สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ธนาคารขยะคลองทรายมูลค่าเพิ่มของจิตอาสา

  • photo  , 640x480 pixel , 43,257 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 10,212 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 11,285 bytes.
  • photo  , 221x166 pixel , 8,875 bytes.
  • photo  , 125x166 pixel , 7,361 bytes.
  • photo  , 640x480 pixel , 33,962 bytes.
  • photo  , 640x480 pixel , 30,725 bytes.
  • photo  , 640x480 pixel , 41,072 bytes.
  • photo  , 640x853 pixel , 46,378 bytes.
  • photo  , 640x480 pixel , 35,525 bytes.
  • photo  , 640x480 pixel , 38,838 bytes.
  • photo  , 640x853 pixel , 58,157 bytes.
  • photo  , 640x480 pixel , 22,841 bytes.
  • photo  , 640x480 pixel , 22,841 bytes.
  • photo  , 640x480 pixel , 17,907 bytes.

บ่ายวันที่ 2 พฤษภาคม 2552  สองพี่น้อง ด.ช. ธนชัย กับ ด.ช.เศรษพงษ์ อ่อนทอง เดินฝ่าแดดเข็นรถที่บรรทุกขยะมาตามถนน มุ่งหน้ายังศาลาเอกประสงค์บ้านคลองทราย หมู่ 1 ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
   
บ้านคลองทรายมี 168 ครัวเรือน ประชากรราว 600 คน แวดล้อมด้วยทุ่งนาป่าเขา ส่วนมากเป็นชาวสวนยางมีการรวมกลุ่มต่างๆ  เช่นกลุ่มน้ำยาง  กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มปุ๋ย กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเลี้ยงโค เป็นต้น
   
แต่ถึงวันนี้ เป็นที่รู้กันว่าทุกวันที่ 2 ของเดือนธนาคารขยะบ้านคลองทรายจะเปิดดำเนินการเป็นกลุ่มกิจกรรมน่าสนใจอีกอย่าง  ธีระพล บุญทอง ประธานโครงการธนาคารขยะ ตำบลคลองทราย เล่าว่า เพราะปัญหาขยะในชุมชน ทำให้มีการรวมตัวคิดทำเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าแนวทางควรจะเป็นอย่างไร
 
เขาเห็นขยะกระจัดกระจายตามบ้านเรือน ปลิวว่อน เพ่นพ่านตามท้องถนน กระทั่งกองขยะนิรนาม ส่งกลิ่นเหม็นอยู่ในชุมชน โดยไม่มีการจัดการมานาน แม้ต้นทุนชุมชนเกี่ยวกับเรื่องนี้  อาจารย์ภาณุ พิทักษ์เผ่า เคยเข้ามาสอนให้นำขยะอินทรีย์ไปทำน้ำหมักชีวภาพและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเช่น ปุ๋ย สบู่
   
“เราจึงคิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้ขยะออกจากบ้าน จากการเห็นปัญหา และคิดร่วมกันหลายคนว่า คิดว่าจะเอาขยะออกจากบ้านโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม”    
คำอธิบายภาพ พีระพลเคยดูทีวีพบว่ามีหมู่บ้านต้นแบบแห่งหนึ่งที่นนทบุรี นำให้ขวดที่ใช้แล้วทำให้มีค่าขึ้นมา ผิดกับแถวบ้านเขา นอกจากไม่มีค่าแถมเป็นขยะ
   
“คิดอยู่นานแล้วแต่นั่งพูดกันเท่านั้น พอบอกชาวบ้านเขาว่าผมบ้า เป็นไปไม่ได้หรอก  ในที่สุดเมื่อหลายๆ คน มาช่วยกันจึงมาประสบความสำเร็จเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ และเริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์”
   
ตอนเปิดธนาคารขยะ นายอำเภอนาทวีมาเป็นประธาน พีระพลยังจำคำท่านนายอำเภอพูดว่าแค่คนคิดเรื่องนี้ก็สบายใจ แต่เมื่อคนคิดด้วยทำด้วย ถือว่าดีมาก เรื่องแบบนี้ทำยากมาก    
สถิติช่วง 3 เดือนของธนาคารขยะ ครั้งแรก 2 กุมภาพันธ์ ได้ 218 กก. จำนวนเงินรับซื้อ 650 บาท ขายได้ 900 บาท  ครั้งที่  3 มีนาคม ได้ 496 กก. จำนวนเงินรับซื้อ 1,170 บาท ขายได้ 1,700 บาท  ครั้งที่ 3  เมษายน ได้1,093 กก. จำนวนเงินรับซื้อ 1621 บาท ขายได้ 2,160 บาท    
“ขยะที่คนนำมาฝาก เราจะตีมูลค่าเป็นเงินในสมุดฝาก ขยะส่วนมากเป็นขวด และพลาสติกรวมๆกันครับ” พีระพลเล่า    
“ก่อนที่เราจะเปิดธนาคารขยะ 3 เดือน ขวดที่ใช้แล้วเราเคยให้เปล่าเขาไป หลังจากนั้นพ่อค้าคนกลางมาซื้อเริ่มต้นจาก 3กิโลกรัมต่อหนึ่งบาท  พอเรามาเปิดตรงนี้เป็นทางการเขามาซื้อในราคา กิโลกรัมละ 50 สตางค์”    
พอเริ่มดำเนินการจึงมองเห็นลู่ทาง ชาวบ้านอาสามาเป็นทีมพนักงานของธนาคารขยะ งานที่ไม่มีค่าตอบแทน กระบวนการทำงานตั้งแต่ ขึ้นป้ายราคาขยะประจำวัน  การรับฝากขยะ  เริ่มจากรับขยะ แยกขยะ นำขึ้นตาชั่ง คิดบัญชี การเงิน  และส่งขยะขายต่อ    
ประธานธนาคาร ผู้จัดการ ฝ่ายการเงิน พนักงานต้อนรับ ต้องมาช่วยกันทำหน้าที่ทุกอย่างเกือบเท่าเทียมกัน เพราะ ถ้าไม่ช่วยจะทำไม่ทัน โดยเฉพาะเวลาที่ขยะเข้ามาพร้อมกันมากๆ  ผลกำไรนำเป็นกองกลางบริหารธนาคารต่อไป
   
“เราไม่ได้หวังผลกำไร  สำหรับสมาชิกใครมาฝากก็รับไม่เฉพาะคนบ้านคลองทราย ใครก็ได้ แต่ต้องมาเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งไม่ยากสมัครเป็นสมาชิกแล้วฝากได้เลย หรือเป็นสมาชิกเอาไว้ก่อนยังไม่ฝากก็ยังได้  ทุกวันนี้เรามีสมาชิก 66 คน แต่ที่ฝากต่อเนื่องอยู่ราว 50 คน”    
เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ พีระพลทำใบปลิวแจกจ่ายให้ชาวบ้าน พยายามอธิบายว่า
   
คำอธิบายภาพ


    ธนาคารขยะคือ การซื้อขายขยะในชุมชน โดยรายได้จากการขายขยะจะถูกบันทึกลงบนสมุดคู่ฝากของสมาชิก และสามารถฝากหรือถอน ได้เหมือนกับการฝาก-ถอน เงินในธนาคาร     ทำไมต้องทำธนาคารขยะ     -เพื่อปลูกจิตสำนึก ในการจัดการขยะและการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน     -เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและเสริมสร้างความรู้ ในการจัดการขยะอย่างถูกต้องและยั่งยืน ช่วยสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัว     -เพื่อนำผลพลอยได้จากการทำธนาคารขยะมาตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของชุมชน
    ขยะที่ฝากขายในธนาคารขยะได้     -กระดาษทุกชนิด เช่นกระดาษลัง กระดาษหนังสือพิมพ์ สมุด หนังสือ นิตยสาร     -พลาสติก เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำมัน ขวดน้ำมันพืช ชวดน้ำปลา ขวดนมเปรี้ยว ขวดยาคูลท์ ถังน้ำ กะละมัง ขวดยาสระผม ขวดน้ำอัดลม ขวดซอส     -ขวดแก้ว เช่น ขวดเหล้า ขวดน้ำปลา ขวดน้ำอัดลม ขวดเครื่องดื่มไวตามิล ขวดเบียร์     -เศษเหล็ก เช่น กระป๋องปลากระป๋อง  โครงล้อรถ กระป๋องกาแฟ กระป๋องนม มีดกรีดยาง     -อลูมิเนียม เช่นกระป๋องน้ำอัดลม ,กระป๋องเบียร์, ตะกงยาง     -ทองเหลือง ,ทองแดง     -ท่อพีวีซี ,สายยาง ,สังกะสี ,สายไฟ     ขยะที่ฝากไม่ได้
    -เศษอาหาร     -ขยะเน่าเปื่อย     -ถุงพลาสติกทุกชนิด     -กล่องโฟม     -หลอดไฟ ,ถ่านไฟฉาย     -ยางล้อรถ     -หมวกกันน็อค     -ขวดโซดา ,ขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง     เตรียมตัวก่อนไปฝากธนาคารขยะ     -แยกชนิดขยะแต่ละประเภท ออกจากกัน เช่น ถ้าเป็นขวดแก้ว ให้แยกตามสีของขวด ขวดพลาสติคแยกเป็นขวดใสและขวดขุ่น     -กระดาษแยกมัดเป็นพวกๆ
    ผู้ที่นำขยะฝากธนาคารได้  คือทุกคนหมู่บ้านคลองทราย และ ใกล้เคียง นัดกันทุกวันที่ 2 ของทุกเดือน เวลา บ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น  ณ ศาลาเอนกประสงค์ บ้านคลองทราย


สมุดฝากธนาคารขยะบ้านคลองทราย เป็นสมุดคู่มือง่ายๆ  หน้าปกสีฟ้า พาดข้อความว่า สมุดฝาก-ถอน ธนาคารขยะบ้านคลองทราย หมู่ที่ 1 ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา (สนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ สสส. ) ด้านล่างเป็นชื่อเจ้าของบัญชี
ปกด้านใน ระบุข้อควรปฏิบัติ สำหรับสมาชิก ว่า

    -ขยะที่นำมาฝากขาย ควรแยกชนิดให้เรียบร้อย     -ราคาของขยะแต่ละชนิด เปลี่ยนแปลงตามราคาท้องตลาด     -การถอนเงินค่าขยะให้ถอนได้หลังจากฝากครบ 1 เดือน     -การถอนเงินค่าขยะให้มีเงินคงเหลือไว้ในบัญชีไม่น้อยกว่า 10 บาท     -ขวดแก้วที่นำมาขาย จะต้องอยู่ในสภาพสวย สะอาด ขอบปากขวดไม่แตก หรือมีรอยบิ่น

คำอธิบายภาพ ถวิล ดำแก้ว ผู้จัดการธนาคารขยะบ้านคลองทราย เล่าว่าการดำเนินงานเบื้องต้นใช้วิธีประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ก่อน ผ่านเวทีประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน  และบอกกันปากต่อปากออกไปเรื่อย
   
ปัญหาพื้นฐานของที่นี่ไม่ต่างจากชนบททั่วไป ที่รับเอาวัฒนธรรมบริโภคยุคใหม่ ที่มีขยะแถมมาด้วย และยังไม่รู้ว่าจะกำจัดไปให้พ้นได้อย่างไร  ถวิลบอกคนอื่นว่าถึงเวลาเอาขยะออกจากบ้านเรากันเถอะ โดยไม่ให้ใครเดือดร้อน
     
“คนในหมู่บ้านรู้ ก็บอกต่อกับคนหมู่บ้านใกล้เคียง เพราะ เราเปิดรับทั่วไป  เป็นสมาชิกได้โดยไม่มีค่าสมัคร แค่เอาขยะมาฝาก บางคนมาจาก ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ  ก็มี”
   
ขยะที่รับฝากมากที่สุดหลังดำเนินการมา 3 เดือนกว่าพบว่าเป็น พลาสติก จำพวก กระป๋องนม ขวดนมเปรี้ยว ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำเปล่า นอกจากนั้นคือขวดแก้ว ส่วนมากเป็นขวดเบียร์  สำหรับกระป๋องเบียร์ น้ำอดลมมีจำนวนไม่มากนัก    
“การที่เด็กได้เก็บขายเท่ากับว่า ทำให้พวกเขามีส่วนร่วม” ภาพหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังมาทำเรื่องนี้กันอย่างจริงจังคือ ตามบ้านเรือนของชาวคลองทรายจะมีการเตรียมกระสอบปุ๋ยเพื่อเก็บขยะเอาไว้ขาย เป้าหมายเพื่อนำไปฝากธนาคารขยะหรือนัยหนึ่งก็คือการขายได้เงินกลับมานั่นเอง  ถวิลมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแยกขยะ  ทำให้สิ่งไม่มีค่า กลับเป็นมีค่าขึ้นมา
   
“พอทุกคนได้เก็บขยะมาขายทำให้มีส่วนร่วม คนสนใจกันมาก  ตอนนี้ ทางอำเภอนาทวีเองก็สนับสนุน โรงเรียนต่างเข้ามาหาข้อมูล มีส่วนร่วม อย่างทางอำเภอนำไปเสนอเป็นผลงานอย่างหนึ่งของชุมชน สำหรับโรงเรียนรณรงค์เรื่องลดโลกร้อน ลดขยะก็หันมาทำเรื่องนี้”    
ถวิลเล่าว่า การบริหารธนาคารขยะ อาศัยคณะกรรมการจำนวนหนึ่งที่อาสามาทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน ทุกคนต้องช่วยกันทำงานในทุกขั้นตอน  ผู้จัดการอย่างเขาเองต้องช่วยแยกขยะ ยกขยะขึ้นตาชั่ง นำไปเก็บรวมกันรอขาย
   
“คนที่นำขยะมาฝากแล้วในครั้งแรกจะยังเบิกเงินไม่ได้  ถ้าต้องการเบิกเงินจะทำได้ในการฝากขยะครั้งที่ 2 เป็นต้นไป และต้องเหลือค้างบัญชี 10 บาทเสมอ เบิกหมดไม่ได้”    
ผ่านมา 3 เดือน มีกำไร 1,300 กว่า บาท เก็บไว้เป็นกองกลางเพื่อบริหารธนาครขยะโดยไม่ต้องพึ่งใครในอนาคต    ถวิลประกาศว่าจะทำโครงการนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่มีขยะ หรือถ้าขยะน้อยลง อาจทอดระยะเวลาในการรับฝากให้นานขึ้น
   
“ความร่วมมือถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นคิดว่า สัก 1 ปีอาจเห็นอะไรที่ชัดเจน เรื่องนี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ยาเสพติด  แต่ระยะนี้จะเห็นเรื่องการเสียสละ  ชัดเจน  แม้ว่าต่างคนต่างมีงานมีภารกิจส่วนตัว แต่ยินดีมาช่วย โดยไม่มีค่าตอบแทน”ถวิลเล่าอย่างภูมิใจในพี่น้องชาวบ้านคลองทราย    
เป็นครั้งแรกของหมู่บ้านที่สามารถรวมคน มาทำงานด้วยใจได้จริงๆ
กลุ่มที่เกิดขึ้น เป็นพลังชุมชนที่มาพบ พูดคุย ทำงาน ด้วยจิตอาสา  ช่วยกันทำด้วยใจจริงๆ
 
“เราเดินตามรอยปริก(เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา) ที่เขาประสบความสำเร็จเรื่องการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม  เขามีกองหนุนคือเทศบาล แต่ที่ อบต. ของเรายังไม่หนุนเลย  ชาวบ้านทำกันด้วยใจจริงๆ”
   
หลังดำเนินการธนาคารขยะมาในช่วงเริ่มต้นผลตอบรับ อันหนึ่งที่ถวิลมองเห็นคือ ปรากฏการณ์แอบทิ้งขยะของชาวบ้านริมถนนหนทางในหมู่บ้าน ไม่ค่อยพบแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อน มีงานบวช งานแต่ง ขยะมีมากเกินจะกำจัดเองแล้วละก็ จะมีมือมืดเก็บขยะใส่ถุงแล้วแอบมาทิ้งข้างถนนหลังเลิกงานอย่างไม่ต้องสงสัย  ถึงตอนนี้ น้อยลงเพราะจะถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่เอาไปฝากธนาคารขยะเล่า?    
คำอธิบายภาพ อย่างไรก็ตาม วาสนา สุขมี เลขานุการโครงการธนาคารขยะคลองทราย และกลุ่มสมาชิก ตั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มขยะที่มากขึ้น สะท้อนปัญหาที่ต้องไล่ตาม
   
“เดี๋ยวนี้ ไปซื้อของอะไรมาก็ใส่ถุงกรอบแกรบ บางคนถุงเดียวไม่พอให้เขาซ้อน 2 ชั้นเสียอีก ” วาสนาเล่า ขยะเลยเต็มหมู่บ้าน  ถึงแม้ว่าจะมีธนาคารขยะแต่เจ้าถุงกรอบแกรบ( ถุงหิ้ว) ยังเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป  ทางธนาคารยังไม่สามารถรับฝาก เพราะยังขายต่อไม่ได้    
วาสนายอมรับว่า ปัญหาขยะที่คลองทรายคงไม่ต่างจากชุมชนทั่วประเทศไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะในท้องที่ซึ่งยังไม่มีระบบจัดเก็บขยะ อย่างเคยเกิดเหตุการณ์แอบทิ้งขยะแถวชายป่าในหมู่บ้าน คนที่ทิ้งคิดว่าเป็นชาวบ้านในพื้นที่ นั่นแหละ แต่ไม่รู้จะบอกกล่าวกันอย่างไร เพราะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน อีกอย่างเป็นเรื่องจิตสำนึก
 
............     เมื่อ ด.ช. ธนชัย กับด.ช.เศรษพงษ์ ที่เราเห็นเขาอยู่บนถนนในตอนแรก เข็นขยะถึงหน้าศาลาเอนกประสงค์ เขาเผยยิ้มกว้างเลยทีเดียว  เพราะอีกไม่กี่นาที ขยะ กำลังแปลงเป็นจำนวนเงินลงบัญชีฝาก  แม้เงินไม่มากมันก็ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงโดยแท้

คำอธิบายภาพ สองพี่น้องขนขยะมา 4 กระสอบ รถเข็นที่นำมาเป็นของปู่ที่อนุญาตใช้บริการฟรี  หุ้นส่วนขยะพี่น้องคนละครึ่ง
   
“ผมมาขายทุกครั้งที่ธนาคารขยะเปิด ยกเว้นถ้าตรงกับวันไปโรงเรียนมา จะฝากแม่มาขายให้แทน” ด.ช.ธนชัยว่า ขยะที่นำมาส่วนมากเป็นขวด หาจากที่บ้านตัวเอง ที่ขวดเบียร์มาก เพราะพ่อกินเบียร์

“พอพ่อโยนขวดก็นำมาเก็บไว้” เขาเล่าว่าคราวแรก  ได้ 9 บาท  ครั้งที่ได้เงินมากสุด คือ 39 บาท พอได้เงินก็รู้สึกว่ามีเป้าหมายขึ้นมา นอกจากได้ที่บ้านแล้วยังออกตระเวนไปหาที่บ้านอื่นทุกวัน

“ที่บ้านย่าได้ขวดน้ำปลา ส่วนขยะอย่างอื่นที่เก็บมาได้ อย่าง จอกน้ำที่เป็นยาง และกะลังมังพลาสติกเก่า” เขาเล่าว่า ขยะที่พบมากในหมู่บ้านคือถุงพลาสติก แต่ ธนาคารขยะยังไม่เปิดรับ

สำหรับที่โรงเรียนบ้านป่าชิงที่เขาเรียนอยู่พบว่าขยะมากเหมือนกัน เขามักเก็บกลับมาบ้านรวบรวมเพื่อส่งธนาคารขยะ  บางครั้งครูสั่งให้เก็บขยะข้างโรงเรียนจะได้ กระป๋องน้ำอัดลม แก้วน้ำแข็งพลาสติก

ด.ช.เจษฎา ประชาเรืองฤทธิ์  ม.1  ด.ช.วันเฉลิม ดำแก้ว ม.2 ร.ร.สองคนนี้ อยู่โรงเรียน นาทวีวิทยาคม ส่วน ด.ช.ประวิทย์ ดำแก้ว อยู่ป.2 โรงเรียนบ้านลำชิง ทั้งสามช่วยกันเล่า ว่าที่รู้เรื่องนี้ เพราะแม่มาประชุมแล้วกลับไปบอก มาขาย 3 ครั้งแล้ว  ทุกวันนี้ ถ้าขี่รถไปตามถนนหนทาง พบขยะเป็นต้องรีบเก็บเอาไว้  บางทีไปซื้อนมขวดอย่างไวตามมิลมากินก็จะเก็บขวด  หรือไปหาเอาตามร้านค้าที่คนทิ้ง

ใครคนหนึ่งบอกว่าปกติจะหาของเก่าขายอยู่ก่อนเพราะน้ามีอาชีพรับซื้อของเก่า

สำหรับพวกเขา คราวนี้ได้ 70 บาท ขยะที่นำมาขวดนม พลาสติกรวม ขวดใส่วุ้นมะพร้าว  เงินที่ได้จะไม่เบิก เก็บเป็นตัวเลขเอาไว้ในสมุดบัญชีก่อน  ทำให้ตอนนี้มียอดรวม 100 กว่าบาทแล้ว  คิดว่าจะเบิกใช้ตอนไม่มีเงิน เอาไปใช้ที่โรงเรียน

คำอธิบายภาพ ด.ช.วันเฉลิม บอกว่าที่โรงเรียนนาทวีวิทยาคมที่เขาเรียนอยู่ ขยะที่พบมากคือถุงพลาสติก  จะมีรถเทศบาลตำบลนาทวีมาเก็บ เพราะโรงเรียนนาทวีวิทยาคมติดเขตเทศบาล  สำหรับในหมู่บ้านขยะที่พบมากพวก กระป๋องพลาสติก ขวดแก้ว อยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป
“ขยะข้างทางในหมู่บ้านจะไม่มีคนเก็บ ยังมีคนเอาขยะมาทิ้งข้างสระของหมู่บ้านด้วย ก็เป็นคนในหมู่บ้านแต่ไม่รู้ว่าใครบ้าง  ประเภทขยะรวมใส่ถุงทิ้ง กองขยะมีเห็นอยู่แต่ไม่ใหญ่ขึ้นขยะที่มากยังไม่ซื้อคือ ถุงหิ้ว ถุงขนมซอง  พวก เลย์ โปเต้” วันเฉลิมเล่า  พวกเขามีเพื่อนเก็บขยะอยู่ 10 คนจับกลุ่มกัน “เราเก็บขยะก็สนุกไปด้วยครับ”

สำหรับดญ.ชนาธินาถ บุญทอง ป.5  ที่นำขวดนม พสาสติกมาฝากธนาคารบอกว่าขยะของเธอมาจากที่ซื้อกินเอง จากบ้านย่า หรือที่พบตามที่ต่างๆ ก็มารวบรวมเอาไว้ ขาย ได้ครั้งละประมาณ 12 บาท เธอเห็นว่าหลังจากมีธนาคารขยะทำให้ขยะในหมู่บ้านลดลงมาก

…. แม้เป็นวันอากาศอบอ้าวตามมาด้วยฝนตกหนักตลอดครึ่งชั่วโม หลังฝนขาดเม็ด การขนขยะมาฝากกยังดำเนินต่อ เสียงขวดกระทบก๊องแก๊งไม่ขาด สลับกับของหนักที่ถูกโยนลงพื้น กระสอบแล้วกระสอบเล่า  ขยะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มลานศาลา  คนมีขยะไม่มากเดินหิ้วมาเอง บางรายใช้ มอเตอร์ไซด์ ซาเล้ง และรถกระบะ

“ร้านค้าในหมู่บ้านจะมีขยะมากสุด ต้องบรรทุกรถกระบะมาอย่างที่เห็น ”ธีระพล บุญทอง ประธานโครงการธนาคารขยะ เล่า แม้จะบอกให้มีการคัดแยกมากก่อน แต่บางครั้งขยะที่นำมาอยู่นอกรายการ และต้องคัดแยกใหม่ แต่เขาจะไม่ส่งคืนส่วนมีปัญหาแต่ยอมรับภาระในการกำจัดเสียเอง เกรงว่าจะถูกนำไปทิ้งต่ออีก

“ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบคือถุงพลาสติค เพราะยังไม่มีพ่อค้ารับซื้อ เราต้องเผากันเอง” อย่างไรก็ตามกระแสเรื่องนี้ทำให้ชาวบ้านลดการใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้า หรือตะกร้าใส่ของอยู่เหมือนกัน

ดูจะเป็นโครงการเล็กๆ แต่ผลสะท้อนมองเห็นชัด

คำอธิบายภาพ “นายอำเภอนาทวีให้การสนับสนุน โดยการมาเป็นประธานในการเปิดธนาคารขยะ เราสบายใจที่นายอำเภอเห็นความสำคัญ เรามีกำลังใจ ทำ ตอนนี้ ได้รับการถามไถ่ ว่าเป็นอย่างไร เราก็บอกว่าดี ขยะ ค่อยหายไป นี่ ขยะ ลดลงมาก” ธีระพลเล่า

ยังมีการขยายแนวคิดสู่โรงเรียนโดยเขาได้เป็นวิทยากรแกนนำในเรื่องนี้  อย่างโรงเรียนบ้านลำชิง ซึ่งนางฉัตรชณา พฤกษาวาณิชย์ เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน  ได้มาร่วม เปิดธนาคารขยะตั้งแต่ครั้งแรก หลังจากนั้นได้นำแนวคิดไปเปิดธนาคารขยะที่โรงเรียน ตอนหลังทางโรงเรียนได้รับงบอุดหนุนจาก อบต.คลองทราย  5,000 บาทในการดำเนินงานเบื้องต้น

“อย่างน้อยให้นักเรียนมีส่วนร่วม ขยะโรงเรียน เด็กแย่งกัน ชุมชนไม่มีขยะจนต้องไปหาชุมชนอื่น ทุกวันนี้  เด็กคิดว่าไปไหน ต้องเก็บขยะสะสม แทนที่ว่าปล่อยเพ่นพ่านเสียดายว่า  อบต.มาดูแลบ้างก็น่าจะดี ที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนเรื่องแบบนี้”ธีระพลว่า.

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว