สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สมัชชาเด็กและเยาวชนสงขลา “คิดเป็นน่ะคิดง่าย ...ทำได้ซิเจ๋งกว่า”

by kai @9 ต.ค. 51 14:42 ( IP : 117...174 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
  • photo  , 333x250 pixel , 38,763 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 54,344 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 56,679 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 40,955 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 29,887 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 42,012 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 50,862 bytes.
  • photo  , 2048x1536 pixel , 610,647 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 49,675 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 27,812 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 38,943 bytes.
  • photo  , 333x250 pixel , 38,036 bytes.

สมัชชาเด็กและเยาวชนสงขลา “คิดเป็นน่ะคิดง่าย ...ทำได้ซิเจ๋งกว่า”

ไฟทุกดวงดับวูบลงชั่วครู่...กระทั่งกลางเวทีสว่างขึ้น  เรามองเห็นกล่องสีขาวขนาดใหญ่  ด้านหันเข้าหาผู้ชม มีแผนที่ความคิดข้อความ ครอบครัว ,การบ้านเยอะ ,เพศสัมพันธ์ ,ไม่มีที่เรียน ,ยาเสพติด , รถซิ่ง.... สมมติว่าขณะนี้เด็กกำลังติดอยู่ในกล่องนั้น

ละครสั้นในพิธีเปิดงานสมัชชาเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด “คิดเป็นนะคิดง่าย ...ทำได้ซิเจ๋งกว่า”  เมื่อ8 กันยายน 2551 ณ ห้องประชุม โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์แอนด์รีสอร์ท  งานนี้สนับสนุนโดยแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาประเด็นเด็กและเยาวชน องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและเขตพื้นที่การศึกษา  จังหวัดสงขลา

ละครต้องการสื่อว่าจะออกจากกล่องปัญหาสารพัดได้อย่างไร?เด็กร้องสับสนหาหนทางอย่างน่ากลัว  เสียงรัวกลองประกอบเร้าทุกคนเอาใจช่วย

ฉากต่อเนื่อง เด็กออกตามหาผู้ใหญ่ใจดีชี้แนะแนวทาง  นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ถูกเลือกเป็นตัวแทนผู้ใหญ่คนนั้น

“การออกจากกล่องปัญหาได้ต้องรู้จักคิด ไม่มีใครช่วยได้นอกจากช่วยตัวเอง ออกไปสู่โลกว้างลองคิดกับมันดู ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร้ให้เรียนดีด้วย และสามารถจะเรียนรู้ โลกกว้างได้ ลงมือทำ แก้ไขปัญหา ลงมือช่วยเหลือเพื่อนฝูง ลงมือที่จะมองออกไปให้ไกล และมองดูว่าเรา เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ส่วนหนึ่งที่จะสร้างสังคมที่ดีได้อย่างไร” หมอสุภัทรกล่าวกับเด็ก

คำอธิบายภาพ

“การเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องฟัง ฟังแต่สิ่งดีๆ ไม่ใช่ฟังแต่เพลง อ่านหนังสือ ให้มากกว่าหนังสือเรียน มีความจริงมากมายที่น่าอ่าน ให้ความรู้กับเรา เราต้องถาม  คุยกับผู้ใหญ่ คุยกับเพื่อน คุยกับพ่อแม่  คุยกับหลายๆคน  ตั้งคำถามที่มากกว่าว่าวันนี้ดาราทำอะไร สุดท้ายก็ต้องคิดว่าเราและเพื่อนๆ จะทำอะไรกันดี คิดเป็นนั้นคิดงายง่าย ทำได้ซิยากกว่า เราต้องไม่ทิ้งการเรียน  เรามี 24 ชม.เท่ากันทุกคน เราสามารถเรียนให้ดีได้ ตั้งใจเรียนได้และมีเวลาว่างพอที่จะ มาทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ทำสิ่งดี ๆให้กับตัวเองได้ คิดเป็น ง่าย ทำได้ซิยากกว่า เพราะฉะนั้นเราลงมือ สร้างสรรค์ ลงมือทำ ลงมือคิดกัน วันนี้”

หมอสุภัทรประสานมือกับตัวละครเด็ก ๆ ถึงเวลาทุกคนพร้อมจะก้าวไปด้วยกัน ...ไฟสว่างพรึบพร้อมเสียงปรบมือ

นับเป็นการจัดประชุมสมัชชาเด็กและเยาวชนครั้งแรกของสงขลา มีเด็กเข้าร่วม ราว 100 คน งานนี้เด็กๆ คิดเอง ทำเองทั้งหมด

เป็นกระบวนการที่มุ่งหวังว่าให้เด็กและเยาวชนที่มีความเกี่ยวข้องและเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเด็กและเยาวชน มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างใช้ปัญญาสมานฉันท์  เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะของเยาวชน และสร้างกิจกรรมร่วม สู่การพัฒนาแห่งเรียนรู้และสังคมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะทางปัญญา

ก่อนมาถึงกิจกรรมในวันนั้นชาคริต โภชะเรือง คณะทำงานกลางแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา เล่าว่าแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ประเด็นส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนปี 2551 มีแนวทางหลัก 2 กิจกรรมได้แก่

  1. ขยายผลกิจกรรมที่ดำเนินงานในปี 2550 มาแล้วได้แก่ การลดปัจจัยเสี่ยงวัยเด็ก สื่อทักษะชีวิต โรงเรียนท้องนา เป็นต้น

  2. สมัชชาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดสงขลาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอและหาทางแก้ปัญหาสุขภาพของเด็กด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายใหญ่ คือสร้างสุขภาวะ ภายใต้แนวทาง “สร้างครอบครัวอบอุ่น เด็กอยู่ดีกินดี คิดเป็น มีความสุข เห็นคุณค่าในตัวเอง”

กระบวนการสมัชชาต้องการผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ และเป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบวิจารณญาณ ก่อนมาเป็นสมัชชาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา  ได้มีการรวมตัวของเด็กและเยาวชน ที่ทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ในจังหวัดสงขลาเดิมเช่น

คำอธิบายภาพ

  • โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ อำเภอหาดใหญ่  มีกลุ่มเยาวชนต้นกล้าเพื่อการอนุรักษ์คลองอู่ตะเภา กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากร/วัฒนธรรม/คุณธรรม โดยมีเครือข่าย 44 โรงเรียนในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา
  • โรงเรียนบ้านบ้านสุเหร่า อำเภอจะนะ  มีกิจกรรมโรงเรียนทำนา/พันธุ์ข้าวท้องถิ่น ออกกำลังกายด้วยปัญจะซีละ
  • โครงการ อย.น้อย โรงเรียนแจ้งวิทยา อำเภอเมือง มีเครือข่าย 9 โรงเรียน ในคาบสมุทรสทิงพระ ให้ความรู้ในเรื่องอาหารปลอดภัย/เด็กไทยทำดี ในโรงเรียน
  • สภาเยาวชน โรงเรียนรัตภูมิวิทยา เทศบาลกำแพงเพชรส่งเสริมอาชีพ/อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ
  • สมัชชาเด็กเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โรงเรียนสทิงพระชนูปถัมภ์ ทำกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง/คัดแยกขยะ/พลังงานทดแทน/การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
  • เด็กคิด  จัดรายการวิทยุชุมชน เป็นปากเสียงให้เยาวชน มีกิจกรรมเสียงที่เห็น(อ่านนิทานให้ เด็กรร.คนตาบอด)
  • โรงเรียน มหาวชิราวุธ มีกิจกรรมการลดอุบัติเหตุด้วยมหาวชิราวุธโมเดล
  • โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ จัดโครงการ ก้าวย่างอย่างเข้าใจ สื่อเรื่องเพศศึกษากับเยาวชน ทำละครเวทีบันทึกลงซีดี
  • นักเรียนเพลงเรือลดอุบัติเหตุ อนุรักษ์เพลงเรือประยุกต์มารณรงค์อุบัติเหตุ/ยาเสพติด

คำอธิบายภาพ

เป้าหมายในการจัดงานปีนี้ เพื่อ

  1. เยาวชนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนในจังหวัดสงขลา
  2. ผลักดันให้มีองค์กรของเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดที่มาจากการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน

จากการประชุมกัน 7 ครั้งที่ผ่านมาทำให้เด็กๆ ลดกิจกรรมย่อยลง เหลือเพียงประเด็นหลักในการจัดงานสมัชชา ฯ คือทำอย่างไรให้เด็กสงขลา “คิดเป็น” เพียงประเด็นเดียว จะได้เชื่อมโยงกิจกรรมย่อยของแต่ละกลุ่มมาดำเนินการให้ไปในแนวทางเดียวกันให้ได้

แต่คิดเป็นย่อมไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด เพราะเด็กให้แนวคิดงานครั้งนี้อีกขั้นหนึ่งว่า “คิดเป็นนะคิดง่าย ..ทำได้ซิเจ๋งกว่า”

เมื่อผู้ใหญ่อย่างเรามีโอกาสยืนอ่าน กระดานความคิดที่พวกเขาช่วยกันเสนอความคิดดีๆส่วนตัวออกมา  อาจเห็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่นั่นพอทำให้รู้จักพวกเขาได้จากบางถ้อยคำ

....จะไม่เป็นแว๊นบอย สก็อยเกิร์ล/จริงใจกับเพื่อนไม่นินทาเพื่อน/ผมจะทำความฝันแม่ให้เป็นจริง/จะเป็นเด็กดีต่อพ่อแม่/ทำดีทำได้ไม่หวังผลตอบแทน/รักเพื่อน รักครอบครัว รักเรียน/จะไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำเพื่อให้คนรุ่นหลังจะได้มีน้ำใช้กันถ้วนหน้า/รักเพื่อน/รักครูที่ปรึกษา/หนูจะเข้าชมรมต้านยาเสพติด/จะช่วยเพื่อนที่ติดยา รถซิ่ง และการเรียน/อายคนจังเลย/ขอให้คนไทยรักกัน สามัคคีกัน/หนูจะไม่ใจร้อน/ปลูกป่า ปลูกต้นไม้/เบื่อรัฐบาล /เพชรที่ว่าใส แพ้ใจที่บริสุทธิ์ ฯลฯ

เหลือบเห็นกระดาษอีก  2 แผ่น เขียนภาษาญี่ปุ่นแม้เราอ่านไม่ออก  แต่รับรู้ถึงมิติวัฒนธรรมต่างแดนที่มีอิทธิพลต่อเด็กร่วมสมัย

คำอธิบายภาพ

จากการคิดเป็นที่นำไปสู่การทำได้  เบื้องต้นคงจากการแสดงของกลุ่มเยาวชน ต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนขึ้นเวที  ไมว่า  ดิเกร์ฮูลู จากโรงเรียนสอนคนตาบอดธรรมสากล โนรา จากบางกล่ำ ,โรงเรียนสทิงพระชนูปถัมป์  ดนตรีกระป๋องโรงเรียนบ้านควนเนียง  มองอย่างพื้นๆ เด็กกลุ่มหนึ่งคิดเป็นแล้วว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านอันมีคุณค่า ที่จะต้องสืบทอดและเขาได้ฝึกฝนมาจนทำได้มาแสดงเป็นรูปธรรมจริงให้เพื่อน ๆ จับต้องมองเห็น เขาพร้อมประกาศได้อย่างเต็มปากอวดใครต่อใครว่า“คิดเป็นนะคิดง่าย ..ทำได้ซิเจ๋งกว่า”

ไชยยันต์ แก้วมรกต หรือ “ เอ็ม” นักเรียน ชั้น ม.6/1 โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์  รองประธานสภาเยาวชนแห่งประเทศไทย หนึ่งในแกนนำสมัชชาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา นำเสนอข้อมูลว่าปัญหาของเด็กและเยาวชนปัจจุบันแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากเด็กและเยาวชน เป็นผู้สร้างขึ้น เช่น การทะเลาะวิวาท ขับรถซิ่ง ชู้สาว ปัญหาเรื่องเพศ  การตั้งท้องก่อนเวลาอันควรและโรคติดต่อทางเพศอย่างเอดส์

อีกด้านหนึ่งปัญหาที่สังคมเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด การหนีเรียนเนื่องจากสังคมสร้างสิ่งยั่วยุ สถานบันเทิง ผับ บาร์ อยู่ในชุมชน  ปัญหาการขาดจิตสำนึกรักชาติ  เป็นต้น

คำอธิบายภาพ

การเปลี่ยนแปลงทางความคิด หรือการสร้างสุขภาวะทางปัญญา (คิดเป็น) จึงเป็นสิ่งสำคัญ  ที่จะทวนกระแสสังคมที่เลวร้ายลงทุกวัน เพราะมองเห็นว่าพฤติกรรม มาจากความคิด ความเห็น และความเชื่อ  คิดและเชื่ออย่างไรก็จะทำอย่างนั้น  หากความคิด ความเห็น และความเชื่อประกอบไปด้วยปัญญา มีเหตุผลหรือตั้งอยู่บนความรู้ที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลพฤติกรรม ที่ถูกต้องดีงามและนำไปสู่ความสุข

“ไม่ว่าสุขภาวะทางกาย สังคม หรือทางจิต จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับเราว่ามีปัญหา หรือใช้ปัญญามากน้อยเพียงใดในการดำเนินชีวิต”

เขายกตัวอย่าง โทษของการกินอาหารตามใจปาก กินโดยคำนึงแต่รสชาติ กินอาหารขยะ ย่อมเอื้อให้เกิดพฤติกรรมทางลบ  การหมั่นออกกำลังกายเพราะเห็นประโยชน์ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง

ทำนองเดียวกันจะอยู่อย่างราบรื่น กลมกลืนกับผู้อื่นได้ ต่อเมื่อเชื่อมั่นในความดี หรือเห็นว่าการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันเป็นสิ่งที่ดีงาม สามารถสมานน้ำใจผู้อื่นได้นำไปสู่การร่วมมือเพื่อก่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย  แต่หากไม่มีความคิดดังกล่าวหรือมีความคิดไปในทางตรงข้ามว่าการคดโกงหรือเอาเปรียบเบียดเบียนกันไม่ใช่เรื่องเสียหาย ในที่สุดชีวิตมีแต่เรื่องเดือดร้อน ไม่เป็นที่ไว้วางใจหรือเป็นที่รักของใครเลย

จิตใจที่แช่มชื่นแจ่มใส ไร้กังวลหม่นหมอง ต้องอาศัยมุมมอง หรือวิธีคิดที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน เช่นเห็นความพลัดพรากสูญเสียหรือความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา เพราะชีวิตย่อมมีทั้งขึ้นทั้งลง หรือเมื่อประสบความยากลำบาก ก็ไม่ท้อถอย เพราะมองว่าเป็นเรื่องฝึกใจให้เข้มแข็ง หรือเพิ่มประสบการณ์ให้มากขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้อง จิตใจก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะไม่ว่าจะได้มาเท่าไร ก็ไม่เคยพอใจ เนื่องจากคอยเปรียบเทียบกับคนที่มีมากกว่าตนอยู่เสมอ

คำอธิบายภาพ

สุขภาวะทางปัญญา (คิดเป็น) จึงเป็นที่มาของสุขภาวะอีก 3 ด้านที่เหลือกล่าวได้ว่า สุขภาวะทางกาย ทางสังคม และทางจิตจะมั่นคงยั่งยืนได้ก็ต้องอาศัยสุขภาวะทางปัญญา (คิดเป็น) เป็นพื้นฐาน หากปราศจากสุขภาวะทางปัญญา (คิดเป็น)  พฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของเราก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม หรือการชักจูงจากคนรอบข้าง (สังคม) รวมทั้งการโฆษณา (สื่อ) ซึ่งอาจนำพาเราไปในทางที่ไม่ถูกต้องได้ เช่นการโฆษณา ที่กระตุ้นการบริโภค  การกระตุ้นการใช้ความรุนแรง หรือการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งอาจทำให้เรามีสุขภาวะที่ไม่ครบถ้วน เช่น มีสุขภาวะทางกาย แต่ขาดสุขภาวะทางสังคม หรือทางจิต  ดังเห็นในปัจจุบันว่ามีเด็กและเยาวชนเป็นอันมาก แม้ว่า สุขภาพทางกายดี แต่ชีวิตครอบครัวที่มีแต่ปัญหา มีเรื่องบาดหมางกับผู้อื่น รวมทั้งมีความทุกข์เนื่องจากมีปัญหากลัดกลุ้มใจอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า ปัญหาของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วเกิดจากสาเหตุ หรือปัจจัยลึกๆ คือเด็กคิดไม่เป็น หรือขาดสุขภาวะทางปัญญา ดังนั้นสุขภาวะทางปัญญา (คิดเป็น) จึงหมายถึงความสุขของเด็กและเยาวชนที่เกิดจากการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา แก้ไปไขปัญหาหรือเลือกทางเดินชีวิต ด้วยการใช้ปัญญา และปัญญาในที่นี้ นอกจากหมายถึงความรู้แล้ว ยังครอบคลุมถึงความคิด ความเชื่อ และความเห็นที่ก่อประโยชน์เกื้อกูล จนทำให้เด็กและเยาวชนเกิดสภาวะทางปัญญาที่เรียกว่า “เด็กคิดเป็น”

ไฮไลท์ของงาน ส่วนหนึ่งอยู่ที่การเสวนาร่วมกันของสมัชชาเด็กและเยาวชนสงขลา เรื่องคิดเป็นน่ะคิดง่าย ทำได้สิเจ๋งกว่า  ไชยยันต์เป็นผู้นำการเสวนา เรามองเห็นปัญหาของเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา จากปากคำสดๆ หลากหลาย

คำอธิบายภาพ

ปัญหาครอบครัว

เด็กคนหนึ่งสะท้อนความคิด ว่า ครอบครัวที่พ่อแม่ ที่ทำตัวไม่เหมาะสม เด็กก็ไม่ไปด้วย แต่อีกคนมองย้อนอีกมุมว่า บางคนพ่อแม่ดีแต่ลูกติดยา ทำไมเป็นแบบนั้น?

กรณีพ่อแม่ทำร้ายจิตใจลูก เช่น พ่อแม่ ข่มขืนลูก  ทำร้ายจิตใจเด็ก ถูกยกขึ้นมากล่าวต่อเนื่อง ว่าเหตุการณ์ลักษณะนั้นทำให้เด็กไม่อาจอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความสุข ปัญหาครอบครัวแตกแยกจะตามมาด้วยปัญหา ลูกเลี้ยง แม่เลี้ยง  พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน กระทบถึงตัวเด็ก สร้างปมด้อยชั่วชีวิต

“ความเสื่อมถอย จริยธรรม ...เชื่อมั๊ยว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก ปัจจุบันแต่ละครอบครัวต้องการปัจจัย ปัจจัยยังชีพเป็นเรื่องสำคัญแต่ละครอบครัว ทำอย่างไร เพื่อให้ได้เงินมา เพื่อฐานะเศรษฐกิจดี แต่ไม่สนใจบุตรหลาน ในครอบครัววัตถุนิยม  คุณธรรมจริยธรรมเสื่อม” ใครคนหนึ่งกล่าว ลูกขาดคุณธรรม  พ่อแม่หาเงินลูกเดียว รักเงินกว่ารักลูก แม้พ่อแม่รวย แต่ลูกไม่ได้ดีตามเพราะพ่อแม่ใช้เวลาหาเงิน ให้ความสำคัญทางการเงิน แต่ไม่ได้ให้ความมั่นคงทางจิตใจ ทั้งที่จิตใจสำคัญที่สุด

ข้อชวนถกต่อเนื่องกันทำให้เด็กมองเห็นความเจริญทางวัตถุ  อย่างแต่ละโรงเรียนยังแข่งสร้างตึกสูงไม่รู้กี่ชั้น แต่ว่าคุณธรรมต่ำลง สังเกตวิชาจริยธรรมที่มีแค่ 10 % จากคะแนนทั้งหมด

ขมวดมาถึงว่าสื่อน่าจะเป็นต้นเหตุของปัญหานี้  เพราะความไม่เท่าทันสื่อ  กรณีพ่อข่มขืนลูกอาจมีผลมาจากสื่อกระตุ้นเช่นเดียวขาดความยั้งคิด แต่ถ้าพ่อแม่มีคุณธรรม จริยธรรม แม้รับสื่อแต่ผลกระทบทางลบไม่น่าเกิด แสดงว่าคุณธรรม จริยธรรม เป็นปัจจัยสำคัญ

ที่สุดเด็กต่างมองร่วมกันว่าปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญอันนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

การศึกษา

สิ่งที่สร้างความหนักใจให้เด็กทุกวันนี้อย่างหนึ่ง สืบเนื่องมาจากเด็กมักอยู่ในความคาดหวังของพ่อแม่  หรือพ่อแม่เป็นผู้แข่งขันและบงการเกม ให้เด็กเป็นผู้เล่น

“ผู้ปกครอง ทำให้เด็กเครียดเพราะบังคับให้เด็กเรียน อย่างนั้นอย่างนี้มากเกินไป  น่าจะอยู่ที่ความถนัด ของเด็ก” นั่นมุมหนึ่งแต่บางคนพ่อแม่ไม่สนใจ เพราะพ่อแม่หาเงินอย่างเดียว

คำอธิบายภาพ

คนที่เรียนอย่างเดียว มีปัญหาไปอีกอย่างคือพวกเขามักมีบุคลิกไม่สนใจปัญหารอบข้าง เห็นแก่ตัว  เรียนเพื่อตัวเอง ไม่ได้คิดทำอะไรเพื่อสังคม

สถาบันกวดวิชา เป็นประเด็นหนึ่งที่หยิบมาถกกันมาก โดยมองไปที่ - เด็กละเลย การเรียนในห้อง  แต่คิดจะเรียนพิเศษ -ในจังหวัดสงขลา มีสถาบันติวจำนวนมาก แต่เด็กครอบครัวฐานะไม่เท่ากัน โอกาสเรียนไม่เท่ากัน  บางคนกู้หนี้ไปเรียนพิเศษ เพราะค่านิยมว่าต้องเรียนตามเพื่อน  เดือดร้อนพ่อแม่ต้องหาเงินมาให้ลูก

“ถามว่าที่โรงเรียน ครูสอนเต็มที่ต่อเนื่องแล้วครูจะเปิดติวทำไม อาจหมกเม็ด เรื่องคะแนน จิตพิสัย และข้อสอบ ถือว่าไม่ถูกต้อง มองว่า อาจารย์ทำไม่ถูก ไม่ควร ให้สิทธิพิเศษ สำหรับนักเรียนไปเรียนพิเศษกับอาจารย์ ควรเท่าเทียมกัน อาจารย์ควรสอนให้เต็มที่  ไม่ใช่กั๊กความรู้เอาไว้”

เด็กคนหนึ่งระบายความอัดอั้นตันใจ ขณะมองว่าการเรียนพิเศษ ในสถาบันกวดวิชาเป็นเหมือนดาบสองคม บางคนได้ความรู้ แต่บางคนโกหกผู้ปกครองและครูว่าไปเรียนแต่ฉวยโอกาสหนีเที่ยว มั่วสุม

สื่อ

เด็กมองสื่อในแง่ติดลบเห็นว่าสภาพปัจจุบันการออกข่าวของสื่อ จะมีแต่ฆ่ากันตาย

“เราอยากให้สื่อพูดถึงการทำความดีมากกว่าข่าวร้าย เพราะบางที คนไม่ดี ได้เป็นข่าว อาจทำให้เด็กเอาอย่างในทางไม่ดี เพื่อแค่อยากเด่นดังเท่านั้นเอง  ทำไมหนังสือพิมพ์หน้าแรก ต้องมีแต่ข่าวอาชญากรรม  ข่าว คนทำความดีไปหลบอยู่หน้าใน”

พวกเขาเห็นว่า ต้องปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับสื่อ  สื่อเองต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก  ไม่ใช่เสนอแต่มุมซ้ำๆ  ต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กแสดงความสามารถ สำหรับตัวเด็กเอง ควรเลือกบริโภคสื่อเพราะมีทั้งดีไม่ดี

“ควรปลุกจิตสำนึกกับเยาวชน เชื่อมโยงกับการศึกษา /อย่างกระแสญี่ปุ่น เกาหลี  ที่เด็กเอาตามโดยไม่มีเหตุผลเลย อาจรับค่านิยมผิดๆมาก็ได้”

ยาเสพติด

มีการเผยข้อมูลจากเด็ก อ้างจาก สภ.หาดใหญ่ ว่าเด็กหาดใหญ่ที่ติดยาเสพติดมากว่าที่อื่น 30 % และอยู่ระดับประถมศึกษา

เมื่อเปิดประเด็นดังกล่าว เด็กชั้นประถมคนหนึ่งยอมรับว่ามีทั้งบุหรี่ กระท่อม และ  4X100  เด็กติดยาเพราะครอบครัวไม่อบอุ่น หรือไปคบเพื่อนติดยา

“ การซื้อขายยาทำได้ง่าย บางที่เด็กรู้วิธีทำเองอย่าง 4X100ทำเอง  ทำให้ติดยาง่ายขึ้น”

เด็กยอมรับร่วมกันว่าปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือคนติดยาขาดโอกาสกลับตัว  เพราะเด็กทั่วไปเลือกคบแต่คนดีเลิศ แต่ลืมเพื่อนที่ติดยา ที่กำลังบำบัด รักษา ฟื้นฟูตัวเองอยู่  และปัญหายาจะไม่เกิด ถ้าเพื่อนรักกันให้โอกาสกัน

สภาพแวดล้อมในชุมชน

สถานบันเทิงในหาดใหญ่มีมาก ถูกยกมาเป็นต้นเรื่อง

“ไม่มีบัตรก็เข้าได้” เด็กคนหนึ่งบอกว่าเคยเข้าไปแล้ว และว่าเป็น สิ่งแวดล้อมที่ทำให้ไขว้เขว สู่การติดยาได้ง่าย เพราะมีการมั่วสุม น่าจะเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้ เป็นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เสียจะดีกว่า

“อยากเปลี่ยนโรงงานร้าง ป่าละเมาะ  เป็นสนามเด็กเล่น หรือที่ออกกำลังกาย ไม่นั้นกลายเป็นแหล่งมั่วสุม”เด็กสาวคนหนึ่งว่าน้องสาวเธอเกือบถูกลวนลามระหว่างขี่จักรยานผ่านโรงงานร้างใกล้บ้าน

“ยาเสพติดทมีหลายแบบสมัยนี้  เช่นที่เป็นแผ่นพลาสติค เป็นแสตมป์ติดเอาไว้ใต้ลิ้น หรือเป็นน้ำ เพื่อนผมดูดบุหรี่ หรือบางคนมียาบ้าที่บอกว่ารสชาติเหมือนชอกโกแล็ต เขาบอกว่าการเสพยา เก่ง เท่ห์ แต่ผมไม่เล่นด้วย”

ไม่เฉพาะในเมือง ชนบทก็แหล่งมั่วสุมได้  เด็กอีกคนมองต่างว่าในเมืองตำรวจเข้าถึงทุกแห่งได้ แต่ในชนบทสถานที่ห่างไกล สภาพที่เป็นป่ารก เหมาะสำหรับคนเสพยาก็เข้าไปมั่วสุม เพราะเจ้าหน้าที่เข้าไม่ถึง ลับหูลับตาผู้คน  ปัญหายาเสพติดจึงขึ้นอยู่กับชุมชนว่าเข้มแข็งแค่ไหน หรือ ผู้ปกครองดูแลลูกหลาน ใกล้ชิดอย่างไร

วงสมัชชาเด็กฯ เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่แสดงความเห็น  ชัยวุฒิ เกิดชื่น บอกว่าดีใจที่เด็กๆ บ้านเราอยากรู้อะไรมากขึ้น

คำอธิบายภาพ

“ในฐานะที่ผมทำสื่อมานาน อยากบอกว่าการเรียนรู้ไม่ใช่ขาดทุนกำไร อย่างที่ยกตัวอย่าง ว่าพ่อแม่ มองแต่ขาดทุน กำไร ชีวิตทุนนิยม ต้องถามตัวเด็กเอง ว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า สื่อมองทุกอย่างเป็นการขาย  เพราะคนที่ฟังไม่ได้มีความรู้มากกว่าสื่อ อันนี้คือปัญหา คนฟังไม่ยอมหาความรู้มากกว่าสื่อ เรา แค่มองว่า เขาขายอะไร ให้ตัวเนียน เท่านั้น แต่ในสื่อมีเยอะกว่านั้น

“เราต้องไม่มองว่า สื่อ คือสื่อ พ่อแม่ คือพ่อแม่

การเรียนคือการเรียน ทุกอย่างคือชีวิต เราอยากรู้ว่าดารากินอะไร เป็นเกย์หรือเปล่า แต่เราไม่อยากรู้ว่าโตขึ้นเราจะเป็นอะไร ไม่กล้าเป็น พอว่างๆ ไปดูหมอว่าจะเป็นอะไร เพราะเราไม่กล้าตั้งเป้าหมายมองเอง อันนี้ถูกหรือเปล่าเด้กต้องคิดเอง เด็กกล้าขึ้นแต่ขอให้เราเรียนรู้ให้มากๆ”ชัยวุฒว่า

ภานุวัฒน์ เพชรโชติ  งานสิทธิประโยชน์ ผู้ป่วย โรงพยาบาลสงขลานครนิทร์ กล่าว ชื่นชมยินดี ที่เด็กคิดเป็นอย่างนี้

“ใครว่าประเทศเรากำลังแย่ ผมว่าประเทศชาติเรามีอนาคต แต่เสียใจว่าเด็กเก่งวันนี้ มีแค่นี้เหรอ คนที่มาไม่กังวลใจ แต่ เด็กที่ไม่คิด หรือคิดไปในทางที่ลบ อาจจะไม่ได้แนวคิดอย่างนี้ก็ได้  ต้องไปหาคำตอบกับเพื่อนแบบมิตร ซึ่งในฐานะแกนนำ ต้องไปช่วยกัน”

ภานุวัฒน์กล่าวว่าเด็กมองระบบครอบครัว การศึกษาที่ล้มเหลว แต่มองอีกวันหนึ่ง ถ้าเด็กโต ขึ้นไปต้องไม่ทำอย่างนั้น

“บอกพ่อแม่ไม่ดี  แต่เราจะเป็นพ่อแม่ที่พร้อมหรือเปล่าในอนาคต”เขามองว่าปัญหาทุกวันนี้ เกิดจากพ่อแม่ไม่พร้อมจะเกิดลูก เป็นพ่อแม่โดยความจำยอม ปัญหาจึงตามมา  เมื่อไม่พร้อมเป็นพ่อแม่ จึงไม่มีใจเลี้ยงลูกและถ่ายทอด หรือแม้กระทั่งพ่อแม่พร้อม ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ  บางทีพ่อแม่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวพ่อแม่เอง โดยไม่ได้ดูเด็ก ตอบสนองเด็กทุกอย่างแต่เพื่อพ่อแม่เอง เด็กอยู่กับสถานศึกษาตั้งแต่เล็กมาก เด็กจะคิดเองไม่เป็น เพราะไม่เคยได้คิด

“อยากให้ สร้างฐานตัวเองให้แน่น สร้างภูมิคุ้มกันตัวเองให้ดี ชักชวนเพื่อนให้มาเป็นคนดีอย่างพวกเรา” ภานุวัฒน์ฝากกับเด็กๆ

ถ้าคุณมีโอกาส จะทำอะไร ?

คำถามสุดท้ายที่ถูกโยนเข้าวงสมัชชาเด็กฯวันนั้น ซึ่ง “เอ็ม”รองประธานสภาเยาวชนแห่งประเทศไทย ยังทำหน้าที่ดำเนินรายการ  เขารายงานถึงมติจากกิจกรรมกลุ่มว่า  สร้างความรักให้เกิดในสังคม/ ยิ้มทุกวัน แก้ปัญหา/โลกสวยด้วยสองมือเรา/สร้างความฝัน หวัง เชื่อ ศรัทธาให้กับตัวเอง  ว่าสังคมให้เราเป้นคนดี /ตั้งกลุ่ม หรือคิดกิจกรรมในการร่วมกันแก้ปัญหา คือ ตั้งสภาเยาวชน

คำอธิบายภาพ

หลังจากนั้นเด็กต่างออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติ่ม ซึ่งมีความคิดดีๆ อย่างเช่น -อยากทำอะไรให้ดีขึ้น แต่ขั้นแรกต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน -อยากให้เด็กในสงขลา ทำกิจกรรม มีบทบาทชัดเจน ผู้ใหญ่จะทำอะไร เด็กต้องมีส่วนร่วมด้วย -อยากให้ มีการสื่อการเรียนการสอนดีขึ้น -อยากเห็นเยาวชน ทำอะไรร่วมกันที่เป็นประโยชน์อย่าง การอ่านหนังสือ -อยากให้บ้านเมืองสงบสุข ปัญหาการเมืองสำคัญ กระทบมาสู่เด็ก ทุกเรื่อง -เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด อยากให้เด็กและเยาวชน ช่วยจับกลุ่ม เผยแผ่ อบรม ให้ลดลง ให้ความรู้ว่าโทษอย่างไร ป้องกันอย่างไร

-การที่มาทำอะไรร่วมกัน อยากให้มีต่อเรื่อยๆ ทำให้เพื่อนต่างโรงเรียนที่ไม่พบจอกัน ได้มาเจอ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี มิตรภาพที่ดี

“สรุปว่าอยากเห็นภาพแบบนี้บ่อยๆ เป้าหมายอยากเกิดกิจกรรมร่วม ของเยาวชน ของจังหวัดสงขลาสู่การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และสังคมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะทางปัญญา  เราจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ก้าวแรกแล้วก้าวต่อไปพร้อมเพื่อนทุกคนที่นี่ เรากำลังจะเป็นเด็กคิดเป็น ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับการพัฒนา ถ้าคิดถึงสิ่งดี ก็ถือว่าคิดเป็น ไม่ได้คาดหวังระยะสั้น แต่มองระยะยาว”

เอ็ม หรือไชยยันต์ กล่าวและว่าก้าวต่อไปของสมัชชาฯ คือทุกคนจะไปสร้างเครือข่าย ขยายออกไปเป็นใยแมงมุม ตามชุมชนทั่วสงขลา เพื่อทำกิจกรรมทำร่วมกัน ขับดันการพัฒนาทางปัญญา ของเยาวชนสงขลา .


“คิดดี+คิดได้+พูดง่ายๆ = คิดเป็น”

การยอวาที เรื่อง “คิดดี +คิดได้ +พูดง่ายๆ = คิดเป็น” กิจกรรมหนึ่งในเวทีสมัชชาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาวันนั้น มี 3 ทีมเข้าร่วม  โรงเรียนพะตง ประธานคีรีวัฒน์ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย2 และโรงเรียนสะเดาขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์  ตัวแทนทีมละ 3 คนออกมาพูด บทสรุปน่าสนใจ

โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 2

มองว่าการคิดดี มาจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ใหม่ๆ  ต้องกล้าเปลี่ยนตัวเอง ความคิด  ถ้าคิดว่าทำได้ ก็จะทำได้ แล้วจะทำให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ

การติดต้องคิดแบบเชื่อมโยงความรู้ สามารถนำไปสู่แนวปฏิบัติ เรียนรู้จากปัญหาปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดี นำสิ่งผิดพลาดมาคิดใหม่ให้เกิดประโยชน์ปัจจุบันและอนาคต

“ถ้าเราคิดเป็น เรื่องสอบ มองเป็นเรื่องธรรมดา แค่เป็นการปูพื้นฐานให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต คนได้คะแนนเต็มไม่มีทางรู้เลยว่า ความรู้สึกคนสอบตกเป็นอย่างไร และพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไร คนสำเร็จตลอด แล้วมาผิดหวัง อาจจะเสียความคิดดีๆไปเลยก็ได้”

สอบตกยังเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จได้หรือการบ้านเยอะยิ่งทำให้เก่ง ข้อสอบยากคือบทเรียนที่จะสร้างปัญญาอย่างวิเศษ สิ่งสำคัญต้องเปิดโลกความคิดให้กว้าง รู้จักกลั่นกรองความคิด ให้รอบคอบ และคิดเป็นต้องพูดดีด้วย

คำอธิบายภาพ

โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์

มีมุมมองว่าถ้าคิดไม่เป็นจะเป็นเหยื่อสถานการณ์ อย่างกรณียาเสพติด

มีข้อเสนอเรื่องสุขแท้ด้วยปัญญาว่าความสุขที่เกิดจากปัญญา เกิดจากความคิด มีสติ ไม่ประมาท คิดในสิ่งที่ดี คิดแบบมีเหตุผล จะทำการอันใด ต้องคิดด้วยเหตุผล วางแผนรอบคอบ คิดให้ดี ผลสำเร็จจึงจะไปตามเป้าหมาย

ต้องคิดแบบมองส่วนรวมไม่เห็นแก่ตัว  การทำอะไรให้คิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง  จะทำให้อยู่สังคมอย่างมีความสุข

คิดแบบโครงสร้างมีลำดับขั้นตอน รู้จักการทำงานรวมกลุ่ม ทุกคนคิดได้ แต่จะนำความคิด มาใช้ประโยชน์อย่างไร เป็นความสามารถแต่ละคน

สำหรับเด็กการคิด ต้องรู้จักคิด แยกเวลาว่าตรงไหนเล่น เรียน คิดใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งชั่วร้าย เกิดมาต้องคิดแต่สิ่งดี และคิดแล้วต้องปฏิบัติ สังคมจะดีขึ้น ถ้าไม่เพียงแต่คิดและนิ่งเฉย

“หลังร่วมงานสมัชชาครั้งนี้  ทุกคนคิดเป็นแน่นอน ทุกคนต้องมีปัญหาและความสุข เดินคู่ไปได้ ไม่มีใครเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเจอปัญหา ต้องรู้เท่าทัน ตามหลักศาสนา ทุกข์เกิดจากใจ  เราต้องใช้ใจล้างทุกข์ออกจากตัวเราได้”

โรงเรียนสะเดาขรรค์ชัยฯ

เห็นว่า คิดในสิ่งมีประโยชน์ เป็นผลดีกับตัวเองและคนรอบข้างคิดดี ไม่พอต้องคิดได้ ว่าเหมาะสม เอาเยี่ยงอย่างหรือไม่ ต้องรู้จักเอาใจเข้าหาผู้อื่น

“จากการเข้าโครงการนี้น่าจะให้เราไปใช้ได้สถานการณ์ลบให้เป็นบวก น่าจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป เป็นโครงการที่ดี  น่าจะไปสร้างเพื่อนเยาวชนไปแนวทางนี้ด้วย แค่คิดชีวิตก็เปลี่ยน เพียงแต่ไปในทางที่ดี ต่อตนเองและผู้อื่น”

การคิดเป็น พูดเป็น ยังสามารถนำไปแก้เพื่อนที่มีปัญหา ใช้การสื่อสารอันนี้ ไปช่วยเพื่อน อย่างคนติดยา ว่ามีปัญหาอะไร นี่คือ คิดเป็นและถ่ายทอดได้จริงๆ

การเริ่มทำและคิดสิ่งใด คือสติแลสมองอย่างเดียว คิดได้แต่ไม่รู้จัก ไตร่ตรองยั้งคิดมีปัญหา สติเป็นหางเสือ จะพาไปที่สูงต่ำ ถูกผิด ไม่ต้องเลิศหรูอลังการ คิดดี ตัวเองดี อยู่ในสังคมอย่างไร ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว