สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

อำเภอสะบ้าย้อย :: ประวัติความเป็นมาของอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา

อำเภอสะบ้าย้อย

ประวัติความเป็นมา

ปรากฏตามเอกสารทางราชการว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เนื้อที่ของอำเภอสะบ้าย้อยทั้งหมดขึ้นกับอำเภอเทพา ซึ่งขณะนั้นก็มีการแบ่งการปกครองตามพระราชบัญญัติ ลักษณะการปกดรองท้องที่ พ.ศ.๒๔๔๐ ออกเป็น ๕ ตำบล คือ

  1. ตำบลโมง คือ ตำบลสะบ้าย้อยปัจจุบันนี้และมีอาณาเขตการปกครองคลุมถึงตำบลทุ่งพออีกด้วย
  2. ตำบลเปียน มีการปกครองคลุมถึงตำบลบ้านโหนด
  3. ตำบลเขาแดง มีเขตการปกครองคลุมถึงตำบลคูหา
  4. ตำบลจะแหน
  5. ตำบลบาโหย

พ.ศ.๒๔๖๗ ได้แบ่งการปกครองอำเภอเทพาส่วนที่เป็นอำเภอสะบ้าย้อยเดี๋ยวนี้ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า "กิ่งอำเภอบาโหย" สถานที่ทำการของอำเภอเทพาโดยมีรองอำมาตย์ตรี คง ถาวรสุวรรณ เป็นปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอบาโหยเป็นคนแรกการตรวจท้องที่ของปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอทำไม่ได้ทั่วถึง เพราะเขตการปกครองกว้างขวางมาก การคมนาคมไม่สะดวก ขาดยานพาหนะในการเดินทาง จึงให้ทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการกิ่งอำเภอชั่วคราวขึ้นที่บ้านสะบ้าย้อย หมู่ที่ ๑ ตำบลโมง (ตำบลสะบ้าย้อยในปัจจุบัน) เขตการปกครองท้องถิ่นที่แน่นอนขณะนั้นมี ๕ ตำบล ดังกล่าวข้างต้น และเปลี่ยนชื่อจากอำเภอบาโหยเป็นกิ่งอำเภอสะบ้าย้อย

พ.ศ.๒๔๘๖ ทางราชการได้แบ่งแยกตำบลซึ่งเดิมมี ๕ ตำบล เป็น ๘ ตำบล ตำบลโมงเป็นตำบลทุ่งพอ และเปลี่ยนชื่อตำบลโมงเป็นตำบลสะบ้าย้อย แบ่งตำบลเขาแดงออกเป็นตำบลคูหาและตำบลเปียนเป็นตำบลบ้านโหนดปัจจุบัน

คำว่า "สะบ้าย้อย" เข้าใจว่าตั้งตามเชื่อต้นสะบ้า ซึ่งเป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง มีลูกเป็นฝักคล้ายสตอ เมื่อเปลือกนอกสุกข้างในมีเมล็ดหุ้มด้วยเปลือกหนาแข็งมาก ประชาชนนำเมล็ดนี้ไปเล่นการพนันกันเรียกว่า "เล่นสะบ้า" เถาวัลย์นี้มีมากในบึงแม่สะบ้าย้อย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ว่าการอำเภอสะบ้าย้อยบึงนี้กว้าง ยาว และลึกมาก มีน้ำขังตลอดทั้งปีมีต้นใหญ่ๆ ปกคลุมเถาวัลย์ สะบ้านี้ขึ้นจากฝั่งหนึ่งเลื้อยไปอีกฝั่งหนึ่ง บางเถาอ่อนย้อยเกือบถึงพื้นน้ำราษฎรจึงให้ชื่อว่า "แม่สะบ้าย้อย" และเป็นชื่ออำเภอจนมาถึงทุกวันนี้

ที่ตั้ง

อำเภอสะบ้าย้อยตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของจังหวัดสงขลา ห่างจากศาลากลางจังหวัดสงขลาประมาณ ๑๐๕ กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ระยะทางรถไฟ ๑๑๒๕ กิโลเมตร มีอาณาเขตโดยรอบดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และประเทศมาเลเซีย

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพลักษณะภูมิประเทศส่วนมากเป็นเนินเขาเตี้ยๆ ที่ราบระหว่างหุบเป็นบริเวณแคบๆ สลับด้วยแม่น้ำสายสั้นๆ เช่น แม่น้ำเทพา ซึ่งต้นกำเนิดจากแม่น้ำสายนี้อยู่ในเขตอำเภอสะบ้าย้อย โดยเกิดจากเทือกเขาที่กั้นระหว่างไทยกับมาเลเซีย สภาพลักษณะเป็นเนินเขาจะใช้เป็นที่ประกอบอาชีพในการเกษตรทำสวนกาแฟ สวนยาง สวนผลไม้ ต่างๆ

ลักษณะภูมิอากาศ

ระหว่างปลายเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ในเขตอำเภอสะบ้าย้อยฝนตกชุก และถือว่าเป็นฤดูฝนและบางปีจะได้รับภัยธรรมชาติจากพายุ ทำให้ฝนตกน้ำท่วม

นอกจากนี้พายุโซนร้อนพัดผ่านระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนมกราคม ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม จัดว่าเป็นฤดูร้อนเหมือนภาคอื่นของประเทศ

ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม

ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ไทยพุทธ และไทยอิสลาม

  • ไทยอิสลาม : นิยมเล่นลิเกฮูลู มะโหยง สิละ ส่วนทางศาสนา มีพิธีถือบวช
  • ไทยพุทธ : ทางศาสนาทำบุญวันสารทเดือนสิบ การชักพระ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การละเล่นพื้นเมืองการแสดงมโนราห์ แสดงหนังตะลุง กีฬาพื้นเมือง ชนโค ชนไก่

โบราณสถานและโบราณวัตถุ

โบราณสถานและโบราณวัตถุของอำเภอสะบ้าย้อยที่สำคัญมีพระพุทธรูปหลายองค์ด้วยกันที่ประดิษฐานอยู่ตามถ้ำ ตามวัดที่เก่าแก่ ของอำเภอ และเจดีย์ยอดเขา ควนเจดีย์ ตำบลคูหา โบราณวัตถุที่สำคัญมีดังนี้

  • พระพุทธรูปไสยาสน์ ๒ องค์ ประดิษฐานอยู่ในถ้ำตลอด ตำบลเขาแดง
  • พระพุทธรูปที่สำคัญของวัดคูหา เจดีย์เป็นโบราณสถานของชาวคูหาซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาควนเจดีย์ ผู้คนอยู่ในอำเภอคูหาและตำบลใกล้เคียงไปนมัสการ ในเดือนเมษายนของทุกๆ ปี มีการสรงน้ำพระบริเวณใกล้เคียงกับเจดีย์มีถ้ำเก ซึ่งภายในมีความสวยงามมากประชาชนจะไปเที่ยวชมประจำ ถ้ำเกิง เป็นถ้ำที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ด้วยกัน และอีกถ้ำหนึ่งคือ ถ้ำครก เป็นถ้ำที่มีพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ของอำเภอ พระพุทธรูปที่ประดิษฐานที่วัดเกาะอภินิหาร นอกจากนี้มีโบราณวัตถุสร้างมานานเป็นเวลาร้อยปี พระพุทธรูปที่ประดิษฐานตามถ้ำต่างๆ ของอำเภอนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยมีการสร้างพระธาตุที่นครศรีธรรมราช และมีการบรรจุพระธาตุ ประชาชนในอำเภอสะบ้าย้อยก็จะนำพระพุทธรูปเหล่านี้ไปไว้ในพระธาตุนครศรีธรรมราช แต่เมื่อรู้ข่าวว่าเขาปิด พระธาตุที่นครเสียแล้ว ประชาชนก็เลยนำพระพุทธรูปเหล่านั้น ไปประดิษฐานตามวัดหรือตามถ้ำต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว

สถานที่ท่องเที่ยว

  • ถ้ำตลอด : ในเขตอำเภอสะบ้าย้อย เดินทางจากจังหวัดสงขลาไปประมาณ ๑๐๕ กิโลเมตร จะไปพบกับดินแดนที่มีความสวยงามตามธรรมชาติหลายแห่งด้วยกันของอำเภอ โดยเฉพาะถ้ำต่างๆ ของอำเภอซึ่งอยู่ห่างไกลจากอำเภอไม่มากนัก ถ้ำที่สวยงามพิสดาร มีหินงอกหินย้อย ไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวแห่งอื่นๆ ของจังหวัด จะพบกับถ้ำตลอด ซึ่งอยู่จากอำเภอประมาณ ๒๒ กิโลเมตร เป็นถนนซึ่งติดต่อกับประเทศมาเลเซียอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งห่างจากอำเภอสะบ้าย้อยประมาณ ๕๐ กิโลเมตร เป็นถ้ำที่มีบริเวณกว้างขวางมาก มีความสวยงาม น่าทัศนศึกษาเป็นอย่างมาก ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ๒ องค์ มีก้อนหิน ทราย กรวด ที่สวยงามตามธรรมชาติ ภายในจังหวัดของเราจะหาดูได้ยากมากทีเดียว

  • ถ้ำครก : ถ้ำครกไปทางเดียวกันกับถ้ำตลอดก่อนที่จะไปถึงก็จะพบกับถ้ำต่างๆ มากมาย เช่น ถ้ำเพิง ที่สูงตระหง่านจากพื้นดินพอสมควร และเป็นถ้ำที่สวยงามอีกถ้ำหนึ่งด้วย นั่นคือถ้ำครกในบริเวณถ้ำที่สวยงามอีกถ้ำหนึ่งด้วย นั่นคือถ้ำครกในบริเวณถ้ำครกจะพบกับสิ่งธรรมชาติหลายอย่างด้วยกัน จะเจอกับค้างคาวเที่ยวบินอยู่ภายในถ้ำ และมีจำนวนมากที่เกาะอยู่ตามผนังถ้ำ ประชาชนในเขต ๒ ตำบล จะประกอบอาชีพเก็บมูลค้างคาวขาย ถ้ำครก ซึ่งอยู่ในเขตตำบลคูหา ห่างจากอำเภอสะบ้าย้อย ๑๓ กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งด้วย

  • น้ำตกไม้ไผ่ : น้ำตกไม้ไผ่ อยู่ห่างจากอำเภอไปประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงามไม่แพ้น้ำตกแห่งอื่นของจังหวัดสงขลา แต่ทางราชการยังไม่มีการปรับปรุง ถ้าหากมีการปรับปรุงคงจะเป็นวนอุทยานได้อีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดสงขลาก็ว่าได้ เพราะมีป่าไม้ที่สวยงาม มีสัตว์ป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เราจะไปเที่ยวน้ำตกนี้ได้ถึง ๒ ทางด้วยกัน คือ ทางอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และทางอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แต่ไม่สะดวกนักในการเดินทาง

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว