สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ดูหนังตะลุงน้ำตามรอยทวดเท่งบรรพชนคนคูขุด

by punyha @27 พ.ค. 52 20:26 ( IP : 117...149 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

คืน 12 เมษายน 2552 ก่อนเคลื่อนเข้าวันมหาสงกรานต์ไม่กี่ชั่วโมง เสียงโหมโรงของหนังตะลุงแว่วมาจากอุทยานนกน้ำคูขุด แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
   
เสียงบอกต่อๆกันมาว่าค่ำคืนนี้หนังอาจารย์นครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ จะเดินทางมาแสดงแบบไม่ธรรมดา เป็นตะลุงลอยน้ำ
   
“น่าจะเป็นครั้งแรกของโลก” ใครคนหนึ่งพูดอย่างตื่นเต้น เมื่อเขาแลเห็นโรงหนังตะลุงลอยอยู่ในผืนน้ำกว้างแห่งทะเลสาบสงขลาจริงๆ  ผืนผ้าหน้าจอสีขาวขับให้สว่างด้วยดวงไฟที่ห้อยกลางสำหรับการแสดงแบบเล่นเงา  เป็นภาพโดดเด่นกลางคุ้งน้ำอันมีฉากหลังมืดสนิทจนไกลลิบปลายฟ้าประดับดาวระยิบ
   
เสียงเครื่องเรือหาปลาแห่งทะเลสาบดังแทรกความมืด ที่บรรทุกมาเต็มลำเป็นเหล่าผู้ชม ลูกเล็กเด็กแดง ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า  คนนั่งหัวเรือใช้ไฟฉายส่องนำทาง ค่อยโผล่จากฉากความมืดสงัดมาทีละลำ

พอใกล้ถึงนายท้ายดับเครื่องเรือ ใช้ไม้พายประคองหันหัวลอยลำหน้าโรง ปักไม้ค้ำเรืออยู่กับที่  ปล่อยสมาชิกพร้อมนั่งเอกเขนก นอนชันเข่า  ส่งตัวแทนเดินไต่ตามเรือลำอื่นที่ลอยเรียงชิดติดกันจนมาขึ้นฝั่งซื้อขนมจากกลิ่นหอมฉุยตุนเอาไว้กินเล่นระหว่างชมการแสดง

คำอธิบายภาพ บางลำแอบลอยอยู่หลังโรงเป็นพวกชอบดูหนังหลังโรงอยากรู้ว่านานหนังลูกคู่ เคลื่อนไหวอย่างไรอยู่หลังจอผ้าสีขาว  ส่วนเรือพวกวัยรุ่นเลือกทำเลใต้ต้นลำพู นอนคุยไปพลางดูหนังไปพลาง  แซวคนอื่นบ้าง
คนไม่ได้มากับเรือ นั่งชมยืนชมอยู่บนศาลาริมฝั่งได้บรรยากาศไปอีกแบบ นับรวมผู้ชมแล้วดูมากโขอยู่ ถ้าเทียบกับผู้ชมหนังตะลุงยุคใหม่ที่หดหายไปมาก
   
บรรดาลูกคูขุดไปทำงานต่างถิ่น กลับบ้านมารดน้ำสงกรานต์  กลุ่มพวกเขาเราได้เสียงโทรศัพท์มือถือเรียกเข้าสลับกับเสียงสนทนาของคนที่เจอกันนานทีปีหน  คนเฒ่าแกล้งถามลูกถามหลานจากในเมืองว่าเคยเห็นอย่างนี้หรือเปล่า  ทำให้คนจากบ้านไปอยู่ถิ่นอื่น อดหวนรำลึกถึงอดีตอันเนิ่นนานของตัวเองกับเพื่อนที่ยืนอยู่ใกล้ถึงการชมหนังตะลุงสมัยตัวเองยังเด็ก กับวีรกรรมแสบๆ หน้าจอหนังครั้งกระโน้น

ระหว่างนั้นเรือทะยอยเข้ามาชมกว่า 20 ลำ และเพิ่มขึ้นอีกจน สมพงศ์ หนูสง นายก อบต. คูขุด ต้องสั่งตัดไฟหยุดแสดงชั่วคราว เพื่อเลื่อนโรงหนังถอยลึกลงไปในน้ำ เพิ่มพื้นที่ชมทางเรือหน้าจอหนัง

โรงหนังลอยน้ำนี้  เสริม  กิ้มเส้ง  สมาชิก อบต.คูขุด ได้ออกแบบใช้เรือสามลำ มาวางเรียงลักษณะฐานสกี  ผูกติดกันเป็นชุดรองรับโรงหนังชนิดโครงเหล็กสำเร็จรูป ยึดโยงด้วยเชือกไม่ให้ลอยตามน้ำ
   
เมื่อทุกอย่างพร้อมอีกครั้ง ทุกคนเงียบกริบสดับฟังหนังอาจารย์นครินทร์ ขับบทเชิดชูทวดเท่ง รูปหนังตะลุงอันมีตำนานว่าตัวจริง เป็นๆ อยู่คูขุด อันเป็นที่มาของการจัดงานตามรอยทวดเท่ง  ร่วมกับงานวันกตัญญูของ อบต.คูขุดในค่ำคืนนั้น  ....
   
คำอธิบายภาพ กิจกรรมนี้อยู่ภายใต้กิจกรรมการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ปี 2552 สนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการสมัชชาสุขภาพ “ทวดเท่ง”ว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเชิงวัฒนธรรมของชุมชนคาบสมุทรสทิงพระ  ความร่วมมือระหว่าง สมาคมศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสงขลา สภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา สภาวัฒนธรรมอำเภอสทิงพระ สภาวัฒนธรรมตำบลคูขุด มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา  อบต.คูขุด แผนสุขภาพตำบลคูขุด และ สมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา

ชาวคูขุดเรียก “ทวดเท่ง” ด้วยความเคารพอย่างสูงแทนที่เรียก ไอ้เท่ง หรือ เท่ง เหมือนกับผู้ชมหนังตะลุงทั่วไป ที่ยังไม่ทราบความเป็นมาของรูปหนังตัวนี้
   
ประเสริฐ  รักษ์วงศ์ จากสมาคมศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสงขลา เล่าว่า ทวดเท่ง หรือ เท่ง  เป็นรูปตัวตลกหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่คนรู้จักกันดี    แม้แต่คนภาคอื่นที่ไม่รู้จักหนังตะลุงดีนักยังรู้จัก “เท่ง”
   
“เมื่อตัวเท่งออกมาสู่หน้าจอหนังตะลุงที่ไหนจะต้องมีเสียฮาต้อนรับที่นั่น  ถึงแม้ว่ายังไม่พูดอะไรทั้งสิ้นก็มีเสียงฮา”  
หน้าตาของเท่งจะแปลกจากคนทั่ว ๆ ไป  ผอมบาง  สูงโย่ง  ท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง  ผิวดำ  หัวเถิก  ผมหยิกเป็นปอดอยู่เฉพาะส่วนท้ายทอย  จมูกทู่โต  ตาขาวโต  ปากกว้าง  หน้าตาคล้ายนกกระฮักหรือคล้ายหัวตุ๊กแก  นิ้วมือซ้ายกำหลวม  นิ้วชี้กับหัวแม่มืองอหงิกเป็นวงเข้าหากัน  ส่วนมือข้างขวาเหลือเพียงนิ้วเดียวทู่โต  เพราะเป็นคุดทะราดมาแต่เด็ก ๆ  และมักใช้มือทั้งสองข้างทำท่าด่าแม่ผู้อื่นแทนถ้อยคำ  บุคลิกเป็นคนพูดจริงทำจริง  กล้าพูด กล้าทำ  ทำให้เท่งเป็นตัวตลกอมตะขวัญใจของคนชมหนังตะลุงตลอดมา    
คำอธิบายภาพ ประเสริฐบอกว่า มีการเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเท่งเป็นชาวบ้านคูขุดที่มีชีวิตอยู่จริง ๆ บ้านเท่งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา  มีอาชีพทำน้ำตาลโตนด  ทำหวาก (น้ำตาลเมา)  และรุนกุ้งฝอย
   
เท่งในชีวิตจริง ชอบนุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุกเคียนพุงด้วยผ้าขาวม้าไม่สวมเสื้อ  เป็นคนที่ชอบสนุกสนานตลกคะนอง  ขบขันง่าย  มุทะลุไม่กลัวใคร  ชอบล้อเลียนเพื่อน มีความฉลาดหลักแหลมในบางโอกาสแต่บางครั้งก็พูดพล่อย ๆ ประเภทท่าดีทีเหลว  ใครด่าว่าจะไม่โกรธแต่มักยอกย้อนชอบด่าว่าคนง่าย ๆ  ค่อนข้างจะบ้ายอ  เป็นคนที่พูดพูดช้า ๆ มีอารมณ์ขันและมักมีเสียงหัวเราะแทรก แต่บางครั้งก็พูดโผงผางแบบขวานผ่าซาก  ไม่เกรงใจใครจะด่าใครก็ไม่ยั้งคิด  เมื่อพลั้งผิดมักด่าตัวเอง ชอบทำท่าประกอบคำพูดและจ้องหน้าคู่สนทนา  เขาเป็นเสมือนตัวแทนของชาวบ้านที่สื่อให้สังคมได้เห็นถึงวิถีชีวิต  วิธีคิดแบบชาวบ้านในบริบทของยุคสมัยนั้น ๆ  ด้วยจิตและวิญญาณ นอกเหนือจากมติด้านกายและใจ  คุณสมบัติดังกล่าวทำให้เท่งถูกยืมบุคลิกมาเป็นตัวตลกหนังตะลุง    
หมู่บ้านคูขุดในสมัยนั้น มีนายหนังตะลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นนายหนังเก่ารุ่นครูของจังหวัดสงขลาที่ถูกออกชื่อเสมอให้บทไหว้ครู คือ หนังจ้วน  คูขุด  เกิดเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 ประมาณ พ.ศ.2387  มีพ่อเป็นชาวจีนแม่คนไทยที่ตั้งรกรากอยู่คูขุด
   
ความมีชื่อเสียงของหนังจ้วน อยู่ที่ลีลาการพากย์  การร้องที่เพราะได้รับการยอมรับกันว่า เป็นเสียงพิเศษก้องกังวานไกล  มีเสน่ห์ จนบางครั้งคนหน้าโรงถึงกับร้องไห้เพราะเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงขับขาน คราวเล่นเรื่อง ลักษณาวงศ์    
“หนังจ้วน  คูขุด เป็นคนช่างคิดและมองโลกในแง่ดี เห็นอะไรเป็นดีไปหมด ท่านจึงได้เลือกเอาบุคลิกจริง ๆ ของทวดเท่ง  มาตัดเป็นรูปหนังตะลุง  แล้วนำเอาไปเชิด” ประเสริฐ ซึ่งทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้มาเล่า      
ยุคกำเนิดเท่งนั้น หนังตะลุงกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย  นายหนังมักมีงานตลอดปี  มีการเดินโรงทางไกล ค่ำที่ไหนนอนที่นั้น  หากชาวบ้านเลี้ยงข้าวก็ต้องเล่นให้เขาดูเป็นการตอบแทน  เท่ง ตัวตลกใหม่ของหนังจ้วน  คูขุด  ตอนแรก ๆ ยังไม่เป็นที่นิยมกันนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีหนังโรงอื่นรับเอาตัวตลกตัวนี้ไปเล่นกับคณะของเขา  ชื่อเสียงของ เท่งจึงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นจนถึบทุกวันนี้
   
คำอธิบายภาพ ...หนังอาจารย์นครินทร์ ชาทอง กำลังดำเนินเรื่องไปตามบทบาท ขณะรูปเท่งถูกปักหน้าจอ ชวนให้คิดว่าครั้งหนึ่งเท่งเคยมีตัวตนอยู่จริง ณ ที่แห่งนี้ เกือบสองร้อยปีที่แล้ว เขาอาจกำลังรุนกุ้ง ขึ้นตาลและพูดจาตลกโปกฮาประสาเท่งอยู่ก็ได้

13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ของตำบลคูขุดปีนี้เดินเรื่องด้วยทวดเท่ง บรรพชนของคนที่นี่ ด้วยการการเสวนา ตามรอยทวดเท่ง มีผู้สนใจเข้าร่วมราว 150  คน    
สมพงษ์ หนูสง นายก อบต.คูขุด พูดย้ำถึงความสำคัญของทวดเท่ง  และเกริ่นถึงการสร้างอนุสาวรีย์ทวดเท่ง  ด้วยการพยายามระดมทุนมาเคลื่อนเรื่องนี้

“ทวดเท่งเป็นคนคูขุดเป็นบุคคล ที่มีคุณความดีหลายอย่าง” สมพงษ์เล่าและว่า ตัวตลกตัวนี้ ถูกนำไปแสดง สั่งสอนในศิลปะการแสดง จึงคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่าง ที่เป็นการรำลึกถึง
“คิดว่าจะทำอนุสาวรีย์ไว้ที่คูขุด ผมในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนี้ได้คุยว่าน่าจะดี น่าจะทำ เพราะเราไปกรุงเทพฯ  จะเห็นรูปทวดเท่งที่ปั๊มน้ำมัน ไปไหนก็จะเห็นสัญลักษณ์รูปท่านเป็นเหมือนตัวแทนคนใต้  หลังจากคุยกันหลายฝ่าย คิดทำอนุสาวรีย์ แต่อยู่ระหว่างการหาสถานที่”
สมพงษ์เล่าว่าจากการคุยในสภา อบต. คูขุดไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสถานที่แต่จะเลือกตรงไหนแน่นอนจะพิจารณา กันอีกครั้ง  ซึ่งพี่น้องในท้องถิ่นต้องมานั่งคุยตกลงกัน  ด้วย คิดว่าจะสร้างรูปปั้นเท่าตัวจริง ให้มีลักษณะน่าบูชา นับถือ

คำอธิบายภาพ “ อบต.คูขุดพร้อมเป็นเจ้าภาพ ส่วนงบประมาณ  จะต้องระดมทุน  เอาความสมัครใจ หรือสร้างกิจกรรม อะไรตามมา”

อาจารย์ไพฑูรย์      ศิริรักษ์  นักวิชาการจากวิทยาลัยภูมิปัญญา และลูกสทิงพระคนหนึ่งเล่าว่า รูปตัวตลกเอกในหนังตะลุงราวสิบเอ็ดสิบสองตัว สร้างมาจากการล้อตัวตนคนจริงๆในคนสงขลา สำหรับทวดเท่งเป็นคนคูขุด ซึ่งหนังตะลุงส่วนใหญ่ใช้ในการแสดง

“การฟื้นเรื่องราวส่วนนี้จะไปเสริมศักยภาพของพื้นที่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ต้นทุนการท่องเที่ยวของคูขุด มีหลายอย่าง”

อาจารย์ทรงวุฒิ  ทิพย์ดนตรี  จากโรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ ในฐานะลูกหลานคนหนึ่งของทวดเท่งเล่าว่าหลายคนยังไม่รู้ แม้จะเป็นลูกหลานแท้ๆ ยังไม่รู้ว่าทวดเท่งเป็นคนที่นี่

“ตอนที่คุณอเนก นาวิกมูล มาสัมภาษณ์เรื่องนี้ผม เองก็งงว่าคนที่อื่นมาถามว่าไม่รู้หรือว่า ทวดเท่งเป็นคนที่นี่  หนังจ้วนสร้างหนังจ้วนเป็นคนตัดรูป  รูปอยู่บ้านลุงมา  ลุงมารับต่อมาจากลุงลับลูกนายลิ ซึ่งนายลิเป็นปู่ผม  นายลิเป็นลูกหนังจ้วน” อาจารย์ทรงวุฒิลำดับสาแหรกความสัมพันธ์  และในแผงเก็บรูปหนังตะลุงของตระกูลมีรูปหนังตลุง 3 รูปที่ไม่มีใครกล้าเอามาเล่น คือรูปฤาษีตาไฟ รูปทวดคงรอด และ รูปทวดเท่ง ซึ่งคนทั่งไปเรียกไอ้เท่ง

“ผมเองไม่กล้าเอามาเล่น เพราะว่าผมเรียกทวด”

อาจารย์ทรงวุฒิเล่าว่าตอนที่อเนก นาวิกมูลลงมาสัมภาษณ์เรื่องนี้ พบว่ารูปหนังที่ตกทอดมาเสียหายไปเยอะ แต่รูปทวดเท่งยังดีอยู่

คำอธิบายภาพ พ่อของอาจารย์ทรงวุฒิเล่ามาว่าเคยไปเล่นหนังกับหนังจ้วนสมัยหนุ่ม  ได้ยินเรื่องราว่าทวดเท่งเป็นคนแปลก คือไม่กล้วใคร คนสมัยก่อนถ้าบอกว่าตำรวจมาจะกลัว แม้ไม่ได้ทำผิด แต่ทวดเท่งไม่กลัว เป็นคนโผงผาง พูดอย่างไม่กลัวใคร ส่วนการจะตีความว่าที่พูดออกมาแล้วฉลาดหรือโง่ แล้วแต่ว่าช่วงไหน

“บุคลิกของเท่งไม่กลัวนายไม่ว่าหนังตะลุงคณะไหนจะเอาไปเล่น”

แม้หนังจ้วนจะตัดรูปทวดเท่ง แต่หนังที่ทำให้ทวดเท่งดังขึ้นมาคือหนังเอี่ยม เสื้อเมือง หลังจากนั้น ทุกคนทำเสียงทวดเท่ง ซึ่งเสียงต้นฉบับที่เหมือนทวดเท่งมากที่สุดคือลุงมาของอาจารย์ทรงวุฒินั่นเอง

อาจารย์สาทร          ดิษฐ์สุวรรณ ครูภูมิปัญญาไทย เล่าว่าสนใจเรื่องนี้มา สิบกว่าปี เคยเสนอวัฒนธรรรมตำบลสทิงพระ ทำอนุสาวรีย์ทวดเท่งมาแล้วแต่ไม่มีการขานรับ

“ถ้าพูดถึงชื่อเสียงผมคิดว่าต้องทำรูปปั้นให้ใหญ่ สมกับมีชื่อเสียงให้สูงเท่าต้นตาล ทำโครงเหล็ก ใช้ปูน รอบๆเป็นสวน มีที่พัก ร้านค้าสินค้าพื้นเมือง และ มีประวัติของทวดเท่งที่ถูกต้อง”

อาจารย์สาทรมองว่า ถ้าความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง  ชาวบ้านในคูขุดได้ประโยชน์ เพราะคนจะมาเที่ยวเยอะ
“เราก็มีตัวตลกหนังตลุงอยู่มากในสงขลา แต่คนไม่รู้ เช่น จีนจ้อง น่าจะอยู่เมืองสงขลา เป็นคนหาบน้ำ ซึ่งบ่อน้ำจริงๆก็ยังอยู่  หรือตัวสีแก้วก็คนสงขลา ทำอย่างไร จะให้คนรู้จักบุคคลเหล่านี้ ที่เคยมีตัวตนจริง    ในหนังตะลุงตัวละครอื่นอาจไม่น่าสนใจ แต่ตัวตลกขาดไม่ได้  ตลกจะแทรกในวรรณกรรมเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องประเทืองอารมณ์ คนจะชื่นชอบ”

อาจารย์สาทรเล่าว่าหนังจ้วนทำรูปทวดเท่งพร้อมกับรูปคงรอด จากการศึกษา “คงรอด” เป็นคนคูขุดเหมือนกัน เป็นตัวตลก ที่แปลก เพราะมีเสื้อใส่ ปกติตัวตลกไม่ใส่เสื้อ  สำหรับทวดเท่ง แม้สร้างให้บุคลิกไม่กลัวนาย บางทีโง่ บางทีฉลาด แต่ บทบาทในจอหนังตะลุงจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับนายหนัง ที่นำไปแสดง และคนเขียนบทหนัง ตะลุง แต่จะฉลาดกว่าหนูนุ้ย ตัวตลกซึ่งอยู่คู่กันเสมอ  ซึ่งหนังที่แสดงบททวดเท่งได้ดีที่สุดคือหนังอิ่มเท่ง

ทางด้าน ปรัชญากร ไชยคช พนักงานการตลาด 5 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเขจ 1 ภาคใต้  มองว่าคนไทย คิดว่าเท่งเป็นตัวแทนคนใต้ แต่อาจไม่รู้ว่าเท่ง เป็นคนสทิงพระ

“ในแง่การท่องเที่ยว เรากำลังพูดถึงเอกลักษณ์ในพื้นที่  มีอะไรดี ก็ต้องรื้อฟื้น อนุรักษ์ ให้เกิดประโยชน์ ไม่อาจเอาของคนอื่นมาทำของเองได้ นี่คือเอกลักษณ์บ้านเรา ถ้าเราไม่เก็บ ไม่มีใครเก็บ” เขามองว่า หลายแห่งเช่น สุพรรณบุรี ได้ดึง และสร้าง เอกลักษณ์ท้องถิ่น เป็นแนวทางให้คนรู้จักพื้นที่  ซึ่งน่าสนใจ

คำอธิบายภาพ “การท่องเที่ยวเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง การเป็นตัวตนของเรา การสร้างอนุสาวรีย์ไม่ใช่ สร้างทวดเท่งยืนอยู่อย่างเดียว น่าจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับหนัง เช่นการจัดแข่งหนังตะลุงที่หายไป  อาจใช้สถานที่แห่ง  จัดทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ทวด เท่ง โหนด นาเล โยงกับ เส้นทางตามรอยหลวงพ่อทวด ยังดึงคนจากวัดพะโค๊ะที่อยู่ใกล้กันมาเที่ยวหรือ”

เขามั่นใจว่าถ้าทำได้ เรื่องจำนวนคนมาเที่ยวไม่น่าห่วง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการ ความร่วมมือในอนาคต.

Relate topics

Comment #1
Posted @19 มิ.ย. 52 09:13 ip : 61...109

เสียดายที่ไม่ได้ไป ช่วงนั้นผมพาหลาน ๆ ไปเยี่ยมยายที่เชียงรายพอดีเลย อดเลย....

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว