทำได้”)
  • การจัด “สมัชชาสุขภาพพื้นที่-สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น-สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” (พ.ศ.2545-2546) เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในด้านต่างๆ
  • การจัดสมัชชาสุขภาพ 4 ภาค สมัชชาสุขภาแห่งชาติ (พศ.2546)
  • การจัด “สมัชชาสุขภาพพื้นที่-สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น-สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” (พ.ศ.2547) เน้นประเด็นอาหารและเกษตรเพื่อสุขภาพ
  • การจัด “สมัชชาสุขภาพพื้นที่-สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” (พ.ศ.2548) ยกระดับไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข
  • การจัด “สมัชชาสุขภาพพื้นที่-สมัชชา 4 ภาค-สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” (พ.ศ.2549) เศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข

ปี 2545 เกิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยเฉพาะมาตรา 47 ที่เน้นให้เกิดการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับบุคคลในพื้นที่ โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น และสามารถบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ได้

สิงหาคม 2547 ครม.เห็นชอบในหลักการส่งร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไข จนแล้วเสร็จ สิงหาคม 2548 และเครือข่ายส่งเสริมกระบวนการเสนอกฎหมายภาคประชาชน (สกช.) รวมรายชื่อประชาชนกว่า 120,000 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับเดียวกันต่อประธานรัฐสภา

14 ธันวาคม 2548 ร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ พร้อมกับร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอ และอีก 3 ฉบับที่เสนอโดยพรรคการเมือง สภาผู้แทนราษฎรได้นำเข้าบรรจุวาระการพิจารณา

24 กุมภาพันธ์ 2549 ประกาศยุบสภา

19 กันยายน 2549 มีการปฎิรูปการปกครอง

3 พฤศจิกายน 2549 ครม.เห็นชอบให้เสนอร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับเดิมต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

22 พฤศจิกายน 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบในวาระที่ 1

4 มกราคม 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบวาระที่ 2 และ 3 ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ให้ความหมาย “สุขภาวะ” คือ ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกับองค์รวมอย่างสมดุล นั่นหมายถึงว่าสุขภาพหรือสุขภาวะ เป็นภารกิจที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้เกิดการพัฒนากลไกเชื่อมประสาน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้หยิบยื่นเครื่องมือหรือกระบวนการสำคัญให้กับพลเมืองไทยนำมาปรับใช้ เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ นั่นคือ “สมัชชาสุขภาพ”

ผีเสื้อสงขลาขยับปีก

ตามข้อความที่ปรากฏในมาตรา 3 วรรค 6 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หมายถึงกระบวนการที่ให้ประชาชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาพของประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการสาธารณะที่ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่อาจนับได้ว่าถือกำเนิดจากการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ปี 2544 ดังกล่าวมาแล้ว จากนั้นจะเห็นการทดลองจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสืบเนื่องเรื่อยมา โดยหัวใจสำคัญของการจัดสมัชชาสุขภาพคือสานพลังจากฝ่ายวิชาการและวิชาชีพ ฝ่ายประชาชน ชุมชน สังคม และฝ่ายการเมือง ราชการ ตามยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”

จังหวัดสงขลามีพื้นที่ 7,393.889 ตารางกิโลเมตรขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ การปกครองและการบริหารราชการแผนดิน 3 รูปแบบ คือ การบริหารราชการสวนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น แต่ปัญหาที่พบคือกลไกการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินยังมีการทำงานในลักษณะแยกส่วนไม่สามารถบูรณาการร่วมกันได้ ขณะปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย และส่งผลกระทบต่อประชาชน

ท่ามกลางสังคมที่มีความซับซ้อนสูง มีการสร้างกลไกใหม่ๆมากมายขึ้นมาเกี่ยวพันกับชุมชนเพื่อหวังแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งในชุมชน และระหว่างชุมชน เช่น กลไกของภาคราชการหลากหลายประทรวงได้เข้ามาแทรกตัวถึงในชุมชนในหลายรูปแบบ ,กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น และ กลไกของภาคเอกชน ซึ่งทั้งหมดได้ถาโถมเข้าสู่ชุมชนชนบท นั่นมีทั้งส่วนดีที่นำความเจริญและการเปลี่ยนแปลง แต่อีกแง่หนึ่งชุมชนเดิมที่เคยพึ่งตนเอง และพึ่งกันเองได้ถูกทำลายจนยากจะกู่กลับมาได้

กลุ่มองค์กร เครือข่ายต่างๆ จำนวนมากในจังหวัดสงขลาส่วนหนึ่งได้มาจากการเชื่อมโยงร่วมกันขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะ ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพตั้งแต่ปี 25544 ร่วมยกร่างและผลักดันให้เกิด พรบ.สุขภาพแห่งชาติ การจัด “สมัชชาเด็กและเยาวชนว่าด้วยเรื่องสุขภาพ” และร่วมจัดสมัชชาสุขภาพเชิงประเด็นอีกหลายครั้ง โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องเกษตรและอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ

ต่อมาในปี 25549 ได้ร่วมมือกับสำนักงานปฎิรูประบบสุขภาพและภาคีสุขภาพในพื้นที่จัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดว่าด้วยการขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาในนาม 14 เครือข่ายเชิงประเด็น (ปี 2549-2551) มีแกนหลัก ได้แก่เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา สถาบันวิจัยระบบสุขภาคใต้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นหน่วยงานประสาน ผลักนโยบายความร่วมมือเป็นแผนสุขภาพจังหวัด และเกิดข้อเสนอและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ 14 ประเด็น แยกย่อยออกเป็น

  1. กลุ่มเนื้อหาด้านการจัดระบบบริการสุขภาพ ซึ่งมี 3 ประเด็นย่อยคือ

- ประเด็นการจัดระบบบริการสุขภาพของสถานบริการและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า - ประเด็นกองทุนชุมชนหรือกองทุนออมทรัพย์ที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ - ประเด็นบทบาท อสม.กับการสร้างเสริมสุขภาพ 2. กลุ่มเนื้อหาด้านการสร้างเสริมสุขภาพตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมี 5 ประเด็นย่อยคือ - ประเด็นการส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน - ประเด็นการดูแลผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส - ประเด็นสุขภาพวัยแรงงาน: แรงงานนอกระบบ - ประเด็นการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ - ประเด็นการส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภค 3. กลุ่มเนื้อหาด้านปัญหาสุขภาพที่เป็นประเด็นเฉพาะ ซึ่งมี 4 ประเด็นย่อยคือ - ประเด็นเกษตรเพื่อสุขภาพ และอาหารปลอดภัย - ประเด็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุการจราจร - ประเด็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ - ประเด็นวัฒนธรรมกับการสร้างสุขภาพ 4. กลุ่มกลไกการบริหารจัดการและการหนุนเสริม ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อยคือ - ประเด็นการจัดการข้อมูลข่าวสารและความรู้ด้านสุขภาพ - ประเด็นการสื่อสารสาธารณะเพื่อสุขภาพ

ปี 2550 - พื้นที่ได้มีการจัด “ตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา” เป็นกระบวนการสมัชชาระดับจังหวัด อาศัยความร่วมมือภายในจังหวัดผลักดันให้มีนโยบายความร่วมมือจัดทำแผนสุขภาพตำบล และให้เกิดข้อเสนอและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพระดับพื้นที่ของเครือข่ายในแผนสุขภาพจังหวัด

5 ตุลาคม 2550

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนั้น เดินทางมาปาฐกถาพิเศษเรื่องนโยบายสาธารณะกับการสร้างสุขภาวะของประชาชน ในงานตลาดนัดสร้างสุข คนสงขลาปี 2550 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายสุขภาพทุกมิติของจังหวัดสงขลา

นายแพทย์พลเดชกล่าวถึงสุขภาพในความหมายของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติว่าไม่ใช่เรื่องแพทย์หรือโรคภัยไข้เจ็บ แต่เชื่อมโยงถึงภาวะที่เป็นสุข ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และความสุขของสังคม ต้องอาศัยการบูรณาการศาสตร์ความรู้ต่างๆ การเชื่อมร้อยผู้คน กลุ่มหรือเครือข่ายที่มีอยู่มาทำงานร่วมกัน เป็นเรื่องยาก

นายแพทย์พลเดชกล่าวถึงการพัฒนาของสังคมไทย 4 ยุค อันประกอบด้วย

  1. ยุคที่เชื่อว่า ประชาชน จน โง่ เจ็บ แนวคิดจึงอยู่ที่การเข้าไปช่วยเหลือประชาชน การพัฒนาจึงผูกอยู่กับการสังคมสงเคราะห์ การประชาสงเคราะห์
  2. ยุคที่ยังมองประชาชน จน โง่ เจ็บ แต่แทนที่จะให้อย่างเดียวยังสอนวิธีการทำ อย่างเช่น สอนการจับปลา สอนการปลูกข้าว เป็นต้น
  3. ยุคที่พบว่าแท้จริงประชาชน ไม่จน ไม่โง่ ไม่เจ็บ เพียงแต่ขาดโอกาส ถ้ามีโอกาสจะไปแก้ปัญหาต่างๆได้เอง จึงเป็นยุคที่หันมาเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ ให้ประชาชนจัดการเรียนรู้
  4. ยุคที่เชื่อว่าประชาชน ไม่จน ไม่โง่ ไม่เจ็บ และขาดโอกาส แต่การจัดการเรียนรู้เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยนโยบายสาธารณะหนุนเสริมด้วย

นายแพทย์พลเดชกล่าวว่าสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีทุนทางสังคม ทุนทางปัญญาที่ส่งต่อกันมายาวนาน ที่เห็นได้ชัดและเป็นนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงคือกลุ่มออมทรัพย์ระดับต้นแบบของประเทศไทย ระดับการพัฒนากำลังขยับเข้าสู่การพัฒนาในยุคที่ 4 ยุคของการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย

“ผมขอชื่นชนคนสงขลาที่สามารถผนึกกำลัง ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำงานสร้างสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิต เรื่องยากไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ การเกิดแผนสุขภาพจังหวัด ที่คณะกรรมการใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทางสังคม ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับจังหวัดอื่นได้เรียนรู้ และประยุกต์เป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดสุขภาวะของคนทั้งประเทศ” นายแพทย์พลเดชกล่าว และเห็นว่าหากทุกชุมชนเข้มแข็งเช่นนี้ สังคมก็จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและถูกทิศทาง

องค์ประกอบชุมชนเข็มแข็ง ในความเห็นนายแพทย์พลเดชคือ ต้องมีพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ชุมชนรับผิดชอบ และต้องมีสถาบันที่ผูกพันกับปัญหาสังคม รู้ร้อนรู้หนาวในปัญหาสังคม

“การลงมือทำสำคัญกว่าการมีแผน การเคลื่อนไหวด้วยพหุภาคีทำให้มีพลัง โดยหน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบผูกพันตัวเข้ามา”

หลังเป็นองค์ปาฐกนายแพทย์พลเดช เป็นสักขีพยานในการร่วมกันลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แผนสุขภาพ ตำบล เพื่อขับเคลื่อนแผนสุขภาพระดับตำบลสู่การเป็นตำบลสร้างสุขโดยเลือกตำบลที่เข้มแข็งมานำร่อง มุ่งหวังผลักดันแผนสุขภาพตำบลมีกองทุนสุขภาพระดับตำบล และทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม และมีแผนขยายพื้นที่ออกไปอย่างมีคุณภาพ

โดยความจริงที่ว่า พื้นที่ระดับตำบลนั้นมีความเป็นชุมชนเป็นจุดแข็งสำคัญของภาคชนบทแม้พลังจะอ่อนแอลง แต่ไม่ยากที่มีใครลงไปช่วยจัดกระบวนเพื่อฟื้นพลังแห่งความเป็นชุมชนกลับคืนมา ระหว่างปี 2550-2551 สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา มีบทบาทสำคัญในการฟื้นพลังชุมชนด้วยแผนพัฒนาสุขภาพตำบล ซึ่งมีองค์กรหลักดังนี้

1. กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล

เป็นโอกาสในการทำงานกับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล เจ้าภาพหลักคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

หลักคิดในการสนับสนุนกิจกรรมสุขภาพชุมชนท้องถิ่น เป็นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยประชาชน และชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ระดับบุคคลมุ่งหมายพัฒนาศักยภาพด้านสาธารณสุขของบุคคลโดยตรง ให้เข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหาสุขภาพ เผชิญกับสถานการณ์ชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระดับชุมชน มุ่งหมายต่อการสร้างและเพิ่มศักยภาพของระบบนิเวศน์สังคมให้ดีขึ้น อันจะทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ

วัตถุประสงค์ในการสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพโดยชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง มีส่วนร่วมในการจัดการปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี พัฒนาพฤติกรรม สุขภาพ และเพื่อให้ประชาชนได้รับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และบำบัด รักษาโรค ที่ได้มาตรฐาน มุ่งเน้นการทำให้ประชาชนในเขตรับผิดชอบมีสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา (จิตวิญญาณ) เน้นการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคต่างๆ โดยความริเริ่มของประชาชน และชุมชนเอง

  • สนับสนุนส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ หรือสถานบริการอื่นรวมทั้งสถานบริการทางเลือก โดยเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต
  • ส่งเสริมให้กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในเขตพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในด้านสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการฟื้นฟูสมรรถภาพได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
  • ให้เกิดการพัฒนาสุขภาพของคนในท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของบุคคลในท้องถิ่นหรือพื้นที่

    การดำเนินงานอาศัยกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาช่วยผลักดัน และส่งเสริมการบริหารจัดการ และสร้างความร่วมมือกันภายในชุมชนให้เกิดพลังอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อันจะนำมาสู่การสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน

    ผลการดำเนินงานจังหวัดสงขลา นับแต่จุดเริ่มต้นพบว่าเป็นกองทุนที่ได้รับการพัฒนา อยู่ในระดับแนวหน้าเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะกองทุน อบต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ กองทุน อบต.ทุ่งหวัง อำเภอเมือง และ กองทุนเทศบาลต.น้ำน้อย ซึ่งเป็นที่มีการจัดตั้งกองทุนมาก่อนแล้ว ประกอบกับการเร่งรัดติดตามดำเนินงาน สป.สช.สาขาพื้นที่ สงขลา และแกนนำระดับจังหวัด ประกอบด้วยผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทน สป.สช. สาขาจังหวัด และผู้แทนของภาคอ อบต.เอง กองทุนฯมีการประชุม เป็นระยะ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นระบบเครือข่าย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันภายในจังหวัด จนสามารถขับเคลื่อนงานได้

    จุดเด่นอยู่ที่ อบต.บางแห่งได้มีภาคีในพื้นที่ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนอีกจำนวนหนึ่งด้วย เช่น กองทุน อบต.น้ำขาว อำเภอจะนะ อบต.คูหาใต้ เห็นภาพของภาคประชาชนเคลื่อนเข้ามามีส่วนร่วมกับกองทุน อบต. ทุ่งหวัง อำเภอเมือง มีจุดเด่นในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา สำหรับ เทศบาลตำบลน้ำน้อย ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน ในการบูรณาการแผนงบประมาณ และ การดึงให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมกับกองทุน เพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพของประชาชน จังหวัดสงขลาได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานเป็นเครือข่าย กองทุนฯหลายแห่งได้ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนงานโครงการ มีการจัดทำประชาคมในพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งแผนงานของประชาชนจริงๆ

การขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในปี 2550-51 และ ปี 2551-2552 กำหนดทำใน อบต.หรือเทศบาลที่มีความพร้อม ซึ่งดำเนินการอยู่ 56 พื้นที่

2. ตำบลต้นแบบ

องค์กรหนึ่งที่มีการทำงานสร้างสุขภาพระดับตำบล ได้แก่สมาคม อสม. จังหวัดสงขลาที่มีฐานการก่อตัวจากกลุ่ม อสม. ทั่วทั้งจังหวัดมาร่วมงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นอกจากกิจกรรมของสมาคมแล้วยังมีพื้นที่บริการในตำบลต้นแบบ การดำเนินงานได้มีการจัดทำแผนสุขภาพตำบลโดยใช้แกนนำประสานคือ อสม. ประสานแกนนำ /ผู้นำ /ภาคีทุกส่วน โดย อบต. เป็นหุ้นส่วนร่วมมือ สนับสนุนแผนสู่การปฏิบัติ

แผนสุขภาพตำบลที่ขับเคลื่อนโดย อสม. ประยุกต์แนวทาง 6 อ. (ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ อโรคยา อนามัยสิ่งแวดล้อม อบายมุข) ของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ อบต. มีพื้นที่ ปฏิบัติการตำบลต้นแบบ 16 ตำบล (เลือกอำเภอละ 1 ตำบล)

ในปี 2551 การเคลื่อนต่อ 16 พื้นที่ หลายหน่วยมาวางแผน ออกแบบ เห็นตรงกันว่า ถ้าจะให้เกิดประโยชน์จริงๆ น่าจะร่วมบูรณาการแผน งบประมาณให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะหลายหน่วยงานใช้ตำบลเป็นตัวตั้ง ไม่ว่า สป.สช. สสส. สกว. มีการทับซ้อนในบางตำบลอยู่แล้ว เมื่อกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน น่าจะมานั่งวงเดียวกัน

แผนสุขภาพตำบลปี 2551 จึงมีทิศทางบูรณาการ เริ่มจากมานั่งคุยกัน เท่าที่คุยกันได้ก่อนในเบื้องต้น พื้นที่ทับซ้อนจะต่อข้อมูล เกิดเป็นการซ้อนพื้นที่แต่ไม่ซ้ำกิจกรรม ลดความซ้ำซ้อนไปถึงชาวบ้านกลุ่มเป้าหมาย จากที่ชาวบ้านสะท้อนว่ายุ่งมาก เพราะมีคนโน้น หน่วยงานนั้นเข้าไปหาอยู่ตลอดเวลาด้วยโจทย์ทางสุขภาพเหมือนกัน

3. โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน พัฒนาสังคม และสุขภาวะจังหวัดสงขลา

บนความร่วมมือระหว่าง สกว. สสส. พม ธกส. และ อปท. จากพื้นที่ 20 จังหวัดทั่งประเทศ และ 5 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช จัดทำแผนชุมชน บูรณาการการทำงานระหว่างภาคีหลักทั้ง 5 ดังกล่าว

ลักษณะงาน -พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลครัวเรือน องค์รชุมชน ระดับหมู่บ้าน/ตำบล โดยทุกภาคส่วน -สนับสนุนกระบวนการทำแผนแม่บทชุมชนระดับตำบล จากฐานข้อมูลรายครัวเรือน -พัฒนาเชิงพื้นที่ตามแนวทางบูรณาการทั้งตำบล และ - จัดทำข้อเสนอ /แผนงาน/ โครงการแก้ปัญหาชุมชนระดับต่างๆ มีพื้นที่เป้าหมายในปี 2550 จำนวน 31 พื้นที่

4. แผนสุขภาพตำบลของเครือข่ายสร้างสุขภาพจังหวัดสงขลา

ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำแนวทางการขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดย่อส่วนลงมาทำงานระดับตำบล โดยมีเป้าหมายบูรณาการงานสร้างสุขโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ต้องการให้แผนเป็นเครื่องมือที่ใช้ฟื้นพลังชุมชน ที่ถูกปล่อยให้หลับใหลมายาวนาน อย่างไรก็ตาม กระบวนการฟื้นพลังของชุมชนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีความร่วมมือร่วมแรงของคนในชุมชน และภาคีพัฒนาเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างถูกจังหวะและสอดประสานไปด้วยกัน

นี่คือที่มาของความร่วมมือในการสร้างสุขภาพโดยใช้เครื่องมือคือ แผนสุขภาพตำบล หรือแผนพัฒนาสุขภาพระดับตำบล ยุทธศาสตร์หลักในเรื่องนี้คือ -ผลักดันให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในตำบลในการจัดทำ แผนสุขภาพระดับตำบล - ระดมความร่วมมือในพื้นที่เพื่อให้เกิดกองทุนสุขภาพในการขับเคลื่อนแผนสุขภาพระดับตำบลให้เป็นจริง และ - เชื่อมประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคราชการ สู่การบูรณาการสร้างสุขภาวะโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง มีพื้นที่เป้าหมายปี 2550จำนวน 14 ตำบล และปี 2551 จำนวน 6 พื้นที่

ปี 2551 การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดของสงขลานั้น หยิบยกเอาการทำแผนสุขภาพตำบลมาเป็นประเด็นนำ ด้วยเห็นศักยภาพ เห็นโอกาสของความร่วมมือของเหล่าภาคีสุขภาพในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็เห็นว่าสมัชชาสุขภาพจะเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงความรู้ ต้นทุนที่มีอยู่จากชุมชน นำมาสู่การเข้าถึงช่องทางเชิงนโยบายที่จะนำสิ่งดีๆอันเป็นพลังของชุมชนนำมาเป็นฐานในการแก้ปัญหาทุกข์ภาวะและจะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะ

การดำเนินงานมีขั้นเตรียมความพร้อม ซึ่งมีกิจกรรมย่อย ว่าด้วย

  • ขยายแนวร่วมบูรณาการงานระดับพื้นที่ จัดทำ Mapping พื้นที่ปฏิบัติงานขององค์กร หน่วยงานที่เป็นภาคีหลัก ได้แก่ สปสช. สสจ. สกว. และ สสส. มาวางแนวทางการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัด
  • สร้างองค์ความรู้ ด้วยการสรุปบทเรียน 4 กรณีศึกษา ในการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับตำบล
  • จัดทำแบบสอบถามเพื่อค้นหาสถานการณ์สุขภาพ เพื่อการเฝ้าระวังและติดตามผลการดำเนินงานร่วมกับสมาคม อสม.สงขลา และ สสจ.สงขลา
  • ผลิตเอกสาร และนิทรรศการ นำบทเรียนที่ได้มาขยายผล สร้างความรู้ และทางเลือกในการจัดแผนพัฒนาสุขภาพชุมชน
  • ประสานความร่วมมือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ท้องถิ่นจังหวัด แสวงหาความร่วมมือ ในเชิงนโยบาย
  • ร่างข้อเสนอ ในเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนแผนสุขภาพตำบล

ขั้นเวทีสมัชชา (เวทีหลัก) นำเสนอการดำเนินงานสร้างสุขในพื้นที่ พร้อมกับรูปธรรมพื้นที่ตัวอย่างและร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อแสวงหาฉันทามติจากที่ประชุม หลังจากนั้นภาคีสุขภาพในพื้นที่จะมีความร่วมมือในการสร้างสุขภาวะชุมชนตามแนวทางข้อเสนอเชิงนโยบายนั้นต่อไป

ขั้นติดตามผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ มีกิจกรรมย่อย ได้แก่ การจัดเวทีติดตามประเมินผลแบบมีส่วนร่วม และสรุปบทเรียน ปี 2551 - กรอบคิดการดำเนินงาน สมัชชาระดับตำบล และระดับจังหวัด ผลักดันนโยบายสาธารณะ จนนำมาสู่คำประกาศ สมิหลา 2551 แสดงทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพระดับตำบล และเกิดข้อเสนอและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่โดยมีสาระสำคัญคือ

1. เสนอใหองคกรปกครองสวนทองถิ่น

(1) ดำเนินการบริหารจัดการพัฒนา “ระบบสุขภาพ” ชุมชนให้เป็นวาระของชุมชน

ก. เพิ่มบทบาทในการดําเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองในด้านการสงเสริมสุขภาพ ควบคุมปองกันโรค การฟนฟูสมรรถนะ การเขาถึงบริการรักษาพยาบาล ตลอดจนการสรางสุขภาพในมิติ ดานสังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดลอม

ข้อเสนอเพิ่มเติม ให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมจัดทำโครงการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีศูนย์สุขภาพชุมชนที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

ข. จัดใหมีกระบวนการสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่อสรางความรูและความเขาใจรวมกัน อยางถูก ตองในการกําหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยเนนการมีสวนรวมจากทุกภาคสวนในพื้นที่ อยางนอย 4 ภาคสวน ประกอบดวยภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคราชการและภาคการเมืองทองถิ่น บนพื้นฐานของขอมูล ความจริงในพื้นที่ทั้งนี้การจัดสมัชชาสุขภาพจะต้องมีการดําเนินการอยางเปนระบบอยางนอยป ละ 1 ครั้ง

ค. พัฒนาบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่อยางเปนระบบ ตามศักยภาพขององคกรปกครองส่วนทองถิ่น เช่น การพัฒนาศักยภาพ อสม. พัฒนาทีมสุขภาวะในตำบล ในกรณีที่มีการสงบุคลากรในทองถิ่นไปศึกษาตอในสาขาที่ทองถิ่นตองการ ให้อยู่บนฐานการเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินการมีการบรรจุบุคลากรดานสุขภาพที่ไดรับการพัฒนาตลอดจนกลับมาปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชนอยางมีความมั่นคงในวิชาชีพ

(2) มีบทบาทในการใช้ข้อมูลและทำแผนพัฒนาสุขภาพอย่างเป็นระบบ

ก. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนํานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ มาจัดทําแผนพัฒนาสุขภาพ เพื่อการจัดการระบบสุขภาพตามศักยภาพขององค์กรท้องถิ่น มีการติดตามประเมินผลและนำเสนอผลการดำเนินงานแก่ชุมชนอยางนอย ปละ 1 ครั้ง

ข. ร่วมกับภาคีภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคสังคม ร่วมจัดการข้อมูลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)จัดทําขอมูลสุขภาพชุมชนและประเมินผลกระทบทางสุขภาพในชุมชน อยางนอย ปละ 1 ครั้ง ในส่วนของอสม.ให้มีสมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขสงขลาเป็นแกน และนําผลการดําเนินงานมาตัดสินใจเพื่อกําหนดเปนนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพ

(3) จัดใหมีกองทุนสุขภาพในทองถิ่น

ก. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมัครเข้าร่วมกองทุนหลักประกันสุขภาพทองถิ่นและกองทุนสุขภาพชุมชน/ตําบลเต็มพื้นที่จังหวัดสงขลาในปี 2553

ข. บูรณาการกลไกหรือคณะทำงาน โดยเฉพาะอยางยิ่งในพื้นที่ที่มีการดําเนินงานร่วมกันระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(กองทุนสุขภาพชุมชน/ตำบล), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (แผนสุขภาพตำบล), สมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขสงขลา(ตำบลต้นแบบ), โครงการความร่วมมือฯ (สกว.), สภาองค์กรชุมชน กองทุนสัจจะวันละ 1 บาทเพื่อสวัสดิการภาคประชาชน กองทุนแม่เพื่อแผ่นดิน เป็นต้น เพื่อสร้างความยั่งยืนในการสนับสนุนกิจกรรมและสร้างการพึ่งพาตนเองในพื้นที่

ค. สนับสนุนสงเสริมใหประชาชนดําเนินการจัดการสุขภาพชุมชนในกิจกรรมตางๆอยางหลากหลายและสอดคล้องกับวิถีชุมชน เชน เกษตรปลอดสารพิษ การสงเสริมการออกกําลังกาย การลดละเลิกอบายมุข การป้องกันและลดอุบัติเหตุ การสร้างครอบครัวเข้มแข็ง การจัดบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานในพื้นที่ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดลอม เปนตน

2. เสนอใหหนวยงานที่เกี่ยวของในทุกภาคสวนทุกระดับ

(1) สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เครือข่ายแผนสุขภาพจังหวัด ร่วมกันทำความเข้าใจ เผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนา “ระบบสุขภาพ” สู่สาธารณะ

(2) จัดใหมีกลไกประสานงาน สนับสนุน การดำเนินงานพัฒนา “ระบบสุขภาพ” สร้างความร่วมมือในการสนับสนุนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพให้เครือข่ายสร้างสุขภาพจังหวัดสงขลา, สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่(สงขลา),สำนักงานจังหวัด,สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคีสุขภาพ

ก. จัดตั้งกลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านพัฒนา “ระบบสุขภาพ” ระดับจังหวัด โดยตั้ง “คณะกรรมการประสานงานการพัฒนาสุขภาพท้องถิ่นจังหวัดสงขลา” ให้เป็นองค์กรประสานงานและบูรณาการความร่วมมือในระยะยาว และให้มีสภาสุขภาพประชาชนจังหวัดสงขลา ทำหน้าที่ทบทวน สร้างข้อเสนอเชิงนโยบาย นำข้อเสนอเชิงนโยบายไปสู่การปฎิบัติ

ข. จัดให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา ร่วมกับงานมหกรรมสุขภาพของเครือข่ายคนรักสุขภาพจังหวัด ปีละ 1 ครั้ง นำเสนอสถานการณ์สุขภาพ ผลงานด้านสุขภาพของภาคประชาชน ท้องถิ่น ภาครัฐ และเครือข่ายสุขภาพอื่นๆ สนับสนุนกิจกรรมเชิงนโยบายที่ผ่านฉันทามติเป็นวาระจังหวัด เช่น วันงดเหล้าประจำปีของจังหวัด วันลดภาวะโลกร้อน การประกาศเขตพื้นที่ปลอดสารเคมี เป็นต้น

ค. ให้การทำแผนระดับจังหวัดบรรจุในเรื่องของการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด

คำประกาศสมิหลา

การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดของสงขลานั้นได้ โอกาสของความร่วมมือของเหล่าภาคีสุขภาพในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่าสมัชชาสุขภาพจะเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงความรู้ ต้นทุนที่มีอยู่จากชุมชน นำมาสู่การเข้าถึงช่องทางเชิงนโยบายที่จะนำเอาสิ่งดีๆ อันเป็นพลังของชุมชนนำมาเป็นฐานในการแก้ปัญหา

คำประกาศสมิหลาจึงได้มาจากเวทีสมัชชาแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาว่าด้วยการขับเคลื่อนแผนพัฒนาสุขภาพ เมื่อ 19 ธันวาคม 2551 ณ โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ สงขลาที่มีประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมราว 400 คนประกอบด้วยตัวแทน 140 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา หน่วยงาน องค์กรด้านสุขภาพ

เวทีดังกล่าวมีการนำเสนอกรณีศึกษา “เส้นทางสู่ความสำเร็จในการสร้างสุขภาวะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสงขลา”นำโดยนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เนื้อหาเวทีสมัชชาวันนั้นสามารถอธิบายการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพสงขลาอย่างเป็นรูปธรรม

กรณีกองทุนสุขภาพตำบล

นายสายันต์ อาจณรงค์ ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เขตพื้นที่สงขลามองสุขภาพยุคใหม่ว่าต้องมองลึกกว่าภาวะเจ็บป่วยอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่เกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่อง จิตวิญญาณ จิตใจ สิ่งแวดล้อม

นายสินธพ อินทรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้ามบอกว่าการขับเคลื่อนทางสุขภาพแนวใหม่ ผู้นำท้องถิ่นต้องปรับวิธีคิดใหม่ ก้าวไปสู่การทำแผนสุขภาพตำบล

“ที่ตำบลท่าข้ามถือว่าได้ปรับวิธีคิดแล้วและปรับโครงสร้างการทำงานด้วย” นายสินธพว่าการทำแผนสุขภาพระดับตำบล ทำให้เกิดวิธีคิดในการบริหารแบ่งงานรับผิดชอบด้านต่างๆในระดับตำบล คล้ายกับคณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบเต็มต่อเรื่องนั้นๆ ในท้องถิ่น “เราทำทุกอย่างเพื่อนำเอาความดี ความงาม ความสุข กลับมา”

กรณีตำบลสร้างสุข

นายนิมิตร แสงเกตุ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา มองว่าทุนของอาสาสมัครสามธารณสุข (อสม.) นับเป็นทุนคนที่สำคัญ จังหวัดสงขลามี อสม. อยู่กว่า 16,000 คน คนเหล่านี้ได้รับการติดอาวุธด้านสุขภาพ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน “แต่เรายังคิดว่ายังไม่พอ” นิมิตรกล่าว จึงต้องเดินหน้าทำงานอย่างจริงจังต่อไป

นายถั่น จุลนวล นายกอบต.ควนรู อำเภอรัตภูมิ เจ้าของรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน ปี 2551 กล่าวว่าการพัฒนาตำบลสร้างสุขต้องเริ่มจากการพัฒนาผู้นำ ตำบลควนรูได้พลิกจากตำบลที่ติดอันดับยากจนที่สุด มีความขัดแย้งมากที่สุด กลายมาเป็นตำบลต้นแบบพัฒนาหลายเรื่องนั้น เกิดมาจากโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเป็นพื้นฐานสำคัญก่อน

“ชาวบ้านเสนอเรื่องการทำถนนหนทาง เหมืองน้ำ โครงสร้างพื้นฐานอันนี้ก็ว่ากันไปแต่เรามองเรื่องสุขภาพว่ามีความสำคัญเรื่องหนึ่ง” นายถั่นอธิบายเพื่อจะบอกว่า ทำไมทุกวันนี้ที่ตำบลควนรู จึงเกิดโครงการเกี่ยวกับสุขภาพขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าโครงการน้ำดื่มปลอดภัย , โครงการส่งเสริมการบริโภคปลอดภัย ภายใต้แนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่น เศรษฐกิจพอเพียง ชักชวนชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษเอาไว้กินเองทุกครัวเรือน หากเหลือกินเหลือใช้ อบต.เตรียมพร้อมตลาดเอาไว้ให้ขายเป็นรายได้เสริม , โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม.โดยจัดโรงเรียน อสม. และ โครงการเข้าวัดวันพระ เป็นต้น

“หัวใจคือ อบต.เราพร้อมจะเข้าไปร่วมกับทุกภาคส่วนในตำบล ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน อนามัย กลุ่มออมทรัพย์ ทำงานแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง คิดร่วมกันว่าจะสร้างตำบลควนรูให้อยู่กันอย่างสันติสุขแบบไหน อย่างไร ”

กรณีการใช้บัญชีครัวเรือนในการสร้างสุข

นางยุรี แก้วชูช่วง ผู้ประสานงาน สกว. กล่าวว่าการทำแผนชุมชนหัวใจสำคัญคือการบูรณาการในส่วนของ สกว. ที่ผ่านมามองเห็นงานวิจัยที่ฉาบฉวยมามาก แต่เมื่อมาขับเคลื่อนการวิจัยในการจัดทำแผนชุมชน ได้ใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ ได้เห็นความร่วมมือของคนในท้องถิ่น นอกจากนั้นการใช้บัญชีครัวเรือน เป็นเหมือนเครื่องเอกซเรย์ ให้เห็นความเป็นไปต่างๆ ชัดเจนเพื่อนำเอาข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาได้จริง

นายณรงค์ สุขขวัญ ตัวแทนพื้นที่ จากตำบลคูหาใต้ เล่าว่าหลักคิดที่ขับเคลื่อนอยู่ในคูหาใต้ ไม่ใช่เป็นการขายฝัน แต่เป็นการล่าฝันคือไปยังสิ่งที่ต้องการให้ได้จริง ด้วยเครื่องมือวิจัย บัญชีครัวเรือน ที่ทำให้รู้ว่าชาวบ้านคูหาใต้ปัจจุบัน ไม่ทำนาต้องซื้อข้าวกิน ซื้ออาหารทะเล และเสียเงินไม่น้อยกับการซื้อเหล้า “เราได้ข้อมูลเหล่านี้แล้วร่วมกับ อบต. วางแผนพัฒนา ผมให้ตัวเลขไป เขานำไปพัฒนาคน จนกลายเป็นกลุ่มเกษตรนาข้าวอินทรีย์ ” นายณรงค์เล่า

กรณีแผนสุขภาพตำบล

นายชาคริต โภชะเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพสงขลา นำเสนอการขับเคลื่อนแผนสุขภาพตำบล ของจังหวัดสงขลา ซึ่งพบว่าการทำงานมีการบูรณาการ ต่อเชื่อมกันได้หลายภาคส่วน

นายขุนทอง บุณยประวิตร นายก อบต.ชะแล้ กล่าวว่าพื้นที่ ต.ชะแล้ ประชากร 2,000 กว่าคน ลักษณะชุมชนใกล้ชานเมือง ประชาชนรับจ้างทำงานในเมือง บริโภคแบบคนเมือง แต่รายได้ยังตามหลัง ทุกวันนี้พวกชาวบ้านยังต้องใช้รถพยาบาล รับส่งผู้ป่วย เฉลี่ยวันละ 1 เที่ยว แสดงว่าอัตราการเจ็บป่วยยังมีมาก

“ผมพยายามให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา การจัดทำแผนสุขภาพตำบลเราให้ชุมชนเสนอมาว่าเจ็บป่วยด้วยเรื่องอะไร ต่อมาพบภูมิปัญญาชุมชนขึ้นมาเยอะ อย่างการนวด ประคบสมุนไพร การเจ็บป่วยบางกรณีจึงไม่ต้องไปหาหมออีก”

นายขุนทองเล่าว่า อบต.ชะแล้นำแผนสุขภาพตำบล เข้าแผนพัฒนาสุขภาพ 3 ปีของอบต. บริหารโดยคณะกรรมการวิสามัญ คนทั่วไปที่อยู่นอกสมาชิกสภา อบต. ให้เขามีอำนาจหน้าที่เต็มที่ มีเครือข่ายในการทำงานเกิดขึ้นมากมาย อย่างการเชื่อมกับ วิทยาลัยพยาบาลราชชนนีสงขลา และ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.) เป็นต้น

“เท่ากับว่าองค์กรชุมชนในตำบลชะแล้เพิ่มขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเกิดขึ้นตามมา” นายขุนทองกล่าวและว่า ตำบลชะแล้ ยังมีธรรมนูญสุขภาพเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ 4 กระบวนการคือ รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจากประชาชนหลายกลุ่ม คณะทำงานยกร่าง การประชาสัมพันธ์ และการประเมินผลส่วนกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสุขภาพที่เป็นรูปธรรมคือ การทำ Family MOU หรือ ข้อตกลงครัวเรือน เกี่ยวกับสุขภาพ อย่างเช่นข้อตกลง ลดการสูบบุหรี่ ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม โดยทุกอย่างจะต้องเกิดอย่างสมัครใจและเป็นธรรมชาติ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับไม่ได้

“งบประมาณดำเนินการสุขภาพมาจากอบต.เป็นหลัก ส่วนงบอุดหนุนรายหัว จาก สปสช. เมื่อมาทำในรูปแบบกองทุนสุขภาพ เราอุดหนุนเพิ่ม 3 เท่า เราทำเพื่อแก้วิกฤติ คิดว่า 4-5 ปี สถานการณ์คงจะดีขึ้น รถพยาบาลที่ได้รับมาอาจจะคืนให้ อบจ.สงขลาได้เพราะไม่ต้องใช้อีก”นายขุนทองกล่าว

นายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา กล่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นที่คาดหวังของประชาชน และประเทศชาติ

“ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ผมอยากให้นักบริหาร องค์กรปกครองท้องถิ่น ใช้ใจในการทำงานมากกว่าหลักในหารบริหารใด ต้องเข้าไปนั่งในใจชาวบ้านเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนสุขภาพด้วย”

นายพีระ ตันติเศรณี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มองว่ารูปแบบการบริหารสุขภาพจะเปลี่ยนไปจากวันนี้อย่างแน่นอน ภาพที่ต้องการให้เป็นจริงๆ คือการลงไปทำงานในพื้นที่ มีผลเกิดขึ้น “ อย่างหลักประกันสุขภาพ ต้องการลงไปพัฒนาด้วยเครือข่าย อบต. เทศบาล ต้องทำทุกพื้นที่ ต้องไปสร้างงานตรงนั้นให้เกิดขึ้น”

อาจารย์สมยศ ทุ่งหว้า ตัวแทนนักวิชาการที่มาเข้าร่วม เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่าทุกวันนี้ เห็นการทำแผนเยอะไปหมด สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งแผนเหล่านั้นมีข้อมูล แต่ไม่ได้แปลความหมายข้อมูลอย่างรอบคอบ สมัชชาน่าจะทำข้อมูลมีชีวิตให้เกิดขึ้นได้

“ผมคิดว่าระดับตำบลน่าจะมีสมัชชาเกิดขึ้นมาแล้วมาร่วมบูรณาการ เพื่อสร้างทิศทางตำบลร่วมกันไม่อย่างนั้นก็จะไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนแน่”

นายสุทธิพงศ์ ขุนฤทธิ์ ปลัดเทศบาลตำบลควนเนียง มองว่า การขับเคลื่อนในเรื่องใดๆ ต้องมอง 2 ระนาบเสมอ สำหรับงานสุขภาพต้องทำด้วยความร่วมมือที่มีจิตอาสา

“อย่ามัวแต่ทำงานเพื่อออกสื่อ ต้องทำงานให้คนหันมาสนใจ และให้ความสำคัญกับความสำเร็จเล็กๆ”

นายอดิศักดิ์ รัตนะ รองปลัดเทศบาลเมืองบ้านพรุ กล่าวว่า ที่ผ่านมามักพบว่าการทำแผนมักเร่งรีบ ไม่ครอบคลุม การทำงานสมัชชาต้องเปิดกว้าง ขณะเดียวกันผู้นำเองต้องขับเคลื่อนไปให้ได้

นายสิริพล สัจจาพันธุ์ ตัวแทนสื่อกล่าวว่า กระบวนการทางสุขภาพต้องพยายามใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ โดยทำเอง ไม่ต้องรอ ให้ใครมาจัดการให้ ซึ่งจะสอดคล้องกับความเป็นไปในอนาคต ที่จะมีองค์กรสื่อชุมชนแห่งชาติ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้ดำเนินการปะชุม กล่าวสรุปว่าการขับเคลื่อนทุกอย่างต้องใช้เวลา อาจทำได้ด้วยคนไม่กี่คน แต่ต้องใช้เวลา เชื่อมร้อยกับคนอื่น ส่วนอื่น ไม่มีใครเก่งไปทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการสร้างการมีส่วนร่วมที่ดีคือส่วนสำคัญ

“ดอกไม้จะบานในชุมชน” นายแพทย์สุภัทรกล่าวโดยมองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงชัดเจนเป็นรูปธรรม จะไปอยู่ที่แต่ละท้องถิ่นชุมชนนั่นเอง

ปีกแห่งอนาคต

เมื่อดอกไม้บาน ผีเสื้อขยับปีก .. สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาขับเคลื่อนต่อเนื่อง

ปี 2552 - สมัชชาระดับตำบล และระดับ จังหวัด จะเป็นปีที่ขยายผลคำประกาศสมิหลา ผลักนโยบาย บูรณาการข้อเสนอ และการขับเคลื่อนนโยบายทั้งเชิงประเด็น และเชิงพื้นที่ การสร้างนโยบายแต่ละประเด็น ให้เป็นวาระสุขภาพท้องถิ่น การพัฒนาแผนสุขภาวะตำบล และการบูรณาการกลไกการทำงานระดับตำบล

ปี2553 - สมัชชาระดับตำบล และระดับจังหวัด ผลักดัน ธรรมนูญสุขภาพระดับตำบล

ปี 2554 - สมัชชาระดับตำบลและระดับจังหวัด ผลักดัน ธรรมนูญสุขภาพระดับจังหวัด เป็นกติการะดับจังหวัด

เรื่องจาก ชาคริต โภชะเรือง

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว