สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ "ทำจริง ได้ผลจริง" ที่คลองรี

by kai @18 มี.ค. 51 18:47 ( IP : 124...245 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 221x166 pixel , 12,925 bytes.

ยุควิกฤติพลังงาน การทำแก๊สชีวภาพใช้เอง ดูเหมือนเป็นแนวคิดพูดกันดาษดื่น แต่หาคนลงมือทำใช้จริงยาก วันนี้ชาวตำบล คลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา กำลังแสดงให้เห็นว่าไม่ยุ่งยากเลยหากมีความตั้งใจ

ประภาส ขำมาก หัวหน้าสถานีอนามัยตำบลคลองรี เล่าว่าโครงการทำแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ระดับครัวเรือน เกิดจากการประชุมทำแผนสุขภาพตำบลคลองรี

"มีแผนอยู่ตัวหนึ่งเรื่องการจัดทำแก๊สชีวภาพ ผู้จัดทำแผน ต้องการขยายผลตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้น" เขาเล่า

สอดคล้องกับเหตุปัญหาที่แก๊สหุงต้มแบบถังขยับราคาแพงกว่าเดิมมาก ชาวตำบลคลองรี ยังมีวัตถุดิบทำแก๊สชีวภาพคือขี้วัว เนื่องเลี้ยงวัวกันอยู่มาก บางหมู่บ้านอย่างเช่นหมู่ที่ 5 เพิ่งได้รับการส่งเสริมเลี้ยงวัวขุนจากทางราชการ สภาพโดยทั่วไปที่ผ่านมา การกำจัดมูลสัตว์ไม่ค่อยถูกต้องตามหลักอนามัย เลี้ยงใต้ถุนบ้าน การเก็บกวาด ค่อนข้างเรี่ยราด ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน

"แต่เราไม่สามารถเข้าไปช่วยแก้อะไรได้ เพราะมันเป็นปัญหา ถ้าไว้นอกบ้านก็กลัวโจรอีก แม้ปัญหาที่ว่ามีน้อย แต่คนเลี้ยงวัว ก็ทำคอกเอาไว้ใต้ถุนเรียบร้อยแล้ว"

เมื่อ ทางแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาพร้อมจะอุดหนุนงบประมาณ 50,000 บาท ประภาสพร้อมกับชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มแก๊สชีวภาพตำบลคลองรี จึงเดินทางไปดูงานที่ร้านอาหารฝุ่นตลบ ของ คุณพิชยา แก้วขาว ที่หาดใหญ่ ที่ร้านจัดทำถังหมักเศษอาหารขนาด 200 ลิตรเพื่อผลิตแก๊ส แต่ในสายตาของกลุ่มฯเห็นปัญหาที่นั่นว่า ขนาดถังเล็กหมักยังเล็ก จึงได้แก๊สน้อย

"จุดแรกเริ่ม 3 มกราคม (พ.ศ.2551) ที่บ้านผมก่อน เป็นการสาธิต คือเราเองก็ไม่มั่นใจเหมือนกัน" ประภาสเล่า ถึงจุดเริ่มต้น

ช่างผู้ออกแบบประกอบ และพัฒนาระบบแก๊สชีวภาพ มาใช้ในคลองรีทุกวันนี้ คือ ชาติ พฤษศรี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)คลองรี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มแก๊สชีวภาพคลองรี นั่นเอง ประภาสพยายามผลักดันให้เกิดกลุ่ม มีคณะกรรมการทำงาน โดยเขาเองนั่งเป็นเลขานุการ เพราะต้องการให้มีเจ้าภาพขับเคลื่อน

จากจุดสาธิตเริ่มต้นที่บ้านประภาส เมื่อกรรมการพร้อม และได้งบสนับสนุนราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จึงเริ่มขับเคลื่อน สู่การทำแก๊สชีวภาพระดับครัวเรือน 16 จุดในตำบลคลองรี กระจายอยู่ทุกแห่งใน 9 หมู่บ้าน และยังมีจุดสาธิตอยู่ ณ ที่ทำการ อบต.คลองรีอีกด้วย

"หลังจากไปดูงานที่หาดใหญ่ เรามาคิดกันว่าถัง 200 ลิตร จะใช้ได้ครึ่งชั่วโมง ชาวบ้านจริงคงไม่พอ น่าจะใช้ราวชั่วโมงสำหรับทำกับข้าว ผมกับ พี่ชาติ ประธานกลุ่มมานั่งคุยกันว่าทำเป็น 2-3 เท่า ได้หรือไม่ เพื่อให้พอกับการใช้ประโยชน์ต่อวัน พี่ชาติเสนอว่าเคยเห็นถังขนาด 1,000 ลิตร เป็นถังใส่สารเคมีอย่างหนึ่ง พลาสติคหนาพอสมควร ทรงสี่เหลี่ยม มีลูกกรงอลูมีเนียม เป็นตะแกรง ยึดอยู่โดยรอบทำให้แข็งแรง ถังเปล่าเบาขนาดยกสองคน มีทั้งตัวเปิดด้านบน และท่อปล่อยลงข้างล่าง น่าจะใช้ถังนั้นหมักขี้วัวได้ ไม่ต้องเจาะอะไรมาก เพราะฝาบนมีอยู่แล้ว ข้างล่างจะมีท่อปล่อยทิ้งได้ด้วย" ประภาสเล่า

การดำเนินการเริ่มต้นขึ้น ส่วนประกอบหลักของการผลิตแก๊สชีวภาพตามแบบคลองรี ประกอบด้วย

1. ถังขนาด 1,000 ลิตร สำหรับการหมักขี้วัวกับน้ำ ให้เกิดแก๊ส ได้มาจากการไปซื้อถังบรรจุสารเคมีเก่าตามที่ประธานกลุ่มออกความเห็น ถังนี้สะดวกในการใช้งาน เพราะมีฝาเปิดส่วนบนเดิมอยู่แล้ว ทำท่อเติมขี้วัวลง ผนึกให้แน่นหนา ท่อแกน พีวีซี 3-4นิ้ว ยาวลงไปเกือบถึงก้น กันอากาศขึ้นมา ซึ่งป้องกันแก๊สรั่วขึ้นมา เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ การออกแบบโดยใช้ ปะเก็น แผ่นยาง ปิด ทำให้ดูมั่นคงแข็งแรง

ระบบปิดหมด จะไม่ทำให้กลิ่นรบกวน ก้นถังมีช่องสำหรับเอาไว้เททิ้ง เมื่อต้องการเปลี่ยนขี้วัวใหม่ รักษาให้ของเหลวอยู่ระดับ 2 ใน 3 ถัง แต่ไม่จำเป็นต้องเททิ้งบ่อยนัก ถังที่นำมาใช้ เป็นสีขาว โปร่ง จึงมองเห็นระดับของน้ำผสมขี้วัวภายในได้ง่าย

2. จากถังหมักขี้วัว จะมีท่อพีวีซี ต่อเชื่อมมายังถังก้นถังพลาสติคสีน้ำเงินขนาด 160 ลิตรที่คว่ำลงถังขนาด 200 ลิตร ที่บรรจุน้ำเต็ม ถังใบเล็กลอยอยู่ในน้ำถังใหญ่กว่า ให้จมลงบางส่วน เพื่อให้เกิดแรงดูดพยุงถังลูกบนให้ลอยอยู่ได้ แก๊สที่เดินทางมาจากถังหมักตามท่อจะลงไปอยู่ในที่ว่างของถังใบเล็กที่ลอยอยู่เหนือน้ำ ระดับน้ำน้ำป้องกันการรั่วไหล ใช้สังเกตปฏิกิริยาว่ามีแก๊สมากน้อย จากลักษณะการลอยของถังใบเล็ก การเพิ่มแรงดันแก๊สทำโดยกดถังใบเล็ก ซึ่งเอาของหนักเช่นก้อนหินทับไว้ปรับความดันอย่างง่าย

ถังเก็บแก๊สใช้มากกว่า 2 ลูก เพื่อให้เพียงพอกับแก๊ส และการใช้งาน ใครต้องการเก็บแก๊สมากกว่านั้นก็เพิ่มส่วนนี้

3. จากถังเก็บแก๊ส มีการต่อสายยางเข้าไปสู่ท่อ เพื่อต่อเข้าหัวเตาแก๊ส ได้เลย ในสายยางใส พบว่ามีคราบสีเหลือง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแก๊สขี้วัว แต่ไม่มีกลิ่นเล็ดลอดออกมา กลิ่นจากแก๊สติดไฟแล้วไม่มี แต่ถ้าปล่อยออกมาเฉยๆ จะมีกลิ่นขี้วัว ช่วงเผาไหม้เกิดไฟสีน้ำเงิน เขียว เป็นการเผาไหม้สมบูรณ์ ก้นหม้อไม่ดำ

ส่วนหัวแก๊ส บริเวณจุดไฟ ชาวบ้านหาของเก่าที่ใช้แล้วมาดัดแปลง เพราะต้องมาตัดอออกบางส่วน จะใช้ของใหม่เสียดาย และต้องขยายรูให้ใหญ่กว่าปกติด้วย
"เริ่มสาธิตที่บ้านผม คณะกรรมการมาช่วยกัน ตั้งแต่การประกอบวัสดุ อะไรต่างๆ ในถัง 1,000 ลิตร ผม เติมขี้วัว 15 ปี๊บ ขี้วัวเปล่าๆ จะเปียกหรือแห้งก็ได้ เอามาผสมน้ำ ให้เข้ากันดี อันนี้ใช้ขี้หมูก็ได้นะ ส่วนขี้วัวใหม่จะเป็นเร็ว ย่อยได้เร็วกว่า"
ใช้ขี้วัวหนึ่งส่วน น้ำสองส่วน หมายความว่าใช้น้ำสัก20-30 ปี๊บ ผสมแล้วเติมให้อยู่ในระดับ 2 ใน 3 ของถัง 1,000 ลิตร ในครั้งแรกปล่อยทิ้งไว้ 15 วัน จึงจะเกิดแก๊สขึ้นมา

ประภาส เล่าว่า จากถังหมักมาถังแก๊ส ต้องทำถังเก็บแก๊ส 2 ลูก เพราะลูกเดียว ไม่พอ

"อย่างของน้าวาส มีแก๊สเยอะต้องเพิ่ม ตัวเก็บแก๊สเป็น 3 ลูก ถ้าไม่ทำจะล้น มากเกิน ถูกปล่อยทิ้งเสียเปล่า"

จากถังเก็บแก๊ส ต่อสายยางเข้าไปยังหัวแก๊ส แต่หัวแก๊สธรรมดาที่ใช้ทั่วไป ใช้ไม่ได้ดังกล่าวแล้ว เพราะรูเล็ก ออกแบบมาใช้กับแอลพีจี จากถังที่มีแรงดัน แต่แก๊สชีวภาพนี้ไม่มีแรงอัด จำเป็นต้องใช้ท่อใหญ่ ให้แก๊สเดินคล่อง

การประยุกต์ใช้งาน เพียงแต่ ต้องตัดท่อแก๊สของเดิมออก เจาะรูใหม่ สวมท่อยาวเข้าไป ท่อพวกนี้อาจใช้ท่อเหล็กจากแผงรับสัญญาณโทรทัศน์มาใช้ต่อท่อให้ยาวจนถึงหัวแก๊สก็ได้
"หลังจาก 15 วัน เริ่มใช้งาน หลังจากใช้ไปแก๊สเริ่มหมด ถังครอบตัวบนส่วนเก็บแก๊สไม่ขยับแสดงว่าแก๊สจะหมด ก็ต้องเติมขี้วัวในถังหมัก ซึ่งไม่มาก วันละ 4-5 กิโล ผสมน้ำมาเติม ใส่ลงไปตามท่อฝาบนของถังหมัก" ประภาสเล่า สำหรับครอบครัวเขา สมาชิก 4 คน เปิดแก๊สทำกับข้าวรอบเช้าและเย็น เติมครั้งหนึ่งจะใช้ได้ 3-5 วัน พอเติมเสร็จคืนหนึ่งจะมีแก๊สเพิ่มเหมือนเดิมอีก แต่ถ้าแก๊สยังขึ้นดีแม้ใช้มาตามกำหนดก็ยังไม่ต้องเติม เพราะขี้วัวที่ใส่ลงไปแต่ละครั้ง คุณภาพการให้แก๊สอาจไม่เท่ากัน

"แก๊สนี่ แต่แรกผมก็ไม่เชื่อว่าใช้ได้พอ หรือความแรงของไฟว่าร้อนพอที่จะ ทำอะไรได้ แต่พอใช้จริงก็เหมือนแก๊สถัง ที่ซื้อมาใช้ทุกอย่าง สามารถ ทำอาหาร ทอดไข่ ได้ในเวลาเท่ากัน คุณสมบัติเหมือนกัน พอเราสาธิตให้เห็นชาวบ้านก็สนใจ เพราะขี้วัว เขามีอยู่แล้ว หลังจากทำครั้งแรก ต่อไปเติมครั้งละ 3-4 โล หรือ 2 ถังหิ้วปูน ไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะหามาเติม" ประภาสเล่าและตั้งข้อสังเกตต่อว่า สำหรับการใช้ทั่วไป หากเติมขี้วัววันละก้อน ก็พอใช้

"ขี้หมูอาจใช้ดีกว่าขี้วัว เพราะวัวกินหญ้าอย่างเดียว แต่หมูกินอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สมากกว่า"

สำหรับประภาสมองว่าช่วยประหยัดค่าแก๊สพอสมควร บ้านเขาใช้พอทีเดียว ไม่ต้องซื้อแก๊สเลย เพียงแต่ว่าอาจมีภาระต้องคอยดูแล เติมขี้วัวราวสัปดาห์ละครั้ง

ชาวบ้านที่ทำ ต้องทำกับข้าวมากขึ้น อาจขยายกำลังการผลิต เพียงแต่เติมขี้วัวบ่อย ขึ้นหรือขยายถังเก็บแก๊สเพิ่มเป็นหลายลูกถ้าต้องการมาก ก็เติมบ่อยขึ้น หากเลี้ยงวัว 5-6 ตัว เติมทุกวัน จะพอใช้แน่

สำหรับคนรักความสะดวก การต้องคอยเติมขี้วัว อาจรู้สึกยุ่งยากสัก เป็นภาระนิดหนึ่ง ยิ่งถ้าใช้มากอาจต้องเติมบ่อย วัน หรือสองวันครั้ง

"ถ้าไม่ถูกใจ ขี้เกียจ ก็ลำบาก"

ใครทำได้ นับเป็นช่องทางกำจัดและใช้มูลสัตว์เกิดประโยชน์ และการประหยัดค่าใช้จ่าย ต้นทุนเริ่มแรก ประมาณ 5,000 บาท ถังหมักขนาด 1,000 ลิตรซื้อมาจากร้านรับซื้อของเก่า ตกลูกละ 2,500 บาท ชุดถังเก็บแก๊ส ขนาด 200 ลิตรถังละ 500 บาท ส่วนถังตัวครอบ 400 บาท ที่เหลือจ่ายเป็นค่าช่าง

"ช่างคนทำคือคุณชาติ ประธานกลุ่ม และน้องวัฒน์ ที่เป็นกรรมการอีกคน ทั้งสองคนนี้ปกติเป็นช่างฝีมือมาก่อน" ประภาสเล่า จึงไม่แปลกที่หลังจากกลับจากดูงานคราวนั้นจึงคิดทำเองได้เลย

งบที่ได้รับอุดหนุนทั้งหมด 50,000 บาท ทางกลุ่มให้ชาวบ้าน ที่เข้าร่วมโครงการรายละ 4,000 บาท ให้ชาวบานร่วมสมทบอีก 1,000 บาท จึงขยายไปได้มากกว่า 10 จุด

"ที่จริงแล้ว 50,000 บาทยังไม่พอ แต่พี่ชาติ แก ติดต่อญาติพี่น้องที่ทำงานบริษัท สยามยิปซั่ม ที่มีถังพวกนี้อยู่ ทาง อบต. ทำเรื่องไปซื้อมาในราคาถูกกว่าปกติ ขอซื้อมา 10 ลูก มีน้องในกลุ่ม ติดต่อ เขาให้ฟรีมาอีก 8 ถัง เราก็มาขยายเป็น 16 จุด เพราะ ถ้า 50,000 จะได้แค่ 10 จุดเท่านั้น"

ต้นทุนหลังจาก 5,000 บาทแรก ก็เพียงแต่หาขี้วัวอย่างเดียว อายุการใช้งานของถังหมัก ดูคร่าวๆ อาจมีอายุการใช้งานราว 10ปี

ขี้วัวเหลือจากหมักแก๊ส ปล่อยทิ้งแล้วยังนำมาทำปุ๋ยใส่สวนครัวได้ดี ปกติขี้วัว ถ้าเอาไปใส่ต้นไม้ พบว่าจะมีหญ้างอก เพราะเม็ดหญ้าที่วัวกินเข้าไปจะไม่ย่อยสลาย แต่พอผ่านกระบวนการนี้เม็ดหญ้าจะฝ่อไม่งอก ชาวบ้านต้องการ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกสวนครัวกินเอง ต้องใช้ขี้วัว

ประภาสเล่าว่าขบวนการตรงนี้ อบต. คลองรีเข้ามาช่วย ตั้งแต่แรก เพราะ กรรมการหลายคนเป็นสมาชิก อบต. อยู่ด้วย

"ผมไปคุยกับ นายก อบต.(นายขนบ เทพประมูล) ว่า จะทำจุดสาธิตขึ้นมา แกก็สนใจให้ลาดพื้นหน้า อบต. ทำเป็นจุดสาธิต ขึ้นป้ายไว้เรียบร้อย แต่ก่อนไว้ข้างหลังผมบอกว่าถ้าต้องการสาธิตเอามาไว้ข้างหน้าก็ได้ นายกเลยสนับสนุนความคิดดังกล่าว"

ทุกวันนี้ ชาวคลองรีต่างสะท้อนกลับมามองในทางบวก มองว่าต่อไปไม่ต้องซื้อแก๊สแล้ว แต่เรื่องการถ่ายปุ๋ยไปใช้ยังเป็นแนวคิด เพราะยังพอเริ่มต้นทำมาประมาณ20 วัน

"ผมนั่งคิดต่อกับกลุ่ม และ อบต. ว่าในพื้นที่มีคอกหมู อยู่หลายคอก เป็นปัญหาในเรื่องของกลิ่นอยู่ ถูกร้องเรียนมา แต่ในพื้นที่ทำยาก เพราะเขาลงทุนไปแล้ว ถ้าทำได้ จะลดปัญหาเรื่องนี้ คอกหมู สามารถต่อจากคอกลงถัง แต่ต้องทำถังใหญ่ อาจเป็นถังซีเมนต์เป็นบ่อเก็บ ถ้าอยู่ละแวกบ้าน ต่อท่อไปใช้ได้ อันนี้ อบต.น่าจะสนับสนุน โดย ให้เจ้าของฟาร์มสมทบมั่งก็ได้ บางส่วน รอบคอกหมู ต่อท่อไปใช้กันได้เลย"

จากปัญหาคอกหมู อบต.มองเรื่องมลพิษ ประภาสมองว่าถ้าชาวบ้านต้องการจริง อบต.น่าจะรองรับได้ ชาวบ้านสมทบบ้าง คนที่อยู่ใกล้คอกหมู่ 10-20 ครัว หากทำถังหมักให้ดี จะสามารถใช้ได้ตลอดไปเลย จะเป็นประโยชน์ การร้องเรียนจะน้อย เพราะกลิ่นน้อยลง ยิ่งเขาได้รับผลประโยชน์อีก ก็น่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ส่วนหนึ่ง แล้วยังเอามาทำปุ๋ยได้อีกรอบหนึ่ง ชาวบ้านทำนา ปลูกผัก ปลูกสวน ไร่นาสวนผสม อาจได้ปุ๋ยนี้ไปช่วยเสริม จากที่ใช้อยู่ 100 อาจจ่ายเหลือแค่ 20-30 บาท

หลังจากดำเนินการ 16 จุด แล้ว ประภาสเล่าว่า มีความสนใจในเรื่องนี้ โดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5มาคุยกับกรรมการว่า มีงบกองทุนหมู่บ้าน 2 แสน ในหมู่บ้าน จะสำรวจว่าใครต้องการทำแก๊สชีวภาพ จะให้ยืมแล้วผ่อนคืน

"หมู่ 5 จึงน่าจะขยายไปก่อนเพื่อน เพราะงบประมาณ เขาพร้อมแล้ว เพียงแต่เขารอตัดสินใจดู ว่ากลุ่มแรกที่ทำอยู่ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง"

ประภาสยังเล่าอีกว่ารู้สึกประทับใจกรรมการกลุ่มฯ ที่มาจากตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน และส่วนมากยอมรับเป็นจุดแรกสาธิตที่บ้านกรรมการเป็นส่วนมาก เพราะถือว่าคุยกันเข้าใจ ตกลงแล้ว ยอมเสียสละ แม้ไม่มีงบอุหนุน ทุกคนยินดีเป็นเริ่มต้น ทั้งหมด

ส่วนมากอยู่ในกลุ่มผู้นำ ถ้ามีปัญหาเขาเอาปัญหาไปคุยกับชาวบ้าน หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ผู้นำ ต้องเสียสละก่อน ยอมลงทุนทำก่อน

ชาติ พฤษศรี ประธานกลุ่มแก๊สชีวภาพคลองรี เล่าว่าโครงการทำแก๊สของพวกเขากำลังได้รับความสนใจ มีคนเดินทางมาขอดูงาน หลายกลุ่มแล้ว ไม่ว่า อบต.รำแดง อบต.ม่วงงาม อบต.พังยาง อบต.กระดังงา รวมถึงสมาชิกจาก ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีของระโนด กระแสสินธุ์ บ่อดาน คูขุด

"เขามาเพราะรู้ข่าวจากคณะทำงานของเรา ที่บอกปากเขาว่าเรากำลังทำแก๊สใช้เอง"

ชาติกล้าท้าว่า จะไปดูบ้านใคร ก็ใช้ได้ผลเหมือนกันหมด ในวันนั้น เขาจึงพาเราตระเวนบุกไปถึงก้นครัวหลายบ้านโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เช่น บ้านของประภาส ขำมาก หรือหมอพาส ผู้จุดประกายความคิดและจุดเริ่มต้น อยู่ที่หมู่ 5 บ้านของ วาส โวหาร หมู่ 7 บ้านของ จรูญ วงศ์พระจันทร์ หมู่ 5 และบ้านของวิวัฒน์ ตั่นหุ้ย หมู่ 3 เป็นต้น

"คนที่มาดูแล้ว เขาถามเลยว่า ทำได้อย่างไร คือมันเห็นผล เราทำได้ผล ไม่ใช่ทำแค่ดูแต่ ใช้ได้จริงทุกบ้าน 16 ลูกนี่ต่อเข้าครัวหมดแล้ว ทดลองแล้วได้ผลจริง ใช้ มีไฟ จริง ชาวตำบลกระดังงา ที่มาดูบอกว่าจะกลับไปทำแน่ เพราะเห็นว่าได้ผล และมีงบแล้ว ทางอบต. รำแดง อบต. ได้ข่าวว่าตั้งงบให้ 7 คน 7 หมู่บ้าน ทางอบต.จะสนับสนุน 7 ครัวเรือน เขาจะกลับมาดูใหม่อีกที คราวก่อนนายกเขามาเอง เห็นแล้วทึ่ง ว่าทำได้อย่างไร"

ก่อนมาถึงวันนี้ ชาติ เคยไปดูงานวิถีไท ที่สวนอัมพรและที่ร้านฝุ่นตลบ หาดใหญ่ นำมาปรับปรุง เป็นแบบฉบับเฉพาะ

ขั้นตอนการประกอบ ระบบผลิตแก๊สชีวภาพแบบนี้ ชาติบอกว่า ไม่ยาก ใช้ท่อพีวีซี เป็นหลัก ทั้งท่อ จุดเชื่อม ข้อต่อ แต่เมื่อทำให้ดี ต้องคอยดู เรื่องมาตรฐาน ไม่ให้รั่ว คนที่ดูสนใจจริง ดูครั้งเดียวเอาไปทำได้เลย
เขาเล่าว่าคราวกลับจากสวนอัมพรมา เคยขอเงินกองทุนหมู่บ้าน 2,500 บาท ทำแบบถัง 200 ลิตร ให้ โรงเรียนบ้านท่าคุระ
"ผมบอกว่าเอาขี้วัวใส่ อย่างอื่นผมทำให้หมด แต่จนถึงทุกวันนี้ เขายังไม่ใส่ขี้วัว เขาไม่เชื่อว่าเราทำได้ แต่ผมก็ไม่ใส่ให้ ผมถือว่าผมทำให้ ใช้ได้จริง"

ชาติเล่าว่า แก๊สชีวภาพของกลุ่ม มีค่าเฉลี่ยการใช้งานต่อเนื่องแต่ละครั้งอยู่ราว 1 ชั่วโมง

"ของพี่ ได้ชั่วโมงกับ 10 นาที แต่มีคนที่ทำได้ชั่วโมงครึ่ง ใช้ถังเก็บมาก พอหมดแล้ว ยังไม่ต้องเติม กระบวนการที่เกิดใหม่ของแก๊สต่อเนื่องมาอีก จะใช้ได้ในช่วงเย็น มันเป็นเกิดแก๊สใหม่ขึ้นมาเองจนหมดสภาพแก๊ส จะเกิดตลอดเวลา แต่ขึ้นทีละนิด เราเก็บไว้ ในถังเก็บ จึงจะเติมขี้วัว"

จังหวะเริ่มแรกจริงๆ ต้องหมักขี้วัว 10-15 วัน แต่ขึ้นอยู่กับขี้วัวด้วย 15 วันขึ้นแน่ บางราย 3 วันก็ขึ้นแล้ว ชาติยกตัวอย่างกรณีของชาวบ้านหมู่ 1 นำขี้วัวมาจาก คอกวัวลาดพื้น ขี้วัวจะปนเยี่ยววัวเกิดแก๊สมาก ครั้งแรกหมัก3 วัน ใช้การได้เลย

ชาติเล่าว่า เมื่อก่อนไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ รู้สึกว่าทำได้ยาก แต่เมื่อรู้แล้วเห็นว่าไม่ต้องพึ่งนักวิชาการระดับดอกเตอร์ สามารถทำได้ทันที ใช้ได้จริง ถ้าลงทุนครัวละ 5,000 บาท ใช้ได้เลยและใช้ได้ตลอดไป

เขามองถึงปัญหาคอกหมูในชุมชน ว่าการทำแก๊สชีวภาพอาจแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้เช่นกัน

"แก๊สระเหยขึ้นบน ไม่ออกข้าง เป็นหลักธรรมชาติ เพียงแต่มีบ่อดิน ทำเป็นโดมฝาชีไปครอบ ต่อท่อมาใช้ได้ เลย"

ในฐานะช่าง ชาติได้ทดลองทำหลายแบบ เช่นที่บ้านของวาส โวหาร หมู่ 7 เป็นจุดที่ถังหมัก ถังเก็บ กับหัวเตาอยู่ไกลหลายเมตร แต่ไม่มีปัญหาเรื่องระยะทางแค่นี้ เพราะแก๊สใช้งานได้ปกติ
ล่าสุดชาติ ได้ประดิษฐ์ถังเก็บแก๊ส เป็นนวัตกรรมใหม่ สามารถเก็บแก๊สได้ปริมาณมาก ที่บ้านของวิวัฒน์ ตั่นหุ้ย หมู่ 3 เป็นการประดิษฐ์ส่วนถังเก็บแก๊สโดยนำถังซีเมนต์มาหล่อ บรรจุน้ำ แล้วครอบถังขนาดใหญ่ลงไปได้ และยังออกแบบเก็บระบบท่อ ที่เดินแก๊สเข้าครัวโดยการฝังไว้ใต้ดิน ทำให้ดูไม่เกะกะตา
เป็นแบบที่คนมาดูงานบอกว่าจะนำกลับไปทำตาม เป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตามชาติเห็นว่าแก๊สชีวภาพ มันเป็นทางเลือก ไม่ใช่ทางรอด เพราะถ้าทางรอดมันคงต้องใช้หมดทุกอย่างทั้งวัน แต่ตอนนี้เราเลือกใช้บางครั้งบางคราว

"แก๊สธรรมชาติไม่สม่ำเสมอ เหมือนที่ซื้อมาใช้ เป็นทางเลือก แต่บอกได้เลยว่า บางวันไม่ต้องใช้แก๊สถังเลย แต่ต้องมี เพราะวันไหนปฏิกิริยา เราต้องเติมขี้วัวใหม่ ต้องมีจังหวะรอ ตอนนี้ชาวบ้านคิดจะทำ ถ้าไม่ขยันอย่าไปทำให้เสียเวลา เพราะจะอยู่ได้ใน 20 วัน ต้องถ่ายออกมาครั้ง คือต้องถ่าย 20-40 ลิตร เปิดทิ้ง แล้วหาใหม่มาใส่ เท่าเดิม บ้านพี่ใช้แก๊สถังทุกวัน หลังจากแก๊สนี้หมด จนวินาทีสุดท้าย เพราะเราทำกับข้าวมาก เป็นครอบครัวใหญ่ พอเราทำได้ชั่วโมง กับข้าวยังไม่เสร็จ ใช้แก๊สถังต่อ แต่เริ่มแก๊สขี้วัวใช้หมดก่อน"

จากผลสำเร็จดังกล่าว ชาติกำลังจะทำระบบผลิตแก๊สชีวภาพ ออกโชว์ในงานลูกโหนด งานใหญ่ประจำปี ของอำเภอสทิงพระ เพื่อเผยแพร่ต่อไป เขายังปวารณาตัวพร้อมให้ความรู้สำหรับคนที่มาดูงาน และติดตามไปช่วยประกอบสำหรับผู้สนใจอีกด้วย

ผู้สนใจอยากเข้ามาดูงานการทำแก๊สชีวภาพในคลองรี สามารถเดินทางเข้าไปได้ตลอดเวลา หากมาเป็นหมู่คณะแจ้งล่วงหน้า เพื่อการจัดน้ำท่าเอาไว้ต้อนรับ โดยสามารถติดต่อกรรมการกลุ่มทั้ง 3 คนคือ ชาติ พฤษศรี 089-6542446 ประภาส ขำมาก 087-2929055 วิวัฒน์ ตั่นหุ้ย 0898706308 หรือ ติดต่อมายัง อบต.คลองรี 074-486168 ทุกส่วนพร้อมประสานงานเพื่อให้ความรู้ แก่ประชาชนทั่วไปตลอดเวลา.

Relate topics

Comment #1
ผดุง หงษ์ทอง (Not Member)
Posted @3 เม.ย. 51 13:16 ip : 222...170

เราจะพัฒนาต่อเพื่อกับรถยนต์ได้หรือไม่ครับ  คือผมใช้รถติดแก๊สครับ

Comment #2
chatia (Not Member)
Posted @9 เม.ย. 51 19:05 ip : 124...178

...มีแบบที่ใช้วัสดุที่หาง่ายกว่านี้อีก ถังหมักเป็นถังเหล็กอายุการใช้งาน 20ปีขึ้นไป... ในภาคเหนือมีใช้แล้ว300 กว่าบ่อ(บนดอย) มี2แบบให้โหลดเอาไปศึกษาดู... แต่ถ้าเป็นบ้านทั่วไปที่ต้องการใช้เศษอาหารใช้ถังพลาสติกก็สวยดี.... ความรู้มีให้เพื่อแบ่งปัน..มาช่วยกันพัฒนาชาติเรา... www.biogaseasy.org

Comment #3
Posted @26 มิ.ย. 51 19:20 ip : 222...77

อยากใช้มั่ง ทำถังเองไม่ได้ ทำขายด้วยหรือเปล่าคะ

Comment #4
คนดีที่โลกรอ (Not Member)
Posted @4 ก.ค. 51 17:20 ip : 118...213

ดีมากๆเลยคับ ขอบคุณ

Comment #5
วี (Not Member)
Posted @25 ส.ค. 51 17:46 ip : 58...177

ดีมากๆครับ ขอชื่นชม ผมจะลองไปทำที่บ้านที่ขอนแก่นดูครับ ช่วยชาติ ช่วยตัวเอง ไม่ลองทำก็ไม่มีวันสำเร็จครับ ..วี

Comment #6นักศึกษา
somsak (Not Member)
Posted @27 ส.ค. 51 11:59 ip : 202...213

ดีมากเลย  ชื่นชม  ผมอยากได้รูปเล่นการดำเนินการครับ  ส่งทางอีเมลได้ป่าวครับ  molsak@hotmail.com 0844909855

Comment #7456
Liquid black (Not Member)
Posted @12 ก.ย. 51 15:24 ip : 203...69

อยากทำบ้างครับ อยากได้ข้อมูลมากกว่านี้จัง อย่างเช่นวิธีทำถึง และวิธีการหมักอย่างละเอียดครับ ส่งมาทางเมลล์ให้หน่อยนะครับ เพราะอยู่โคราชไม่มีเวลาไปศึกษาแน่เลย

Comment #8อยากได้
Liquid black (Not Member)
Posted @12 ก.ย. 51 15:26 ip : 203...69

ขอวิธีทำถังด้วยนะครับ และวิธีการหมักอย่างละเอียดจะไปทำใช้ครับ
อยากลองทำจริงๆๆ ส่งเมลล์ให้ด้วยนะครับ
                ขอบคุณมากครับ

Comment #9preechah_pe@hotmail.com
Liquid black (Not Member)
Posted @12 ก.ย. 51 15:29 ip : 203...69

ขอวิธีทำถังด้วยนะครับ และวิธีการหมักอย่างละเอียดจะไปทำใช้ครับ อยากลองทำจริงๆๆ ส่งเมลล์ให้ด้วยนะครับ                 ขอบคุณมากครับ preechah_pe@hotmail.com

Comment #10เยี่ยมมากเลยครับ
สุพรรณ (Not Member)
Posted @30 ก.ย. 51 08:55 ip : 58...220

ผมทำกลุ่มเกษตรกรธรรมชาติครับอยู่ได้วิธีการครับและจะไปดูงานด้วยครับ 085-6942051

Comment #11สนใจอยากประยุกต์ใช้
aodad (Not Member)
Posted @5 ต.ค. 51 17:56 ip : 118...66

ทำจากมูลสัตว์อย่างเดียวหรือคะ จากมูลคนได้ไหม (ถามจริงๆ)

Comment #12นักศึกษา
นุ่มนิ่ม (Not Member)
Posted @16 พ.ย. 51 14:23 ip : 203...254

อยากได้วิธีการทำตั้งแต่ขั้นแรกเลยอ่ะคะ กรุณาส่งเมลล์มาให้ด้วยนะค่ะ คือหนูชอบมากและอยากลองทำดูอ่ะค่ะ
ขอบคุณล่วงหน้านะค่ะ

Comment #13น่าสนใจนะครับ
saveton (Not Member)
Posted @1 ธ.ค. 51 12:34 ip : 202...212

เป็นสิ่งที่ดีครับที่มีการนำเอาข้อมูลการทำแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์มาอัพโหลดขึ้นเว็บแบบนี้ เพราะว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการ ที่เป็นกลุ่มเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากว่า มูลสัตว์นั้นถือได้ว่าเป็น วัตถุดิบที่สำคัญที่ใช้ในการผลิตแก๊สชีวภาพ หรืออาจเป็นผู้ที่อู่ห่างไกลจากตัวเมือง ซึ่งไม่มีแก๊สเป็นพลังงานในการหุงต้ม ทำให้มีการตัดไม้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทน ซึ้งจะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ในระยะยาว ดังนั้นแก๊สหุงต้มทีทำมาจากกระบวนการหมักมูลโคนี้ จึงนับว่าเป็นแนวความคิดที่ดีที่สุดที่เป็นจุดที่น่าสนใจและน่าติดตามและทำการพัฒนาต่อไป

Comment #14ขอความรู้เพื่อความเจริญครับ.
คนรักดี (Not Member)
Posted @17 ก.พ. 52 10:11 ip : 125...174

ผมขอข้อมูลหน่อยได้ไหมครับ ว่าใช้เศษอาหารมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแก๊สชีวภาพทำได้เปล่า ทำอย่างไร และวิธีการเกิดแก๊สฯแล้วการนำมาใช้เพื่อให้ระบบเซฟตี้ทำยังไง เพราะผมกลัวว่าถ้าไม่มีวาล์วตัดเกรงว่าตอนจุดไฟๆจะไหลย้อนกลับเข้าไปในถังได้หรือไม่และจะระเบิดได้หรือไม่?(ส่งข้อมูลทางเมล์มาให้บ้างน่ะครับ).

Comment #15ลองดูครับ
jit (Not Member)
Posted @4 มี.ค. 52 11:39 ip : 117...9

ลองดูที่ นี่ครับ หน้าพลังงานทางเลือก

Comment #16อูก้า
บาบู (Not Member)
Posted @29 เม.ย. 52 07:52 ip : 161...162

:p

Comment #17อูก้า
บาบู (Not Member)
Posted @29 เม.ย. 52 07:54 ip : 161...162

:|

Comment #18อยากทราบข้อมูลการทำแก๊สชีวภาพ
อภิชาติ (Not Member)
Posted @20 พ.ค. 52 21:29 ip : 58...91

อยากทราบข้อมูลการทำแก๊สชีวภาพโดยละเอียดครับจะนำไปทำใช้ที่ นครศรีธรรมราช ช่วยส่งข้อมูลกลับทางเมลล์ด้วยครับ  หรือติดต่อผม 087-8319876

Comment #19ขอทราบข้อมูลต่างๆในการทำครับ
new (Not Member)
Posted @7 มิ.ย. 52 18:55 ip : 118...181

อยากทราบข้อมูลการทำโดยละเอียดครับ พวกการผสมมูลสัตว์ วิธีการทำถัง อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการทำครับ ช่วยส่งข้อมูลมาทางเมล์หน่อยได้ไหมครับ ที่ new_me10@hotmail.com ขอบคุณมากครับ

Comment #20ขอวิธีทำแก๊สชีวภาพ จากการเลี้ยงหมู
จิระพล (Not Member)
Posted @17 มิ.ย. 52 21:41 ip : 222...44

อยากทราบวิธีการทำแก๊สชีวภาพจากขี้หมู ต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องออกแบบบ่อหมักอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ โดยเลี้ยงหมู 10-20 ตัว

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว