สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

‘แผนสุขภาพระดับตำบล’ สู่สุขภาวะชุมชนของคนสงขลา

‘แผนสุขภาพระดับตำบล’ สู่สุขภาวะชุมชนของคนสงขลา

รอยยิ้มและเสียงหัวเราะดังไปทั่วบริเวณลานวัด ผู้คนอยู่ในอิริยาบถที่ดูผ่อนคลายเป็นกันเองตามประสาเพื่อนบ้านละแวกเดียวกัน ก่อนที่เสียงเรียกตามสายจะทำให้ทุกคนเดินมาจับจองเก้าอี้ที่ถูกจัดแถวเรียงเตรียมไว้ จากที่กระจัดกระจายก็รวมเป็นกลุ่มดูเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่นานการประชุมย่อยจึงได้เริ่มขึ้นตามวาระที่ได้กำหนดตกลงกันไว้ของกลุ่มกองทุนแผ่นดินแม่ กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมแผนสุขภาพตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา

แม้เป็นการประชุมของกลุ่มคนเล็กๆ ที่ถูกจัดขึ้นแบบเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก แต่ก็สามารถสัมผัสได้ถึงพลังความร่วมมือของคนในตำบลที่มีอยู่ล้นเปี่ยมได้เป็นอย่างดี และนี่ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในอีกหลากหลายกลุ่มในพื้นที่ที่กำลังพยายามทำหน้าที่ของตนเอง โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือหวังจะเห็นผู้คนในชุมชนมีสุขภาพที่แข็งแรงตาม ‘แผนสุขภาพระดับตำบล’ ที่ได้วางไว้

แผนสุขภาพที่ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นขึ้นจากกลุ่ม จากบุคคลใด หรือตำบลใดตำบลหนึ่ง หากแต่มีจุดกำเนิดมาจากคนทั้งจังหวัดสงขลาที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ซึ่งกว่าจะได้มาต้องใช้เวลาสะสม บ่มเพาะ และผ่านเรื่องราวต่างๆ มายาวนานราวกับตำนาน...

1.ความเข้มแข็งมาจากรากฐานที่มั่นคง

หากมองย้อนกลับไป สงขลานับเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในด้านของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีความเข้มแข็ง ผ่านกระบวนการเติบโตเรียนรู้ร่วมกันมาอย่างยาวนาน โดยเป็นการรวมตัวจากกลุ่มคนในหลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน ศิลปิน ที่เล่งเห็นถึงประเด็นปัญหาภายในพื้นที่ ประกอบกับสงขลามีสถานศึกษาสำคัญๆ หลายแห่งในภาคใต้ ที่ผลิตนักวิชาการและบุคลากรที่มีความสนใจในปัญหาส่วนรวม ทำให้เกิดเวทีเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพมากมาย

ในภาพรวม กลุ่มหรือเครือข่ายต่างๆ เริ่มเติบโตมาจากประเด็นร่วมในเรื่องทะเลสาบสงขลา การเกษตร และสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงสร้างเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ลักษณะการทำงานจะเน้นการลงพื้นที่ใกล้ชิดชุมชน มีขอบเขตประเด็นที่ชัดเจน จำเพาะ และต่อเนื่อง ส่วนองค์กรชาวบ้านที่รวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการก็มีการทำงานเฉพาะประเด็น และอีกหลายๆ กลุ่มที่มีลักษณะเป็นกลุ่มอิสระรวมตัวกันแบบหลวมๆ ของนักวิชาการและคนชั้นกลางที่สนใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยมีเวทีเฉพาะกิจในการรวมกลุ่ม ซึ่งลักษณะการทำงานจะเน้นในเชิงข้อมูลมากกว่าพื้นที่

ด้านลักษณะการก่อตัวของภาคประชาสังคมสงขลานั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ

ช่วงที่ 1 การก่อตัวของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชาวบ้าน อันเนื่องมาจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสงขลาให้เอื้อต่อการทำนาปีละหลายครั้งของเกษตรกรในช่วงตั้งแต่ปี 2492-2520 โดยมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากระวะและปากน้ำอีกหลายแหล่ง ซึ่งเป็นปากน้ำที่เปิดออกสู่ทะเลอ่าวไทย เพื่อแก้ปัญหาน้ำกร่อยในช่วงน้ำทะเลหนุนหรือช่วงมรสุม และมีการขุดลอกคลองธรรมชาติเพื่อสูบน้ำจากทะเลสาบสงขลาตอนบนเพื่อการเกษตร ทำให้ส่งผลกระทบต่อทะเลสาบเป็นอย่างมาก ระบบการไหลเวียนของน้ำเค็มหมดไป สัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ทะเลสาบตื้นเขิน ชุมชนชาวประมงล่มสลายกลายเป็นแรงงานอพยพ และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวประมงกับชาวนา

ในปี 2524 จึงได้มีกลุ่มบัณฑิตจากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลับสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่มีความตระหนักต่อปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มงานพัฒนาชุมชนรอบๆ ทะเลสาบสงขลา จากโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็กพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับโครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้

ทางด้านองค์กรชุมชนเริ่มมีการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการจำนวนมาก ในรูปแบบกลุ่มเกษตรและกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและผลกระทบจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ในส่วนการรวมตัวของคนชั้นกลางและนักวิชาการก็เริ่มมีให้เห็นบ้าง ด้วยการรวมตัวของกลุ่มแพทย์ พยาบาล และนักธุรกิจ ที่ตระหนักถึงสุขภาพของคนสงขลาที่มีความเสี่ยงจากอาหารเป็นพิษจากผู้ประกอบการ มีการจัดเวทีบรรยายเรื่องอาหารและสุขภาพ จัดทำเอกสารเผยแพร่ และให้ความรู้ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง

ช่วงที่ 2 การเปิดพื้นที่สาธารณะและการแตกตัวของเครือข่าย ทิศทางการทำงานของกลุ่มต่างๆ ที่เน้นการปฏิบัติในชุมชนเริ่มขยับมาสู่การเปิดพื้นที่ทางสังคมที่กว้างขึ้น มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน โดยสื่อวิทยุชุมชนถือเป็นจุดเริ่มต้นช่วยเปิดพื้นที่สื่อสาธารณะ แต่เนื่องจากการเปิดพื้นที่สื่อเพื่อท้องถิ่นในขณะนั้นยังมีน้อยมาก ทั้งที่สื่อซึ่งเป็นช่องทางสำคัญและเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงควรอยู่กับประชาชน เหตุนี้จึงได้เริ่มมีการประสานกันขึ้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และนักวิชาการ เข้าร่วมจัดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยน ระดมความคิด ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมขึ้น การจัดเวทีสาธารณะอย่างต่อเนื่องนั้น กระตุ้นให้ชาวสงขลาเกิดการตื่นตัวและตระหนักต่อปัญหาทะเลสาบสงขลา ก่อให้เกิดการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ความสนใจในเรื่องสุขภาพก็เกิดขึ้นมาไล่เลี่ยกัน ขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น เนื่องจากกำลังมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นครั้งแรก

ช่วงที่ 3 เกิดการตื่นตัวและการจัดขบวนเคลื่อนไหวในภาคประชาชน โดยช่วงนี้การตื่นตัวเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นเรื่องสุภาพเริ่มเด่นชัดขึ้น มีการคัดสรรตัวแทนภาคประชาชนเข้าสู่ คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ตามโครงการนำร่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้านสุขภาพ อันเป็นผลจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ มีการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพโดยภาคประชาชนสงขลาอย่างจริงจัง และมีการคัดสรรตัวแทนภาคประชาชนกันอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ระดับรากหญ้า จากตัวแทนตำบลไปสู่ตัวแทนระดับเขต

การจัดกระบวนการคัดสรรตัวแทนอย่างเข้มข้นนี้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อสร้างเงื่อนไขในการร่วมเรียนรู้ ถ่ายเทข้อมูล สู่กระบวนการจัดการโครงสร้างการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นในอนาคต นับเป็นการมองประเด็นใหม่ในเรื่องสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กระบวนการดังกล่าวยังช่วยปรับมุมมอง วิธีคิด และแนวทางการทำงานของภาคราชการ ภาคเอกชน ให้เข้าสู่ภาคประชาสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น

ต่อมาความคาดหวังของภาคประชาชนก็ได้หยุดนิ่งลง เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายผู้ว่าฯ CEO ทำให้อำนาจเดิมที่เคยเป็นหน้าที่หลักของ กสพ. ก็ถูกปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นเพียงที่ปรึกษาทางนโยบาย ทำให้พัฒนาการกลุ่มหรือเครือข่ายต่างๆ ภาคประชาชนในระยะหลัง มีความสนใจหลากหลายประเด็น ต่างคนต่างทำ งานด้านการพัฒนาที่ควรดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกระจัดกระจาย โดยขาดหน่วยงานการประสานงานที่จะมาเชื่อมต่อ

อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนถือเป็นต้นทุนเดิมทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบของคนสงขลาในการบูรณาการทางความคิดเพื่อต่อยอดและพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

2.แรงขับเคลื่อน

การจะทำให้พื้นที่ๆ หนึ่งสามารถพัฒนาสุขภาพของคนภายในชุมชนให้สำเร็จมีสุขภาพที่ดีได้นั้นย่อมต้องมีตัวขับเคลื่อนให้บรรลุตรงจุดเป้าหมายที่วางไว้

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนเสริมหรือต่อยอดในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมและนโยบายสาธารณะคือการเข้ามาของแหล่งทุนและเวทีเรียนรู้

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2544 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนให้จังหวัดสงขลาเป็น 1 ใน 10 ของจังหวัดนำร่องเข้าร่วม ‘โครงการการพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ’ ทำให้เกิดเวทีการเรียนรู้และการระดมความคิดในพื้นที่ มีการต่อยอดกับเวที กสพ. เพื่อพัฒนากระบวนการจัดทำโครงการตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการให้สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ ในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นรวบรวมองค์ความรู้ในท้องถิ่นที่มีอยู่เพื่อนำมาต่อเนื่องเชื่อมโยงในการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน มีกระบวนการจัดเวทีเรียนรู้แยกตามโซนพื้นที่ตามสภาพภูมิศาสตร์และวิถีชีวิตออกเป็น 6 เวที ก่อให้เกิดเป็นชุดโครงการสร้างเสริม สุขภาพจังหวัดสงขลา 5 ส่วน ไว้สำหรับงานด้านการพัฒนา และเป็นที่มาของการเกิดกลไกหน่วยประสานระดับจังหวัดหรือเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

นับแต่นั้นเรื่อยมาได้มีการประสานงานทั้งภายในจังหวัดและจังหวัดอื่นๆ จัดเวทีต่างๆ มากมาย ที่โดดแด่นคือการจัดเวทีประชาคมสุขภาพสงขลา ระดมความคิดเห็นภาคประชาชนเรื่อง กลไกนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพเพื่อการร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติและประชาพิจารณ์ขึ้น แต่ในการร่วมระดมความคิดเห็นในเวทีต่างๆ หลายครั้ง กระบวนการเรียนรู้ยังไม่มีความต่อเนื่องพอที่จะก่อให้เกิดการประสานงานเชื่อมโยง จึงมีการจัดเวทีประชาคมสุขภาพสงขลาเพื่อระดมความคิดเห็นในเรื่องทิศทางยุทธศาสตร์ร่วมการจัดการสร้างเสริมสุขภาพคนสงขลาขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นยุทธศาสตร์สุขภาพคนสงขลาทั้งหมด 3 ด้าน คือ การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการสุขภาพในทุกระดับ, การพัฒนาองค์ความรู้ สร้างทางเลือกการสร้างเสริมสุขภาพ และการประสานภาคีความร่วมมือ

ทั้งนี้ยังลงความเห็นร่วมกันว่าควรมีกลไกที่มีคนทำงานอย่างต่อเนื่องและเกาะติดความเคลื่อนไหวและคอยประสานงานในส่วนต่างๆ ทำให้การเกิดเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.ในเวลาต่อมา

จะเห็นได้ว่าการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้เกิดเวทีการเรียนรู้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน มีการต่อยอดความคิดเดิม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงเฉพาะประชาคมสงขลาเท่านั้น หากจังหวัดอื่นๆ ร่วมขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของตนเองให้มีความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความต่อเนื่องและจริงจัง เชื่อว่าสุขภาพที่ดีของคนภายในชุมชน และจังหวัดหรือประชาชนชาวไทยคงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลาเป็น 1 ใน 15 จังหวัดนำร่องที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส. ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสุขผ่านโครงการย่อยๆ ในพื้นที่ มีระยะการดำเนินงาน 3 ปี คือ มีนาคม 2547-มีนาคม 2550 โดยเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพมีบทบาทเป็นองค์กรที่ช่วยเร่งพัฒนาองค์กรอื่นๆ โดยใช้เงินทุนเป็นเครื่องมือเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ และทำหน้าที่พิจารณาร่วมกับส่วนกลางในการจัดสรรงบประมาณแก่เครือข่ายในพื้นที่สำหรับการทำงานเรื่องสุขภาพและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายด้านสุขภาพ

ปี 2546 เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้นำร่องสนับสนุนโครงการย่อยในพื้นที่ไว้บางส่วน ต่อมาในปี 2547 ได้พัฒนามาสู่การเป็น ‘ศูนย์ประสานงานกลางเพื่อสุขภาพคนสงขลา’ (ศสคส.) โดยอาศัยฐานเดิมจากศูนย์ประสานงานองค์กรภาคประชาชนจังหวัดสงขลา (ศปส.) และประชาคมสุขภาพ มีการจัดวางโครงสร้างคณะทำงานตามแนวทางที่ประชาคมสุขภาพสงขลาแนะนำ ในปีแรกให้น้ำหนักการสนับสนุนโครงการในการพัฒนาเครือข่ายเชิงประเด็น และในช่วงการดำเนินงานจากปีที่ 1 เข้าสู่ปีที่ 2 มีการปรับเปลี่ยนคณะทำงานอีกครั้ง โดยความรับผิดชอบของ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ในการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เพื่อสานเจตนารมณ์การทำงานอย่างต่อเนื่องของภาคประชาชนสงขลา และเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้เข้ามาเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ หรือ สวรส.ภาคใต้ มีบทบาทติดตามและหนุนเสริมโครงการ

ในส่วนการทำงานได้มีการสรุปบทเรียนร่วมกัน โดยปรับโครงสร้างของคณะทำงานในส่วนคณะกรรมการบริหาร ประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตัวแทน เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นักวิชาการ ประชาคม ตัวแทนหน่วยงานราชการ นอกจากคณะทำงานจะเป็นกลไกควบคุมและกำหนดนโยบายแล้ว ยังถือเป็นการสานต่อโครงสร้างของ กสพ. เดิมในบางส่วน และเป็นรากฐานทำให้มีทิศทางการทำงานร่วมกัน

ด้านยุทธศาสตร์การทำงานของคณะทำงานชุดใหม่ มีทิศทางในการประสานงานความร่วมมือ เน้นการทำงานเชิงบูรณาการมากขึ้น โดยอาศัยต้นทุนเดิมที่มีอยู่ ทำให้การทำงานเพียงเฉพาะส่วนของภาคประชาชนก้าวขยับเข้ามาเชื่อมกับภาคส่วนอื่นๆ ภายในจังหวัดได้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากโครงการเด่นๆ เช่น โครงการประสานภาคีจัดทำแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา โดยเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา สวรส.ภาคใต้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และจังหวัดสงขลา ร่วมมือเพื่อให้เกิดแผนสุขภาพจังหวัด แบบมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน หรือโครงการยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้มูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ (มสช.) และ สวรส.ภาคใต้ เป็นลักษณะงานวิจัยกึ่งปฏิบัติการ มีเป้าหมายเพื่อสร้างภาคีที่มีความเข้าใจและมีทักษะในกระบวนการสาธารณะ รวมทั้งสนับสนุน ถ่ายทอดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นและทางเลือกของนโยบายสาธารณะในพื้นที่

นอกจากทั้งสองปัจจัยหลักๆ ที่กล่าวมา ยังมีตัวการขับเคลื่อนอื่นๆ มากมายที่เกิดขึ้นภายในจังหวัดสงขลา ที่เป็นพื้นฐานสำคัญและส่งผลผลักดันในด้านสุขภาพมาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การสัญจรเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจังหวัดสงขลาครบทั้ง 16 อำเภอ หรือการจัดงานสร้างสุขประจำภาค โดยการสนับสนุนของ สสส. มีการปรับรูปแบบการจัดงานที่เคยมีปีละหนึ่งครั้งในส่วนกลาง มากระจายให้เกิดการจัดงานระดับภาค ในส่วนภาคใต้สงขลาได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพหลักในปีแรก และคณะทำงานก็ได้ใช้โอกาสนี้ ผลักดันให้มีการทำข้อตกลงสร้างสุขภาพระดับจังหวัดระหว่างภาคประชาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยผลักดันงานขับเคลื่อนเชิงประเด็น อาทิ การจัดการสุขภาพโดยชุมชนพึ่งตนเอง การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เป็นต้น

3.จากจังหวัดลงสู่ตำบล

นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสร้างสุขภาพจังหวัดสงขลาแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการจากหลายภาคส่วน มาร่วมผลักดันให้เกิดแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาและติดตามการสร้างสุขภาพแก่คนสงขลาในระยะยาว เพื่อใช้เป็นทิศทางในการขับเคลื่อนขององค์กรทุกภาคส่วน การทำงานด้านสุขภาพโดยมีภาคประชาสังคมเป็นศูนย์กลางที่ผ่านมา จึงได้ทำให้การทำแผนสุขภาพจังหวัดกลายมาเป็นความเห็นร่วมของคนสงขลา

ต่อมา คณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว ต่อมายกระดับเป็นเครือข่ายสร้างสุขภาพจังหวัดสงขลา อยู่ภายใต้สังกัดของสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ ดำเนินการนำแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาไปสู่การปฎิบัติ โดยความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเครือข่ายภาคประชาชน 14 เครือข่าย แผนสุขภาพจังหวัดสงขลาแบบบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นที่ตั้งในระดับจังหวัดนั้นมีหลักคิดในการจัดทำแผนสุขภาพจังหวัดในระยะเริ่มต้น เป็นแผนการดำเนินงานที่ไปหนุนเสริมแผนการดำเนินงานของหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นแผนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และเป้าหมายในแผนปฏิบัติราชการของจังหวัดสงขลา และสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

จากวัตถุประสงค์ของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา มีการกำหนดเบื้องต้นนั้นเป็นแผนระยะ 2 ปี แบบมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน จังหวัดสงขลาจึงได้จัดการประชุมเพื่อกำหนดประเด็นหลักที่มีความสำคัญและเป็นที่สนใจของทุกภาคส่วน จนกระทั่งสามารถสรุปออกมาได้ทั้งสิ้น 4 กลุ่มเนื้อหา รวม 14 ประเด็น โดยในระยะแรก จะอาศัยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเข้าไปเป็นแผนงานหนึ่งของ สวรส.ภาคใต้ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีจุดแข็งในเรื่องการจัดการเชิงระบบและเชื่อมประสานงานกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาควิชาการ และแหล่งทุน เพื่อใช้เป็นกลไกในการบริหารจัดการของสถาบัน อีกทั้งรองรับและวางรากฐานเพื่อเตรียมความพร้อมยกฐานะเป็นสถาบันการจัดการสุขภาพจังหวัดในอนาคต

ส่วนในระยะที่สอง คือปี 2553 จะยกฐานะเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา เป็นมูลนิธิหรือสถาบันที่มีความพร้อมในการทำงานเชิงบูรณาการ ตามรูปแบบที่มีการศึกษาและประสบการณ์จากการปฏิบัติการจริงในระยะแรก

นอกเหนือจากนั้นคณะทำงานเครือข่ายสร้างสุขภาพจังหวัดสงขลายังได้ดำเนินการสร้างสุขภาวะในพื้นที่อีก 2 แผนงานที่ดูจะช่วยให้การพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพสามารถเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง คือ แผนงานบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง (แผนสุขภาพระดับตำบล) และแผนงานเปิดรับและสนับสนุนโครงการย่อยในพื้นที่ โดยทั้ง 2 แผนงานได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ในแผนงานเปิดรับและสนับสนุนโครงการย่อยในพื้นที่ มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายใหม่และสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มใหม่ๆ ในพื้นที่จังหวัดที่ยังไม่ได้เข้าสู่แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา

โดยสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมสร้างสุขผ่านโครงการย่อยในพื้นที่ สอดคล้องตามแผนงานและยุทธศาสตร์ของแผนสุขภาพของจังหวัด โดยใช้รูปแบบและความรู้จากงานเครือข่ายสร้างเสริม สสส. มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

ส่วนการสร้างสุขภาวะโดยมีพื้นที่ระดับตำบลเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ตำบลบูรณาการ คือการลงไปทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล โดยตั้งเป้าไว้ที่ 16 ตำบลนำร่อง ใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อให้เกิดแผนสุขภาพระดับตำบลที่คนในชุมชนเป็นเจ้าของ มีการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน เพื่อเป็นการสร้างสุขที่ยั่งยืนในชุมชนด้วยการทำงานของตัวชุมชนเอง

4.แผนสุขภาพตำบล

แม้โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินจะมีหลายส่วนราชการ หลายหน่วยงาน และมีการปฏิรูปอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังเกิดช่องว่างการทำงานที่ต่างคนต่างทำ ภายใต้ข้อจำกัดของนโยบายของแต่ละหน่วยงานที่กำหนดออกมาแตกต่างกัน อีกทั้งยังขาดความต่อเนื่องและมีความแตกแยกในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ภาคประชาชนมีความอ่อนแอไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ เข้ามาจัดการ ‘แผนสุขภาพระดับตำบล’ นั้นคือความหวังหนึ่ง

จากผลการทำงานในแผนสุขภาพ 1 ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอในงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลาปี 2550  ภายในงานได้มีการจัดทำข้อตกลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสุขภาวะในระดับตำบลร่วมกัน ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์คือ

  1. ผลักดันให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนภายในตำบลในการจัดทำ ‘แผนสุขภาพระดับตำบล’
  2. ระดมความร่วมมือในพื้นที่เพื่อให้เกิดกองทุนสุขภาพในการขับเคลื่อนแผนสุขภาพระดับตำบลให้เป็นจริง
  3. เชื่อมประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคราชการ สู่การบูรณาการสร้างสุขภาวะโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง

แผนสุขภาพระดับตำบลจึงมีแนวทางดำเนินงานโดยการคัดเลือกพื้นที่นำร่องระดับตำบล บูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ในพื้นที่ดำเนินงานสร้างแผนสุขภาพระดับตำบลและมีปฏิบัติการตามแผนสุขภาพร่วมกัน

นายแพทย์สุภัทรได้ช่วยอธิบายที่มาของแผนสุขภาพตำบลเพิ่มเติมว่า พื้นฐานมาจากแผนสุขภาพรายประเด็นทั้ง 14 ประเด็น ทำประเด็นออกมาแล้วมองเห็นปัญหาจากพื้นที่ สมมติว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมจะมีการพูดกันในที่ประชุม พอทำไปได้ประมาณหนึ่งปี จึงเริ่มมีความเห็นร่วมกันว่า การมีตำบลนำร่องอำเภอละหนึ่งตำบลนั้นจะเป็นหัวใจของความสำเร็จ สุดท้ายประชุมกันว่าถ้าจะทำเรื่องการกำจัดขยะก็ต้องไปหาพื้นที่กำจัดขยะ หรือถ้าจะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กก็ต้องไปหาศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น
“การคิดแผนสุขภาพตำบลนั้น ต้องมีสักตำบลหนึ่งที่นำเอารูปแบบแผนสุขภาพจังหวัดที่มีความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งทางราชการ อบต. ราชการท้องถิ่น นักวิชาการ ประชาสังคม เอาทั้ง 4 ภาคส่วนของแผนสุขภาพระดับจังหวัดนี้ไปลงในระดับตำบล โดยเลือกอำเภอละหนึ่งตำบลเป็นต้นแบบ มุ่งสร้างจัดกระบวนการทำงานให้เป็นระบบ

“แผนสุขภาพต้องมาจากความร่วมมือของชุมชน ถือเป็นรูปแบบความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หมายความว่าตำบลหนึ่งมีหัวใจคือ อบต. ต้องมีส่วนร่วม นักวิชาการในท้องถิ่นต้องร่วม ราชการต้องร่วม ราชการก็คืออนามัยในพื้นที่ โรงเรียนในพื้นที่ ผู้ที่กินเงินเดือนหลวงเป็นราชการหมด และนักวิชาการภายนอกจะเข้าไปเสริม นักวิชาการก็มาจากแผนสุขภาพรายประเด็น เช่น ถ้าตำบลจะทำเรื่องอุบัติเหตุก็ต้องเป็นนักวิชาการที่อยู่ในประเด็นอุบัติเหตุไปช่วยทั้งขบวน ไปช่วยให้ความรู้ ช่วยทำแผน แล้วแต่ว่าตำบลนั้นจะเจอประเด็นไหน”

ส่วนคำแนะนำในการทำงานด้านสุขภาพและการชักชวนให้คนอื่นเห็นถึงความสำคัญด้านสุขภาพนั้น

“คำตอบแรกคงต้องอยู่ที่หมู่บ้าน การลงไปทำชุมชนตัวอย่างนั้นถือว่าจำเป็นและสำคัญ โดยที่ผ่านมานั้น มีแผนอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วประเทศ และแยกเป็นเพียงประเด็นๆ ไป เช่น หมู่บ้านนี้ว่าด้วยเรื่องปลูกผักปลอดสารพิษ ก็จะทำแต่เรื่องปลูกผักปลอดสารพิษ เจ้าของโครงการที่ขอทุนจาก สสส. เขาจะของบโครงการเป็นชิ้นๆ ในแต่ละโครงการไป

“สิ่งที่ควรจะเป็นคือต้องบูรณาการทุกประเด็นในตำบลมากกว่า เช่น แผนสุขภาพระดับตำบล อย่างนี้คือความยั่งยืน มีข้อดีกว่าที่เราจะเสียงบประมาณไปเพียงแค่ไปอบรมเรื่องเหล้า แล้วกลับมาก็เป็นอย่างเดิม เราควรมีการบูรณาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากให้เกิดทั้งประเทศ อยากปรับความคิดของคนหลายๆ คนที่ทำงานด้านสุขภาพ ว่าอย่าทำเป็นประเด็น ชาวบ้านเขาไม่อยากทำเรื่องเดียวหรอก เขาอยากทำทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องในชีวิตของเขาสำคัญหมด ทำให้เป็นองค์รวม ที่ผ่านมาทางราชการเขาทำแยกส่วน รวมไปถึงตัว สสส. เองด้วย”

นอกจากนี้นายแพทย์สุภัทร หนึ่งในคณะทำงานยังเล่าถึงปัญหาและอุปสรรคที่พบเจอจากการทำงานของคณะทำงานให้เราฟังว่าแต่ละตำบลมีขนาดพื้นที่กว้างต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง ถ้าต้องเข้าให้ครบทุกตำบล ต้องใช้ระยะเวลาหลายวัน โดยไม่ใช่เข้าไปเพื่อประชุมเพียงครั้งเดียว แต่เข้าไปเพื่อนัดเตรียมพื้นที่และทำความเข้าใจในแนวความคิดก่อนวันประชุมจริง  เพราะการทำงานร่วมกับชาวบ้านมักไม่ได้ดั่งใจหวัง

“เฉลี่ยแล้ว ถ้าสิบห้าตำบล ต้องใช้เวลาทั้งหมดสามสิบวัน เพราะมันต้องเข้าก่อนวันประชุมแล้วก็เข้าวันประชุมใหญ่ ทาง สสส. ก็ให้คนแค่คนสองคน มันไม่พอหรอก แต่หากชุมชนที่มีศักยภาพเข้มแข็งมาก เราก็ไม่ต้องเข้ามากอาจจะคอยดูแลอยู่ห่างๆ ซึ่งเขาสามารถจัดการกันเองได้ แต่ถ้าเราเลือกตำบลที่ไม่เข้มแข็ง สมมติว่าทำไปสักปีสองปีกลายเป็นตำบลไม่เข้มแข็ง อันนี้จะเหนื่อย ต้องใช้กำลังคนที่ลงไปช่วยมากหน่อย”

แม้จะเกิดอุปสรรคในด้านของจำนวนคนที่มีน้อยแต่ในอีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องของการวัดศักยภาพของคณะทำงาน

“ทีมงานที่ปฏิบัติงานในตำบล มีเพียงไม่กี่คนที่ทำแผนสุขภาพจังหวัด แต่สามารถทำการขับเคลื่อนกับภาคประชาสังคม ทำเรื่องแจกทุนให้โครงการย่อย ทำหลายเรื่องมาก ซึ่งถ้าเป็นระดับราชการต้องใช้คนเยอะมาก อาจสัก 30  คน แต่เราทำได้เพียง 5-6 คน ที่ทำได้เพราะเราทำด้วยใจบวกกับความร่วมมือของคนในชุมชน ท้องถิ่น พันธมิตรของเรา ซึ่งทุกคนมีจิตอาสาที่จะมาช่วยกัน ไม่อย่างนั้นคณะทำงานคงทำไม่ไหวหรอก และยังทำได้ด้วยเงินที่น้อยมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกระบวนการต่างๆ ค่าวิทยากรบางทีก็ไม่มีให้ แต่เขาเต็มใจช่วย นี่คือสิ่งมหัศจรรย์ของแผนสุขภาพ ไม่ได้มาทำเพื่อเอาเงินหรือเพื่อหวังผลตอบแทน” นายแพทย์สุภัทรเล่าถึงความประทับใจ

5.ตำบลตัวอย่าง ตำบลคนจริง

องค์การบริหารส่วนตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา คือ1 ใน 9 ตำบลที่ร่วมลงนามทำข้อตกลงในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสุขภาวะในระดับตำบลร่วมกันอย่างจริงจัง

ประชากรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลพิจิตรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม พื้นที่บริเวณรอบนอกจะเพาะปลูกสวนยางเป็นหลัก เนื่องจากสภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบ มีห้วยหนองและลำคลอง จึงเอื้อต่อการเพาะปลูก ทั้งยังมีการทำไร่ ทำนา ตามที่ราบลุ่มตอนกลางของตำบล

จากความโดดเด่นในเรื่องผู้นำที่เข้มแข็งและคนในชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตำบลพิจิตรจึงเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม จนถูกคัดเลือกให้เป็นตำบลนำร่องในการจัดทำแผนสุขภาพตำบล

“การเป็นตำบลที่พร้อมนั้น ต้องพร้อมในเรื่องผู้นำชุมชนและคนในชุมชนต้องทำ ไม่ใช่ให้คนนอกไปทำให้ คนในต้องทำเอง คนนอกเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น อีกทั้งชุมชนนี้เข้มแข็ง กลุ่มประชาสังคมในชุมชนก็เข้มแข็ง อบต.พิจิตรเองก็ถือว่าเข้มแข็ง ก็เลยเลือกตำบลพิจิตรเป็นตำบลนำร่องในอำเภอนาหม่อม โดยอำเภอนาหม่อมมี  4 ตำบล และพยายามเลือกอำเภอที่เข้มแข็ง เพราะการพัฒนาต้นแบบ ถ้ามีตำบลที่ทำง่าย ทำสำเร็จ ก็จะเป็นกำลังใจให้กับชาวบ้านและเราด้วย อีกทั้งก็เป็นตัวอย่างให้กับตำบลอื่น อย่าเลือกตำบลที่ทำยาก ล้มเหลว ทำแล้วไม่ลงตัว หรือมีปัญหาก็ไม่ดี

“ตำบลนี้มีทุนทางสังคมที่พร้อม ทุนทางสังคมก็คือชาวบ้านมีจิตอาสาอยากมาทำงานเพื่อส่วนรวม และมี อบต. มองเห็นประโยชน์ของการทำแผนสุขภาพ นี่คือหัวใจสำคัญ” นายแพทย์สุภัทร อธิบายเกณฑ์การคัดเลือก

ประมวล แก้วชนะ อายุ 42 ปี นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตำบลพิจิตร เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำการวางแผนสุขภาพตำบลให้เราฟังว่า เกิดจากการระดมความคิดของชาวบ้านร่วมกันขึ้นมาเพื่อให้ประชากรในพื้นที่มีสุขภาพกาย ใจ ที่แข็งแรง เพื่อโอกาสในความก้าวหน้าในการทำงาน อยู่ดีมีสุข อารมณ์แจ่มใส่ ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยโรงพยาบาล โดยใช้แผนสุขภาพเป็นแนวทาง

“เรียนรู้แผนสุขภาพจากตัวแทนขององค์กรภาครัฐที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง และได้เชิญกลุ่มองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรสตรี กลุ่มกองทุนแม่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเกษตรกรที่ประกอบอาชีพ ทั้งหมดทุกกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นภายในตำบล เพื่อมาร่างแผนนโยบายแผนสุขภาพตำบลขึ้น และให้องค์กรในท้องถิ่นรู้ถึงทิศทางเรื่องสุขภาพว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยที่ทุกคนมีส่วนร่วมกัน”

แม้จะมีปัญหาเรื่องการเชิญชวนเข้ามาร่วมประชุมบ้างในช่วงแรก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เล็งเห็นถึงความสำคัญ โดยที่ผ่านมาแม้จะมีการจัดกิจกรรมหรือจัดประชุมขึ้น ชาวบ้านก็จะมองว่า ทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร ได้ประโยชน์อะไรบ้าง แต่เนื่องจากการจัดทำแผนสุขภาพ คณะทำงานพยายามทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละเรื่อง แต่ละปัญหา ชาวบ้านจึงค่อยๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญ

ในเรื่องของโครงสร้างของคณะทำงาน อนันต์ แก้วชนะ กำนันตำบลพิจิตร วัย 44 ปี อธิบายว่า เมื่อก่อนกลุ่มต่างๆ ยังไม่มีการจัดระเบียบ แต่ละกลุ่มต่างคนต่างอยู่ แต่การจัดการโดย สวรส.ภาคใต้ มอ. เป็นคนที่เข้ามาเสริมแนวคิดว่าทำอย่างไร ให้กลุ่มคนหลายๆ กลุ่มใส่ใจในเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด ด้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. อาสาสมัคร กองทุนแม่ และกรมต่างๆ มารวมตัวกัน ดำเนินการไปตามโครงสร้างของคณะกรรมการแผนสุขภาพชุมชน และมีหน่วยงานของรัฐเช่น โรงพยาบาล หัวหน้าส่วนราชการด้านต่างๆ เช่น เกษตรตำบล พัฒนาชุมชน ไปจนถึงตำรวจชุมชนของพื้นที่ ซึ่งโครงสร้างนี้นำมากำหนดในที่ประชุม จนกลายเป็นโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น

“คณะทำงานเรามีเป้าหมายในการทำแผนสุขภาพคือ หนึ่ง-กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วต้องมีการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น ในเรื่องของการกินและการดูแลสุขภาพ สอง-กลุ่มที่ยังไม่เกิดโรค เราจะป้องกันและลดกลุ่มที่เป็นโรคให้น้อยลงมา โดยการทำอย่างไรไม่ให้เกิด ถ้าเราทำได้แบบนี้ คนตำบลพิจิตรจะมีสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม เรามีระยะเวลา 3 ปี ทางคณะทำงานคาดว่าคนตำบลพิจิตร

Comment #1
natbanjong (Not Member)
Posted @15 พ.ค. 52 10:33 ip : 58...7

เขียนบทความ และสังเคราะห์ข้อมูลได้น่าสนใจ ชวนติดตาม และได้ความรู้ดียิ่งครับ ณัฏฐ์บรรจง

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว