สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แตงโมไร้สารพิษที่จะนะ

by kai @11 เม.ย. 50 20:21 ( IP : 222...177 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 536x715 pixel , 173,351 bytes.

แตงโมไร้สารพิษที่จะนะ
ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ ในวันที่แดดร้อนอบอ้าว ปกคลุมไปทั่วทุกหัวระแหง เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในเวลานี้ว่า "ร้อน" ระอุไม่แพ้เปลวแดดหน้าร้อน ด้วยความขัดแย้งระหว่างโครงการเชิงนโยบายขนาดใหญ่ของภาครัฐกับชุมชนที่แตกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านโครงการ  หากทว่าภายใต้สมรภูมิความขัดแย้งดังกล่าววิถีแห่งชุมชนก็ยังต้องดำเนินต่อไป

สวนยางอันร่มรื่น  ยืนทอดแถวเป็นแนวยาวนำพาสายตาไปสู่แปลงแตงโมไร้สารพิษของอดีตโต๊ะอิหม่ามรอหีม สะอุ เป็นเป้าหมายของการลงมาเยี่ยมแปลงของภาคีแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา  ผู้มาเยือนจำนวนหลายสิบคน ตั้งใจจะมาชิมแตงโมหวานกรอบ  เยี่ยมดูแปลงบวบ และผักสารพัดชนิด ที่กำลังผลิดอกออกผล โดยที่ละความสนใจจากฟากหนึ่งของสวนที่ห่างไปไม่ถึงห้าร้อยเมตรโรงแยกก๊าซกำลังก่อสร้างอย่างรีบเร่ง

ฝ่าเปลวแดดที่ร้อนแรงของเดือนมีนาคม ผู้มาเยือนต่างถิ่นต่างแดน บ้างมาจากสทิงพระ บ้างมาจากรัตภูมิ บ้างมาจากสะเดา พกพาหัวใจเดียวกันดั้นด้นมาถึงที่

ป้ายผ้าสีเหลืองเขียนตัวหนังสือสีแดงเข้มตัวใหญ่ "จุดเยี่ยมแปลง แตงโมไร้สาร" ตรงทางเข้าสวนทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาเยือน ขณะที่เจ้าของสวน ยืนรอพวกเราอยู่ก่อนแล้ว

อดีตโต๊ะอิหม่ามรอหีม สะอุ แกนนำค้านท่อก๊าซและอดีตพรานหาปลา-ที่สามารถดำน้ำฟังเสียงปลาจนเป็นที่เลื่องลือ ในวันที่สวมหมวกเกษตรกรเต็มตัวย้อนความทรงจำถึงวิถีเกษตรกรในอดีตของชุมชนตลิ่งชัน ซึ่งกำลังจะกลายเป็นสิ่งเชยช้าล้าสมัย แต่ตนเองนั้นกลับมองเห็นคุณค่าที่สอดคล้องกับหลักศาสนา โดยเฉพาะการผลิตอาหารที่ไร้สารปนเปื้อนไม่ทำร้ายคนอื่น

"50 ปีก่อน ไม่มีใครใช้สารเคมี" มะแก่ที่นั่งอยู่ข้างๆ โพล่งออกมาว่า อยากทำสวนแบบไม่ใช้ยา(เคมี)เหมือนกันแต่ก็แพ้มด

น้ำเสียงซื่อๆโผงผางตรงไปตรงมาของมะทำให้หลายคนสะดุดใจหันมามอง "มียาอะไรบ้างที่จะช่วยกำจัดมดคันร้อนบ้างอาจารย์" แกถามทุกคนที่มาเยือน

หลายคนสนใจสูตรทำน้ำหมัก ที่มีสารพัดสูตรแล้วแต่วัสดุของแต่ละท้องถิ่น บางคนก้มลงดมน้ำหมักในถังที่เอาไว้ไล่แมลง ตำบลตลิ่งชันอยู่ใกล้ทะเล ชุมชนที่นี่หาทำประมงเป็นอาชีพหลัก ดังนั้นหัวปลากะตักจึงหาได้ไม่ยาก ใส่กระสอบนำมาเป็นวัตถุดิบ ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

มะแก่ยังไม่วายหาคนมาไขข้อข้องใจ "ไม่รู้ว่าจะแก้ยังไง ใช้สารส้มก็แล้ว ใช้ช็อกโรยก็แล้ว สุดท้ายเลยใช้น้ำร้อนลวกเสียเลย"

พูดแล้วก็หัวเราะ คราวนี้หลายคนเลยหันมาสนใจสูตรไล่แมลงจากสมุนไพร ที่อดีตโต๊ะอิหม่ามทดลองใช้เหล้าขาวผสม

"ฆ่าสัตว์เป็นสิ่งไม่ดี ท่านศาสดาก็ได้ห้ามไว้เหมือนกัน" อดีตโต๊ะอิหม่ามบอก

เป้าหมายของการเยี่ยมแปลงในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการให้กำลังใจเกษตรกรในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน รวมไปถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคซึ่งครั้งนี้มาจากสหกรณ์สุขภาพของโรงพยาบาลหาดใหญ่ และรวมไปถึงผู้บริหารสถานการศึกษา ที่สนใจกระบวนการเรียนรู้ในการทำเกษตรไร้สาร ได้มีโอกาสมาร่วมทัวร์

"อย่างผมนี่ลงสวนทำเองทุกวัน ทำจนเคยชินแล้ว แต่คนอื่นเขามองว่าเชย ช้า ไม่ทันใจ สู้ซื้อปุ๋ยเม็ดหว่านทีเดียวให้แล้วเสร็จไม่ได้"

อดีตโต๊ะอิหม่ามบอกเล่าประสบการณ์ในการทำงาน  อาจารย์ภาณุ พิทักษ์เผ่า ครูใหญ่ที่เป็นผู้นำหลักของพวกเรา บอกกับทุกคนว่าทุกวันที่ร้านครัวเพื่อนสุขภาพที่ดูแลอยู่จะมีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งมาพูดคุยด้วยสม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นปัญหาการบริโภคอาหารของคนในปัจจุบันที่มีปัญหาจากสารปนเปื้อนและส่งผลร้ายต่อสุขภาพ

"พวกเรามาถึงสวน จะเห็นว่าเมื่อแตงโมจำนวนมากออกสู่ตลาด แต่จะมีคนซื้อสักกี่คนที่ซื้อได้อย่างมั่นใจว่าเป็นแตงโมปลอดสาร"

อาจารย์บอกว่าผลิตอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค นอกจากจะไม่ทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างผ่อนส่งแล้วยังเป็นการทำบุญอีกด้วย

ทัวร์สุขภาพครั้งนี้เราเลือกแปลงที่จะลงเยี่ยมไว้ 3 แปลงได้แก่

  1. แปลงไร้สารพิษ รูปแบบการเกษตรชนิดนี้ จะมีกระบวนการผลิตที่ใช้ปุ๋ยหมัก 100% ปุ๋ยหมักดังกล่าวนิยมใช้วัสดุที่มีอยู่ท้องถิ่นเป็นหลัก(เท่ากับส่งเสริมการพึ่งตนเอง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปด้วย) และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้พลูระดานรองพื้น

  2. แปลงปลอดสารพิษ มีรูปแบบใกล้เคียงกับไร้สารพิษ กล่าวคือ ใช้ปุ๋ยหมักปริมาณ 80-90% แต่มีการใช้ปุ๋ยเคมีเพียง 10% โปรยหน้าก่อนเก็บเกี่ยว

  3. แปลงใช้สารเคมี เพื่อให้เห็นความแตกต่าง แปลงดังกล่าวมีการใช้พลูระดาน ใช้สารเคมีทุกขั้นตอนการผลิต

ดูเพื่อให้เปรียบเทียบ ได้ย้อนคิด แล้วตั้งคำถามกับตัวเองถึงความเป็นไป

เดินตามอดีตโต๊ะอิหม่าม ไปยังแปลงแตงโม ไล่ดูไปทีละแปลง ก่อนที่จะเดินตัดสวนยางข้ามแปลงที่ผลิตแบบใช้สารเคมีซึ่งเป็นของเพื่อนบ้าน  เหลือร่องรอยให้เห็นว่าเพิ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตไปไม่นาน ดินทรายขาวร่วนสะท้อนแสงลอดพุ่มแตงโมหงิกงอ

ตัดข้ามไปอีกแปลง คราวนี้เป็นของอดีตโต๊ะอิหม่าม แตงรุ่นที่สองนับพันลูกกำลังสุกอวดผลเขียวไปทั่วแปลง "ผมปลูกแตงโดยไม่ใช้น้ำ บางคนบอกว่ารดน้ำมาก แตงโมจะไม่หวาน ผมปลูกแตงโดยใช้น้ำตามธรรมชาติ ใช้น้ำจากธรรมชาติให้มากที่สุด ถ้าปีไหนน้ำน้อยหน่อย แตงผมก็จะลูกเล็ก" อดีตโต๊ะอิหม่ามเล่า

ลองคำนวณคร่าวๆ นับแต่วันแรกที่ลงมือปลูก นั่งนับวันไป 72-73 วันกว่าจะได้เห็นดอกผล และแต่ละรอบเก็บเกี่ยวได้ 2-3 ครั้งต่อรุ่น

ผลผลิตปีแรกยังไม่ดีนัก แต่อดีตโต๊ะอิหม่ามก็พอใจ "ทำเกษตรไร้สารไม่จน แต่ไม่รวย ผมรู้สึกว่าอยู่ได้ทุกวันไม่มีอด"

แดดยิ่งร้อนอบอ้าว เราเดินกลับมาที่สวนยาง หอบหิ้วแตงโมกันมาคนละลูกสองลูก เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหาดใหญ่แย้มให้ฟังอย่างน่าตื่นเต้นว่าทางโรงพยาบาลมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพ โดยอยากให้คนไข้ ญาติผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่ ได้รับประทานอาหารปลอดสารพิษ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร โชคดีว่ามีเครือข่ายของผู้พิการในโรงพยาบาลเขียนโครงการขอเงินไปยัง สปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) มาให้เหยื่อเมาไม่ขับ จึงได้ประสานกันชักชวน อ.ภาณุ และเครือข่ายเกษตรวิถีธรรมในแผนสุขภาพ มาร่วมงาน  ทำให้มีโอกาสมาเยี่ยมแปลงในครั้งนี้

"ก่อนหน้านี้ก็พยายามหาเครือข่ายเกษตรกร ว่าที่ไหนบ้างที่มีการปลูกผักปลอดสาร แล้วลงทะเบียนไว้ เพื่อให้รู้ว่าที่ไหนมีผักบ้าง ที่ผ่านมาในโรงพยาบาลพูดกันมากแต่ไม่มีผักของจริงมาให้ผู้บริโภคเสียที มาคราวนี้อย่างไรเสียคงจะต้องได้แตงโมไร้สารกลับไป"

เราทยอยขึ้นรถแล้วเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านตลิ่งชัน ท่านผอ.เจ้าของสถานที่แสดงความตั้งใจไว้ล่วงหน้าที่จะต้อนรับพวกเรา

ผ่านท้องทุ่งที่เต็มไปด้วยสวนแตงโม ทุ่งนา แล้วเราก็เห็นโรงแยกก๊าซมหึมาที่กำลังก่อสร้าง

พิษภัยจากสารเคมีถึงแม้จะรุนแรงสักเพียงใด แต่ก็คงไม่เท่าพิษร้ายแห่งความละโมบ อยากได้ใคร่มีไม่มีสิ้นสุดที่ฝังลึกในใจคน

หมายเหตุ * สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมติดต่ออดีตโต๊ะอิหม่าม รอหีม สะอุ เกษตรกรตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โทร. 0843135694

Relate topics

Comment #1
lek (Not Member)
Posted @23 ก.ค. 50 09:23 ip : 202...1

อยากกินจัง

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว