สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แอโรบิคกลางอากาศกับ FM 101.5 MHz วิทยุชุมชน ต.ท่าข้าม

by kai @27 ก.ค. 50 12:43 ( IP : 58...238 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

วิทยุชุมชนตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บนคลื่น FM 101.5 MHz ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548  นับว่าเป็น "วิทยุชุมชน" ความหมายตรงตัว เพราะเป็นของชาวบ้าน ที่ทำเพื่อชาวบ้านแท้ๆ  ด้วยแรงสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ท่าข้าม

"เริ่มแรกนายกอบต.ท่าข้าม คือคุณสินธพ อินทรัตน์  ชวนชาวบ้านมาพูดคุยกัน มีแนวคิดที่จะจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน  ช่วยกันออกความคิดเห็นกันว่าจะทำอย่างไรดี  สุดท้ายก็ลงมติว่าให้ตั้งสถานีไว้ที่ อบต. แล้วหาชาวบ้านอาสาสมัครมาผลัดเวรกันหาความรู้มาพูดมาจัดรายการ"

พิกุล  ทองดีเลิศ หรือ "บ่าวกุล"  ผู้จัดรายการลูกทุ่งยามบ่าย ซึ่งกำลังเป็นรายการยอดฮิตรายการหนึ่งเป็นผู้เล่าให้ฟัง  เขาเป็นอาสาสมัครที่มาช่วยงานด้วยใจคนหนึ่ง แม้มีภาระงานประจำส่วนตัวอยู่มากมายทั้งกรีดยาง และรับเหมาทาสี

บ่าวกุลเล่าต่อว่าปกติตามหมู่บ้านจะมีการประชาสัมพันธ์หอกระจายข่าวโดยเสียงตามสายอยู่แล้ว  ชาวบ้านหลายคนมีความชำนาญในการทำหน้าที่โฆษก จึงพยายามทาบทามบุคคลเหล่านี้มาจัดรายการ ในที่สุดก็ได้คนจัดประจำราว 20 คน  ใครถนัดจะนำเสนอความรู้ เรื่องอะไร เชี่ยวชาญทางไหน ก็สามารถนำมาถ่ายทอดให้ฟังทางรายการวิทยุได้

101.5 D.J.รอบกระจายเสียงในแต่ละวันเริ่มตั้งแต่ 08.00-24.00 น. เมื่อเปิดผังรายการดู จะพบว่าน่าสนใจติดตาม ชนิดคงจะหาฟังสาระดีๆ ใกล้ตัวจากสถานีอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะชาวตำบลท่าข้าม ทั้งรายการเพลงซึ่งมีอยู่หลากหลาย การสนทนาสาระครอบคลุมทุกเรื่อง  ตัวอย่าง  รายการคุยสบายสไตล์ท่าข้าม, ศิลปินชาวใต้ ,ธรรมบันเทิง ,วันนี้มีข่าว ,เกษตรบ้านเรา, แจ้งข่าวชาววัฒนธรรม ,แจ้งข่าวชาวท่าข้าม, อุบาสกถกนิทาน, ชมรมฌาปนกิจฯต.ท่าข้ามและใกล้เคียง ,รู้แล้วบอกต่อ,สุขภาพเพื่อชีวิต, กฎหมายชาวบ้าน, ของดีที่ท่าข้าม ,เพื่อนเยาวชน วันนี้มีของฝาก,การเมืองและกีฬา ข่าวเด่นรอบสัปดาห์ และรายการข่าวประชาสัมพันธ์ พูดคุยสนทนา ที่จัดโดย อบต.  เป็นต้น

"รายการที่คนสนใจมากอย่างหนึ่งคือที่นำเสนอเกี่ยวกับสุขภาพ จะแทรกอยู่ตามรายการทั่วไป" บ่าวกุลเล่าว่า ในประเด็นนี้ผู้จัดรายการมัก จะให้ความรู้กับผู้ฟัง ในเรื่องการรักษาพยาบาล การดูแลตนเอง การรับวัคซีน  อะไรทำนองนั้น และโดยเฉพาะเกี่ยวกับการรักษาโดยสมุนไพร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว  ก็จะเน้นสุมนไพรใกล้ตัวที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น

"เท่าที่เช็คกระแสคนฟังมาแล้ว มีอยู่มากในตำบลท่าข้าม บางคนชอบเพลง บางคนชอบเนื้อหาสาระที่ผู้จัดนำมาเสนอ  อย่างเรื่องโรคเบาหวาน  เราก็ไปถามคนที่เป็นโรคนี้จริงๆ เพื่อมาบอกว่าอาการของโรคเป็นอย่างไร  ต้องทำตัวอย่างไร  คนก็สนใจ โรคอื่นที่คนกลัวกันมากขึ้น อย่างโรคความดัน โรคหัวใจ เราก็นำเสนอ แล้วก็ย้ำอยู่บ่อยๆจนคนหันมาสนใจและจำได้ "

โครงการเกี่ยวกับสุขภาพทางอากาศ ของสินธพ อินทรัตน์ นายกอบต.ท่าข้าม ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกรายการหนึ่งที่น่าสนใจคือ "โครงการลดเอวดีมีรางวัล" โดยรูปแบบจะมีการเปิดเพลงสำหรับเต้นแอโรบิคทางวิทยุชุมชนแห่งนี้  พร้อมกับผู้จัดรายการที่จะนั่งบอกท่าทางประกอบเพลงนั้นๆ ให้ผู้ฟังออกกำลังกายไปพร้อมกัน

"โครงการนี้กำลังเริ่มครับ เราได้ออกประชาสัมพันธ์ไปแล้ว"บ่าวกุลเล่า พร้อมกับเล่าว่า เวทีแอโรบิคมีอยู่แล้วทุหมู่บ้าน แต่ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือไม่มีสิ่งล่อใจให้คนหันมาออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะความไม่สะดวกหลายอย่างของชาวบ้าน  แต่เมื่อมีการเปิดเพลงในวิทยุ  คนฟังสามารถลงมือขยับแข้ง ขยับขา ออกกำลังกายได้ในทันที โดยไม่ต้องเดินทางไปยังเวทีกลาง จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้เปิดวิทยุมาที่คลื่นนี้ก็แล้วกัน

เนื่องจากมีการเปิดสายโทรศัพท์ให้ผู้ฟัง สามารถโทรเข้ามาพูดคุย เสนอความเห็น ได้ตลอดเวลา จึงมีคนสนใจเป็นแฟนรายการ ในระดับที่น่าพอใจ  ดัชนีอย่างหนึ่งที่บอกได้เกี่ยวกับคนฟัง ได้มาจากกรณีชาวบ้านกว่า 20 คนแห่กันไปซื้อวิทยุเครื่องเล็กๆ ในร้านขายของแห่งหนึ่งในตำบลท่าข้าม เอาไว้ฟัง FM 101.5 MHz เป็นการเฉพาะ  ทำให้คนขายวิทยุรายนั้นถึงกับหน้าบาน

"ทำให้ชุมชนใกล้ชิดกันเข้าไปอีก อย่างที่ทำอยู่เราจะถ่ายทอดกิจกรรมของ อบต. ผ่านรายการ อย่างเช่น หมู่ที่ 1 กำลังจัดกิจกรรมอะไร เราก็ถ่ายทอด ทำให้คนหมู่อื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมก็รับรู้ หรือมีความรู้เชื่อมต่อกันได้  หรือแม้กระทั่ง สมาชิก อบต.ไปประชุมดูงานที่ต่างจังหวัด ต้องรายงานกลับมาว่ากำลังทำอะไร  จะได้รู้ว่ากำลังไปทำงานให้ชุมชนอยู่ไม่ได้ไปเที่ยว คนที่อยู่ข้างหลังเองก็จะได้รู้ความเคลื่อนไหวด้วย ไม่ต้องเที่ยวห่วง"

บ่าวกุลเล่า  และเห็นว่าสถานีวิทยุชุมชนแห่งนี้ เป็นสื่อกลางในชุมชน ทำให้ผู้คนกลมเกลียวในหมู่คณะ  และเผือแผ่ไปถึงคนนอกพื้นที่รอบข้างที่สามารถรับฟังได้อีกด้วย

บางครั้งยังขยับบทบาทไปทำหน้าที่ให้กับสังคมใหญ่ อย่างเช่นการถ่ายทอดสัญญาณในกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ เช่น สป.สช. ซึ่งคลื่นนี้สามารถนำไปเชื่อมต่อกับสถานีวิทยุอื่นๆ ตามแต่จะมีการดึงไปใช้งาน เพิ่มมูลค่าอีกขั้น

ทางสถานียังมีแนวคิดเชื่อมต่อสัญญาณกับหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน อีกทางหนึ่งให้ถ่ายทอดสัญญาณของวิทยุชุมชน เน้นให้ความรู้เรื่องสุขภาพเป็นหลัก

ถาวร แผ่ผล หรือ "บ่าววร"  ผู้จัดรายการกู้ภัยกู้ชีพ  เขาเป็นคนสวนของ อบต.ท่าข้าม และรับการอบรมเป็นหน่วยกู้ภัยประจำตำบล  เป็นอีกคนหนึ่งที่อาสาสมัครเข้ามาช่วยงานตรงนี้ โดยไม่มีผลตอบแทนเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เล่าว่ารายการของเขาให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการกู้ภัย  เรื่องนี้มีความจำเป็นมากเพราะว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายต่างๆ คนที่เข้าถึงที่เกิดเหตุก่อนคนอื่นก็คือชาวบ้าน  ถ้าการช่วยเหลือไม่ถูกต้องก็ยิ่งอันตรายกับผู้ประสบเหตุ

"มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ผมนั่งพูดสดอยู่ในรายการว่า ถ้าชาวบ้านพบเห็นอะไรที่ให้หน่วยกู้ภัยช่วยเหลือก็สามารถโทรเข้ามาได้ตลอดเวลานะครับ  และให้เบอร์โทรด่วนที่ไม่ต้องจ่ายเงินด้วย  ตอนนั้นเองมีคนโทรเข้ามาที่สถานีบอกว่ามีคนได้รับอุบัติเหตุ ผมเลิกจัดรายการเลยต้องรีบไปช่วยคนก่อน"

ถาวรเล่า และว่า เมื่อเดินทางพร้อมรถกู้ภัยไปถึงที่เกิดเหตุพบว่า  กลับไม่ใช่อุบัติเหตุเกี่ยวกับการล้มรถ ตามที่คนโทรมาแจ้ง แต่น่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายกันมากกว่า แต่ชาวบ้านไม่กล้าบอก  อย่างไรก็ตามถือว่าได้เกิดประโยชน์ในการช่วยเหลือแล้ และผู้แจ้งคนนั้นก็ได้กลายมาเป็นแฟนรายการพันธุ์แท้คนหนึ่งในเวลาต่อมา

"ผมบอกว่ารายการวิทยุชุมชนของเรา เอาไปใช้ประโยชน์ได้เลย  ขณะวิทยุอื่นเขาขายของ  และของที่เขาโฆษณา ก็ต้องไปซื้อมาก่อนจึงจะใช้ได้ แต่ของเรา ใช้ได้ทันที  ถ้าคุณฟังสถานีอื่น คุณไม่รู้เรื่องท่าข้าม ถ้าอยากรู้เรื่องท่าข้ามต้องฟังสถานีนี้ "

ถาวรเล่าถึงภาระหน้าที่กู้ภัย ที่ประสานกับศูนย์นเรนทร และกรมป้องกันสาธารณภัยที่เชื่อมต่อกันทั่วประเทศ ให้กับผู้ฟังรายการอยู่เสมอ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ช่วยกันแจ้งเหตุ  เพราะให้ตระหนักว่าถึงไม่ได้ช่วยเหลือโดยตรงการโทรศัพท์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เท่ากับว่าได้ช่วยเหลือแล้ว แทนที่จะให้ผู้บาดเจ็บต้องรออยู่นานๆ  การพูดผ่านวิทยุไม่สูญเปล่าไปในอากาศเพราะเริ่มเห็นผลในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น

ระหว่างการสนทนาซึ่งตรงกับช่วงเที่ยงของวันอังคาร  "ลุงหนัง" เดินเข้ามายังสถานีเพื่อพูดคุย และเปิดเทปการแสดงสดของหนังตะลุงนครินทร์ ชาทอง ให้แฟนๆที่ติดตามรอฟังตอนจบ

ระหว่างปิดไมโครโฟน และเปิดแผ่นซีดีหนังตะลุงออกอากาศอยู่นั้น  ทั้งลุงหนัง บ่าวกุล และบ่าววี ช่วยเล่าให้ฟังต่อโดยมีความเห็นเรื่องวิทยุชุมชนว่าบางแห่งอ้างความเป็นวิทยุชุมชน แต่มักจะเป็นการทำธุรกิจ รับโฆษณา  และไม่เคยบ่งบอกว่าทำอะไรเพื่อชุมชน  ทั้งไม่ได้เอาชุมชนหรือชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม  แต่วิทยุชุมชนตำบลท่าข้ามเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งถือว่าได้ทำหน้าที่ดังกล่าว  และคงจะอยู่คู่ชุมชนตลอดไป

"อบต.สนับสนุนงบทั้งหมด  จึงไม่ต้องพึ่งโฆษณา ที่เรานำมาโฆษณา เกี่ยวกับกิจกรรมชุมชนทั้งหมด เช่น กลุ่มเครื่องแกง  โรงปุ๋ยชีวภาพ  โครงการเศรษฐกิจพอเพียง  ที่ อบต.สนับสนุนอยู่ก็เอามาประชาสัมพันธ์ให้รู้กัน" บ่าวกุลเล่า

นโยบายของสถานีวิทยุชุมชนท่าข้าม คือเปิดรับทุกคนในตำบลท่าข้ามที่อยากจัดรายการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งพร้อมจะจัดเวลาให้  เพราะแม้ระยะแรกจะประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการเชิญชวนดาวนักพูดประจำหมู่บ้านมาจัดรายการแต่พบว่า คนกลุ่มนี้บางคนก็ไม่มีเวลามาจัดอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้จึงเปิดรับผู้ที่มาทำงานด้วยใจจริง ไม่ใช่มาแต่ตัว  เพราะทำได้ไม่นาน เนื่องจากไม่มีค่าตอบแทน

"เรามาทำตรงนี้ ถือว่าได้ทำประโยชน์กับพ่อแม่พี่น้อง ประชาชน ก็พอแล้ว เพราะเรารู้อยู่ว่าวิทยุชุมชนต้องการอะไร มีหน้าที่อย่างไร" บ่าวกุลว่า

อย่างน้อยภาพความใกล้ชิดของสถานีวิทยุกับชุมชน ทำให้เห็นภาพความน่ารักบางอย่างเกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ ไม่มีผลประโยชน์ ไม่เสแสร้ง  เช่น เมื่อผู้จัดเผยแพร่เรื่องการทำขนมออกอากาศ ก็มีจะมีคนเดินถือขนมมาให้

ลุงหนังเล่าว่าเมื่อเปิดสปอร์ตของกลุ่มออมทรัพย์ ได้รางวัลเป็นกาแฟหนึ่งซอง  ซึ่งเป็นน้ำใจที่ให้กันด้วยความรักเสน่หา ไม่ใช่ผลประโยชน์  ขณะบ่าวกุลเสริมต่อว่า ทางสถานี เคยจัดตอบปัญหาชิงรางวัล เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ  ร้านค้าสวัสดิการชุมชน หมู่ 1 ส่งเสื้อมาให้เป็นของรางวัล  แม้จะมีน้อยแต่ถือว่ามีค่าอย่างยิ่ง

สำหรับสิ่งที่ชุมชนท่าข้ามยังต้องการให้เกิดขึ้นอีกคืออยากให้ทางสถานีได้มีการรายงานข่าวของชุมชน แทนที่จะนำเสนอการถ่ายทอดข่าวจากส่วนกลาง หรือเอาข่าวที่อื่นมานำเสนอเพียงอย่างเดียว  อย่างไรก็ตามยังขาดคนที่ทำงานส่วนนี้ และยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ในการนำเสนอข่าวใกล้ตัว โดยเฉพาะเรื่องเชิงลบ

และนี่คือวิทยุชุมชน ที่เรียกตัวเองว่าเป็นวิทยุชุมชน ได้อย่างเต็มปากอีกสถานีหนึ่ง  FM 101.5 MHz วิทยุชุมชน ตำบลท่าข้าม

Relate topics

Comment #1
โอเค แมส (Not Member)
Posted @29 มี.ค. 51 13:36 ip : 58...102

สพก.ปั้นผู้นำเป็นต้นแบบการกีฬา

นายสมบัติ  คุรุพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ(สพก.) เปิดเผยว่า  ปัจจุบันประชาชนมีการตื่นตัวต่อการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมากขึ้น ประชาชนแต่ละภูมิภาคมีการรวมตัวกันเพื่อการออกกำลังกายเป็นกลุ่มหรือชมรมกระจายอยู่ทั่วประเทศ กิจกรรมการออกกำลังกายก็มีหลากหลาย  โดยเฉพาะการออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิกที่กำลังเป็นที่นิยม  การออกกำลังกายรูปแบบนี้ต้องมีผู้นำการออกกำลังกายที่มีความรู้ที่ถูกต้องและควรได้รับการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง  สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการจึงมีแนวคิดในการส่งเสริมให้มีวิทยากร  ผู้นำ  และผู้นำเครือข่ายการออกกำลังกายมีความรู้เกี่ยวกับหลักการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง  สามารถนำออกกำลังกายโดยไม่เกิดการบาดเจ็บ  ทั้งนี้  ก่อนการจัดอบรม หน่วยงานได้มีการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อจัดทำคู่มือวิทยากร และสื่อวีซีดีแอโรบิกและกายบริหาร

ดร.สุวัตร  สิทธิหล่อ  ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา  สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ  กล่าวว่า  หน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพและสมรรถภาพที่ดีของประชาชน จึงจัดให้มีการอบรมวิทยากรแอโรบิกมวยไทยให้กับ  ครู อาจารย์ และผู้นำชมรมแอโรบิก  ด้วยการนำศิลปะแม่ไม้มวยไทย เช่น หมัด เข่า  ศอก  เตะ  ถีบ  มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการเต้นแอโรบิก  นับเป็นการออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำ และมีการใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย  นอกจากนี้  ยังเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย  และขยายองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้กระจายไปสู่ประชาชนทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง  และยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย

สำหรับการจัดอบรมวิทยากรแอโรบิกมวยไทย  ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 10  เมษายน 2551

ณ โรงแรมแม็กซ์ พระราม 9  โดยนายสมบัติ  คุรุพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดการอบรม  การอบรมในแต่ละวันจะมีการบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ อาทิ ทักษะการเคลื่อนไหวในการเต้นแอโรบิก  การป้องกันการบาดเจ็บ โภชนาการ  เป็นต้น พร้อมทั้งมีการฝึกปฎิบัติและทดสอบการเป็นวิทยากรแอโรบิก ที่จะสามารถนำไปปฎิบัติและประยุกต์ใช้จริงในการสร้างเครือข่ายในชุมชนทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง

ประสานงาน

คุณธนพร  สุขมี (แหม่ม) โทร.02-618-7781-4 ต่อ 103 / 086-707-4263

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว