สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ตลาดผักโรงพยาบาลหาดใหญ่จุดประกายวิถีบริโภคปลอดภัย

by kai @15 พ.ย. 50 19:28 ( IP : 117...91 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 799x599 pixel , 217,381 bytes.

"กินผักมากอาจเสี่ยงมะเร็ง" คำพูดนี้อาจจะฝืนความจริงอยู่ แต่ถ้ามองความจริงอีกด้านว่าหากผักที่กินเข้าไปปนเปื้อนด้วยสารพิษที่ทุกวันนี้แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ย่อมเป็นเรื่องน่าคิดทีเดียว

มารุต ลอยผา ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ(HA)  โรงพยาบาลหาดใหญ่ เล่าว่าปัญหาสารพิษในอาหาร เพราะชาวบ้านไม่มีตัวเลือก หันไปทางไหนก็เจอแต่สารเคมี

"ขนาดคนปลูกไม่กล้ากิน แต่ต้องจำใจ ถ้าไม่กินก็ไม่รู้จะกินอะไร"

โรงพยาบาลหาดใหญ่ตระหนักตรงนี้ จึงทำโครงการผักปลอดพิษคนปลอดภัย

โครงการนี้เริ่มมา 2 ปีแล้ว แต่ไม่มีตัวขับเคลื่อนชัดเจน จนกระทั่งมารุตได้เข้ามารับผิดชอบ มีความชัดเจนมากขึ้นโดยเชื่อมกับ ศูนย์คุณธรรมจังหวัดสงขลาและ เครือข่ายเกษตรวิถีธรรม วิถีไท  สู่อาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพชุมชน ที่นำโดย อาจารย์ภาณุ พิทักษ์เผ่า

"ที่จริงผมทำเรื่องคนพิการ เรื่องอุบัติเหตุ แต่ผมทำเรื่องผักปลอดภัยด้วย มันไปกันได้เลยผสมผสาน เป็นโครงการขึ้นมา ตอนนี้โรงพยาบาลหาดใหญ่ เป็นโครงการนำร่องเรื่องผักไร้สารพิษ ด้วยตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข"

มาตรฐานผักโรงพยาบาลหาดใหญ่กำหนด3 แบบ

  • ผักที่กระทรวงเกษตร ฯ รับรองให้ใช้สารเคมีระยะเริ่มต้น  เว้นระยะก่อนเก็บ ซึ่งความจริงที่รู้กันอยู่ว่าเกษตรกรมักปิดบังข้อเท็จจริงการใช้สารเคมี
  • ผักที่โรงพยาบาลเห็นว่าปลอดภัยจากสารพิษคือ ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ แค10 %  และห้ามใช้สารเคมีอื่น อย่างยาฆ่าแมลง -  ผักไร้สารพิษ  ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้น้ำหมักชีวภาพ

ผู้ป่วยโรงพยาบาลหาดใหญ่ มี 800 กว่าคน รับประทานคนละ 3 มื้อต่อวัน  คิดง่ายๆว่า 2,400 จาน ต้องใช้ผักเยอะมาก  ยังไม่รวมผู้ป่วยพิเศษ    เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประมาณ 1,800 คน ญาติผู้ป่วยอีก ราว 5,000 คนในแต่ละวัน  ทุกคนต้องการพืชผักปลอดสารพิษ

โครงการเริ่มอย่างจริงจังมาได้ราว 6 เดือน มารุตบอกว่าไม่ใช่เรื่องทำง่ายๆ ที่ต้องส่งเสริม รณรงค์เพื่อให้เกษตรกรที่ใช้สารเคมีอยู่ มาเปลี่ยนพฤติกรรมกว่าจะได้แปลงผักไร้สารพิษที่แน่ใจสักแปลงต้องมีคุณธรรมนำหน้า

"เราเชื่อมโยงกับศูนย์คุณธรรมของอาจารย์ภานุ จนได้แปลงผักที่ผมเข้าไปส่งเสริม  เคยใช้งบของหลายหน่วยงาน เช่น สพช. (สถาบันวิจัยพัฒนาชุมชน)มาช่วย ส่งเสริมชาวบ้าน"มารุตเล่า ตอนนี้สามารถส่งเสริมแปลงผักไร้สารพิษผลิตได้จริงราว 5 ราย พื้นที่แปลงหนึ่งราว  3 ไร่  แต่ยังไม่พอกับความต้องการโดยเฉพาะผู้ป่วย

เกษตรกร 5 รายที่ว่าอยู่บ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ เหตุผลหนึ่งเพราะมารุตเข้าไปทำโครงการเหยื่อเมาแล้วขับสู่ชุมชนที่นั่นอยู่  เลยเอา 2 เรื่องมาบูรณาการกัน

เขาอธิบายว่าผักไร้สารพิษคือการสะสมสารเคมีในร่างกาย สะสมจนเป็นมะเร็งหรือถ่ายทอดเป็นพันธุกรรม ลูกเกิดมาก็พิการ นั่นคือตายผ่อนส่ง ส่วนอุบัติเหตุถ้าไม่ป้องกัน ไม่สวมหมวกกันน็อค ประมาทเมาแล้วขับ ก็ตายเหมือนกัน  ทั้งสองเรื่องตายเพราะความประมาทด้วยกัน จึงไปด้วยกันได้ ยังเชื่อมโยงไปสู่มิติอื่น อย่างเศรษฐกิจพอเพียงอีก

กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงที่บ้านพรุ น้องแดง เด็กตัวเล็กๆ แม่บอกว่าให้ไปซื้อผักซื้อพริกให้ น้องดีใจขับมอเตอร์ไซค์ออกไป ด้วยความเท่ แต่ไปล้มรถ

"ถามว่าใครผิด อยู่ในชุมชนมีที่ดินข้างบ้าน แค่พริก โหระพา สาระแหน่ ยังไม่ปลูกเอาไว้กิน  แต่ถ้าวันนั้นมีพริกมีผักอะไรต่างๆ อยู่ แค่บอกว่าไปเอาพริกมาให้แม่ทีที่ข้างบ้าน อุบัติเหตุก็ไม่เกิดขึ้น ความพอเพียง มันเลยเชื่อมโยงไปกันได้หมด"

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนเกษตรกรมาทำแบบไร้สารพิษ ทำยากแม้จะจูงใจด้วยผลตอบแทนสูง  อย่างเช่นราคา ตลาด กิโลกรัม 10 บาท ถ้าปลอดสารพิษทางโรงพยาบาลหาดใหญ่พร้อมจ่ายให้ 20 บาท  ถ้าระดับ ไร้สารพิษให้ราคา 25 บาท รับซื้อและประกันราคาทั้งปี แบบไม่อั้น ไม่ว่า ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว บวบ ฟักทอง ฟักเขียว ผักบุ้ง ถั่งฝักยาว แตงกวา มะเขือยาว มะเขือเปราะ ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ใบกะเพรา ใบโหระพา บร็อคเคอรี่ ผักตำลึง ฯลฯ

"ผักหลักยังเป็นผักใบ ใช้มากเป็นประจำคือฟักทอง  เพราะมีธาตุอาหารสูงให้ผู้ป่วย  ผักพื้นบ้านเราก็รับนะครับ แต่ต้องคุยกันก่อน อาจทำเป็นอาหารทั่วไปก็ทำยาก แต่ถ้าเป็นอย่างผักกูดทำได้ เป็นราดหน้า ผัดซีอิ๊วอะไรต่างๆ"

แม้ต้นทุนการผลิตน่าจะเท่าเดิม แต่การปลูกแบบใช้สารเคมีสะดวกกว่า ฉีดยาปั๊บไปนอนรอได้เลย แต่พวกฉีดน้ำหมักชีวภาพต้องดูแลเยอะมาก อาจต้องนั่งใช้ตะเกียบคีบหนอนทีละตัว เมื่อเป็นอย่างนี้  กลุ่มเกษตรกรไร้สารพิษจึงมีอัตราเพิ่มขึ้นช้า

สิ่งที่มารุตเจอเกษตรกรมักเอาเงินเป็นตัวตั้ง ถามกลับมาว่าให้ราคาเท่าไร อันดับแรก เขาเองกลับมองคนละมุม เรื่องคุณภาพชีวิต ความเข้มแข็ง พึ่งตนเอง สุขภาพที่ดีมากกว่า และไม่จำเป็น ต้องทำเป็นรายใหญ่ แค่ผักริมรั้วก็เข้ามามีส่วนตรงนี้ ถ้าชาวบ้านรวมกลุ่มมีแกนนำรวบรวมส่งโรงพยาบาล ก็ส่งขายได้ทุกวัน

เขายกกรณียายคนหนึ่งไม่มีรายได้ ต้องขอลูก เอาไปซื้อ น้ำชากาแฟ ต้องขอทุกวัน แต่ถ้าตื่นเช้าคุณยายไปเก็บผักริมรั้ว ไม่ต้องขอเงินลูก ยังออกกำลังกายไปในตัวถือเป็นการบูรณาการชุมชนให้รายได้เพิ่มขึ้น สุขภาพดีขึ้น

ทุกวันนี้ คนที่มาส่งผักไร้สารพิษ จำกัดเฉพาะคนอยู่ในบัญชีรายชื่อ แต่ กว่าจะได้ตรงนี้ เป็นเรื่องยากทีเดียว

" ผมต้องดูคุณภาพชีวิต ดูพฤติกรรมเขาเปลี่ยนไปอย่างไรด้วย  ผมมีระบบตาสับปะรด ใช้ชุมชนดูกันเอง กรณีตัวอย่างเพิ่งเจอว่าเขาเอาผักมาส่ง แต่เขามีผักน้อย เอาผักเพื่อนบ้าน หรือที่ไหนไม่รู้นะ แต่ใช้สารเคมี มารวบรวมเพื่อให้ได้เยอะ นี้คือเอาเงินเป็นตัวตั้ง ไม่มีคุณธรรม มาส่งโภชนาการ แล้วเอาผมเป็นการันตี โดยที่ผมไม่รู้เรื่องเลย  ตาสับปะรดก็โทรมาบอกว่าผักเขาไม่มีหรอก มีนิดเดียว แต่ที่เอามาเยอะ ถามว่าคุณธรรมมีไหม วิถีธรรมมีไหม คุณมาทำบาปซ้ำซ้อนอีกแล้ว ให้ผู้ป่วยมากิน  เขาจะตายร่อแร่อยู่แล้วคุณยังเอาสารพิษมา ให้เขากินอีก คุณใจดำขนาดไหน ผมพูดประมาณนี้"

อีกราย ปลูกฟักทอง ทางโรงพยาบาลสั่ง 100 กิโลกรัม พอกลางคืนตาสับปะรดไปแอบมอง พบว่าก้นหลุมใช้พูราดาน  มารุตเลยขอยกเลิกกลางคืนนั้นเลยว่า ไม่ต้องมาส่งก่อน รอเป็นแปลงหน้าแล้วกัน

กรณีแบบนี้ มารุตเล่าและว่าต้องขึ้นแบล็คลิสต์ไว้ก่อน แต่ให้โอกาสต่อไป  เพราะเห็นว่ายังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันได้ เมื่อไรเปลี่ยนจริง ก็มาส่งกันต่อได้อีก  ปัญหาสำคัญคือถ้าผู้ผลิตไม่เกิด ไม่ขับเคลื่อน ทุกอย่างยิ่งเป็นไปได้ยาก

สิ่งสำคัญเขาพยายามบอกเกษตรกรผู้ปลูกว่า การปลูกผักไร้สารพิษเท่ากับสร้างกุศล  ได้เงินด้วย สุขภาพร่างกายดี  แต่นั่นคงเปลี่ยนความคิดทุกคนไม่ได้แน่ ฝนจำนวน100 คนเปลี่ยนได้สักคนก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว  อย่างไรก็ตามเริ่มไม่กี่เดือนกระแส ถือว่าโตเร็วในชุมชนพอสมควร เห็นได้จาก องค์กรภาคีต่างเริ่มเข้ามาช่วยกัน สนับสนุนงบประมาณ

"ถามว่า ตลาดต้องไหม กระแสสังคมต้องการไหม ตอบว่าต้องการแน่นนอน แต่เราไม่มีผักเท่านั้นเอง  เอามาเมื่อไรไม่มีเหลือ แต่ผู้ผลิตมีน้อย"

มารุตเล่าว่าแม้จะได้ราคาดี เท่าไร  แต่ยังเพิ่มได้ช้า  เพราะเปลี่ยนความคิดยากนั่นเอง ปลูก 3 เดือนใช้สารเคมี แต่ ถ้าปลูกแบบไร้สารพิษใช้เวลา 4 เดือน ต้องดูแล  ถามว่ายากหรือไม่?  ก็ไม่ยาก แถมมีความสุขด้วยซ้ำไป

"แต่นี่พูดในฐานะเราไม่ได้ปลูกผัก จับจอบเองนะ

คนปลูกเหนื่อยจริง และเสี่ยงในการเกิดเชื้อต่างๆ  ถ้ามีปัญหาไปทั้งแปลง หน้าฝน ปลูกผัก เจอเชื้อรา แต่พวกที่ใช้สารเคมีนอนยิ้มสบาย  เกิดการเปรียบเทียบในวิถีที่แตกต่างแล้ว"

เขาจึงเสนอว่าถ้าเปลี่ยนอะไรสักอย่าง ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม แนวความคิดคุณธรรม  ถ้าทำได้มีความสุข แต่ถ้าเอาเงินมาเป็นตัวตั้งแล้วก็แย่ตั้งแต่คิด

"นี่มองทฤษฎีนะครับแต่ถ้าเราเป็นเขาไม่รู้จะคิดอย่างไรเหมือนกัน  ไหนลูกต้องไปโรงเรียน ต้องมีเงินกินข้าว ถ้ามารอกับผักไร้สารพิษที่ไม่แน่นอน ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันดีๆ ต้องเอาใจใส่ผักมากกว่าลูก  แต่ค่าใช้จ่ายยังมีอาจหันกลับมาใช้สารเคมีเหมือนเดิม เพื่อความมั่นคงทางรายได้ เป็นอย่างนี้ ต้องมองหลายมุม"

เขาเองพยายามมองเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายอย่างเช่น อย่างการทุ่มเทกับแกนนำ สร้างตัวอย่างของผู้ปลูกผักไร้สารพิษ ให้เกิดขึ้นก่อน  ทำให้เขาดูดีขึ้น มีความภูมิใจขึ้น พาไปดูงานที่ดีๆ พบคนดี สิ่งดี จะมีความภูมิใจ อย่างล่าสุด เอาแกนนำบ้านพรุไปแลกเปลี่ยนที่พัทลุงว่าเขามีความภูมิใจอะไรบ้าง  ให้ทางโน้นได้ยิน  ให้เขาภูมิใจ ให้เกษตรกรข้างเคียงภูมิใจ  เผื่อคนอื่นได้ดำเนินรอยตามบ้าง

"ผมว่าน่าจะเริ่มแบบนี้  มองทั้งหมดเหนื่อย แต่ถ้ามองอย่างนี้สบายใจ"

ความหวังพอเห็นรางๆหน่วยงานอื่นหันสนใจ มาให้ความร่วมมือเพิ่มขึ้น อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่า เทศบาลเมืองบ้านพรุ  เทศบาลนครหาดใหญ่ที่โรงเรียนเทศบาล5 โรงก็โครงการด้วย  เป็นต้น ชุมชนต่างๆกำลังจะทำเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน  อย่างที่อำเภอกระแสสินธุ์  ต่างจังหวัด มีสตูล  มารุตเอง เพิ่งได้ไปคุยกับชาวบ้านที่ทะเลน้อย พัทลุง พร้อมสร้างความมั่นใจเขาว่า กลุ่มผู้บริโภคมีแล้ว ตลาดมีแล้ว พร้อมรับประกันราคาให้

คนที่ปลูกไร้สารพิษจริงๆ เอามาขายที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ได้ทันที เท่าที่ผ่านมาเมื่อเปิดขายเป็นการทั่วไปเมื่อไร คนแย่งกันซื้อแม้แพงกว่าปกติ เพราะโรงพยาบาลการันตีคุณภาพให้  ล่าสุดโรงพยาบาลหาดใหญ่ กำลังจัดทำเป็นร้านขายผักเป็นบูธใหญ่ โดยสหกรณ์สุขภาพโรงพยาบาลหาดใหญ่จะให้ตู้แช่ผัก  เพื่อบูรณาการกับประเด็นผู้พิการ จึงวางแผนจ้างคนพิการมาดำเนินการ ทั้งบรรจุถุง วางขาย  การดำเนินงานจริงคงจะเริ่มหลังสิ้นฤดูฝนปีนี้ หลังผ่านปัญหาน้ำท่วม ซึ่งทำให้ผักขาดแคลนระยะหนึ่ง

"ที่ผ่านมาเมื่อรับผักแล้วจะส่งให้หน่วยโภชนาการปรุงอาหารให้ผู้ป่วยกินก่อน  ที่ขายกับคนทั่วไป บางวันกลุ่มเกษตรกรบอกว่ามา ก็จะมากันยังไม่แน่นอน  แต่อนาคตเราจะจัดการแบบใหม่ เมื่อผู้ผลิตมาส่งผักที่สหกรณ์ผู้ผลิตรับเงินเสร็จ  ทางโรงพยาบาลจะ แยกให้กับโภชนาการ ส่วนหนึ่ง  แล้วการขายให้กับประชาชนทั่วไปอีกส่วนหนึ่ง"

แผนการขยายแนวคิด จะเริ่มจากบูธเล็กๆ ก่อนให้ซึมขยายโตไปเรื่อยๆ ให้ชาวบ้านใกล้โรงพยาบาลได้รู้ เข้าใจ ร้านอาหารหน้าโรงพยาบาลได้เอาผักไร้สารพิษไปปรุงอาหารซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นต่างคอยกันอยู่ถึงแพงก็ไม่กลัว  ถือว่าได้ส่งเสริมกัน กำไรน้อยลงแต่ได้สุขภาพที่ดี  โดยโรงพยาบาลจะออกป้ายการันตีเรื่องนี้ให้ด้วย

ขณะที่สถานการณ์ผู้ผลิตมีไม่พอความต้องการ มารุตเสนอทางออกทางออกอย่างหนึ่งว่าน่าจะช่วยกันปลูกผัก ลงกระถาง อะไรก็ได้ ข้างบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อที่ดิน

" อย่างผมไปดูงานที่เขตหลักสี่ กทม.โครงการผักลอยฟ้า บนดาดฟ้ามีทั้งมะละกอ กล้วย มีผักทุกอย่าง มะระ ฟักแฟง แตงกวา มะเฟือง ได้หมด  องุ่นเต็มเลย  ขนาดมีนกมีสัตว์มาอยู่ เขาปลูกแบบไร้สาร  แล้วส่งขายตามห้างได้ด้วย"

ทางโรงพยาบาลหาดใหญ่ กำลังริเริ่มปลุกพืชบนดาดฟ้า  โดยทดลองกันทำเองก่อนเล็กๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหาดใหญ่เข้ามารวมกลุ่ม สิ่งที่มารุต อยากเห็นคือหลังเลิกงานเจ้าหน้าที่จูงลูก ดูแปลงผักของตัวเอง น่าจะมีความสุขมากกว่าไปซื้อ แล้วก็ ยังเปลี่ยนทัศนคติของเด็กให้ดีขึ้นได้ด้วย

"ตอนนี้พยายามส่งเสริมให้เปลี่ยนพฤติกรรมอยู่ แต่คนทุกวันนี้ มักมีการอ้างเรื่องต้องทำงานไม่มีเวลา  สิ่งที่ทำได้คือทำเป็นตัวอย่างที่ดีไปก่อน ให้เขามาเห็นจากหนึ่งเป็นสอง"

แม้กระแสสุขภาพเกี่ยวข้องเรื่องนี้เยอะ อย่างล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขกำลังมีนโยบายให้คนหันมาให้คนกินผักกับน้ำพริก มารุตยังมองว่าปัญหาระบบราชการ ที่ทำงานเป็นระบบ ค่อนข้างชักช้า  ปกติข้าราชการหน้าที่เยอะอยู่แล้ว พอทำอะไร ก็จะเดินช้าไปหน่อย ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องมาช่วยกันขับเคลื่อนกัน แต่เปลี่ยนแบบกระชากไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากบ้าน พ่อแม่กินผักหรือยัง? ข้างบ้านกินผักหรือยัง? เป็นตัวอย่างให้เห็น ไปเรื่อยๆ ทีละนิด

สุดี ทองตัน หัวหน้าฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า มีความพยายามที่จะนำผักไร้สารพิษ มาให้ผู้ป่วยบริโภคมาเป็นระยะเวลาพอสมควร  ก็เจอปัญหามามาก เช่นกัน อย่างที่เกษตรกรบอกว่าไม่ใช้สารเคมีอันตราย แต่ไปตรวจพบกระป๋องยาหัวกะโหลกไข้อยู่เต็มบ้านไปหมด  ก็รู้สึกผิดหวัง จนภายหลังจึงต้องรับซื้อเฉพาะคนที่พูดจริงทำจริง

" ทางฝ่ายโภชนาการเราก็ปรับไปตามเขาด้วย เขาปลูกอะไร ทำอะไร เราจะมาปรับกับฝ่ายโภชนาการ ว่าจะทำอะไรได้ ดัดแปลงเป็นอาหารอย่างไร  ผักพื้นบ้านเราใช้ได้หมด"สุดีว่า

ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลหาดใหญ่  เป็นผู้รับผิดชอบโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ กรกฎาคม 2550  เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดซื้อวัตถุดิบบางชนิดจากตลาดสดทั่วไป ไม่มีการทดสอบการปนเปื้อนสารเคมีในห้องปฏิบัติการอย่างจริงจัง เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีไม่พึงประสงค์  อย่างไรก็ตามผักปลอดภัยยังมีไม่เพียงพอความต้องการในขณะนี้

Relate topics

Comment #1
ทำไมไม่รับผักปลอดสาร (Not Member)
Posted @4 ม.ค. 51 13:14 ip : 124...143

ผมสามารถหา่ส่งให้ได้นะครับ 086-6969937

Comment #2
คุณมนทิรา (Not Member)
Posted @17 ส.ค. 52 08:59 ip : 202...211

ถ้าเกิดสนใจแล้วจะติดต่อแผนกไหนของโรงพยาบาลหาดใหญ่ละค่ะ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว